รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2563

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2563 / แนวทางการพัฒนาความยั่งยืนของไทยเบฟ
แนวทางการพัฒนาความยั่งยืนของไทยเบฟ
ไทยเบฟน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อพัฒนาความยั่งยืน พร้อมทั้งยึดถือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ 17 ประการ มาประกอบการกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาและดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สิ่งแวดล้อม และสังคมโดยรวม โดยในปี 2562 ไทยเบฟเข้าร่วมเป็นสมาชิกข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) เพื่อร่วมมือในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบใน 4 ด้าน คือ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน รักษาสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านทุจริต

ไทยเบฟน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาความยั่งยืน ซึ่งประกอบไปด้วยคุณลักษณะ 3 ประการ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ดี ควบคู่ไปกับการสร้างความรู้และคุณธรรม เพื่อนำพาองค์กรไปสู่ความก้าวหน้าอย่างสมดุลใน 4 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม สังคม ศิลปวัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ไทยเบฟมุ่งเน้นการใช้ความรู้ ประสบการณ์ และความคิดสร้างสรรค์ ในการสร้างความเจริญก้าวหน้าที่มั่นคงให้กับธุรกิจ ส่งเสริมการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรบุคคล สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ PASSION 2025 ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มในภูมิภาคอาเซียนอย่างมั่นคงและยั่งยืน และการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ยั่งยืนไปพร้อมกับการเติบโตขององค์กร

สิ่งแวดล้อม
การจัดการดูแล ผลกระทบจากธุรกิจ

สังคม
การดูแลและแบ่งปัน

ศิลปะและวัฒนธรรม
การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม

เศรษฐกิจ
การสร้างคุณค่าทางธุรกิจ
การบริหารจัดการด้านความยั่งยืน


คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลธุรกิจ กำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานและพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างสมดุลกัน ภายใต้กลยุทธ์การพัฒนาความยั่งยืนขององค์กร ไทยเบฟเชื่อมั่นว่าจะสามารถเติบโตและสร้างโอกาสที่ไร้ขีดจำกัด ให้แก่ธุรกิจและสังคมโดยรวมได้ต่อไป

คณะกรรมการบริษัทแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยง (Sustainability and Risk Management Committee: SRMC) เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายความยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยง กำหนดกลยุทธ์ด้านการพัฒนาองค์กรของกลุ่มไทยเบฟอย่างยั่งยืน รวมถึงกำกับดูแลกิจกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับนโยบายและกลยุทธ์ที่คณะกรรมการกำหนดไว้

เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาความยั่งยืนให้เกิดเป็นรูปธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาความยั่งยืนทางธุรกิจ (Corporate Sustainable Development Committee: CSDC) เพื่อรับผิดชอบในการพิจารณา วางแผน และดำเนินการด้านการพัฒนาความยั่งยืนของไทยเบฟให้สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานและกลยุทธ์ขององค์กรที่กำหนดโดยคณะกรรมการบริษัทหรือคณะกรรมการบริหาร นอกจากนี้ ยังมีคณะทำงานพัฒนาความยั่งยืนทางธุรกิจ (Sustainable Development Working Team: SDWT) ประกอบด้วยตัวแทนจากสายงานต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำแผนงานและโครงการสนับสนุนแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งมีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินสาระสำคัญด้านความยั่งยืนขององค์กร ด้วยการทวนสอบความครบถ้วนของแผนงาน พร้อมทั้งติดตามการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและรายงานผลต่อคณะกรรมการพัฒนาความยั่งยืนทางธุรกิจและคณะกรรมการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยง

ไทยเบฟเข้าร่วมการประเมินความยั่งยืน Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) หรือดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 และในปี 2563 ไทยเบฟได้รับคัดเลือกเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ถือเป็นบริษัทในอาเซียนเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับการประเมินเป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (DJSI Emerging Markets) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 และกลุ่มดัชนีโลก (DJSI World) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 นอกจากนี้ ไทยเบฟยังได้รับเลือกให้เป็นบริษัทที่มีการพัฒนาความยั่งยืนเร็วที่สุด (Industry Mover) ในปี 2560 และ 2561

