หน้าแรก / เศรษฐกิจ
การบริหารความเสี่ยง
ไทยเบฟให้ความสําคัญกับการบริหารความเสี่ยงด้วยกลยุทธ์ที่เน้นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทําให้บริษัทสามารถสร้างโอกาสต่าง ๆ ป้องกันความเสี่ยงและบรรเทาผลกระทบ และตอบสนองต่อความท้าทายอย่างมีประสิทธิผล รวมถึงได้รับประโยชน์สูงสุดจากการดําเนินการตามแนวทางความยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นผู้นําธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารในภูมิภาคอาเซียนอย่างมั่นคงและยั่งยืน
แนวทางการบริหารจัดการ
กลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงของไทยเบฟมุ่งเน้นที่การติดตามแนวโน้มของโลก กฎระเบียบและข้อบังคับใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้น กับธุรกิจ การดําเนินการของธุรกิจอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน การประเมินตามกรอบการดําเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่คํานึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม การกํากับดูแล (ESG - Environment, Social, Governance) และการจัดการความไม่แน่นอนตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยนําแนวคิดเรื่องความเสี่ยงด้านความยั่งยืนผสานเข้ากับ “กรอบการบริหารความเสี่ยงองค์กรของไทยเบฟ” ที่สอดคล้องกับแนวทางของ COSO: Enterprise Risk Management Framework โดยมีองค์ประกอบหลักดังต่อไปนี้
  • โครงสร้างการกำกับดูแล
  • ความเข้าใจในบริบททางธุรกิจและกลยุทธ์การดำเนิน ธุรกิจที่เน้นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • กระบวนการบริหารความเสี่ยงแบบบูรณาการ
  • การสื่อสาร รายงาน และประเมินผล
  • วัฒนธรรมด้านความยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยง
ความมุ่งมั่นและความสำเร็จ
การประเมินความเสี่ยงสู่กลยุทธ์การบริหารความเสี่ยง
ไทยเบฟดําเนินการทบทวนความเสี่ยงที่ระบุขึ้นเป็นประจําทุกปี ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ ความเสี่ยงด้านความยั่งยืน (ในด้าน ESG คือ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกํากับดูแล) และความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ ซึ่งทั้งหมดเชื่อมโยงกับประเด็นสาระสําคัญด้านความยั่งยืนใน 3 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ การทบทวนและประเมินความเสี่ยงประจําปีช่วยให้บริษัทสามารถกําหนดกลยุทธ์และแนวทางการบริหารความเสี่ยงขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล

ในปี 2564 แม้ความเสี่ยงและความท้าทายต่าง ๆ ยังคงมีสาเหตุหลักจากการระบาดอย่างรุนแรงของโรคโควิด-19 ไทยเบฟได้นําปัจจัยภายนอกและภายใน ผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ความเสี่ยงด้านความยั่งยืน แนวโน้มหลังการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเป้าหมายทางธุรกิจของไทยเบฟ เข้ามาร่วมในกระบวนการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยง ซึ่งผลจากการทบทวนและประเมินความเสี่ยงชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่มีระดับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งเป็นความท้าทายที่บริษัทต้องให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด นํามาตรการบรรเทาผลกระทบที่มีประสิทธิผลมาใช้ รวมถึงปรับกลยุทธ์และ/หรือรูปแบบทางธุรกิจใหม่ สําหรับความเสี่ยงที่ระดับความเสี่ยงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไทยเบฟยังคงต้องติดตามและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของระดับความเสี่ยงเป็นระยะ ๆ ตลอดจนยังคง ดําเนินการตามแผนบริหารความเสี่ยงที่กําหนดไว้ก่อนวิกฤตโรคโควิด-19
ก้าวสู่ปี 2568
ประเภทความเสี่ยง (1) ความเสี่ยงเดิมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง (2) ความเสี่ยงเดิมที่มีระดับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์
  • ความเสี่นยงด้านภาพลักษณ์และชื่อเสียงองค์กร
  • ความเสี่ยงด้านการลงทุนทางธุรกิจ
ความเสี่ยงด้านความยั่งยืน (ESG)
  • ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับน้ำ
  • ความเสี่ยงด้านจริยธรรมและการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ
  • ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัยของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  • การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและโครงสร้างประชากร
ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ
  • การพัฒนาบุคคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ
  • ความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการแข่งขันในตลาด
  • ความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทาน
  • ความเสี่ยงด้านการเงิน
  • การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย กฎระบียบ
  • ความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์และความปลอดภัยของข้อมูล
