ไทยเบฟจัดทำโครงการ
“ไทยเบฟ...รวมใจต้านภัยหนาว” มายาวนาน 21 ปี เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมส่งต่อความอบอุ่นกับโครงการนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกปีไทยเบฟจะนำผ้าห่มผืนเขียวจำนวน 200,000 ผืน ไปมอบให้ผู้ประสบภัยหนาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และจนถึงปัจจุบันนี้ได้ส่งมอบผ้าห่มไปแล้วถึง 4,200,000 ผืน ครอบคลุมพื้นที่ 45 จังหวัดในประเทศไทย มากกว่า 80% สามารถเข้าถึงเครื่องกันหนาว รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตและสุขภาพดีขึ้น ในปีนี้ได้นำผ้าห่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Friendly Blanket) ซึ่งเป็นผ้าห่มที่ผลิตจากการรีไซเคิลขวดพลาสติกใช้แล้ว โดยผ้าห่ม 200,000 ผืน ทำให้ลดขยะขวดน้ำพลาสติก PET 7,600,000 ขวด (1 ผืน: 38 ขวด)
- จัดกิจกรรม “ให้น้องจากใจไทยเบฟ” โดยมอบทุนการศึกษาให้กับทุกโรงเรียนในพื้นที่ พร้อมทั้งมอบสื่อการเรียนการสอนและอุปกรณ์กีฬาที่ทางโรงเรียนมีความต้องการ
- ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก และโรงพยาบาลรวมแพทย์ยโสธร อาสาเข้ามาทำหน้าที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ด้วยการตรวจดูแลสุขภาพแบบครบวงจร ทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์
- จัดโครงการ 1 ปัน 1 อุ่น โดยเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่น ๆ เช่น พนักงานจิตอาสาและพันธมิตร เข้ามามีส่วนร่วมสมทบทุนบริจาคผ้าห่ม 1 ผืน เพื่อปันไปสู่เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลน ในพื้นที่นอกเหนือจาก 15 จังหวัด พร้อมกับเลี้ยงอาหารกลางวัน และมีกิจกรรมสันทนาการ ให้กับเด็กๆ
ไทยเบฟ ร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและกระบวนการจัดการน้ำชุมชน รวมไปถึงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจชุนชนได้อย่างยั่งยืน จากจุดเริ่มต้นในการขุดลอกคลอกกล่ำระยะทาง 680 เมตร เพื่อรักษาระดับน้ำที่เหมาะสมสำหรับเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาในช่วงฤดูแล้ง ตลอดจนกักเก็บน้ำในลำคลองเพื่อประโยชน์ในการอุปโภคและการเกษตร ปัจจุบันมีการขยายกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาหมอแปลงใหญ่สายพันธุ์ปลาหมอชุมพร จำนวน 43 ราย โดยมีปริมาณการผลิต 900 กิโลกรัม / บ่อ สร้างรายได้ 63,000 บาท/บ่อ ในด้านการดำเนินงานเกษตรทฤษฎีใหม่ ได้พัฒนาระบบกระจายน้ำแบบใช้น้ำน้อย ชุมชนบ้านวังศรีไพร ตำบลดงเดือย อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ในพื้นที่ 9 ไร่ ลดรายจ่ายได้ถึง 2,000 บาท ต่อเดือน และสร้างได้เพิ่มให้เกษตรกร 10,000 บาท ต่อเดือนเช่นกัน
ไทยเบฟสนับสนุนการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ในพื้นที่ จำนวน 17 ไร่ ภายใต้ "โครงการรวมพลังพลิกฟื้นคืนธรรมชาติสู่สิ่งแวดล้อมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี " เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ โดยมอบงบประมาณ 2,978,400 บาท พร้อมนำคณะผู้บริหารและพนักงานจิตอาสาในเครือไทยเบฟร่วมกันฟื้นฟูและปลูกป่า ทั้งป่าบกและป่าชายเลน ตลอดระยะเวลา 6 ปี ในปี 2562 - 2563 ดำเนินการบำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกเสริมและต้นไม้เดิมในพื้นที่ทั้งหมด โดยใช้ระบบน้ำหยดและใช้รถบรรทุกน้ำฉีดพ่นในพื้นที่ที่รถสามารถเข้าถึงได้ พร้อมทั้งใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพตามสูตรของสำนักพัฒนาที่ดิน จังหวัดเพชรบุรี ตัดแต่งกิ่งไม้เพื่อการเจริญเติบโตของต้นไม้และตัดหญ้าในแปลงปลูก
ชุมชนบ้านห้วยขาบ หมู่ที่ 7 ตำบลบ่อเกลือเหนือ ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดินโคลนถล่มทับบ้านเรือน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2561 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบจำนวน 61 หลังคาเรือน 66 ครอบครัว และมีแนวโน้มที่จะเกิดสถานการณ์ดินโคลนถล่มอีก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านจึงมีความคิดเห็นร่วมกันว่าจะดำเนินการย้ายชุมชนไปอยู่ที่ดินแห่งใหม่ โดยไทยเบฟร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) และหน่วยงานภาคีในจังหวัดน่าน ได้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างบ้านให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อน จำนวน 60 หลังคาเรือน ชาวบ้านได้รับประโยชน์ 247 คน
การสร้างบ้านมั่นคงชนบทเสร็จเรียบร้อยแล้วจำนวน 60 หลังคาเรือน โดยในช่วงระหว่างการก่อสร้าง ได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับเหมาต้องใช้แรงงานในชุมชน เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะองค์ความรู้ด้านงานก่อสร้าง ทำให้ชาวบ้านเกิดกระบวนการมีส่วนร่วม และนมีรายได้เพิ่มจากการรับจ้าง จำนวน 46 คน รวมรายได้ 1,949,800 บาท (ระยะเวลาก่อสร้างบ้าน 8 เดือน)
“ชุมชนดีมีรอยยิ้ม” เป็นโครงการที่ไทยเบฟสนับสนุนให้ใช้พลังของคนรุ่นใหม่กลับคืนสู่ท้องถิ่น ซึ่งขยายผลจากโครงการสานพลังเพื่อบ้านเกิด เพื่อให้นักพัฒนาธุรกิจชุมชนรุ่นใหม่เป็นแกนนำเชื่อมโยงการทำงานกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำความสุขและรอยยิ้มกลับคืนสู่บ้านเกิดของตนเอง และสร้างประโยชน์ในพื้นที่อย่างยั่งยืนในทุกมิติ โดยเน้นการเชื่อมโยงความร่วมมือในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาพื้นที่ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม(บ้านปลา-ธนาคารปู) ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ เกิดจากกระบวนการต่อสู้กับการบุกรุกทำลายป่าไม้ชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและเป็นแหล่งอาหารท้องถิ่นชุมชน จึงรวมตัวกันขึ้นเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ และพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวโดยชุมชน ชุมชนดีมีรอยยิ้มแหลมสิงห์ ได้สนับสนุนให้ชุมชนจัดตั้งคณะทำงาน พร้อมทั้งเชื่อมประสานหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมพัฒนาศักยภาพให้ชุมชนบูรณาการการทำประมงพื้นบ้าน อาชีพทอเสื่อกก และอาหารพื้นถิ่น ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเรียนรู้วิถีชุมชน เกิดผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเสื่อกกของชุมชน ทั้งนี้ ได้มีการจัดตั้งร้านค้าชุมชน
“ชุมชนดีมีรอยยิ้มแหลมสิงห์” เพื่อเป็นศูนย์รวมและจำหน่ายสินค้าแปรรูป พร้อมทั้งพัฒนาที่พักในรูปแบบฟาร์มสเตย์สำหรับให้บริการนักท่องเที่ยว เพิ่มโอกาสในสร้างรายได้อีกหนึ่งช่องทาง
เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูป่าต้นนํ้าลำธารพร้อมกับพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในชุมชนที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนและอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเกื้อกูลกันตามแนววิถีชีวิตแห่งแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไทยเบฟได้นำรูปแบบการพัฒนาตามแนวพระราชดำริที่ประสบความสำเร็จของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มาประยุกต์และปรับใช้ในการพัฒนาบนพื้นที่จังหวัดน่าน โดยคัดเลือก 2 หมู่บ้าน เข้าร่วมในโครงการ คือ หมู่บ้านศรีนาป่าน ตำบลเรือง อำเภอเมือง และหมู่บ้านน้ำปูน ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน
โดยได้นำชุมชนไปศึกษาดูงานด้านปศุสัตว์ ด้านการเกษตร และด้านประมง ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นระยะเวลา 5 ปี ( พ.ศ.2558-2562) เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ของตนเอง และยังได้มอบวัตถุดิบต่างๆ ในการเลี้ยงสัตว์และพืชเพื่อบริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น สุกรสามสายพันธุ์ ไก่ประดู่หางดำ ไก่ไข่ กบนา ปลาดุกบิ๊กอุย ปลานิล เห็ดนางฟ้า และต้นกล้าไม้ผล
