SUSTAINABILITY REPORT 2020

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2563 / แบ่งปันคุณค่าให้คนทั่วโลก
โครงการประชารัฐรักสามัคคี
จากนโยบาย “สานพลังประชารัฐ” ของรัฐบาล ที่มอบหมายให้ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดย คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนา เศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ มีเป้าหมายหลักในการ “สร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข” ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนโดยน้อมนำพระบรมราโชบายในการ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” หลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชาด้านการพัฒนา คือ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” เป็นกรอบเป้าหมายใน การขับเคลื่อนงานที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งในที่สุดแล้ว จะนำมาสู่ความยั่งยืน

บริษัทประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด หรือบริษัท “ส่วนกลาง” เป็นผู้ประสานความร่วมมือกับเครือข่าย “ประชารัฐรักสามัคคี” ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นภายใต้การบริหารองค์กรแบบ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” (Social Enterprise) ทั้ง 76 แห่งทั่วประเทศ และเป็นผู้เชื่อมโยงการทำงานของ 5 ภาคส่วนเข้าด้วยกัน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน นับเป็น “นวัตกรรมทางสังคม” (Social Innovation) ของประเทศไทย

โครงการประชารัฐรักสามัคคีใช้หลักการดำเนินงานที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง และสัมมาชีพเต็มพื้นที่ โดยกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานที่สำคัญคือ 1 เป้าหมาย 3 กลุ่มงาน 5 กระบวนการ กระจายสู่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ
โครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย
จากความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยมีเครือข่าย “ประชารัฐรักสามัคคี” เป็นผู้ประสานงานชุมชน เพื่อหาแหล่งผลิตวัตถุดิบที่ปลอดภัยทั้งภายในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงจัดการรวมกลุ่มเกษตรกร รวบรวมวัตถุดิบ บริการจัดส่งการขนส่งไปยังโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ เป้าหมายสำคัญคือการสร้างรายได้ให้กับเกษตรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่มีตลาดในการส่งผักผลไม้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน ประชาชนในประเทศมีสุขภาพดี ได้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน

ปัจจุบันเครือข่าย “ประชารัฐรักสามัคคี” ใน 34 จังหวัด สามารถจัดส่งสินค้าเกษตรปลอดภัย เข้าสู่โรงพยาบาลได้จำนวน 42 แห่งทั่วประเทศ สร้างรายได้ให้ชุมชนไปแล้ว 133,891,936.17 บาท โดยในปีนี้สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่มขึ้นกว่า 70 ล้านบาท

โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย

ช่วงปลายปี 2562 โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทยร่วมมือกับโครงการ EISA (Educational Instituted Support Activities) จัดทำโครงการ Creative Young Designer เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทอมือกับกลุ่มนักศึกษาด้านการออกแบบแฟชั่นจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป้าหมายสำคัญ คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค เช่น
  • ผลงานชุด Thai Fabric Mix It Happen ภายใต้ความร่วมมือของ วิสาหกิจชุมชนแปรรูปร้อยรักษ์ ตำบลฮ่องแฮ่ จังหวัดร้อยเอ็ด และ คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  • ผลงานชุด The New Story of Baan Nammorn ภายใต้ความร่วมมือของ วิสาหกิจชุมชนน้ำมอญแจ้ซ้อน ตำบลแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง และ คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขากการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ปัจจุบันสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าที่เข้าร่วมโครงการ 26 ชุมชน รวมรายได้ 145,189,900 บาท โดยในปีนี้สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่มขึ้นกว่า 17 ล้านบาท สามารถติดตามผลงานของโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ได้ที่ https://th-th.facebook.com/pakaomaPRS
โครงการสะพายสายแนว

บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วยหน่วยงานเครือข่าย สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้ด้านเทคนิคการทอ รูปแบบ สีสัน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับ “ย่าม” ไทยให้ตรงใจผู้บริโภค และยังร่วมมือกับดีไซน์เนอร์จิตอาสาระดับประเทศ เช่น ASAVA Tube Gallery และดีไซน์เนอร์ท้องถิ่นในการพัฒนารูปแบบ เทคนิคการทอ และการแปรรูป ตลอดจนการจัดจำหน่าย