ไทยเบฟให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก หากสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ชุมชนก็จะอยู่ไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อสังคมในภาพรวม ทำให้ธุรกิจไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ดังนั้น สิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีความเกื้อกูลกันและดำรงอยู่อย่างสอดคล้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน

ในระดับประเทศ ไทยเบฟผนึกกำลังร่วมกับองค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนของประเทศไทย ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจัดงาน Thailand Sustainability Expo 2020 (TSX) ขึ้นเป็นครั้งแรกภายใต้แนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” (Sufficiency for Sustainability) ขณะเดียวกันยังเป็นผู้นำในการรวมเครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย หรือ TSCN (Thailand Supply Chain Network) เพื่อระดมพลังและสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกัน (1) ปกป้องมูลค่าของการลงทุน (Protecting the value) เช่น การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ การเงิน ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility) และ (2) สร้างเสริมคุณค่าของการลงทุน เช่น การสร้างความร่วมมือเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการดําเนินงานที่มีอยู่เดิม อาทิ cross-selling, cross-training, การลงทุนร่วม หรือการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เป็นต้น รวมไปถึง (3) สร้างนวัตกรรมและต่อยอดการลงทุน โดยมีโครงการความร่วมมือ เช่น กองทุนร่วมเพื่อการลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) cross-sharing ทักษะพนักงาน หรือการพัฒนาโครงการต่าง ๆ เพื่อร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคงและยั่งยืน
มุมมองด้านความยั่งยืน
จากผู้ทรงคุณวุฒิ


นายดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย
เลขาธิการอาเซียน


ในฐานะของภูมิภาคที่กำลังพัฒนา อาเซียนเผชิญกับความท้าทายเร่งด่วนตั้งแต่การขยายตัวของความเป็นเมืองที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การเพิ่มขึ้นของประชากร ไปจนถึงการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ จากผลระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่อรับมือกับปัญหาความท้าทายดังกล่าว อาเซียนมุ่งเน้นการสร้างวิธีคิดในการปกป้องคุ้มครองโดยบ่มเพาะ “วัฒนธรรมการป้องกัน” เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขพร้อมกับวัฒนธรรมการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและความใส่ใจใน สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อเป็นวิธีการป้องกันความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภัยพิบัติที่เกิดจากมนุษย์และการทำลายสิ่งแวดล้อม ให้ประชาชนเตรียมความพร้อมรับมือกับสภาวะฉุกเฉิน

ในปีนี้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สร้างผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และกลายเป็นความจำเป็นบังคับที่กระตุ้นให้มนุษย์ได้คิดทบทวนถึงความเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพภูมิประเทศทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ภาคการค้าและภาคอุตสาหกรรมจะ “ดำเนินธุรกิจตามปกติทุกอย่าง” ในยุคหลังการระบาดของโรค เทคโนโลยีดิจิทัลจึงค่อยๆ มีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต “ความปกติในรูปแบบใหม่”” ในการทำธุรกิจในอาเซียน และในระยะยาว ภาคธุรกิจควรกำหนดแผนการส่งเสริมความยั่งยืนและความเท่าเทียมกันไว้ในระบบการบริหารงานและแนวทางปฏิบัติงานด้วย


นายแพทย์ ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
ผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข และโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19


วิกฤติการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อจากไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้ภาครัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีคำสั่งให้ประชาชนกักตัวที่บ้าน การบริโภคและการลงทุนลดลง ทำให้หลายบริษัทต้องปิดตัวลง และเศรษฐกิจหดตัว เป็นที่น่าชื่นชมว่า ระหว่างวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไทยเบฟได้ดำเนินการในหลายด้านพร้อมๆ กันเพื่อช่วยสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งการผลิตและแจกจ่ายแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อและหน้ากากอนามัย ให้กับพนักงาน คู่ค้า โรงพยาบาล และองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงนโยบายไม่ลดหรือเลิกว่าจ้างพนักงาน ซึ่งถือเป็นการช่วยให้สังคมและเศรษฐกิจยังคงเดินหน้าต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง