รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2563

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2563 / ใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม
การบริหารจัดการของเสีย บรรจุภัณฑ์ และเศรษฐกิจหมุนเวียน
ไทยเบฟให้ความสำคัญกับการลดปริมาณการใช้ทรัพยากร การออกแบบและเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังคำนึงถึงการนำวัสดุบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคกลับคืนสู่กระบวนการผลิตเพื่อลดปริมาณของเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรจุภัณฑ์หลัก เช่น แก้ว กระดาษ กระป๋องอะลูมิเนียม และขวดพลาสติก โดยมีการเก็บกลับคืนบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) หรือนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และและสร้างคุณค่าให้กับบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค ผ่านระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
การใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษแทนพลาสติกในบรรจุอาหารเดลิเวอรี่
บริษัทฯได้ทำการเปลี่ยนกล่องบรรจุอาหารเดลิเวอรี่ภายใต้แบรนด์ โออิชิ จากพลาสติกที่สามารถใช้ได้ครั้งเดียวเป็นบรรจุภัณฑ์กระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาก คิดเป็นปริมาณพลาสติกที่ลดไปได้กว่า 8 ตัน
การพัฒนาฟิล์มหุ้มแพ็คชนิดฟิล์มหดจากพลาสติกรีไซเคิล
บริษัทฯ ร่วมมือกับคู่ค้าเพื่อพัฒนาฟิล์มจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งฟิล์มหุ้มแพ็คชนิดฟิล์มหดใช้ในการหุ้มผลิตภัณฑ์น้ำดื่มตรา คริสตัล ใช้กับน้ำดื่มคริสตัลทุกขนาด ผลิตจากพลาสติกประเภทโพลีเอทิลีน (PE หรือ Polyethylene) และมีส่วนประกอบของวัสดุรีไซเคิลมากถึง 25% ซึ่งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้มากถึง 45 ตันต่อปี และลด ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 53 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
โครงการ เก็บกลับ-รีไซเคิล
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด มี มีเป้าหมายและพันธกิจในการจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค จึงมีแนวคิดที่่จะรณรงค์ส่งเสริมในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านกิจกรรมกระตุ้นการรับรู้ และการมีส่วนร่วมคัดแยกขยะที่รีไซเคิลได้ตั้งแต่ต้นทางโดยริเริ่มการดำเนินการภายในบริษัทฯเป็นลำดับแรก ภายใต้โครงการ “เก็บกลับ-รีไซเคิล” เพื่อให้พนักงานนำขยะที่คัดแยกอย่างถูกวิธีมาบริจาค เช่น ขวดแก้ว กระป๋องอะลูมิเนียม และขวดพลาสติก PET โดยจะนำไปเปลี่ยนเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนไทยเบฟ...เพื่อนช่วยเพื่อน ซึ่งผู้บริจาคสามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมได้ผ่านแอพพลิเคชัน ‘OK Recycle’ เพื่อบันทึกข้อมูลกิจกรรมอย่างเป็นระบบ และสนับสนุนให้สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) นำแอพพลิเคชันไปใช้ในการจัดกิจกรรมของสถาบันกับหน่วยงานภาครัฐอีกด้วย

นอกจากนี้ไทยเบฟฯ ยังมีเป้าหมายรณรงค์ให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะที่่รีไซเคิลได้ตั้งแต่ต้น ทาง ด้วยการผนึกกำลังร่วมกับหน่วยงานภายนอกที่จัดกิจกรรมรูปแบบต่างๆ เช่น
  • ในงานพิธีมิสซา ณ สนามกีฬาแห่งชาติ TBR ร่วมกับเครือข่าย Less Plastic Thailand (ลดพลาสติกประเทศไทย) สนับสนุนการติดตั้ง “แหดักขวด” พลาสติก กว่า 40 จุดทั่วงาน สำหรับคัดแยกขยะเพื่อการรีไซเคิล โดยเชิญชวนคริสต์ศาสนิกชนโรมันคาทอลิกในประเทศไทยกว่า 5 หมื่นคน ที่มาร่วมงานให้ร่วมกันคัดแยกขยะก่อนทิ้ง โดยเฉพาะขวดพลาสติก PET ที่รีไซเคิลได้
  • ในงานประชุมสัมมนาประจำปี MTM Field Merchandise Seminar 2020 บริษัท โมเดิร์นเทรด แมนเนจเม้นท์ จำกัด ร่วมกับ TBR ติดตั้งถังแยกกระป๋องอะลูมิเนียมและขวด PET พร้อมทั้งให้คำแนะนำการจัดการก่อนแยกทิ้งให้ถูกต้องด้วยการ “เทน้ำที่เหลือทิ้ง-บีบลดขนาด-แยกให้ถูกถัง” ให้กับพนักงานที่เข้าร่วมงานกว่า 1,300 คน มียอดเก็บกลับรวมทั้งสิ้น 75 กิโลกรัม แบ่งเป็น กระป๋องอะลูมิเนียม จำนวน 60 กิโลกรัม และขวด PET จำนวน 15 กิโลกรัม
  • ในงาน "บุรีรัมย์ มาราธอน 2020“ ซึ่งจัดขึ้น ณ สนาม Chang International Circuit และสนาม Chang Arena จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 30,000 คน ภายในงานจัดให้มีการคัดแยกขยะประเภทขวดพลาสติก โดยTBR ได้ติดตั้งถังแยกขวดพลาสติก PET จำนวน 17 ชุด ทั่วทั้งงาน พร้อมมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำการจัดการก่อนแยกทิ้งให้ถูกต้อง ด้วยการ “เทน้ำที่เหลือทิ้ง-บีบลดขนาด-แยกให้ถูกถัง” มียอดเก็บกลับขวดพลาสติก PET รวมทั้งสิ้น 61 กิโลกรัม
โครงการ Bring Back Home
เป็นการร่วมมือระหว่างไทยเบฟและตัวแทนจำหน่าย (เอเย่นต์) เบียร์และสุรา เพื่อเก็บกลับขวดแก้ว โดยมีตัวแทนจำหน่ายเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมบรรจุภัณฑ์ต่างๆ จากผู้ขายรายย่อย และไทยเบฟดำเนินการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ผ่านการขนส่งเที่ยวกลับหรือ Backhaul โดยได้เริ่มดำเนินการร่วมกับตัวแทนจำหน่ายในจังหวัดนครราชสีมา และมีแผนที่จะขยายผลไปยังเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายของไทยเบฟทั่วประเทศไทย
การผลิตสินค้าจากเส้นใย rPET
เป็นการนำขวดพลาสติก PET หลังการบริโภคเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเส้นใย rPET (recycled PET) โดยในปีที่ผ่านมา TBR เก็บขวดพลาสติก PET กว่า 7.6 ล้านขวดเพื่อนำส่งต่อให้กับบริษัทผู้ผลิตเม็ดพลาสติกนำไปผลิตเป็นเส้นใยเพื่อทอผ้าห่มสำหรับโครงการ ไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว เป็นจำนวนทั้งสิ้น 200,000 ผืน และเป็นปีแรกที่ไทยเบฟนำเส้นใย rPET มาใช้ในการผลิตผ้าห่ม การผลิตเส้นใย rPET เมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ปกตินั้น ใช้น้ำลดลงถึง 94% และใช้พลังงานน้อยกว่าถึง 60% ส่งผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 32% หรือเกือบ 7 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในการผลิตผ้าห่ม 200,000 ผืน
ความมุ่งมั่นและความสำเร็จ
ไทยเบฟให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและการออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงการนำวัสดุบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคกลับคืนสู่กระบวนการ โดยมีการตั้งเป้าหมายในการลดปริมาณ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่
1. การลดน้ำหนักและปริมาณบรรจุภัณฑ์
ไทยเบฟร่วมมือกับคู่ค้าพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในบรรจุภัณฑ์หลัก และมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน โดยมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น การลดน้ำหนักกระป๋องอะลูมิเนียม การลดน้ำหนักขวดพลาสติก PET ที่ใช้ในการบรรจุน้ำดื่ม นอกจากนี้ ไทยเบฟได้ใช้นวัตกรรมการผลิตขวดแก้วปากแคบน้ำหนักเบา (Narrow Neck Press and Blow หรือ NNPB) ในการผลิตภัณฑ์สุราหงส์ทอง บรรจุขวดแก้ว ขนาด 700 มิลลิลิตรซึ่ง เพื่อลดการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติในกระบวนการผลิตขวดแก้ว
2. การเก็บกลับและการคัดแยกบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค
เป็นการจำแนกประเภทของบรรจุภัณฑ์และลดปริมาณขยะที่ถูกนำไปกำจัดโดยการฝังกลบ ซึ่งบริษัท ไทยเบฟเวอเรจรีไซเคิล จำกัด (TBR) ทำหน้าที่เก็บกลับและคัดแยกบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค โดยรับซื้อบรรจุภัณฑ์หลักของไทยเบฟทุกประเภท เช่น ขวดแก้ว กระป๋อง ขวดพลาสติก PET กล่องกระดาษ เป็นต้น
3. การใช้ซ้ำและการนำกลับมาใช้ใหม่
เป็นการนำวัสดุบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคมาใช้ซ้ำหรือนำกลับมาใช้ใหม่เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตหรือมาผลิตเป็นสินค้าชนิดอื่นๆ โดย TBR เป็นผู้เก็บกลับบรรจุภัณฑ์ส่งให้กับผู้ผลิตโดยตรง หรือผู้ที่ทำธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีการบริหารจัดการวัสดุและอุปกรณ์ส่งเสริมการขาย และอุปกรณ์เครื่องครัวจากร้านอาหารในเครือ ที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว เช่น โต๊ะอาหาร ตู้เย็น กลับมาซ่อมแซม และตกแต่ง (Refurbish) เพื่อเพิ่มมูลค่า และเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้อีกครั้ง
4. นวัตกรรมและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน
ร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของวัสดุรีไซเคิล และมีบริษัท เบฟเทค จำกัด (BevTech) รับผิดชอบหลักในการค้นคว้าและวิจัยด้านบรรจุภัณฑ์ โดยเข้าร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรและหุ่นยนต์ เพื่อนำมาใช้ในโรงงานของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีผลงานที่โดดเด่นมากมาย เช่น ระบบคัดขวดอัตโนมัติโดยใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์เพื่อทุ่นแรงคน (รายละเอียดเพิ่มเติมในรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนประจำปี 2561) และการพัฒนาต่อยอดโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL) นำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) มาติดตั้งในระบบคัดขวดเพื่อช่วยในการวิเคราะห์คุณภาพขวดที่มีคุณภาพกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตอีกครั้ง (รายละเอียดเพิ่มเติมในรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนประจำปี 2562 หน้า 66)