SUSTAINABILITY REPORT 2020

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2563 / แบ่งปันคุณค่าให้คนทั่วโลก
การพัฒนาด้านการศึกษา
ไทยเบฟให้ความสำคัญกับการสนับสนุนด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างเยาวชนที่ดี ให้เติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณค่า โดยดำเนินโครงการและกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อเพิ่มพูนทักษะการเรียน การเป็นผู้นำ สร้างทักษะอาชีพ ทักษะการใช้ชีวิต ส่งเสริมความรู้ และให้ทุนการศึกษากับเยาวชน ชุมชน และสถานศึกษาต่าง ๆ นอกจากนี้ ไทยเบฟยังให้การสนับสนุนทุนการศึกษากับบุคลากรในองค์กรและบุตรของพนักงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงาน
โครงการทุนบุตรพนักงาน
ไทยเบฟใส่ใจในชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงาน ให้ความสำคัญในการสนับสนุนการศึกษา โดยมอบทุนให้แก่บุตรของพนักงานที่มีความประพฤติและผลการเรียนดีตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา นับตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันจำนวน 11,472 ทุน รวมเป็นเงิน 70,786,000 บาท โดยแบ่งออกเป็น ทุนการศึกษากรณีทั่วไปและทุนการศึกษากรณีพิเศษ (โครงการช้างเผือก) ตามระดับการศึกษา โดยมีรายละเอียดดังนี้
ปีการศึกษา
ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น ม.ปลาย/ปวช. ปวส./ปวท. อุดมศึกษา
(ปริญญาตรี)
กรณีพิเศษ
(โครงการช้างเผือก)
จำนวนทุนทั้งสิ้น จำนวนเงินทั้งสิ้น
2563 639 223 162 30 59 4 1,117 6,697,000
2562 651 231 138 18 64 10 1,112 6,891,000
2561 624 228 136 20 57 10 1,075 6,670,000
2560 648 215 156 35 59 10 1,123 6,992,000
2559 648 203 149 31 63 8 1,102 6,779,000
2558 665 203 115 19 52 9 1,063 6,470,000
2557 642 200 129 23 50 8 1,052 6,397,000
2556 636 197 144 25 43 14 1,059 6,700,000
2555 646 189 137 15 55 12 1,054 6,593,000
2554 543 231 142 24 71 12 1,023 6,597,000
2553 399 169 73 15 36 - 692 4,000,000
รวมทั้งสิ้น 6,741 2,289 1,481 255 609 97 11,472 70,786,000

บุตรที่ได้รับทุนกรณีทั่วไปและทุนการศึกษากรณีพิเศษ (โครงการช้างเผือก) ได้เข้าทำงานที่ไทยเบฟจำนวน 43 คน แบ่งออกเป็น กลุ่มบริหารช่องทางการจัดจำหน่าย 10 คน กลุ่มธุรกิจสุรา 12 คน กลุ่มธุรกิจเบียร์ 3 คน กลุ่มการเงินและบัญชี 2 คน กลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง 12 คน สำนักตรวจสอบภายใน 1 คน บริษัท ซี เอ ซี จำกัด 1 คน สำนักทรัพยากรบุคคล 1 คน และสำนักเลขานุการบริษัท 1 คน
โครงการสานอนาคตการศึกษา Connext ED

โครงการคอนเน็กซ์ อีดี (Connext ED) เป็นโครงการพัฒนาการศึกษาให้กับโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งไทยเบฟร่วมมือกับ 12 องค์กรเอกชนและมหาวิทยาลัยจำนวน 28 แห่ง โดยปีที่ผ่านมาไทยเบฟได้มอบทุนสมทบเพื่อต่อยอดธุรกิจในโครงการ “การทำมาค้าขาย” หรือธุรกิจจำลอง ให้นักเรียนมากกว่า 65,000 คน จาก 263 โรงเรียน ใน 44 จังหวัด ได้ฝึกฝนอาชีพ เสริมสร้างทักษะชีวิต เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงและลงมือปฏิบัติจริง พร้อมทั้งให้ความรู้เรื่องการบริหารการเงิน การบันทึกรายได้และค่าใช้จ่ายรวมถึงการจัดทำบัญชีของโครงการทำให้ทราบถึงต้นทุนกำไรของธุรกิจ เพื่อสามารถวางแผนในการต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และขยายโอกาสทางธุรกิจได้ โดยมหาวิทยาลัยพันธมิตรจัดการอบรมแบบลงมือปฎิบัติจริงเรื่องการทำบัญชีครัวเรือนและการทำบัญชีธุรกิจให้แก่คุณครูและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้เข้าใจมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมออกสู่ตลาดจริง ซึ่งบางธุรกิจสามารถสร้างกำไรนำมาหมุนเวียนภายในโครงการและโดยนำไปต่อยอดให้เกิดความหลากหลายของสินค้าและขยายโอกาสทางธุรกิจให้เติบโตได้โดยไม่ขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติม
การประกวดโอทอป จูเนียร์ OTOP Junior

เป็นเวทีแสดงความสามารถของนักเรียนจากโรงเรียนที่ทำโครงการธุรกิจจำลอง “ทำมาค้าขาย” โดยทีมที่เข้าประกวดต้องนำเสนอโครงการและตอบคำถามจากคณะกรรมการที่ประกอบด้วย ตัวแทนจากภาคเอกชน ภาคการศึกษาและภาครัฐ เพื่อชิงรางวัลกว่า 500,000 บาท ในปีที่ผ่านมามีนักเรียนจำนวน 120 คน จาก 100 ชมรม ส่งผลงานเข้าประกวด ซึ่งก่อนการประกวดได้จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการเป็นเวลา 2 วัน โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพิ่มเติมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องพื้นฐานการจัดทำบัญชีเบื้องต้น เทคนิคการทำมาค้าขาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการโอทอป นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ 20 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ ได้เข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการกับ Ted Ex Bangkok เพื่อเสริมสร้างทักษะ การบอกเล่าเรื่องราว การเข้าใจลูกค้าและสถานการณ์ โครงเรื่องที่ใช้สำหรับการนำเสนอ รวมถึงการดึงสิ่งที่มีคุณค่าของสินค้าและผลิตภัณฑ์
โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา Partnership School

เกิดจากความร่วมมือของภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคส่วนอื่น ๆ ในการบริหารสถานศึกษาและพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะกับความต้องการของท้องถิ่นและชุมชน เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบาย Thailand 4.0 โดยมีอาสาสมัครจากไทยเบฟซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง จำนวน 17 ท่าน ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความคล่องตัว ลงพื้นที่วางแผนร่วมกับคณะครู ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา และชุมชน จาก 23 โรงเรียน ใน 17 จังหวัด เพื่อออกแบบและสร้างกิจกรรมเชื่อมโยงให้ชุมชน วัด และโรงเรียน ร่วมกันพัฒนาชุมชนมีพื้นฐานครอบครัวที่แข็งแรง มีวัฒนธรรมที่ดี และพัฒนาให้เด็กนักเรียนมีทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต และการเป็นคนดี เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาชีวิตต่อไป
โครงการครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ไทยเบฟให้การสนับสนุนโครงการครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมอบรางวัลให้แก่ครูผู้เสียสละและปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ถิ่นทุรกันดารและพื้นที่เสี่ยงภัย โดยมอบรางวัลมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 8 ปี โดยในปี 2563 ได้มอบทุนเพิ่มเป็น จำนวน 11 ทุน นับจนถึงรุ่นปัจจุบันมีจำนวนครูทั้งสิ้น 72 คน (รวม 88 ทุน) ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ไทยเบฟยังได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนและชุมชนรอบโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่มีทักษะอาชีพและสร้างรายได้แบบพึ่งพาตนเองได้ เช่น โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน โครงการฝึกอาชีพด้านการทำขนมไทย โครงการสหกรณ์เลี้ยงวัว โครงการเบเกอรี่สร้างอาชีพคนดีสู่สังคม โครงการกองทุนเงินหมุนเวียนเพื่อการเกษตร โครงการตัดผมชาย โครงการแปรรูปพริกกระเหรี่ยง เป็นต้น ทำให้ชุมชนเกิดแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เกิดอาชีพใหม่ในชุมชน มีกองทุนเพื่อการพึ่งพาตนเอง
โครงการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อสังคม Beta Young Entrepreneur