นอกจากนี้ยังสามารถเข้าถึงผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ เช่น ร่วมจัดแสดงสินค้าในงาน OTOP งานบ้านและสวน งานฮ่องกงแฟชั่นวีค และเทรดแฟร์ 2019 (Hong Kong Fashion Week & Trade Fair 2019) และช่องทางออนไลน์คือ เพจเฟสบุคและอินสตาแกรมชื่อ “สารพัดสรรพศิลป์” ยังช่วยสร้างการเติบโตให้แก่ชุมชน ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 3,064 คน จาก 39 ชุมชน ใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในปีนี้สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่มขึ้น 5,571,195 บาท
ร้านประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย)

ตั้งอยู่ที่อาคาร ซีดับเบิ้ลยู ทาวเวอร์ ถนนรัชดาภิเษก จัดตั้งขึ้นภายใต้แนวคิดการพัฒนาช่องทางการขายระดับประเทศโดยใช้เป็นศูนย์รวมจัดแสดง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเครือข่ายประชารัฐรักสามัคคีแบบถาวร นอกจากการขายปลีกผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านหน้าร้าน และผ่านทางเพจเฟสบุ๊ค (https://th-th.facebook.com/prsthailand.official/) แล้ว ยังมีการเชื่อมโยงเข้าสู่องค์กรขนาดใหญ่ในการจัดทำสินค้าของที่ระลึกรูปแบบ Made to Order เพื่อใช้ในงานสัมมนา กิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร รวมไปถึงกระเช้าของของขวัญในเทศกาลต่าง ๆ อีกด้วย โดยในปีนี้สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่มขึ้นกว่า 5 ล้านบาท
โครงการเครื่องสีข้าวครัวเรือน
โครงการพัฒนานวัตกรรม “เครื่องสีข้าวครัวเรือน” เครื่องสีข้าวขนาดเล็กดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2560 เป้าหมายคือการผลักดันให้เกิดห่วงโซ่อุปทานใหม่ มุ่งเน้นการสร้างช่องทางการตลาดใหม่ให้แก่เกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวสายพันธุ์พื้นเมือง ตรงให้แก่ผู้บริโภคในราคาที่สูงกว่าการขายในรูปแบบเดิม นอกจากนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรมีทักษะการผลิต การอบแห้ง คัดเลือก บรรจุ และขนส่งให้มีคุณภาพก่อนส่งตรง ถึงผู้บริโภคนับเป็นการสร้างรายได้แก่เกษตรกรโดยตรง โดยในปี 2563 บริษัทประชารัฐรักสามัคคีวิสาหกิจเพื่อสังคม ( ประเทศไทยจำกัด ) และบริษัทนาทวีเทคโนโลยี่มีร่วมกันวิจัยและพัฒนา ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องสีข้าวครัวเรือน รุ่นที่ 1 จำนวน 150 เครื่อง และจัดจำหน่ายขายได้ทั้งสิ้น 148 เครื่อง และมีการพัฒนาเครื่องสีข้าวครัวเรือน รุ่นที่ 2 ให้มีขนาดเล็กและน้ำหนักกว่ารุ่นแรก เป็นตัวต้นแบบเพื่อพัฒนาต่อยอดในการผลิตให้แล้วเสร็จในเดือนตุลาคม ปี 2564
ความมุ่งมั่นและความสำเร็จ
  • โครงการประชารัฐรักสามัคคีร่วมพัฒนาและจำหน่ายสินค้าชุมชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 เพื่อ ช่วยเหลือชุมชนที่มีความพร้อมจากเครือข่ายประชารัฐรักสามัคคีทั่วประเทศ รวมไปถึงชุมชนตามโครงการชุมชนดีมีรอยยิ้มให้มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าผ่านทางเพจเฟสบุคชื่อ “สารพัดสรรพศิลป์” (เปลี่ยนชื่อจากเพจสะพายสายแนว) https://www.facebook.com/SaraphadSabphasilp ซึ่งระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนที่เข้าร่วม ทั้ง 88 ชุมชนเป็นเงินรวม 3,863,915 บาท
  • ปัจจุบันเครือข่าย “ประชารัฐรักสามัคคี” ทั้งประเทศสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานไปแล้ว 1,161 โครงการ แบ่งตาม 3 ประเภทกลุ่มงาน คือ เกษตร แปรรูป และท่องเที่ยวโดยชุมชน ครอบคลุม 85,064 ครัวเรือน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนไปแล้ว 1,246,120,152 บาท โดยในปีนี้สามารถสร้างรายได้ให้ ชุมชนเพิ่มขึ้นกว่า 243 ล้านบาท
