รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2563

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2563 / ใส่ใจดูแลบุคลากร ลูกค้า และผู้บริโภค
การจัดหาอย่างยั่งยืน
ไทยเบฟให้ความสำคัญกับนโยบายและมาตรฐานในการจัดหาวัตถุดิบ การรักษามาตรฐานด้านคุณภาพ การส่งมอบการบริการ กระบวนการตรวจประเมินคู่ค้า และการมีส่วนร่วมของคู่ค้า โดยกำหนดกลยุทธ์และพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับความต่อเนื่องทางธุรกิจและหลีกเลี่ยงผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
กลยุทธ์ “ห่วงโซ่อุปทานแห่งอนาคต”
ไทยเบฟได้กำหนดกลยุทธ์ “ห่วงโซ่อุปทานแห่งอนาคต” ดังนี้
  • สร้างความแข็งแกร่ง (STRONGER)
    จัดหาวัตถุดิบสำคัญจากคู่ค้าที่หลากหลายขึ้นและลดการผูกขาดกับคู่ค้าเพียงเจ้าเดียว โดยเน้นการจัดหาจากภายในประเทศและเพิ่มศักยภาพให้กับคู่ค้าในประเทศ
  • เชื่อมต่อกัน (SYNERGIZED)
    นำเทคโนโลยีดิจิตัลมาใช้ในการวางแผนห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล (Data Visibility)
  • ก้าวสู่ความยั่งยืน (SUSTAINABLE)
    ดำเนินการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานแบบครอบคลุมทุกภาคส่วน พร้อมสร้างคุณค่าทางธุรกิจให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มความยืหยุ่ยในการดำเนินธุรกิจ

เครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย (Thailand Supply Chain Network - TSCN) ร่วมต้านไวรัสโควิด-19
ในปี 2562 ไทยเบฟร่วมมือกับคู่ค้าที่มีความสำคัญกับก่อตั้งเครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย (Thailand Supply Chain Network หรือ TSCN) เพื่อผนึกพลังองค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนของประเทศไทยและร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และขยายธุรกิจไปในยังต่างประเทศหรือตลาดอื่นๆ

ไทยเบฟเฝ้าระวังวิกฤตการณ์ ไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่แรกเริ่มเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์และเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันการแพร่ระบาด โดยได้ดำเนินงานและจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ
  • ประเมินความเสี่ยงด้านความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจร่วมกับคู่ค้าหลักของไทยเบฟ เพื่อประเมินขั้นตอนและศักยภาพในการจัดซื้อจัดหาในช่วงการแพร่ระบาด และเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงเป็นแรงจูงใจในการขับเคลื่อนคู่ค้ารายอื่นๆ ให้มีส่วนร่วมกับไทยเบฟในการสร้างความยืดหยุ่นทางธุรกิจของห่วงโซ่อุปทานให้มีมากขึ้น
  • สำรวจความต้องการของพันธมิตรผู้ก่อตั้ง TSCN และคู่ค้ารายอื่นๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านทรัพยากรทางการแพทย์ ด้านบุคลากร และด้านอื่น ๆ ได้อย่างเหมาะสม
  • ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง TSCN ผลิตเจลแอลกอฮอล์มากกว่าหนึ่งล้านขวดและส่งมอบให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแจกจ่ายให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศ
  • ส่งมอบแอลกอฮอล์ให้กับเอกอัครราชทูตมัลดีฟส์ประจำประเทศไทยผ่านการประสานงานของ TSCN พร้อมกับผู้ร่วมก่อตั้ง TSCN รายอื่น ๆ

TSCN Business Partner Conference 2020 และโครงการประกาศเกียรติคุณคู่ค้า
ในปี 2563 ไทยเบฟและบริษัทในภาคีเครือข่ายต่างๆ รวมถึงเครือข่าย TSCN (Thailand Supply Chain Network) ได้จัดกิจกรรม Thailand Sustainability Expo 2020 (TSX) ภายใต้แนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” (Sufficiency for Sustainability) โดยน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “สืบสาน รักษา และต่อยอด” มาเป็นแนวทางในการจัดงานตามศาสตร์พระราชาและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน รวมถึงคู่ค้า ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน

ไทยเบฟยังได้ร่วมกับเครือข่าย TSCN จัดกิจกรรม TSCN Business Partner Conference 2020 หรือกิจกรรมสัมมนาพันธมิตรทางธุรกิจ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม TSX เพื่อสร้างพลังร่วมและเครือข่ายของการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารสูงสุดขององค์กรผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนาและแลกเปลี่ยนมุมมองถึงวิสัยทัศน์และแนวทางการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความยั่งยืน รวมถึงปัจจัยความสำเร็จในการเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนระดับโลก

นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนในแต่ละอุตสาหกรรมร่วมแบ่งปันประสบการณ์และให้ความรู้แก่คู่ค้า ภายใต้แนวคิด “สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” เพื่อผลักดันให้เกิดการลงมือปฏิบัติของภาคธุรกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ รวมถึงริเริ่ม TSCN Platform เครือข่ายสังคมธุรกิจออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้พันธมิตรทางธุรกิจจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรมร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ TSCN โดยการเชื่อมต่ออุปสงค์และอุปทานในการทำธุรกิจไว้ด้วยกันและเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจในประเทศไทย

ในโอกาสนี้ ไทยเบฟได้มอบรางวัลประกาศเกียรติคุณคู่ค้า เพื่อส่งเสริมและสร้างคุณค่าให้แก่คู่ค้าที่มีผลการดำเนินงานเป็นเลิศและต่อยอดโอกาสในการขยายธุรกิจของคู่ค้ากลุ่มดังกล่าวไปยังบริษัทอื่นๆในเครือข่าย TSCN โครงการประกาศเกียรติคุณคู่ค้าเป็นโครงการที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของคู่ค้า กระตุ้นการแข่งขันทางธุรกิจ และสรรค์สร้างนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งคู่ค้าที่ได้รับรางวัลคือคู่ค้าที่มีมาตรฐานในการดำเนินงานอันเป็นเลิศ และเป็นแม่แบบในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนให้กับคู่ค้ารายอื่น ๆ โดยรางวัลมีทั้งหมดสามระดับคือ Silver Award Gold Award และ Platinum Award ในปี 2563 ไทยเบฟได้กำหนดเกณฑ์การประเมินเรื่องความยั่งยืนเป็นองค์ประกอบหนึ่ง

ในการพิจารณาให้รางวัลเพื่อส่งเสริมให้คู่ค้าที่ร่วมโครงการคำนึงถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความยั่งยืน โดยกำหนดให้คู่ค้าจัดทำหลักปฏิบัติสำหรับคู่ค้าของตนเอง (Supplier Code of Conduct) และมีผลบังคับใช้ไปยังคู่ค้าของตนเอง

โครงการ CROSS การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการจัดหา
ในปี 2560 ไทยเบฟได้ริเริ่มโครงการ CROSS โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลในห่วงโซ่อุปทาน (Visibility) และยกระดับมาตรฐานในการจัดหา โดยมุ่งเน้นการร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน และการเชื่อมต่อผ่านระบบออนไลน์ ซึ่ง CROSS มีหลักในการทำงานคือ

โครงการ CROSS เป็นระบบการจัดหาดิจิทัลที่ช่วยปรับปรุงกระบวนการจัดหาให้มีประสิทธิภาพโดยใช้ระบบอัตโนมัติ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างโปร่งใสและสืบค้นได้ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน โดยผู้ซื้อและผู้ขายเชื่อมต่อกันผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันไทยเบฟได้นำระบบจัดหา CROSS Procurement มาเชื่อมต่อกับระบบ Supplier Life Cycle Management (SLCM) ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อระหว่างคู่ค้าและไทยเบฟ ตั้งแต่การลงทะเบียนเป็นคู่ค้าของไทยเบฟ การประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า การยืนยันคำสั่งซื้อและการแลกเปลี่ยนเอกสารผ่านระบบ ทั้งนี้ ระบบจัดหา CROSS Procurement แบ่งหน้าที่การทำงานหลักออกเป็น 4 ส่วน คือ
1. CROSS Source
คัดสรรคู่ค้าที่มีศักยภาพ ซึ่งพิจารณาทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม หลักธรรมาภิบาล และศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า โดยเชื่อมต่อกับระบบ Supplier Life Cycle Management (SLCM) ครอบคลุม ตั้งแต่การบังคับใช้แนวทางปฏิบัติสำหรับคู่ค้า (Supplier Code of Practice) การลงทะเบียนคู่ค้า การประเมินศักยภาพคู่ค้า การสรรหาคู่ค้า ไปจนถึงการเสนอราคา ประกวดราคาสินค้า และการคัดเลือกคู่ค้า
2. CROSS Contract
ร่างและจัดทำสัญญากับคู่ค้าผ่านระบบที่ตรวจสอบย้อนหลังได้โปร่งใส รวมถึงการบริหารการซื้อสินค้าให้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของสัญญา
3. CROSS Buy
ออกคำสั่งซื้อและยืนยันการสั่งซื้อกับคู่ค้า และการเลือกซื้อสินค้าผ่านแค็ตตาล็อกสินค้าออนไลน์ (e-catalog)
4. CROSS SRM (Supplier Risk Management)
ตรวจประเมินความเสี่ยงของคู่ค้าในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล รวมไปถึงด้านอื่น ๆ รวมถึงข่าวสารต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร โดยใช้ฐานข้อมูลจากองค์กรอิสระที่มีความชำนาญการในการประเมินความเสี่ยง ได้แก่ World Economic Forum, Dun & Bradstreet, GDACS และ Semantic Visions เป็นต้น