เป็นโครงการซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมูลนิธิสิริวัฒนภัคดี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนานักศึกษาของวิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยให้เติบโตเป็นผู้ประกอบการที่มีความรู้ความสามารถ มีศักยภาพ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยจัดกิจกรรมหลายด้านเพื่อพัฒนานักศึกษาให้มีความสามารถออกสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง
  • กิจกรรมด้านธุรกิจได้ตั้งโจทย์ให้นักศึกษาได้ท้าทายตัวเองด้วยการตั้งภารกิจยอดขายและวางแผนการขายเพื่อให้ภารกิจสำเร็จ ครบถ้วนและสมบูรณ์ โดยมีอาจารย์ พนักงานไทยเบฟ และนักศึกษารุ่นพี่คอยเป็นโค้ชให้คำแนะนำ และคำปรึกษาพร้อมติดตามผลทุกสัปดาห์ โดยน้องนักศึกษาจะทำรายงานมานำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง ทุกเดือน พบว่ามีนักศึกษาหลายคนที่ประสบความสำเร็จสามารถสร้างยอดขาย และผลกำไรได้ถึงหลักล้านจากทุนตั้งต้นที่ได้รับในหลักหมื่น ซึ่งมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา
  • กิจกรรมเพื่อสังคมเป็นการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมในการทำธุรกิจ โดยนักศึกษาคิดและรวมกลุ่มกันแบ่งสินค้าบางส่วนจากธุรกิจตั้งต้น และบริษัทจำลองนำไปบริจาคให้กับชุมชนต่าง ๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19
  • กิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด – 19 เช่น การจัดค่ายคัดเลือกผู้ประกอบการรุ่นใหม่หรือ Beta Young รุ่นที่ 9 การรายงานผลธุรกิจตั้งต้นและบริษัทจำลอง การใช้สื่อโซเชียลในการติดต่อสื่อสารกับนักศึกษา
  • กิจกรรมการประกวดออกแบบเสื้อแจ๊คเก็ต Beta Young Plus โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาในโครงการร่วมส่งผลงานเข้าประกวดเพื่อนำเสนอความคิดสร้างสรรค์และใช้เวลาว่างในช่วงสถานการณ์ Covid – 19 ให้เกิดประโยชน์
ปัจจุบันโครงการนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 มีนักศึกษาที่จบจากโครงการแล้ว 6 รุ่น จำนวน 170 คน

ในปี 2563 มีนักศึกษาเบต้ารุ่นที่ 6 จบการศึกษารวม 15 คน และกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย จำนวน 3 รุ่น (รุ่น 7 – 9) รวม 52 คน ซึ่งนักศึกษาที่จบจากโครงการแล้วสามารถนำธุรกิจตั้งต้นที่ได้ทดลองทำไปต่อยอดเป็นธุรกิจของตนเอง โดยนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับตลอดหลักสูตรไปปรับใช้ บางส่วนได้ทำงานในบริษัทชั้นนำ รวมทั้งได้ร่วมงานกับบริษัทในเครือไทยเบฟด้วย
โครงการ Education Institute Support Activity (EISA)

ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา ไทยเบฟได้ริเริ่มโครงการ EISA เพื่อส่งเสริมกิจกรรมสนับสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ดังนี้
  • การแข่งขันกีฬาในระดับอุดมศึกษา
  • กิจกรรมของนิสิต นักศึกษาในคณะ และชมรมต่าง ๆ เช่น งานออกค่ายฯ
  • ส่งเสริมให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่สามารถฝึกหัดและปฏิบัติได้จริง เช่น การทำบริษัทจำลอง การนำศึกษาลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้วิถีของชุมชน รวมถึงนำผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิจากบริษัทมาเป็นวิทยากรพิเศษในวิชาเรียน ต่าง ๆ
ปัจจุบันโครงการ EISA ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย เพิ่มมากขึ้นถึง 54 คณะใน 40 สถาบัน จากที่เคยสร้างสัมพันธ์เฉพาะแค่ส่วนกลางหรือผู้บริหารสถาบันเท่านั้น ทางโครงการยังได้เพิ่มการสนับสนุนกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้าร่วมฝึกฝนปฏิบัติงานจริงในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ในปีที่ผ่านมาไทยเบฟร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดำเนินการจัดตั้งร้าน Bee-High Shop โดยไทยเบฟสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างและตกแต่งร้าน เช่น ชั้นวางสินค้า อุปกรณ์เครื่องแคชเชียร์ สินค้าแรกเข้า รวมถึงนำผู้เชี่ยวชาญทางด้านค้าปลีกและผู้ชำนาญทางด้านผลิตภัณฑ์มาสอนนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการบริษัทจำลอง โดยร้าน Bee High Shop เป็นพื้นที่ให้นักศึกษานำเสนอชิ้นงานออกแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น งานออกแบบเครื่องประดับ งานออกแบบบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ และยังเป็นสถานที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเครือไทยเบฟแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งมีจำนวนลูกค้าหมุนเวียนกว่าวันละ 5,000 คน

นอกจากนี้ยังได้นำนักศึกษารายวิชาออกแบบอุตสาหกรรมจำนวน 30 คนเข้าร่วมโครงการพัฒนาชุมชนบ้านสวายสอ จ.บุรีรัมย์ ลงพื้นที่ชุมชนร่วมปฏิบัติงานกับชาวบ้านทำกิจกรรมพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เส้นทางการท่องเที่ยวที่พักโฮมสเตย์ซึ่งนักศึกษา ช่วยกันออกแบบป้ายบอกทางภายในหมู่บ้าน อีกทั้งยังออกแบบแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ลูกค้าสามารถจองห้องพักผ่านระบบออนไลน์ได้ และยังช่วยพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ในชุมชนโดยการออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยไทยเบฟสนับสนุนค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าที่พักในการนำนักศึกษาไปลงชุมชน
แบ่งปันคุณค่า
คุณกมลนัย ชัยเฉนียน
ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายบริหารทั่วไปในงานประกาศนียบัตรธุรกิจตั้งต้น
และบริษัทจำลอง (Beta Young Entrepreneur)

วัตถุประสงค์โครงการนี้ เราอยากให้นักศึกษารุ่นใหม่ได้มีความรู้และทักษะในการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่เก่งและดีในอนาคต เพราะเราเชื่อว่านักศึกษาที่เรียนจบไปแล้วจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความสำเร็จให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมถึงสร้างความสำเร็จให้กับตนเองได้


คุณสุรพล เศวตเศรณี
ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
กรรมการบริษัท
ประชารัฐรักสามัคคีบุรีรัมย์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด
นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้มาลงพื้นที่ชุมชนบ้านสวายสอเป็นครั้งที่ 3 แล้ว จังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัดแรกที่น้อง ๆ ได้มา ซึ่งระยะค่อนข้างไกลจากมหาวิทยาลัย แต่ว่าน้อง ๆ ตั้งใจทำงานกันอย่างมีระบบ โดยมีการลงมาทำความเข้าใจ ดูพื้นที่ และดูศักยภาพของชุมชน รวมถึงการยอมรับและการตอบรับจากชุมชน ถ้าเบื้องต้นสามารถทำงานร่วมกันได้และมองเห็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ หรือวิถีการดำเนินชีวิตต่าง ๆ ที่เป็นจุดเด่นนักศึกษาจะนำข้อมูลที่ได้กลับไปทำการบ้านกัน ถือว่าเป็นเวทีการเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานจริง ได้ประโยชน์ทั้งคนในชุมชนบ้านสวายสอและตัวนักศึกษาเอง
โครงการคุ้งบางกระเจ้า OUR Khung Bang Kachao