  • “กลุ่มปักผ้าด้วยมือ จังหวัดเชียงราย” ได้รับรางวัล THAILAND TOP SME AWARDS 2019 สาขา “วิสาหกิจส่งเสริมภูมิปัญญาชุมชนยอดเยี่ยม” ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีผลการดำเนินงานยอดเยี่ยมและโดดเด่น และสามารถสร้างให้เป็นองค์กรต้นแบบได้
  • สร้าง “นักพัฒนาธุรกิจชุมชน” จำนวน 152 คน ให้เป็นผู้นำการพัฒนาชุมชนรุ่นใหม่พร้อมปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่บ้านเกิดของตนเองร่วมกับคณะกรรมการของเครือข่ายประชารัฐรักสามัคคีระดับจังหวัดทั้ง 72 แห่งทั่วประเทศ โดยภายหลังสิ้นสุดโครงการมีนักพัฒนาธุรกิจจำนวน 16 คน ที่พัฒนาตนเองจนสามารถต่อยอดการทำงานในระดับอำเภออย่างต่อเนื่อง เช่น อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น
ทิศทางการดำเนินงาน
โครงการประชารัฐรักสามัคคียังคงดำเนินงานอยู่บนเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 3 ขั้นตอน คือ
  • วางรากฐานและเครือข่าย
    (ปี 2559-2562)
    เริ่มจากการวางรูปแบบสร้างกลไกเครือข่ายโดยจัดตั้งเครือข่ายวิสาหกิจเพื่อสังคมประชารัฐรักสามัคคี 76 จังหวัดทั่วประเทศ และบริษัทประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทย โดยแต่ละจังหวัดเริ่มดำเนินงานอย่าง เป็นรูปธรรมพร้อมกับโครงการระดับประเทศ และยังได้จัดตั้งมูลนิธิสถาบันพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนภาควิสาหกิจเพื่อสังคมทั่วประเทศ ในปีท 2562 บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด และเครือข่ายประชารัฐทั้ง 76 จังหวัด ได้รับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ประเภท “วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่ประสงค์จะแบ่งปันกำไรให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น” จาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม กรมพัฒนาสังคมและ สวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  • สร้างความสำเร็จในทุกจังหวัด
    (ปี 2563-2565)
    ผลักดันให้เครือข่ายประชารัฐรักสามัคคีทุกจังหวัด สร้างต้นแบบแห่งความสำเร็จของการดำเนินงานทั้ง 3 กลุ่มงาน ได้แก่ เกษตร แปรรูป และท่องเที่ยวโดยชุมชน พร้อมส่งต่อและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ให้แก่สมาชิกในเครือข่าย โดยเป้าหมายสำคัญคือ สร้างเครือข่ายของธุรกิจจากระดับชุมชนสู่ระดับประเทศ และหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ภายในระยะเวลา 2 ปี มีเป้าหมายคือ เชื่อมโยงการทำงานจากทุกภาคส่วนร่วมกับประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดที่มีความเข้มแข็งอย่างน้อยร้อยละ 50 ของประเทศ
  • ต่อยอดและขยายผล
    (ปี 2566-2569)
    สร้างโอกาส เผยแพร่องค์ความรู้ รวมถึงตัวอย่างความสำเร็จไปสู่ระดับประเทศและระดับโลก นอกจากจะขยายไปยังกลุ่มงานต่างๆ ของจังหวัดที่มีความเข้มแข็งแล้ว ยังเชื่อมโยงไปยังมูลนิธิสถาบันพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทยเพื่อเก็บรวบรวมองค์ความรู้ในโครงการต่าง ๆ พร้อมเผยแพร่สู่สาธารณชนผ่านช่องทางหลากหลาย เช่น การสัมมนาและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสื่อสารไปยังเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการนำตัวอย่างความสำเร็จไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ในโครงการต่าง ๆ ต่อไป