รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2563

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2563 / ใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม
การจัดการด้านพลังงาน
ไทยเบฟตระหนักถึงปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ไทยเบฟจึงนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนากระบวนการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มการใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารจัดการด้านพลังงานเกิดประโยชน์สูงสุด
การใช้พลังงานภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency)
  • โครงการประเมินการใช้พลังงาน
    ไทยเบฟจัดทำโครงการประเมินการใช้พลังงานกับทุกกลุ่มธุรกิจ เพื่อหาความเป็นไปได้ที่จะลดการใช้พลังงานผ่านการใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เหมาะสมหรือใช้พลังงานทดแทนอื่นๆ โดยแต่งตั้งคณะทำงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการพลังงานในแต่ละกลุ่มธุรกิจ เพื่อประเมินการใช้พลังงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด
  • โครงการติดตั้งหม้อไอน้ำแบบไหลทางเดียว (Once through Boiler)
    กลุ่มธุรกิจสุราและเบียร์ติดตั้งหม้อไอน้ำแบบไหลทางเดียว (Once through Boiler) หรือเครื่องกำเนิดไอน้ำแบบท่อน้ำที่สามารถผลิตไอน้ำและตอบสนองความต้องการใช้ไอน้ำเพื่อกระบวนการผลิตได้เร็วและอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดการใช้เชื้อเพลิงที่ใช้แล้วหมดไป โดยกลุ่มธุรกิจสุราสามารถลดการใช้น้ำมันเตา และกลุ่มธุรกิจเบียร์สามารถลดการใช้ถ่านหิน ส่งผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง

    ในปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ทำการติดตั้งหม้อไอน้ำแบบไหลทางเดียว (Once through Boiler) ที่ใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิง ทดแทนหม้อไอน้ำแบบเก่า ที่ใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันเตา จำนวน 4 เครื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โครงการใช้มอเตอร์ประสิทธิภาพสูง

กลุ่มธุรกิจสุราและเบียร์ได้จัดทำโครงการใช้มอเตอร์ประสิทธิภาพสูงในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง จุดประสงค์เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)
โครงการผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Rooftop)

โครงการติดตั้งแผงพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์บริเวณหลังคาอาคารเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับโรงงานในประเทศรวม 27 แห่ง และโรงงานประเทศเมียนมา 1 แห่ง โดยการติดตั้งจะแล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่งในปีที่ผ่านมา

โครงการเฟส 1 อยู่ระหว่างการดำเนินการติดตั้ง 5 แห่ง รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 5 เมกะวัตต์ (MWp) ลดการซื้อพลังงานไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สำหรับเป้าหมายของโครงการเฟส 2 ตั้งเป้ากำลังผลิตติดตั้งที่ 15 เมกะวัตต์ (MWp) ประมาณการปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้รวม 19,500 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ต่อปี
โครงการโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biogas)ในประเทศ
โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biogas) เพิ่มเติมอีก 2 แห่ง คือ โรงงานสุราจังหวัดหนองคาย และจังหวัดนครสวรรค์ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 5 แห่ง โดยนำน้ำกากส่าซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้จากกระบวนการกลั่นสุรามาผลิตก๊าซชีวภาพใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาในการผลิตไอน้ำสำหรับโรงงานสุรา ผลที่ได้คือ สามารถลดการใช้น้ำมันเตา และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ยังนำก๊าซชีวภาพส่วนที่เกินจากความต้องการของโรงงานมาผลิตไฟฟ้า จำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอีกด้วย
โครงการโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biogas) ต่างประเทศ
โครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพตั้งอยู่ที่โรงกลั่น Balmenach ที่เป็นหนึ่งในโรงกลั่นวิสกี้ของ InverHouse
เกิดขึ้นจากการนำผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ที่ได้จากกระบวนการกลั่นวิสกี้มาผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) เพื่อนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้าจ่ายให้กับโรงงาน และนำก๊าซชีวภาพส่วนที่เกินจากความต้องการของโรงงานมาผลิตพลังงานไฟฟ้าจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าท้องถิ่น ทั้งนี้เป็นการก่อสร้างเพิ่มเติมจากโรงงานผลิตก๊าซชีวมวล ที่ใช้เชื้อเพลิงอัดแท่ง (Wood pellets) เป็นแหล่งพลังงานความร้อนหลักในการผลิตมอลต์วิสกี้ ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ใน 2 ปีที่ผ่านมา

โครงการโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพนี้ อยู่ในระหว่างการทดสอบการเดินระบบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าท้องถิ่นทำให้โรงกลั่น Balmenach เป็นโรงงานที่ใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดในการผลิตมอลต์วิสกี้
ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ (Low Carbon Products)
ไทยเบฟส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับคู่ค้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี

ในปีที่ผ่านมาไทยเบฟยังได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินงานขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product: CFP) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยมีบริษัทในเครือได้รับการขึ้นทะเบียนเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร 17 บริษัท และได้รับ เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ 105 ผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เบียร์) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (น้ำดื่มและชาเขียว) ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนเครื่องหมายลดคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint Reduction: CFR) หรือฉลากลดโลกร้อน จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นฉลากที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์ได้ผ่านการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยเปรียบเทียบคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ในปีปัจจุบันกับปีฐานคือไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปีฐาน ซึ่งในปี 2563 มีผลิตภัณฑ์ได้รับการขึ้นทะเบียนฉลากลดคาร์บอนฟุตพรินต์ 19 ผลิตภัณฑ์
ความสำเร็จด้านการจัดการพลังงาน

ทิศทางการดำเนินงาน

แบ่งปันคุณค่า
คุณจารุณี กังวาลวงศ์สกุล
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท คอสมอส บริวเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด
ปัจจุบันภาวะโลกร้อนมีความรุนแรงมากขึ้น เราในฐานะที่เป็นผู้ผลิตเครื่องดื่ม เล็งเห็นว่าฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product; CFP) และฉลากลดโลกร้อน (Carbon Footprint Reduction; CFR) เป็นทางเลือก เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่รับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง กระบวนการผลิต การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้ และเป็นการรับผิดชอบต่อโลก

ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เราให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากร และได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาในกระบวนการผลิต ทั้งการนำพลังงานทดแทนมาใช้ เช่น การผลิตพลังงานชีวภาพทดแทนการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล การผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ และการพัฒนาทางด้านบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบให้ลดการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ หรือมีการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยสามารถนำมาใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก เช่น ขวดแก้ว กระป๋องอะลูมิเนียม และขวดพีอีที เป็นต้น และยังทำให้ผู้บริโภคได้ร่วมตระหนักในการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย

กลุ่มเบียร์ และกลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์มีเป้าหมายอย่างต่อเนื่องในการขอการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ผลิตภัณฑ์ และฉลากลดโลกร้อน จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวเป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย โดยปัจจุบันกลุ่มเบียร์ และกลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Products) และฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ (Carbon Footprint Reduction Lebel) ทั้งหมด 22 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 64 ของรายได้ และในส่วนของการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร กลุ่มเบียร์ประเทศไทย และกลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ได้รับการรับรองครอบคลุมทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 100 ของรายได้ นอกเหนือจากนี้ เรายังมีแผนอบรมเพื่อเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินโครงการให้กับบุคลากรของกลุ่มธุรกิจในเครือไทยเบฟ เพื่อสนับสนุนข้อมูลด้านความยั่งยืนให้กับไทยเบฟในอนาคต