ไทยเบฟ มูลนิธิสิริวัฒนภักดี ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เล็งเห็นความสำคัญของการเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปีชาตกาล องค์หลวงปู่ ภูริทัตโต ซึ่งที่ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้ เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ จึงจัดให้มีโครงการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามรอยองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เพื่อเชิญชวนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เดินทางเข้าไปเรียนรู้ประวัติ วัตรปฏิบัติอันงดงาม รวมทั้งปฏิปทาคำสอนขององค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต นอกจากนี้ยังสร้างรายได้ให้ชุมชนจากโครงการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่เป็นการกระจายรายได้เข้าสู่วิสาหกิจ ผู้ประกอบการร้านค้าชุมชน ร้านอาหาร โฮมสเตย์ ผู้ผลิตสินค้าชุมชน ของที่ระลึก และพัฒนาจนมีวิสาหกิจเพื่อสังคมเกิดใหม่ขึ้นมาได้
โครงการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตามรอยองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต มีพื้นที่ดำเนินการ 12 จังหวัด 35 หมุดหมาย และสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวได้ 6 เส้นทาง ได้แก่ 1.เชียงใหม่ 2.ลพบุรี 3.นครนายก 4.อุบลราชธานี-อำนาจเจริญ 5.สกลนคร-นครพนม 6.อุดรธานี-เลย-หนองคาย-หนองบัวลำภู โดยมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 35 ชุมชน (พื้นที่ละหนึ่งชุมชน) และในช่วงเริ่มต้นสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 90,000 บาท สามารถติดตามรายละเอียด
“โครงการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตามรอยองค์หลวงปู่มั่น” ได้ที่
www. luangpumun-cbt.org
ความมุ่งมั่นและความสำเร็จ
จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 ทำให้การค้าขายและการส่งออกชะลอตัว
ส่งผลให้ภาคเกษตรกรรมเกิดภาวะสินค้าล้นตลาด ไทยเบฟจึงประสานความร่วมมือกับบริษัท น้ำใจไทยเบฟ จำกัด และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด
รับซื้อมะม่วงจำนวนหลายสิบตันจากกลุ่มเกษตรกรหลายพื้นที่ในราคาตลาด และนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้คืนสู่ชุมชน และยังได้ส่งมอบสินค้าที่ผ่านการแปรรูปให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด -19
1.ซื้อมะม่วงน้ำดอกไม้คุณภาพดีจากชาวสวนที่ประสบปัญหาการส่งออกผลผลิตราคาตกต่ำในจังหวัดอุดรธานี
2. รับซื้อมะม่วงจากเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาดที่จังหวัดน่าน แล้วนำมาแปรรูปเป็นไอศกรีมมะม่วงออกจำหน่ายในแบรนด์ สินค้า SOS
3.ช่วยรับซื้อมะม่วงมหาชนก มะม่วงน้ำดอกไม้ ลำใย และมะละกอ จากเกษตรที่ประสบปัญหาผลไม้ล้นตลาด แล้วนำส่งมอบให้ช้างที่ขาดแคลนอาหาร โดยสมาคมสหพันธ์ช้างไทยช่วยคัดสรรพื้นที่ ดังนี้
ทิศทางการดำเนินงาน
ไทยเบฟยังคงสานต่อการสนับสนุนให้ชุมชนดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคง ภายใต้กรอบงานพัฒนาชุมชน โดยมุ่งเน้นการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมภารกิจด้านต่างๆ ดังนี้
- ด้านเศรษฐกิจฐานราก ดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนในบริเวณรอบโรงงานและพื้นที่ต้นแบบอื่นๆ ทำให้ชุมชนสามารถพัฒนาตนเองจนเกิดการรวมกลุ่มและจัดตั้งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) อย่างน้อย 2 พื้นที่
- ด้านการบริหารจัดการน้ำโดยเพิ่มพื้นที่สีเขียว และพื้นที่บริหารจัดการน้ำเพื่อชุมชนให้มากขึ้น อย่างน้อย 1 พื้นที่
- สำหรับโครงการ “ไทยเบฟ...รวมใจต้านภัยหนาว” จะยังคงสานต่ออย่างต่อเนื่อง โดยมอบผ้าห่มผ้าห่มฟลีซรีไซเคิลที่ผลิตจากขวดพลาสติกใช้แล้วต่อไป เพื่อให้ความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อม