SUSTAINABILITY REPORT 2020

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2563 / แนวทางการพัฒนาความยั่งยืนของไทยเบฟ
GRI 102-11, GRI 102-15, GRI 102-17, GRI 103-1, GRI 103-2, GRI 103-3
การบริหารความเสี่ยง
ไทยเบฟบริหารความเสี่ยงทั้งในระบบบริหารและการปฏิบัติงาน ตามกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืน โดยการติดตาม ประเมิน และบริหารจัดการความไม่แน่นอนที่อาจเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจที่สำคัญหรือโอกาสใหม่ ๆ สำหรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สามารถป้องกันความเสี่ยง บรรเทาผลกระทบและปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายรวมถึงใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มในภูมิภาคอาเซียนอย่างมั่นคงและยั่งยืน
กลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงในภาวะวิกฤตของไทยเบฟ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน การทำงานขององค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลก ตั้งแต่ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน การหยุดกิจการ การเลิกจ้างงาน และกำลังซื้อที่หดหาย ดังนั้น การบริหารความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ที่เกิดจากวิกฤตโควิด-19 จึงมีความสำคัญต่อความอยู่รอดของธุรกิจ บริษัทได้เตรียมความพร้อมในการรับมือ เพื่อให้มั่นใจว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อพนักงานตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องและต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยแนวคิดและมาตรการของการบริหารความเสี่ยงของกลุ่มไทยเบฟในช่วงวิกฤตโควิด-19 มีดังนี้
  • มาตรการรับมือด้านการดำเนินธุรกิจที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐอย่างเคร่งครัด โดยเน้นการผลิตและขนส่งสินค้ารวมถึงการบริการที่จำเป็นต่อสังคม
  • มาตรการป้องกันและดูแลความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของพนักงาน รวมถึงคู่ค้าและภาคีเครือข่าย
  • มาตรการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านโครงการที่บริษัทเป็นผู้ริเริ่ม หรือร่วมมือกับหน่วยงานและเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ
  • มาตรการเตรียมความพร้อมในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับฐานรากและชุมชน
จากการปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดข้างต้น ทำให้บริษัทสามารถบริหารจัดการโอกาสและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้อย่างรวดเร็วตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงดำเนินธุรกิจในช่วงภาวะวิกฤตได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดชะงัก

ผลของการบริหารความเสี่ยงภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนหรือในช่วงภาวะวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ต้องมีกรอบการบริหารความเสี่ยงองค์กรที่ชัดเจนและเป็นระบบ เป็นปัจจัยและรากฐานสำคัญ โดยกรอบการบริหารความเสี่ยงองค์กรของไทยเบฟเป็นไปตามแนวทาง COSO Enterprise Risk Management 2017 (The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission) มีองค์ประกอบสำคัญ ดังนี้

โครงสร้างการกำกับดูแล
ตั้งแต่ระดับคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยง คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการพัฒนาความยั่งยืนทางธุรกิจ คณะกรรมการเฉพาะกิจที่คณะจัดการแต่งตั้งขึ้น คณะทำงานพัฒนาความยั่งยืนทางธุรกิจ คณะทำงานบริหารความเสี่ยงองค์กร และผู้ประสานงานความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจหรือสายงาน

ความเข้าใจในบริบทและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจที่เน้นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทุกหน่วยงานมีความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยวิเคราะห์ติดตามปัจจัยเสี่ยงและแนวโน้มสำคัญในอนาคตที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหรือกลยุทธ์องค์กรอย่างต่อเนื่อง

กระบวนการบริหารความเสี่ยงแบบบูรณาการ
ตั้งแต่ระดับองค์กร ระดับกลุ่มธุรกิจจนถึงระดับปฏิบัติการ ในการรวบรวมข้อมูล การระบุและประเมินความเสี่ยงที่สำคัญ พร้อมกำหนดกลยุทธ์และแนวทางการจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ รวมถึงการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์และสาระสำคัญด้านความยั่งยืนของไทยเบฟ

การสื่อสาร รายงานและประเมินผล
ทุกหน่วยงานตั้งแต่ระดับสายงานและบริษัทย่อย ระดับกลุ่มธุรกิจและระดับองค์กร มีการสื่อสารและรายงานข้อมูลการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยงอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง อาทิ ความคืบหน้าโครงการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนหรือกิจกรรมบริหารความเสี่ยง ความเสี่ยงใหม่ที่อาจมีผลกระทบต่อไทยเบฟ ตัวบ่งชี้ความเสี่ยง (Risk indicators) เป็นต้น

วัฒนธรรมด้านความยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยง
การปลูกฝังและส่งเสริมวัฒนธรรมด้านความยั่งยืนและการจัดการความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร ผ่านการฝึกอบรม วิธีการและกิจกรรมต่าง ๆ แก่ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญ รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาความยั่งยืนและบริหารความเสี่ยงขององค์กร

โครงสร้างการพััฒนาอย่่างยั่่งยืืนและการบริหารความเสี่่ยงของกลุ่มบริษัทไทยเบฟ

กระบวนการบริหารความเสี่ยงแบบบูรณาการ
ไทยเบฟบริหารความเสี่ยงแบบบูรณาการโดยรวมการมีส่วนร่วมทั้งรูปแบบจากระดับบนลงล่าง (Top-down) และจากระดับล่างขึ้นบน (Bottom-up) ในกระบวนการบริหารความเสี่ยงทุกระดับ ตั้งแต่ความเสี่ยงขององค์กร ความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจ/สายงาน และความเสี่ยงระดับปฏิบัติการ กระบวนการบริหารความเสี่ยงประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ
  • ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์ขององค์กรและวัตถุประสงค์ของกลุ่มธุรกิจ/สายงาน
  • การระบุความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจ
  • การประเมินความเสี่ยง
  • การกำหนดมาตรการจัดการและตัวชี้วัด และ
  • การรายงานและประเมินผล
ความเสี่ยงขององค์กร
เพื่อให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อความท้าทายทางธุรกิจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ไทยเบฟได้วิเคราะห์และประเมินทั้งปัจจัยภายในและภายนอก แนวโน้มที่เกี่ยวข้องและสำคัญ เช่น เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม เทคโนโลยี การเมือง สภาวะอุตสาหกรรมและการแข่งขันทางธุรกิจ ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน กับเป้าหมายและกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อระบุความเสี่ยงขององค์กรในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ นอกจากนี้ ไทยเบฟยังได้สรุปความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงขององค์กรกับสาระสำคัญด้านความยั่งยืนของไทยเบฟ ทั้ง 3 มิติ (ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ) ดังนี้

มิติด้านสิ่งแวดล้อม
สาระสำคัญด้านความยั่งยืน
  • 1.การบริหารจัดการน้ำและอนุรักษ์แหล่งน้ำ
  • 2.ของเสีย บรรจุภัณฑ์ และเศรษฐกิจหมุนเวียน
  • 3.กลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • 4.การบริหารจัดการพลังงาน
ความเสี่ยงขององค์กร
  • 1.ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับน้ำ
  • 2.ความเสี่ยงจากของเสีย ขยะ และมลพิษ
  • 3.ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

มิติด้านสังคม
สาระสำคัญด้านความยั่งยืน
  • 5.ความผาสุกของพนักงาน
  • 6.การรับผิดชอบต่อผู้บริโภคขององค์กร
  • 7.สิทธิมนุษยชน
  • 8.การสร้างแรงจูงใจ และการรักษาพนักงานที่มีความสามารถ
  • 9.การพัฒนาบุคลากร
  • 10. การพัฒนาชุมชนและความร่วมมือ
ความเสี่ยงขององค์กร
  • 4.ความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัยของผู้มีส่วนได้เสีย
  • 5.ความเสี่ยงด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อรองรับการเติบโต
  • 6.ความเสี่ยงด้านชื่อเสียงและภาพลักษณ์ขององค์กร

มิติด้านเศรษฐกิจ
สาระสำคัญด้านความยั่งยืน
  • 11.สุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค
  • 12.ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพและคุณค่าทางโภชนาการ
  • 13.การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน
  • 14.การกำกับดูแลองค์กร และจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ
  • 15.การจัดการนวัตกรรม
  • 16.ความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัว
  • 17.การพัฒนาความสามารถของพันธมิตรทางธุรกิจ
ความเสี่ยงขององค์กร
  • 7. ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์จากการลงทุนในธุรกิจใหม่
  • 8. ความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการแข่งขันในตลาด
  • 9. ความเสี่ยงด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทาน
  • 10.ความเสี่ยงด้านการเงิน
  • 11.ความเสี่ยงด้านกฎหมาย กฎระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
  • 12.ความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์และความปลอดภัยของข้อมูล
  • 13.ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่
    • 13.1. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค
    • 13.2. ความเสี่ยงจากกระแสการให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืน
    • 13.3. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่
    • 13.4. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์
โปรดดูรายงานประจำปี 2563 หน้า 136 - 147
สำหรับรายละเอียดความเสี่ยงขององค์กรแต่ละหัวข้อและการบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบ
ความมุ่งมั่นและความสำเร็จ
เพื่อกำหนดวิธีการบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ ไทยเบฟจึงได้ทบทวนสาระสำคัญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยเบฟทั้งสามด้าน คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ รวมถึงความเสี่ยงด้านความยั่งยืนขององค์กรที่กำหนดไว้แล้วทั้งหมดใหม่ โดยแบ่งความเสี่ยงที่ทบทวนใหม่นี้ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. ความเสี่ยงเดิมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
  • ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับน้ำ
  • ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2. ความเสี่ยงเดิมที่มีระดับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
  • ความเสี่ยงด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ผู้ผลิตต่าง ๆ หยุดดำเนินการ อาจทำให้ความเสี่ยงด้านต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้นหรือวัตถุดิบอาจขาดแคลน หรือมีการจัดส่งล่าช้าจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานหรือระบบขนส่งและกระจายสินค้า รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในช่วงล็อคดาวน์
  • ความเสี่ยงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของพนักงานจากการติดโรคโควิด-19
  • ความเสี่ยงด้านคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าและบริการที่อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโควิด-19
  • ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบจากมาตรการของภาครัฐที่บังคับใช้เป็นการเฉพาะเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค
  • ความเสี่ยงด้านการเงิน โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย
ความเสี่ยงทั้งหมดที่มีระดับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นนี้อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและการบริการแก่ลูกค้า และอาจส่งผลกระทบต่อรายได้หรือยอดขาย รวมถึงกำไรและผลประกอบการ
3. ความเสี่ยงใหม่
  • ความเสี่ยงของธุรกิจร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า
  • ความเสี่ยงของธุรกิจร้านอาหารแบบนั่งรับประทานที่ร้านโดยเฉพาะร้านอาหารในรูปแบบที่เน้นทั้งบรรยากาศหรูหราและบริการชั้นเยี่ยม (Fine Dining)
  • ความเสี่ยงของการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางร้านอาหาร
  • ความเสี่ยงด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์
  • ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศ
ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบหรือวิถีการดำเนินชีวิตอย่างใหม่ (New Normal) ที่แตกต่างจากอดีต และบริบททางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตโควิด-19 โดยตรง เช่น มาตรการล็อคดาวน์ด้วยการปิดร้านอาหารแบบนั่งรับประทานเพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การเว้นระยะห่างทางสังคม (Physical Distancing) โดยทั้งหมดมีผลกระทบอย่างชัดเจนต่อความต้องการใช้สินค้าหรือบริการ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business Model) อย่างมีนัยสำคัญ
โอกาสในวิกฤตโควิด-19
แม้วิกฤตโควิด-19 ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องสูญเสียรายได้หรือหยุดชะงัก แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นโอกาสที่เร่งให้องค์กร รวมถึงไทยเบฟต้องปรับกลยุทธ์และการลงทุนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ในทุกกิจกรรมภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าไทยเบฟตั้งแต่การจัดซื้อจัดหา การผลิต การกระจายสินค้า การตลาดและการขาย ตลอดจนการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค เพื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็นธุรกิจดิจิทัล (Digital Business) อย่างเต็มรูปแบบเร็วยิ่งขึ้น เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจด้านความสามารถในการแข่งขันใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและทำให้ลูกค้าเกิดประสบการณ์ใหม่ที่ดีกว่าการบริโภคสินค้าหรือการรับบริการแบบเดิม เช่น
  • ในระยะเริ่มต้นและระยะที่การแพร่ระบาดขยายวงกว้าง สินค้าที่เกี่ยวกับการดูแลสุขอนามัยและการรักษาสุขภาพ ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหารเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติผ่านช่องทางการบริการจัดส่งถึงที่ (Delivery) และซื้อขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ (E-commerce)
  • ในระยะที่การระบาดลดลงและควบคุมได้ ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงกับภาวะปกติ การเดินทางทั้งเพื่อท่องเที่ยวและธุรกิจเริ่มฟื้นตัว ความต้องการสินค้า/บริการที่กลับมาฟื้นตัวก่อนจะทยอยปรับเข้าสู่การจัดจำหน่ายสินค้าและบริการในภาวะปกติต่อไป
ธุรกิจไทยเบฟก็ได้ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจและการให้บริการที่สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในแต่ละช่วง เช่น
  • ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด ธุรกิจเครื่องดื่มเน้นการผลิตน้ำดื่มให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ เน้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและการโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์
  • ธุรกิจอาหารใช้ระบบบริการสั่งอาหารออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน “BevFood” โดยร่วมมือกับพันธมิตรหลายรายที่เป็นธุรกิจสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันหรือฟู้ดแอกกริเกเตอร์ (Food Aggregator) เพื่อขยายการให้บริการสั่งและส่งอาหารให้ถึงมือลูกค้ามากขึ้น
เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้หรือสิ้นสุดลง ไทยเบฟยังคงมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาและออกผลิตภัณฑ์ใหม่โดยเฉพาะเครื่องดื่มและอาหารเพื่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง การประยุกต์และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสและการเติบโตทางธุรกิจในอนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
แบ่งปันคุณค่า

