ในปี 2563 ไทยเบฟจัดทำรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับนี้เป็นฉบับที่ 7 โดยได้จัดทำเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี 2555 รายงานทุกฉบับจัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ในแบบหลัก (Core) ของกรอบการรายงานความยั่งยืนสากล Global Reporting Initiative (GRI) ขณะเดียวกันได้ประยุกต์ใช้แนวทางการรายงานของ Integrated Reporting (IR) ซึ่งเป็นรายงานความยั่งยืนแบบบูรณาการที่แสดงถึงผลการดำเนินงานและการสร้างคุณค่าแก่ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ แบบองค์รวม
ทั้งนี้ ไทยเบฟมีเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ในการจัดทำรายงานเพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารสาระสำคัญด้านความยั่งยืนทางธุรกิจต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมทั้งนำเสนอกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร โดยไทยเบฟและบริษัทในกลุ่มไทยเบฟ (“กลุ่มไทยเบฟ”) ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปฏิบัติใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดหัวข้อและเนื้อหาบนพื้นฐานการดำเนินธุรกิจที่ครอบคลุมสาระสำคัญ 4 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม สังคม ศิลปวัฒนธรรม และเศรษฐกิจ สร้างความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs)

ข้อมูลในรายงานฉบับนี้เป็นข้อมูลในปีงบประมาณ 2563 โดยขอบเขตการรายงานครอบคลุม กลุ่มบริษัทไทยเบฟในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อสะท้อนการเติบโตทางธุรกิจของไทยเบฟ และนำเสนอแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการดำเนินธุรกิจไปสู่วิสัยทัศน์ PASSION 2025 รวมไปถึงรายงานประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมครอบคลุมระยะเวลา 12 เดือนจากเดือนตุลาคม 2562 ถึงเดือนกันยายน 2563 โดยทำการรวบรวมข้อมูลจากโรงงานผลิต 40 แห่ง ได้แก่ โรงงานสุรา 25 แห่ง (19 แห่งในประเทศไทย 5 แห่งในสหราชอาณาจักร และ 1 แห่งในประเทศเมียนมา) โรงงานเบียร์ 3 แห่งในประเทศไทย โรงงานผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 11 แห่งในประเทศไทย โรงงานผลิตอาหาร 1 แห่งในประเทศไทย และข้อมูลจากศูนย์กระจายสินค้า 11 แห่งในประเทศไทย
ไทยเบฟจัดทำรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับนี้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมถึงเผยแพร่ในเว็บไซต์ของไทยเบฟ www.sustainability.thaibev.com หากท่านมีข้อเสนอแนะหรือข้อสงสัยประการใด สามารถติดต่อได้ทาง
sustainability@thaibev.com หรือแสดงความเห็นเพิ่มเติม โดยใช้แบบฟอร์มที่แนบท้ายรายงานฉบับนี้ ไทยเบฟมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะพิจารณาข้อเสนอแนะดังกล่าวและนำไปปรับปรุงคุณภาพของรายงานต่อไป