ด้วยปัญหาจากการขยายตัวของการพัฒนาเมืองและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม โครงการคุ้งบางกระเจ้า หรือ OUR Khung Bang Kachao จึงเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือจากไทยเบฟ มูลนิธิชัยพัฒนาและองค์กรชั้นนำกว่า 34 องค์กรเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สีเขียวคุ้งบางกะเจ้าและชุมชนคุ้งบางกะเจ้า ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าให้ดีขึ้น ซึ่งโครงการนี้มุ่งเน้นการพัฒนาใน 2 ด้านหลัก คือ

1. พัฒนาพื้นที่สีเขียวจำนวนรวม 400 ไร่

2. พัฒนาเยาวชน การศึกษาและวัฒนธรรมกับโรงเรียนภายในเขตพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า จำนวน 11 โรงเรียน โดยมีเป้าหมายการพัฒนาทักษะ 5 ด้าน ขับเคลื่อน 10 โครงการ
  • ทักษะชีวิต
    เสริมทักษะที่จำเป็นในใช้ชีวิตประจำวันของเยาวชน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเช่น โครงการ ตะโกน โยน ยื่น ให้ความรู้ความเข้าใจและฝึกสอน ขั้นตอนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำเบื้องต้น การทำ CPR เบื้องต้น เพื่อลดสถิติเด็กจมน้ำ
  • ทักษะอาชีพ
    เสริมทักษะทำมาค้าขาย เช่น โครงการปราชญ์เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรม เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประจำพื้นที่ของแต่ละตำบล โดยปราชญ์ชุมชนในพื้นที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมอัตตลักษณ์ เช่น ดนตรีไทย อาหารพื้นถิ่น โดยการส่งต่อความเป็นคุ้งบางกะเจ้าสู่เยาวชนรุ่นต่อไป
  • การเป็นคนดี
    สร้างคุณธรรมควบคู่กับความยั่งยืน เช่น โครงการโรงเรียนวิถีพุทธ เป็นการเรียนรู้แก่นธรรมคำสอนตามหลักพระพุทธศาสนาจากพระอาจาย์วัดประยูรฯ เพื่อบ่มเพาะขัดเกลาจริยธรรมและศีลธรรมสำหรับเยาวชน
  • ทักษะการศึกษา
    เพื่อยกระดับการเรียน เช่น โครงการยกระดับการเรียนเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา O-NET ช่วยทบทวนเนื้อหาการเรียนโดยคณาจารย์จากคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อเตรียมตัวสำหรับการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (ONET)
  • แผนชุมชน
    สร้างรากฐานการพัฒนาชุมชนโดยเยาวชนคุ้งบางกะเจ้า เช่น โครงการจัดทำแผนชุมชนโดยเยาวชน เป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ที่มาของโรงเรียนและวัดประจำโรงเรียน และบริบทสิ่งแวดล้อมโดยรอบชุมชน โดยใช้หลัก “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน
โครงการ ส่งความรู้ สร้างความสุข

เป็นโครงการที่จัดโดยบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยทั่วประเทศได้มีโอกาสในการอ่านหนังสือที่ดีมีคุณภาพและการคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตเพื่อที่จะเติบโตขึ้นเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป โดยเริ่มต้นจากโรงเรียนเป้าหมายจำนวน 50 โรง ต่อปี และตั้งเป้าดำเนินการให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทย ทั้ง 77 จังหวัดในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้คัดเลือกหนังสือและจัดส่งให้กับโรงเรียนในโครงการแล้วกว่า 113,000 เล่ม พร้อมจัดตั้งชมรม "รักการอ่าน" ซึ่งจะมีการอ่านหนังสือในโรงเรียนทุกวัน วันละ 15 นาที ผลการดำเนินโครงการพบว่า ในปี 2561 นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ร้อยละ 64 มีผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนที่ดีขึ้น และในปี 2562 ร้อยละ 72 ของนักเรียนในโครงการ มีผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โครงการการพัฒนาการศึกษาระดับนานาชาติ โดย ซี อาเซียน
ศูนย์ ซี อาเซียน จัดกิจกรรมในรูปแบบของการประชุมสัมมนา การพัฒนาการศึกษา การรวบรวมเครือข่ายและส่งเสริมการแก้ปัญหาสังคมผ่านวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกระดับของสังคม ซึ่งในปี 2563 ศูนย์ ซี อาเซียน มีการจัดกิจกรรมเพื่อการพัฒนาการศึกษามากมาย มุ่งเน้นเพื่อให้เกิดการสร้างความรู้ในระดับภูมิภาคอาเซียน ดังต่อไปนี้
การประชุมสิ่งแวดล้อมศึกษาโลกครั้งที่ 10 (World Environmental Education Conference 2019) WEEC