ทั้งนี้ ไทยเบฟนำระบบ CROSS Procurement มาใช้ในกระบวนการจัดหาอย่างต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพในการเข้าถึงข้อมูลที่มีความแม่นยำยิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล และช่วยในการตัดสินใจและกำหนดกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการจัดหา รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์

ความมุ่งมั่นและความสำเร็จ
ความร่วมมือเพื่อห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน
  • ผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบหลักในกระบวนการผลิต ได้แก่ มอลต์ น้ำตาล ปลายข้าว น้ำมันปาล์ม และใบชา ไทยเบฟได้คัดสรรคุณภาพวัตถุดิบเป็นอย่างดี โดยผ่านกระบวนการจัดหาที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล อาทิ BonSucro, ProTerra, SEDEX, RSPO เป็นต้น
  • จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณและราคาของผลิตผลทางการเกษตร รวมถึงรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรในพื้นที่ ไทยเบฟได้ทำงานร่วมกับคู่ค้าอย่างเต็มที่เพื่อให้ความรู้เกษตรกรในพื้นที่และให้การสนับสนุนด้านทรัพยากรตามความเหมาะสม
ความยืดหยุ่นทางธุรกิจและการบริหารจัดการความเสี่ยง
  • ไทยเบฟคำนึงถึงปัจจัยด้านความยั่งยืนในทุกขั้นตอนของการจัดหา โดยกำหนดให้คู่ค้าทุกรายรับทราบแนวทางปฏิบัติสำหรับคู่ค้า (Supplier Code of Practice) เพื่อเป็นมาตรฐานในการคัดกรองคู่ค้าและตรวจสอบคุณภาพอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ ได้กำหนดความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจของคู่ค้าเป็นเกณฑ์ในการประเมินคุณสมบัติของคู่ค้า การประกวดราคาและขั้นตอนการประเมิน
  • ไทยเบฟมีกระบวนการระบุคู่ค้ารายสำคัญทุกปี เพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการบริหารจัดการความสัมพันธ์คู่ค้า รวมทั้งการจัดระดับความสำคัญในการใช้ทรัพยากรและการบริหารจัดการความเสี่ยงของคู่ค้าให้เหมาะสม ทั้งหมดนี้จะทำให้บริษัทสามารถระบุและบรรเทาความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนการจัดหาทุกขั้นตอนภายในห่วงโซ่อุปทานได้
การพัฒนาศักยภาพของคู่ค้าภายในประเทศ
  • ในปี 2563 สัดส่วนการจัดหาจากคู่ค้าภายในประเทศอยู่ที่ปีละร้อยละ 95 โดยไทยเบฟให้ความสำคัญกับคู่ค้าในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงสถานประกอบการเป็นอันดับแรก โดยพิจารณาทั้งปัจจัยด้านความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจและผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพื่อลดระยะทางในการขนส่งและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น
  • การสร้างศักยภาพให้กับคู่ค้าภายในประเทศผ่านโครงการประกาศเกียรติคุณคู่ค้า การให้ความรู้ด้านความยั่งยืนแก่คู่ค้า และการดำเนินโครงการด้านความยั่งยืนต่างๆร่วมกัน ทำให้บริษัทมีทางเลือกในการจัดหามากขึ้น และบรรเทาความเสี่ยงที่เกิดจากการมีวัตถุดิบจำกัด รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการนำเข้าวัตถุดิบและการบริการจากต่างประเทศ เช่น ความล่าช้าจากการขนส่งสินค้าและการหยุดชะงักทางธุรกิจ