(3) ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่
  • โรคติดเชื้อที่เกิดการระบาดทั่วโลก
    ในยุคโลกาภิวัตน์ ผู้คนทั่วโลกต้องพึ่งพาอาศัยกันและติดต่อกันมากขึ้นผ่านการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยให้โรคติดเชื้อแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วข้ามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันเป็นวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และธุรกิจทั่วโลก นอกจากนี้ การขยายตัวของเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดโรคในสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้จะมีความก้าวหน้าทางการแพทย์ แต่การหายาหรือวัคซีนเพื่อรักษาโรคทั้งหมดในปัจจุบันยังคงเป็นเรื่องยาก และการพัฒนายาหรือวัคซีนใหม่สำหรับโรคใหม่มักจะใช้เวลานาน ดังนั้น ไทยเบฟจึงพิจารณาว่าโรคติดเชื้อที่เกิดการระบาดทั่วโลกจะเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต

    ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่
    หัวข้อสาระสำคัญด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้อง
    • กลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
    • การบริหารจัดการพลังงาน
    • การบริหารจัดการน้ำและอนุรักษ์แหล่งน้ำ
    ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
    • ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อรายได้และผลประกอบการทางการเงิน
    • การหยุดชะงักของการดำเนินงาน
    • การเสียชีวิตและโรคภัยของพนักงานและผู้รับเหมา
    • ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่เพิ่มขึ้นและการชดเชยความเสียหาย
    • ผลกระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กร
    • ความล้มเหลวในการบรรลุแผนการเติบโตทางธุรกิจของไทยเบฟ
    มาตรการสำคัญในการบริหารจัดการ
    • ใช้มาตรการการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยของพนักงานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์
    • จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อติดตามสัญญาณการพัฒนาของโรคติดเชื้อใหม่ ประเมินสถานการณ์และผลกระทบ ตลอดจนกำหนดและดำเนินมาตรการ
    • ป้องกันและเฝ้าระวังในการดำเนินธุรกิจของไทยเบฟ
    • สื่อสารหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดเชื้อและมาตรการป้องกันให้กับพนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างต่อเนื่อง
    • นำระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในการคาดการณ์ ประเมินความเสี่ยง และเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่
    • สร้างเครือข่ายและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการป้องกัน ตรวจจับ และรับมือกับโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้น
  • ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
    รายงานดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศโลกปี 2560 จัดอันดับให้ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศของโลกที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีผลกระทบอย่างมากต่อทรัพยากรน้ำซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของไทยเบฟ ในการแก้ไขปัญหาโรคร้อน ประเทศไทยได้เข้าร่วมกับประเทศต่าง ๆ ในความพยายามลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ โดยรัฐบาลไทยประกาศ “แผนการปฏิรูปประเทศ” ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องพัฒนากฎหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้มีผลบังคับใช้ภายใน 3 - 5 ปีจะต้องกำหนดกลไกที่เหมาะสมในการสร้างแรงจูงใจเชิงเศรษฐศาสตร์ ให้ภาคเอกชนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรการส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวันเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การพัฒนาและส่งเสริมระบบขนส่งมวลชน การลดการใช้ถุงพลาสติก เป็นต้น รวมถึงการบังคับใช้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำสาธารณะแห่งชาติ อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงนโยบาย กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ ของภาครัฐ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยัง ไม่มีความชัดเจนทั้งด้านกลไกและวิธีการบังคับใช้จึงถือเป็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจ

    ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่
    หัวข้อสาระสำคัญด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้อง
    • กลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
    • การบริหารจัดการพลังงาน
    • การบริหารจัดการน้ำและอนุรักษ์แหล่งน้ำ
    ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
    • ความเป็นไปได้ในการเรียกเก็บภาษี การบังคับใช้กฎหมาย และภาระผูกพันทางกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะภาษีคาร์บอน และภาษีการใช้น้ำสาธารณะ