คุณประสิทธิ์ โฆวิไลกูล
กรรมการอิสระ
ประธานกรรมการบริหารความยั่งยืนและ ความเสี่ยง และประธานกรรมการตรวจสอบ

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
วิกฤตโควิด-19 กับการบริหารความเสี่ยงของไทยเบฟ
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญก่อให้เกิดความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของไทยเบฟ เช่น ความเสี่ยงด้านสุขภาพอนามัยของพนักงาน ความเสี่ยงด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ความเสี่ยงด้านการเงิน โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ความเสี่ยงด้านชื่อเสียงและภาพลักษณ์ขององค์กร เช่น หากมีข่าวว่าพนักงานในกลุ่มไทยเบฟติดโรคโควิด-19 มีผู้มาติดต่องานหรือลูกค้าที่ติดเชื้อเข้ามายังพื้นที่โรงงาน อาคารสำนักงาน รวมถึงพื้นที่ขายสินค้าและให้บริการของไทยเบฟ หรือบุคคลเหล่านั้นติดเชื้อภายหลังมาใช้บริการ ทำให้ต้องปิดสำนักงาน โรงงานผลิต พื้นที่ขายสินค้าและให้บริการ รวมถึงอาจส่งผลต่อธุรกิจในระยะยาว สืบเนื่องจากความล่าช้าหรือการไม่สามารถปฏิบัติตามแผนธุรกิจสำคัญที่กำหนดไว้ในแต่ละช่วงเวลา เป็นต้น นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ยังเป็นวิกฤตการณ์ที่มีความต่อเนื่องโดยไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาที่จะสิ้นสุดได้ชัดเจน ทำให้การดำเนินธุรกิจไม่สามารถใช้กลยุทธ์หรือวิธีการปฏิบัติแบบเดิมได้ ไทยเบฟต้องนำแผนฉุกเฉิน (Contingency Plan) มาใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบในด้านต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด

ในเดือนมีนาคม 2563 ฝ่ายบริหารของไทยเบฟได้จัดตั้ง
  • “ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษในสถานการณ์โรคโควิด-19 (COVID-19 ThaiBev Situation Room)”
    เพื่อปฏิบัติหน้าที่ติดตามด้านความต่อเนื่องของธุรกิจตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง และการกระจายสินค้า โดยได้มีการสร้างฐานข้อมูลทั้งข้อมูลทางธุรกิจและข้อมูลพนักงาน การรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลและข่าวสารที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก เพื่อนำมาประเมิน ตัดสินใจและวางแผนตอบสนองสถานการณ์ในระยะสั้นและระยะยาว
  • “ศูนย์บริการพนักงานช่วงวิกฤตโรคโควิด-19 (COVID-19 Relief Center หรือ CRC)”
    เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูล สื่อสารข้อมูลที่จำเป็นและให้ความช่วยเหลือด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยแก่พนักงาน โดยเฉพาะบุคลากรในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้นกว่า 49,000* คน อาทิ มาตรการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานในสถานการณ์โรคโควิด-19 การมอบอุปกรณ์ป้องกันและลดความเสี่ยงจากการติดโรคโควิด-19 ให้แก่พนักงานและครอบครัวของพนักงาน การซื้อประกันภัยคุ้มครองอุบัติเหตุและโรคโควิด-19 รวมทั้งการจัดให้มีสวัสดิการตรวจโรคโควิด-19 ให้แก่พนักงาน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณ 39.2 ล้านบาท
*ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2563
การเฝ้าระวัง
ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่
จากสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไทยเบฟตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ที่สำคัญซึ่งจะส่งผลกระทบในระยะกลางหรือระยะยาวต่อธุรกิจของบริษัท ทำให้บริษัทจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์และ/หรือรูปแบบทางธุรกิจใหม่เพื่อความอยู่รอดและความยั่งยืนทางธุรกิจ ไทยเบฟจึงวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกซึ่งอยู่เหนือการควบคุมของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ โดยให้ความสำคัญความเสี่ยงมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ก่อนกำหนดมาตรการจัดการเพื่อบรรเทาผลกระทบและติดตามความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่อย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถมั่นใจได้อย่างสมเหตุสมผลว่าเป้าหมายและวัตถุประสงค์ทางธุรกิจของไทยเบฟจะบรรลุผลสำเร็จ
1. โรคระบาด
การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้างไปหลายประเทศทั่วโลกของโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2562 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันโดยไม่มีแนวโน้มที่จะยุติลงในเร็ว ๆ นี้ ส่งผลให้มีการเสียชีวิต ปัญหาด้านสุขภาพด้านสังคมและวิถีชีวิต และการชะงักงันทางเศรษฐกิจ ผลกระทบของโรคโควิด-19 ควบคู่กับนโยบายภาครัฐในการตอบสนองต่อโรคระบาด และข้อห้ามการเดินทางระหว่างประเทศ มีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคม ขยายความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรในสังคมและระหว่างประเทศต่างๆ มากขึ้น และสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมบางกลุ่ม รวมทั้งสังคม วิกฤตโรคระบาดยังส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นและระยะกลางในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

ผลกระทบต่อธุรกิจ
ธุรกิจของไทยเบฟทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และมาตรการหลายระดับเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรคตามความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดถูกนำมาบังคับใช้ ตั้งแต่การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การห้ามรับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร การปิดสถานบันเทิงและห้างสรรพสินค้า ห้ามการเดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่จำเป็น จนถึงการล็อกดาวน์และการประกาศเคอร์ฟิว การดำเนินงานของไทยเบฟตามกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ก่อนหน้า ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องทางร้านอาหาร แต่มีผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากการหยุดชะงักทางธุรกิจของคู่ค้า นอกจากนี้ วิกฤตโควิด-19 ยังเร่งให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่ช่องทางออนไลน์และช่องทางดิจิทัล ในช่วงปีแรกของวิกฤตโควิด-19 ไทยเบฟมียอดขายลดลง 10% บริษัทคาดว่าการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่หรือการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดที่มีปฏิกิริยาต่อต้านกับวัคซีน รวมถึงโรคติดต่อร้ายแรงอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะนำมาซึ่งความเสี่ยงด้านความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งความผันผวนของนโยบายภาครัฐในการควบคุมการระบาดจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต

มาตรการจัดการเพื่อบรรเทาผลกระทบ
เพื่อบรรเทาผลกระทบทางธุรกิจจากวิกฤตโควิด-19 ไทยเบฟได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจและลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมสำหรับกิจกรรมทางธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า ไทยเบฟร่วมก่อตั้งเครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย หรือThailand Supply Chain Network (TSCN) เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความต่อเนื่องทางธุรกิจและสร้างความมั่นใจในการฟื้นตัวของภาคธุรกิจไทย ธุรกิจเครื่องดื่มของไทยเบฟได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่ ๆ สำหรับการบริโภคที่บ้าน มีการดำเนินกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ และการเปิดตัวเครื่องดื่มผสมวิตามินเพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ส่วนธุรกิจอาหารของไทยเบฟได้พัฒนาระบบสั่งซื้อและจัดส่งออนไลน์ รวมถึงการปรับเมนูและระบบการชำระเงินแบบไร้สัมผัส ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถบริโภคสินค้าและใช้บริการได้อย่างปลอดภัย การเปิด Cloud Kitchen เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของร้านอาหาร
นอกจากนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาด/โรคติดเชื้อในอนาคต ไทยเบฟยังได้ลงทุนในศูนย์ทดสอบโควิดและการผลิตหน้ากาก N-95 สำหรับพนักงาน พันธมิตรทางธุรกิจ และเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่สังคม
2. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รายงานดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศโลกปี 2560 จัดอันดับให้ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศของโลกที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีผลกระทบอย่างมากต่อทรัพยากรน้ำ รัฐบาลไทยจึงได้เข้าร่วมกับประเทศต่าง ๆ ในความพยายามลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ และการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการบังคับใช้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติในด้านการจัดสรร การใช้ การพัฒนา การจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแบ่งผู้ใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะออกเป็น 3 กลุ่ม โดยผู้ใช้น้ำในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือผู้ใช้น้ำในปริมาณมากต้องมีใบอนุญาตการใช้น้ำพร้อมแผนการจัดการน้ำ มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้น้ำเพื่อป้องกันความเสียหายต่อแหล่งน้ำสาธารณะหรือเพื่อรับมือกับวิกฤตน้ำ และการชำระค่าน้ำตามปริมาณน้ำผิวดินที่ใช้ ข้อกำหนดดังกล่าวมีแนวโน้มจะบังคับใช้ในปี 2564 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินงานและการใช้น้ำสาธารณะในอนาคตอีก 3-5 ปีข้างหน้า

ผลกระทบต่อธุรกิจ
ในฐานะผู้ผลิตเครื่องดื่มและอาหารชั้นนำ ทรัพยากรน้ำเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการผลิตและกระบวนการที่เกี่ยวข้องสำหรับไทยเบฟ ปัจจุบันปริมาณการใช้น้ำผิวดินทั้งหมดของโรงงานผลิตในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 15-20 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีตามปริมาณการผลิตและการขาย ดังนั้น อัตราค่าน้ำผิวดินที่จะเรียกเก็บจะทำให้ต้นทุนการผลิตของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการวิเคราะห์สถานการณ์สมมติ ต้นทุนการผลิตต่อปีคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 70 - 140 ล้านบาท โดยยังไม่รวมการลงทุนและต้นทุนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน แหล่งทรัพยากรน้ำที่มีความตึงเครียดมากขึ้นยังเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อความสมบูรณ์ของวงจรห่วงโซ่อุปทานและความต่อเนื่องทางธุรกิจของไทยเบฟ นอกจากนี้ หากบริษัทฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย บริษัทอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตการใช้น้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตและชื่อเสียงของบริษัท