เป็นการประชุมวิชาการนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ “Local Knowledge, Communication and Global Connectivity” โดยมีสถาบันโลกร้อนศึกษาแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมกับสำนักเลขาธิการของเครือข่ายการประชุมสิ่งแวดล้อมศึกษา (WEEC Network) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์วิชาการทางสิ่งแวดล้อม หาแนวทางในการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงเพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการและร่วมกันหาแนวทางจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาคและระดับโลก
C asean Forum-Youth Series (CaF-Youth) Forum 2020

เป็นเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ในอาเซียน (อายุระหว่าง 18-35 ปี) เกี่ยวกับแนวความคิดหรือมุมมองที่แตกต่างตามบริบทของแต่ละประเทศในประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจและสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกหลังวิกฤตไวรัสโควิด-19 ได้ โดยจัดเสวนาทุกวันอังคาร ช่วงเวลา 18.00-19.00 น. ในรูปแบบ Virtual Forum สดผ่าน Facebook\C asean โดยมีจุดประสงค์ที่จะสร้างเครือข่ายกลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้เป็นตัวแทนของศูนย์ ซี อาเซียน ในแต่ละประเทศอาเซียนเพื่อร่วมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน การแบ่งปันประสบการณ์ของ กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ในแต่ละหัวข้อจะมุ่งเน้นความหลากหลายทั้งในเรื่องของสัญชาติ/ประเทศที่วิทยากรอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะได้ความคิดเห็นที่มีจากบริบทของแต่ละประเทศและความหลากหลายในประสบการณ์การทำงานของวิทยากร ความสนใจพิเศษของวิทยากร รวมถึงเครือข่ายของวิทยากรที่หลากหลายอีก
ASEAN Week

การจัดงานประกวดสุนทรพจน์ในระดับนักศึกษาอายุระหว่าง 18-25 ปี ในหัวข้อ ความเป็นหนึ่งเดียวคือวิถีทางอาเซียน “ASEAN as One is ASEAN Way” เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันครบรอบวันก่อตั้งสมาคมอาเซียนในวันที่ 1-8 สิงหาคม โดยผู้ชนะเลิศและรองชนะเลิศอันดับ 1 และ 2 จะได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตประเทศอาเซียนประจำประเทศไทย ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ สภาหอการค้า ภาคเอกชนและภาคการศึกษา นอกจากนี้ได้จัดการแข่งขันประเภทออนไลน์เพื่อเปิดโอกาสให้กับเยาวชนจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
ThaiBevGroup Career Journey in ASEAN 2020

สำนักทรัพยากรบุคคล ร่วมกับศูนย์ ซี อาเชียน จัดกิจกรรมเปิดบ้านสรรหาบุคลากรรุ่นใหม่ในอาเชียนเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจไทยเบฟในอาเซียนและประเทศอื่นๆ ในอนาคต ในรูปแบบของกิจกรรม Open House : ThaiBev Group Career Journey in ASEAN เพื่อบอกเล่าถึง “โอกาส..ไร้ขีดจำกัด” หากได้เข้าร่วมงานกับกลุ่มธุรกิจไทยเบฟทั้งในประเทศไทย ประเทศในกลุ่มอาเซียน และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก (มาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า เวียดนาม กัมพูชา สก๊อตแลนด์) โดยในปี 2563 มีจำนวนผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 206 ราย จาก 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย และประเทศไทย และจากภูมิภาคอื่นอีก 6 ประเทศ คือ จีน บังคลาเทศ ภูฏาน เนปาล ไนจีเรีย และไอร์แลนด์
การประชุมสหประชาชาติจำลอง! TUMUN Conference 2020 (Thammasat University Model United Nations Conference 2020)