    • ต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่จะเพิ่มขึ้น จากภาษีที่ภาครัฐจะเรียกเก็บผ่านการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบและข้อบังคับเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
    • การลงทุน ต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่จะเพิ่มขึ้น จากการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย กฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
    • การไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
    • การไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีต่อผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำและการเรียกร้องของสังคมให้มีการใช้พลังงานทดแทนคาร์บอนต่ำได้
    • ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อรายได้และผลประกอบการทางการเงิน
    • ความเสียหายระยะยาวต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของบริษัท รวมถึงใบอนุญาตในการประกอบกิจการ
    มาตรการสำคัญในการบริหารจัดการ
    • ใช้ทรัพยากรในการผลิตสินค้า เช่น พลังงาน ทรัพยากรน้ำ สารเคมี และบรรจุภัณฑ์ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและลดของเสีย
    • ดำเนินการโครงการต่าง ๆ ในกระบวนการดำเนินงาน ตั้งแต่การประเมินประสิทธิภาพการใช้พลังงานในทุกหน่วยธุรกิจ เพื่อกำหนดแนวทางการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น การติดตั้งหม้อไอน้ำแบบไหลทางเดียว (Once-through boilers) การติดตั้งมอเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง โครงการติดตั้งแผงพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารของโรงงานผลิตทุกแห่ง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับโรงงาน ตลอดจนการก่อสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล
    • พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินงานขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product: CFP) และเครื่องหมายลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint Reduction: CFR) หรือฉลากลดโลกร้อนสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเบียร์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในกลุ่มน้ำดื่มและชาเขียว จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
    • ขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program :T- VER) เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้ (คาร์บอนเครดิต) สามารถนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเข้าสู่สังคมคาร์บอนตํ่าในอนาคต
    • วิเคราะห์และจัดการความเสี่ยงด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ทั้งความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจที่สอดคล้องตามแนวทางของ TCFD  (Task Force on Climate-related Financial Disclosures)
    • กำหนดกลยุทธ์การจัดการด้านสภาพภูมิอากาศของไทยเบฟ รวมถึงเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 15% และการใช้พลังงานหมุนเวียน 40% ภายในปี 2568
    • การมีส่วนร่วมและการเป็นพันธมิตรกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร เกี่ยวกับการจัดการด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ความเสี่ยงจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่
    เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาและนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการพึ่งพาแรงงานคน ประหยัดต้นทุนของธุรกิจในระยะยาวและตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เทคโนโลยีที่นำมาใช้มีตั้งแต่บล็อกเชน (Blockchain) สำหรับการตรวจสอบย้อนกลับถึงต้นทางของผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ในการควบคุมกระบวนการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ จนถึงผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นนวัตกรรมใหม่ซึ่งเปิดตัวในตลาดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากปัจจุบันไทยเบฟไม่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม หรือนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างล่าช้า อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัทในระยะยาว

    ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่
    หัวข้อสาระสำคัญด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้อง
    • การจัดการนวัตกรรม
    ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
    • การเข้าสู่ธุรกิจของคู่แข่งรายใหม่และมีขนาดเล็ก รวมถึงคู่แข่งรายเดิมทำให้มีการแข่งขันทางธุรกิจเพิ่มขึ้น
    • ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อรายได้และผลประกอบการทางการเงิน
    • สูญเสียความสามารถในการแข่งขันและส่วนแบ่งการตลาด รวมถึงสถานะผู้นำตลาด
    • การสูญเสียฐานผู้บริโภค