มาตรการจัดการเพื่อบรรเทาผลกระทบ
จากพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ. 2564 ที่กำหนดลุ่มน้ำของประเทศไทยเป็น 22 ลุ่มน้ำ ไทยเบฟได้จัดแบ่งโรงงานผลิต 34 แห่งทั่วประเทศตามสถานที่ตั้งโดยตั้งอยู่ภายในขอบเขต 12 ลุ่มน้ำ ซึ่งโรงงานผลิตแต่ละแห่งต้องรวมกลุ่มกับผู้ใช้น้ำรายอื่นในลุ่มน้ำเดียวกัน เพื่อจดทะเบียนจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อรักษาผลประโยชน์ร่วมกันในการจัดการน้ำในพื้นที่ ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ รวมทั้งแนวทางและนโยบายที่กำหนดโดยคณะกรรมการลุ่มน้ำและคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในระดับปฏิบัติการ ไทยเบฟได้จัดทำโครงการประเมินความยั่งยืนด้านน้ำทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินบริเวณพื้นที่ที่โรงงานผลิตตั้งอยู่โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อประเมินระดับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับน้ำและกำหนดแนวทางการจัดการน้ำของแต่ละโรงงาน การประหยัดน้ำและการนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ ถูกกำหนดเป็นหนึ่งในหลักเกณฑ์ของการพิจารณาปรับปรุงและการลงทุนในเครื่องจักรใหม่ อาทิ เครื่องล้างขวด, ระบบหม้อไอน้ำที่นำคอนเดนเสทกลับมาใช้ซ้ำ และระบบน้ำหล่อเย็นแบบปิด
3. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่
อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาและนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการพึ่งพาแรงงานคน ประหยัดต้นทุนของธุรกิจในระยะยาว และรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตั้งแต่การใช้เทคโนโลยี Block Chain ในห่วงโซ่อุปทานอาหารเพื่อตรวจสอบย้อนหลังถึงต้นทางของผลิตภัณฑ์อาหารและคุณภาพของวัตถุดิบ การสร้างความปลอดภัยของอาหาร และลดขยะอาหาร เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถูกใช้ตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารผ่านระบบเซ็นเซอร์ คัดแยกวัตถุดิบก่อนเข้าสู่การผลิตและการแปรรูปโดยใช้การเรียนรู้และจดจำ การควบคุมตามมาตรฐานการผลิต สุขอนามัย และความสะอาดภายในโรงงาน ยังมีการใช้เทคโนโลยีในการจัดการร้านอาหาร (Digitization of Restaurants) โดยพัฒนาหุ่นยนต์ให้สามารถทำงานด้านต่าง ๆ เช่น การชงเครื่องดื่ม การตอบคำถามลูกค้า การแนะนำและรับออเดอร์จากลูกค้า รวมถึงการสั่งอาหารออนไลน์และการจัดส่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ลูกค้า ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มนวัตกรรมใหม่ที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น เช่น อาหารทางเลือกและนมที่ผลิตจากพืช หรืออาหารสังเคราะห์ที่มีสารอาหาร รูปลักษณ์และรสชาติที่ดี

ผลกระทบต่อธุรกิจ
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมถือเป็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของไทยเบฟทั้งต่อสินค้า รูปแบบการดำเนินธุรกิจ และช่องทางการจัดจำหน่าย การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันที่ปรับรูปแบบธุรกิจให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน หรือคู่แข่งจากอุตสาหกรรมอื่นที่ใกล้เคียงกันสามารถเข้ามาแข่งขันได้ง่ายขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ หากบริษัทไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้ทันเวลา หรือไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงได้ จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของรายได้ ส่วนแบ่งการตลาด คุณค่าและความภักดีในตราสินค้า

มาตรการจัดการเพื่อบรรเทาผลกระทบ
ไทยเบฟได้จัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัลภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการปฏิบัติงานภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าของไทยเบฟเพื่อรองรับแผนการขยายธุรกิจ นอกจากนี้ บริษัทยังพัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นนวัตกรรมใหม่ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและวิศวกรรมเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและความสามารถในการแข่งขัน และใช้ AI เพื่อช่วยคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตจากข้อมูลในอดีต เพื่อให้บุคลากรแต่ละส่วนงานสามารถมองเห็นเป้าหมายที่อ้างอิงจากข้อมูลในอดีตได้อย่างแม่นยำ ควบคู่ไปกับการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยและพัฒนาของไทยเบฟมีหน้าที่คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในทุกช่วงวัยและทุกช่วงเวลา