SUSTAINABILITY REPORT 2020

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2563 / ใส่ใจดูแลบุคลากร ลูกค้า และผู้บริโภค
GRI 103-1, GRI 103-2, GRI 103-3, GRI 415-1
การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ
ไทยเบฟมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และกำหนดนโยบายต่างๆ บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและเป็นกลาง โดยเข้าไปมีส่วนร่วมและให้การสนับสนุนองค์กรของภาครัฐและภาคเอกชน โดยในปีที่ผ่านมาไทยเบฟได้ดำเนินงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ด้วยวัตถุประสงค์ดังนี้
  • เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้แข็งแกร่งมากขึ้น ไทยเบฟร่วมมือกับ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจไทย-เวียดนาม สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย UN Global Compact และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และการเป็นประธานสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai-UK Business Leadership Council: TUBLC)
  • เพื่อขยายเครือข่ายการเติบโตร่วมกับบริษัทต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมอาหาร ไทยเบฟให้การสนับสนุนกิจกรรม การเข้าไปมีส่วนร่วมแบ่งปันข้อมูลในด้านต่าง ๆ หรือการสนับสนุนงบประมาณ ภายใต้ความมุ่งหวังในการสานต่อนโยบายภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งนำมาสู่การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมโดยรวมให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนและมั่นคง
ไทยเบฟสนับสนุนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นหลักเนื่องจากทั้งสององค์กรเป็นนิติบุคคลที่เป็นตัวแทนผู้ประกอบการภาคเอกชนในการประสานงานนโยบายและดำเนินการกับภาครัฐ ให้คำปรึกษาและเสนอแนะแก่รัฐบาล เป็นแกนกลางในการประสานงานให้เกิดความร่วมมือที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมพัฒนาธุรกิจ การค้า การลงทุน ตลอดจนปกป้องสิทธิ และความยุติธรรมที่สมาชิกพึงได้รับอย่างเต็มภาคภูมิทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล นอกจากนี้ยังส่งเสริม สนับสนุนการศึกษา วิจัย อบรม เผยแพร่วิชาการและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมและการค้า
ตัวอย่างการมีส่วนร่วมสนับสนุนองค์กรต่างๆ
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
เพื่อให้ภาคธุรกิจมีขีดความสามารถในการแข่งขัน ไทยเบฟได้ร่วมกับคณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและเครือข่ายผู้ประกอบการเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา การพัฒนาและการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการเชื่อมโยงนโยบายภาครัฐที่สำคัญๆ เช่น ร่วมกำหนดแนวทางการค้าและการลงทุนภายใต้สภาธุรกิจไทยเวียดนาม การสร้างความเชื่อมั่นในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศ ผลักดันการช่วยเหลือประชาชนและนักศึกษาให้มีรายได้ สนับสนุนการจัดสื่อประชาสัมพันธ์ “คู่มือในการดำเนินธุรกิจแบบปลอดภัย” ใช้เป็นแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการและประชาชนตามมาตรการต่างๆ ด้วยวิถีใหม่ “New normal” ทั้งหมดนี้เป็นภารกิจเพียงบางส่วนที่ไทยเบฟร่วมผลักดัน เพื่อสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้แก่บริษัทและภาคอุตสาหกรรม
สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย (TIPMSE) ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ส่งเสริมหลัก 3Rs ได้แก่ การลดการใช้ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการ นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) รวมถึงแนวทางปฏิบัติด้านบรรจุภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนการสร้างความรู้ ความเข้าใจบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง การรณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างจิตสำนึกในการคัดแยกขยะให้แก่ทุกภาคส่วน ซึ่งไทยเบฟให้การสนับสนุนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยด้านการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้หลัก 3Rs ด้วยการฝึกอบรม สัมมนา รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างคู่ค้าในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคเอกชนในการบริหารจัดการของเสียจากบรรจุภัณฑ์ ที่มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและและยังสามารถช่วยการจัดการของเสียจากบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สนับสนุนการดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยรายปี และงานกิจกรรมต่าง ๆ สนับสนุนค่าธรรมเนียมสมาชิก และมอบทุนวิจัยเพื่อสนับสนุนการจัดการบรรจุภัณฑ์ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพลังขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิดบรรจุภัณฑ์เป็นวัตถุดิบ เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันคัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วออกจากขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังได้เข้าร่วมประชุมหารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาสินค้าขาดแคลนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งไทยเบฟยืนยันว่าสินค้าไม่ขาดแคลน และเพียงพอต่อการบริโภคของประชาชน
สภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai-UK Business Leadership Council : TUBLC)
ไทยเบฟในฐานะประธานสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ โดยการรับฟังและประสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจเพื่อส่งเสริมโอกาสทางการค้าและการลงทุน แสวงหาโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยและสหราชอาณาจักร รวมถึงการมุ่งเน้นการผลักดันประเด็นข้อเสนอของภาคเอกชนแก่ภาครัฐ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของทั้งสองประเทศ โดยแบ่งการขับเคลื่อนการดำเนินงานออกเป็น 2 หน่วยงานเฉพาะกิจ คือ
1) ส่งเสริมการลงทุน (Trade and Investment Promotion Taskforce) เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และ
2) ประเมินนโยบายการค้า (Trade Policy Review Taskforce) เพื่อสร้างความเข้าใจในข้อระเบียบการค้าระหว่างประเทศ และเป็นพลังในการผลักดันข้อเสนอหรือประเด็นทางการค้าที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศ

โดยที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และประชาชน อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับกับความท้าทายใหม่ ๆ อาทิ การสัมมนา Brexit หรือการที่สหราชอาณาจักรถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งจะกระทบต่อกฎระเบียบข้อบังคับในการค้าการลงทุน รวมทั้งการส่งออกสินค้าของไทยไปยังสหราชอาณาจักร
สภาธุรกิจไทย-เวียดนาม (Thai-Vietnam Business Council)
ร่วมเป็นคณะกรรมการ และเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในมิติต่าง ๆ อาทิ การค้าการลงทุน และร่วมผลักดันการแก้ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจระหว่างไทยและเวียดนาม โดยที่ผ่านมา ไทยเบฟได้ร่วมกับสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม, C asean และ SCG Group เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนา “Thailand-Vietnam on Mutual Growth and Development” ณ C asean ถนนรัชดาภิเษก เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ ขยายเครือข่ายทางด้านธุรกิจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ประกอบการไทยและเวียดนามในการพัฒนาศักยภาพทางการค้าการลงทุนกับประเทศเวียดนามให้แก่ผู้ประกอบการของไทย
สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association : TMA)
ไทยเบฟให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อสร้างคนดีคนเก่งให้กับประเทศ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจและประเทศไทย เตรียมความพร้อมให้นัก ธุรกิจเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน โดยมีผู้บริหารไทยเบฟทำหน้าที่เป็น Advisory Committee of TMA Center for Competitiveness และ Steering Committee of TMA Center for Competitiveness รวมทั้งให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย อาทิ Thailand Competitiveness Conference ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจนำเสนอแนวคิดในการทำให้องค์กรสามารถแข่งขันได้อย่างรวดเร็วและทันสมัย ตอบโจทย์ผู้บริโภค, Sustainability Forum มุ่งเน้นการนำเสนอแนวทางการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs), Digital Management Forum ซึ่งมีผู้บริหารไทยเบฟร่วมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการบริหารจัดการดิจิทัลและเป็นข้อมูลที่ทันสมัยเป็นประโยชน์ต่อการบริหารองค์กร เป็นต้น
UN Global Compact และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย
ในปี 2562 ไทยเบฟเข้าร่วมเป็นสมาชิก UN Global Compact (UNGC) กรอบความร่วมมือการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ เพื่อขยายความร่วมมือจากบริษัทต่าง ๆ ทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม มูลนิธิ องค์กรไม่แสวงหากำไร ให้ทุกองค์กรมีเป้าหมายความยั่งยืนในการดำเนินกิจการ ทั้งการวางยุทธศาสตร์และการปฏิบัติการที่สอดคล้องกับหลักสากล 10 ประการของ UNGC ซึ่งครอบคลุม 4 มิติสำคัญ ได้แก่ การต่อต้านการทุจริต การปกป้องสิ่งแวดล้อม มาตรฐานแรงงาน และสิทธิมนุษยชน โดยไทยเบฟได้เข้าร่วมการสัมมนาและการประชุมเชิงปฏิบัติการ จัดโดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ Global Compact Network Thailand (GCNT) เพื่อผลักดันให้องค์กรและเครือข่ายสมาชิกมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนธุรกิจที่ยั่งยืน สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 ประการ
เครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย (Thailand Supply Chain Network, TSCN)
ไทยเบฟผสานความร่วมมือกับ 7 บริษัทเอกชนของไทย ในการจัดตั้งเครือข่าย TSCN เพื่อบูรณาการความร่วมมือและเพิ่มพูนการลงทุนระหว่างกันทั้งในปัจจุบันและการต่อยอดในอนาคต โดยการดำเนินงานของเครือข่าย TSCN มีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ ได้แก่
(1) เพื่อร่วมกันปกป้องมูลค่าของการลงทุน อาทิ การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ, กฎหมายธุรกิจ, การเงิน, ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร
(2) เพื่อร่วมกันสร้างเสริมคุณค่าของการลงทุน ซึ่งรวมถึงการสร้างความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานที่มีอยู่เดิม อาทิ Cross-selling, Cross-training, การลงทุนร่วม, การใช้ทรัพยากรร่วมกัน และ
(3) เพื่อร่วมกันสร้างนวัตกรรมและต่อยอดการลงทุน ในโครงการความร่วมมือที่ไม่เคยดำเนินการมาก่อน เช่น การสร้าง Online Platform ร่วมกัน, กองทุนร่วมเพื่อการลงทุนในสตาร์ทอัพ (Startup), Cross-sharing ทักษะพนักงาน, การใช้นักพัฒนาโปรแกรมสำหรับโครงการในประเทศไทย

ในอนาคตเครือข่าย TSCN มีแผนงานที่จะขยายขอบเขตการบูรณาการความร่วมมือไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน หรือใน ASEAN+3 (ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐเกาหลีใต้) โดยเบื้องต้น เครือข่าย TSCN แบ่งกลุ่มงานออกเป็น 5 กลุ่ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ ประกอบด้วย กลุ่มงานโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน กลุ่มงานด้านสุขภาพ กลุ่มงานด้านความยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน กลุ่มงานด้านการศึกษา และกลุ่มงานความภาคภูมิใจแห่งอาเซียน (Pride of ASEAN)