    • ผลกระทบต่อมูลค่าองค์กรและความจงรักภักดีต่อตราสินค้า
    • ความล้มเหลวในการบรรลุแผนการเติบโตทางธุรกิจของไทยเบฟ
    • การสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ
    มาตรการสำคัญในการบริหารจัดการ
    • ประเมินและลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับความแข็งแกร่งของกลุ่มผลิตภัณฑ์ของบริษัท เพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการจัดจำหน่าย และสร้างสรรนวัตกรรมในระบบการขายและการกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาด
    • ปรับแนวทางการทำงานผ่านโครงการ “ThaiBev Transformation Program” ที่มุ่งเน้นการสร้างธุรกิจใหม่ การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและตำแหน่งผู้นำตลาดในปัจจุบัน และการปลดล็อกศักยภาพโดยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่องค์กรและร่วมสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
    • ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกเพื่อยกระดับกิจกรรมในห่วงโซ่คุณค่าของไทยเบฟด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ
    • มีศูนย์วิจัยและพัฒนาของไทยเบฟและบริษัท เบฟเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีและวิศวกรรม โดยมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมที่ครอบคลุมทั้งนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมกระบวนการ และนวัตกรรมรูปแบบการทำธุรกิจ
  • ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมหภาคและภูมิรัฐศาสตร์
    ผลกระทบของโรคโควิด-19 ต่อระบบเศรษฐกิจมหภาค ความขัดแย้งและความไม่แน่นอนทางการเมืองทั้งภายในประเทศและในต่างประเทศ ร่วมกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ระดับโลกที่เกิดขึ้น ปัญหาด้านความไม่เท่าเทียมระหว่างประเทศ ปัญหาด้านสุขภาพและระบบสาธารณสุข ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการของผู้บริโภคและสร้างความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยในตลาดทั้งในและต่างประเทศที่ไทยเบฟดำเนินธุรกิจอยู่ ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่เพิ่มขึ้นของการบริหารจัดการธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับคณะกรรมการบริษัท มีการคาดการณ์ว่าเมื่อสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ทั่วโลกเริ่มคลี่คลาย หลายประเทศมีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับกิจการภายในประเทศมากขึ้นจากแนวคิดชาตินิยม เน้นการบริโภคภายในประเทศเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ รวมถึงการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งไปยังหลายประเทศมากขึ้น หากบริษัทไม่เตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมหภาคและภูมิรัฐศาสตร์ ได้อย่างทันท่วงที อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัทในระยะยาว รวมทั้งเสียโอกาสในการสร้างหรือได้รับโอกาสทางธุรกิจใหม่

    ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่
    หัวข้อสาระสำคัญด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้อง
    • ความผาสุกของพนักงาน
    • การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน
    • การกำกับดูแลองค์กร และจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ
    ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
    • ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อรายได้และผลประกอบการทางการเงิน รวมถึงความต่อเนื่องทางธุรกิจ
    • ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่จะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจใช้จ่าย
    • นโยบายการจัดเก็บภาษีของแต่ละประเทศที่อาจมีการเลือกปฏิบัติ
    • แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ
    • ความไม่สงบทางสังคม
    • ความปลอดภัยของผู้คนและทรัพย์สิน โดยเฉพาะพนักงานและทรัพย์สินของกลุ่มบริษัทไทยเบฟ
    • ความล้มเหลวในการบรรลุแผนการเติบโตทางธุรกิจของไทยเบฟ
    • การสูญเสียโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ
    มาตรการสำคัญในการบริหารจัดการ
    • ติดตามอย่างต่อเนื่องสำหรับข้อมูลข่าวสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ เหตุการณ์การเมือง ปัญหาความสัมพันธ์หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศที่อาจมีผลต่อการดำเนินธุรกิจ
    • วิเคราะห์สถานการณ์จำลองเพื่อระบุและประเมินความเป็นไปได้และผลกระทบที่อาจส่งผลต่อการดำเนินงานของไทยเบฟและเตรียมแผนรับมือเพื่อความต่อเนื่องทางธุรกิจ ตามลำดับ
    • สื่อสารให้หน่วยงานภายในองค์กรที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อม ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การรับมือกับภาวะวิกฤตหรือแนวทางการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์
    • กำหนดแนวทางปฏิบัติและขั้นตอนด้านความปลอดภัยเพื่อดูแลปกป้องพนักงานและทรัพย์สินของบริษัท