การประชุมจำลองของสหประชาชาติ หรือ Model United Nations (MUN) จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นการจำลองการประชุมขององค์การสหประชาชาติโดยนักเรียนหรือนักศึกษา ซึ่งในการเข้าร่วมการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมจะต้องสวมบทบาทเป็นตัวแทนจากประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ และอภิปรายในปัญหาต่าง ๆ ที่ถูกยกขึ้นมา เป็นประเด็นในการประชุมครั้งนั้น เมื่อการประชุมเสร็จสิ้นลง จะมีการทำเอกสารสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหานั้นๆ โดยปัญหาที่นำมาอภิปรายจะแตกต่างกันไปตามคณะกรรมการ (committee) ที่นักศึกษาเข้าร่วมประชุม เปิดโอกาสให้นักเรียนและนักศึกษาในประเทศไทยได้แลกเปลี่ยนทางความคิดกับประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมประชุม อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมา ญี่ปุ่น อุซเบกิสถาน เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม และโปแลนด์ จำนวน 150 คน
C asean: Women in Limitless “SPACE” Symposium

สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และ C asean ร่วมจัดการบรรยายหัวข้อ “Space, Me and Fellow Women” และการอภิปรายหัวข้อ “Nurturing Women Leaders of Next Generation” เพื่อส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในด้านการศึกษา อาชีพ และความเป็นผู้นำในด้านต่างๆ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจโดยผู้หญิงที่เป็นผู้นำองค์กรชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชนและประสบความสำเร็จด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีวิทยากร Dr. Chiaki Mukai นักบินอวกาศหญิงคนแรกของเอเชียและรองอธิการบดี Tokyo University of Science โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้น 213 คน จากสถานทูต ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และสื่อมวลชน
ภาพรวมผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาการศึกษาปี 2563
ปี 2563
ไทยเบฟมอบทุนบุตรพนักงาน
จำนวน 1,117 ทุน
เป็นเงินทั้งสิ้น
6,697,000 บาท

นักเรียนได้รับประโยชน์ จาก
โครงการสานอนาคตการศึกษา (Connext ED)
กว่า 70,000 คน


ตลอดระยะเวลา 3 ปี ของ
โครงการ OTOP Junior
มีเด็กนักเรียนจากกว่า
600 ชมรม
ส่งผลงานเข้าประกวด
โครงการ “การทำมาค้าขาย”
หรือธุรกิจจำลอง มอบทุนเพื่อต่อยอด ในธุรกิจให้นักเรียนมากกว่า
65,000 คน
จาก 263 โรงเรียน ใน 44 จังหวัด
โครงการ Beta Young Entrepreneur
ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 มีนักศึกษาที่จบจาก โครงการแล้ว 6 รุ่น
จำนวนรวม170 คน

โครงการบริษัทจำลอง
ภายใต้ โครงการ Beta Young Entrepreneur ของนักศึกษารุ่น 6 สามารถสร้างกำไรและ นำไปแบ่งทำโครงการเพื่อสังคมได้
296,000 บาท

ร้าน Bee-High Shop
โครงการบริษัทจำลองภายใต้โครงการ EISA มีนักศึกษาและบุคลากรที่เข้ามาอุดหนุนผลิตภัณฑ์ ที่ออกแบบโดยนักศึกษา และผลิตภัณฑ์จาก เครือไทยเบฟ
กว่า 5,000 คนต่อวัน

โครงการเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า
สร้างความ ร่วมมือกับเครือข่าย ภาครัฐและเอกชน 7 หน่วยงาน จัดกิจกรรม ส่งเสริมทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และการเป็นคนดีของสังคม
รวมทั้งสิ้น 12 โครงการ
ครบทั้ง 11 โรงเรียน

โครงการส่งความรู้ สร้างความสุข
ดำเนินการครบ 76 จังหวัด
โดยมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น
160 โรงเรียน
มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 9 โรงเรียน