หน้าแรก / การพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยเบฟ
การพิทักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ
แหล่งน้ำของโลกกำลังเผชิญภาวะวิกฤตมากขึ้น ทั้งปัญหา การขาดแคลนน้ำ น้ำท่วม และมลพิษทางน้ำที่ส่งผลกระทบต่อ การดำรงชีวิตในระดับที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากน้ำเป็นทรัพยากรสำคัญ ในการผลิต การขาดแคลนน้ำหรือคุณภาพของน้ำที่เสื่อมโทรมลง อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงทางธุรกิจ ไทยเบฟมุ่งเน้นการกำหนดแนวทางการ บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ขณะเดียวกันได้จัดทำระบบประเมินผลกระทบจากการใช้น้ำ ริเริ่มโครงการต่าง ๆ ทั้งในระดับโรงงานและชุมชน และกำหนดเป้าหมายการคืนน้ำสะอาดสู่ธรรมชาติ และชุมชน

ทั้งนี้ ไทยเบฟมุ่งหวังที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรน้ำ รักษามาตรฐานน้ำสะอาด และปกป้องแหล่งต้นน้ำที่สำคัญทั่วประเทศ อีกทั้งยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติตามนโยบายการจัดการน้ำระยะยาวขององค์กร อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสมดุลระหว่างมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การปกป้องทรัพยากรน้ำที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ใช้น้ำบนหลักการสิทธิความเท่าเทียมกัน
แนวทางการบริหารจัดการ
ไทยเบฟมีจุดมุ่งหมายในการบริหารจัดการน้ำเพื่ออนุรักษ์น้ำให้ชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยมุ่งลดผลกระทบด้านน้ำที่อาจเกิดขึ้น จากการดำเนินงานของโรงงาน ขณะเดียวกันไทยเบฟได้ประสาน ความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และพันธมิตรในห่วงโซ่คุณค่า ตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และชุมชน โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนการอนุรักษ์น้ำทั้งในด้านการรักษา ความพอเพียงของน้ำ การใช้น้ำ การบริโภค คุณภาพของน้ำ และการคืนน้ำสะอาดสู่ธรรมชาติและชุมชน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการจัดการน้ำสะอาด สุขาภิบาล และสุขอนามัย (WASH)

เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการจัดการน้ำ ไทยเบฟจึงได้กำหนดนโยบายการบริหารจัดการน้ำระดับองค์กร ที่ได้รับการอนุมัติจาก คณะกรรมการบริษัท ซึ่งมีเป้าหมายและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ในการลดผลกระทบต่อคุณภาพน้ำจากกระบวนการผลิต ด้วยการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพน้ำ โดยใช้เครื่องมือตาม มาตรฐานสากล รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และการใช้น้ำ อย่างรับผิดชอบ

ไทยเบฟกำหนดให้การบริหารจัดการน้ำเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัท ซึ่งช่วยเสริมสร้างให้บริษัทเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้น โดยมีการระบุ ความเสี่ยงและโอกาสตลอดจนติดตามความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ ไทยเบฟทบทวนการประเมินความเสี่ยงทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับ น้ำในโรงงานผลิตทุกแห่งทุก 3-5 ปี เพื่อให้เข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบ ซึ่งจะช่วยให้โรงงาน แต่ละแห่งสามารถพัฒนาแผนบริหารความเสี่ยงและมาตรการบรรเทาผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับน้ำได้อย่างเหมาะสม

ไทยเบฟมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจว่า โรงงานทุกแห่งได้รับการรับรองมาตรฐานสากลด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) ในการควบคุม มาตรฐานการปล่อยน้ำทิ้ง ทั้งนี้ไทยเบฟดำเนินการบำบัดน้ำเสียให้มีคุณภาพสูงกว่าข้อกำหนดทางกฎหมาย เช่น ค่าความเป็นกรดด่าง (pH) อุณหภูมิ ค่าซีโอดี (COD) ค่าบีโอดี (BOD) ค่าของแข็ง แขวนลอยทั้งหมด (TSS) น้ำมันและไขมัน ก่อนที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศให้น้อยที่สุด
ความเสี่ยงด้านน้ำในการดำเนินงานของไทยเบฟ
ไทยเบฟใช้เครื่องมือ Aqueduct จากสถาบันทรัพยากรโลก (WRI) ในการประเมินโรงงานผลิตทุกแห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเครียดด้านน้ำ ตามคำนิยามของ Aqueduct เป็นประจำทุกปี โดยแบ่งระดับความเสี่ยงออกเป็น ระดับต่ำ ระดับต่ำ-ปานกลาง ระดับปานกลาง-สูง ระดับสูง และระดับสูงมาก โดยโรงงานที่มีความเสี่ยงระดับสูง และสูงมาก จะได้รับการจัดลำดับความสำคัญในการวิเคราะห์ เพื่อกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบ

จากผลการประเมิน พบว่าโรงงานของไทยเบฟร้อยละ 49.05 (26 แห่งจากทั้งหมด 53 แห่ง) มีระดับความเครียดของน้ำระดับสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านการเงินหรือด้านกลยุทธ์ของบริษัท
ร้อยละของโรงงานที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเครียดด้านน้ำ

ระดับความเครียดด้านน้ำ

ความเสี่ยงด้านน้ำในห่วงโซ่อุปทาน
ไทยเบฟร่วมมือกับคู่ค้าที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเครียดด้านน้ำ ในการลดการใช้น้ำ ซึ่งคู่ค้าที่มีผลกระทบสูงทุกรายจะประเมิน ความเสี่ยงด้านน้ำด้วยเครื่องมือ Aqueduct จากสถาบันทรัพยากรโลก (WRI) และอ้างอิงมาตรฐาน Together for Sustainability (TfS) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน โดยคู่ค้าที่ถูก ระบุว่ามีปริมาณการใช้น้ำสูงหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีความเครียดด้านน้ำ จำเป็นต้องมีแผนการจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม

ไทยเบฟยังได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเรื่องเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจว่าคู่ค้าสามารถใช้น้ำได้อย่างเหมาะสมในกระบวนการทางการเกษตร โดยไทยเบฟสนับสนุนให้คู่ค้าวัดปริมาณการใช้น้ำ ระบุโอกาสเพื่อลดการใช้น้ำ จัดทำการประเมินความเสี่ยงด้านน้ำ ในพื้นที่รอบโรงงานผลิต โดยใช้เครื่องมือตามมาตรฐานสากล และใช้แผนบรรเทาผลกระทบในพื้นที่ที่มีความเครียดด้านน้ำ ระดับสูงมาก

จากผลการประเมินพบว่าคู่ค้าทางตรงรายสำคัญของไทยเบฟ ร้อยละ 43.29 อยู่ในพื้นที่ที่มีความเครียดด้านน้ำ
ร้อยละของคู่ค้าทางตรง ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเครียดด้านน้ำ

ระดับความเครียดด้านน้ำ

เป้าหมาย
โครงการคืนน้ำสู่ธรรมชาติและชุมชน
โครงการบริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ชุมชนเหมืองแม่หาด จังหวัดเชียงใหม่
ไทยเบฟร่วมมือกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ในโครงการ “การบริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนว พระราชดำริ ชุมชนเหมืองแม่หาด จังหวัดเชียงใหม่” เพื่อเพิ่ม ความมั่นคงทางน้ำผ่านการจัดการที่ดิน น้ำ และป่าไม้อย่างยั่งยืน ซึ่งปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ได้แก่ การขาดแคลนน้ำ และระบบส่งน้ำชำรุดเสียหาย โครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อฟื้นฟูแหล่งน้ำ ให้เป็นระบบเหมืองฝายที่เหมาะกับสภาพภูมิสังคม โดยสามารถจัดสรรน้ำได้ตามความต้องการของชุมชน ขณะเดียวกันยังสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกด้วย

โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 9 เดือน โดยมีการขุดและขยาย บ่อสำรองน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำสำหรับเก็บไว้ใช้ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร พร้อมทั้งเสริมโครงสร้างการจัดการน้ำ ในพื้นที่ด้วยแผนการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อเปลี่ยนปรับปรุงทางน้ำจากน้ำตกแม่กลางเป็นระยะทาง 9,800 เมตร ไทยเบฟคาดว่า การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถใน การกักเก็บน้ำจากต้นน้ำ และจะสร้างประตูน้ำเพื่อบริหารจัดการ น้ำภายในชุมชนเมืองแม่หาดด้วย

โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชนมากกว่า 681 ครัวเรือน หรือประมาณ 2,218 คน ส่งผลให้มีปริมาณกักเก็บน้ำสำรองเพิ่มขึ้นมากกว่า 270,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ช่วยพัฒนาทรัพยากรน้ำ ของชุมชนเพื่อการบริโภคและการเกษตร และทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำในชุมชนเหมืองแม่หาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งจะเป็นโครงการต้นแบบที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงทางน้ำในระยะยาว อีกทั้งสร้างรายได้ให้กับชุมชน
โครงการน้ำสะอาดเพื่อชุมชน
ในปี 2566 ไทยเบฟยังคงมุ่งมั่นเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นและภาคเกษตรกรรมได้รับน้ำสะอาดอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มธุรกิจสุรา ได้ริเริ่มกิจกรรมเพื่อสังคม “แบ่งปันน้ำสู่ชุมชน” ที่โรงงานใน จังหวัดกาญจนบุรี ปราจีนบุรี และสุราษฎร์ธานี ได้ช่วยส่งน้ำสะอาด สู่ชุมชนข้างเคียงกว่า 50 ชุมชน

นอกจากนั้นบริษัท แกรนด์ รอยัล กรุ๊ป จำกัด (GRG) บริษัทในเครือจากประเทศเมียนมา ได้เปิดตัว “โครงการน้ำสะอาด” ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อให้ชุมชนในท้องถิ่นมีน้ำดื่มที่สะอาดปลอดภัย โดยการขุดบ่อน้ำและติดตั้งระบบกรองน้ำ ทำให้มีแหล่งน้ำสะอาดสำหรับคนในชุมชนมากกว่า 7,500 ครัวเรือน หรือประมาณ 50,000 คน
โครงการลดการใช้น้ำ
การพัฒนาประสิทธิภาพการใช้น้ำในกระบวนการผลิต
บริษัท Inver House Distillers (IHD) กลุ่มบริษัทในเครือจาก ประเทศสกอตแลนด์ กำลังทำการทดลองเทคนิคการหมักที่ทำให้เกิดปริมาณหมักที่ทำให้เกิดปริมาณแอลกอฮอล์สูง (High-gravity Mashing) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้อัตราส่วนข้าวมอลต์มากกว่าน้ำ ซึ่งจะช่วยประหยัดน้ำและลดการใช้พลังงาน โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์เฉพาะของการผลิตสกอตวิสกี้ นอกจากนี้ IHD ยังมีแผนทดลองใช้ยีสต์ชนิดใหม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในการหมักทำให้ได้ปริมาณแอลกอฮอล์สูง (High-gravity Mashing) ซึ่งจะส่งผลให้การใช้น้ำและพลังงานลดลงประมาณร้อยละ 5
เครื่องล้างขวดแก้วใหม่อัตโนมัติ
กลุ่มธุรกิจสุราได้ติดตั้งเครื่องล้างขวดแก้วใหม่อัตโนมัติซึ่งเป็นนวัตกรรมทำความสะอาดขวดแก้ว โดยเครื่องล้างขวดแก้วใหม่อัตโนมัติได้ถูกออกแบบมาเพื่อลดการใช้น้ำจากประมาณ 80,000 ลูกบาศก์เมตร เหลือเพียง 9,000 ลูกบาศก์เมตร และลดการใช้ไฟฟ้าจาก 88 กิโลวัตต์-ชั่วโมง เหลือเพียง 3 กิโลวัตต์-ชั่วโมง นอกจากนี้ยังช่วยลดการเกิดน้ำเสียจากกระบวนการได้มากถึง 15,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี โครงการนี้ไม่เพียงช่วยประหยัดน้ำ แต่ยังเป็นการรับประกันคุณภาพของขวดแก้วก่อนนำไปใช้ในกระบวนการผลิตอีกด้วย
โครงการบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่
กลุ่มธุรกิจเบียร์ได้ริเริ่มโครงการนำน้ำเสียที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีการกรองด้วยเส้นใยสังเคราะห์บางหลายชั้น (Ultrafiltration Technology) ที่บริษัท คอสมอส บริวเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คาดว่าโครงการนี้จะลดการดึงน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติได้มากถึงร้อยละ 20 หรือ 200,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนได้ประมาณ 700,000 บาทต่อปี โดยน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัด จะนำกลับมาใช้ใหม่ในพื้นที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต

โครงการอื่น ๆ
โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อชุมชน
ไทยเบฟร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ในโครงการ “การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อชุมชน” เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ความเสี่ยงจากน้ำท่วมและภัยแล้งทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยใช้ระบบสารสนเทศทรัพยากรน้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงการแรกนี้ครอบคลุมพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร รอบโรงงานเบียร์ไทย จังหวัดกำแพงเพชร

โครงการต้นแบบนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในชุมชนท้องถิ่นรอบโรงงานผลิต ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเครียดด้านน้ำในระดับสูงถึงสูงมาก

ซึ่งมีขั้นตอนการศึกษาดังนี้
  • ศึกษาสภาพทั่วไปของพื้นที่ สภาพลุ่มน้ำ ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา และอุทกวิทยา ตลอดจนถึงแหล่งที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ เพื่อศึกษาสถานการณ์น้ำท่วมและภัยแล้ง และข้อมูลการเกิด เหตุการณ์ในอดีต
  • ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง รวมถึงดัชนีและแนวโน้มข้อมูลปริมาณน้ำฝนที่รุนแรงสำหรับสภาวะปัจจุบันและอนาคต เพื่อสร้างแผนที่ความน่าจะเป็นที่แสดงดัชนีปริมาณน้ำฝนในระดับสูงในพื้นที่รับน้ำและพื้นที่ลุ่มน้ำรอบโรงงาน
จากผลการศึกษาพบว่าพื้นที่ศึกษาโดยรวมมีความเสี่ยงในการเกิด น้ำท่วมและภัยแล้งต่ำ มีเพียงร้อยละ 3 ของพื้นที่เท่านั้นที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้งสูง ซึ่งอาจส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิต และความต้องการของชุมชน

ไทยเบฟจะขยายโครงการ “การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อชุมชน” ให้ครอบคลุมพื้นที่โรงงาน 3 แห่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และนครสวรรค์ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเครียดด้านน้ำในระดับสูงมาก จากการริเริ่มโครงการนี้ทำให้ไทยเบฟสามารถดำเนินธุรกิจและ สร้างคุณค่าให้กับชุมชนที่ใช้แหล่งน้ำร่วมกัน
คณะกรรมการลุ่มน้ำ
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้จัดทำความร่วมมือ “คณะกรรมการลุ่มน้ำ” โดยมีตัวแทนจาก 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศไทย ทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคพาณิชยกรรม เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้ดียิ่งขึ้น ความคิดริเริ่มที่สําคัญนี้สนับสนุนให้ภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมมือกัน แก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เช่น น้ำท่วมและภัยแล้ง

ตัวแทนของไทยเบฟได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนภาคอุตสาหกรรมของลุ่มน้ำท่าจีนและลุ่มน้ำปิง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำ ฟื้นฟูระบบนิเวศในลุ่มน้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน ใกล้แหล่งน้ำ รวมถึงมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยบรรเทาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม ภัยแล้ง และคุณภาพน้ำ ไทยเบฟหวังว่าการเข้าไปมี ส่วนร่วมในนโยบายน้ำแห่งชาติจะช่วยปลูกฝังแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยั่งยืน
โครงการน้ำดื่มสะอาดเพื่อน้องและชุมชน
ไทยเบฟยังคงสานต่อความคิดริเริ่มเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นโดยเฉพาะเยาวชนได้รับน้ำดื่มสะอาด โดยได้ดำเนินการขยายโครงการ “น้ำดื่มสะอาด” ไปยังโรงเรียนและชุมชนรอบโรงงาน โดยมีตัวแทนไทยเบฟให้การอบรมเบื้องต้นเกี่ยวกับการบำรุงรักษาและการทำความสะอาดระบบกรองน้ำ เพื่อให้เยาวชนมีน้ำดื่มที่สะอาด ถูกสุขอนามัย ได้มาตรฐานคุณภาพ ไทยเบฟดำเนินโครงการส่งเสริมการจัดการน้ำสะอาด สุขาภิบาล และสุขอนามัย (WASH) จำนวน 33 โครงการในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี ชลบุรี บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี ราชบุรี อุตรดิตถ์ สุราษฎร์ธานี นครปฐม อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา และนครสวรรค์ โดยมีเยาวชนและคนในชุมชนกว่า 13,500 ราย ได้รับประโยชน์จากโครงการ และมีเป้าหมายในการขยายโครงการ WASH เพิ่มเติมปีละ 5 โครงการ
โครงการแจกจ่ายสารปรับปรุงดินเพื่อเกษตรกร
ไทยเบฟแจกจ่ายน้ำกากส่าซึ่งเป็นน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดจากกระบวนการผลิตก๊าซชีวภาพในโรงงานสุราให้เกษตรกรนำไปใช้ เป็นสารปรับปรุงดิน เนื่องจากน้ำกากส่ามีสารอาหารที่จำเป็นต่อ การเจริญเติบโตของพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปลูกอ้อย จากการวิจัยพบว่าน้ำกากส่าช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกร ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 10,000-15,000 บาทต่อไร่

ในปี 2566 ไทยเบฟได้เพิ่มการแจกจ่ายน้ำกากส่าให้กับเกษตรกร ในจังหวัดขอนแก่นและอุบลราชธานีกว่า 280,000 ลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ไร่อ้อย นาข้าว และไร่ข้าวโพดกว่า 4,000 ไร่ (640 เฮกตาร์)

ระบบชลประทานพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเกษตรกร
บริษัท แกรนด์ รอยัล กรุ๊ป จำกัด (GRG) บริษัทในเครือจากประเทศเมียนมา สนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่นในการปลูกข้าวในฤดูใบไม้ผลิ และการผลิตข้าวในหมู่บ้าน San Phel ซึ่งเป็นหมู่บ้านต้นแบบ ทางตะวันออกของเมืองพะโค (Bago) ที่เป็นแหล่งวัตถุดิบหลัก สำหรับผลิตภัณฑ์ของ GRG ซึ่งเกษตรกรในภูมิภาคนี้เผชิญกับ การขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อน และต้องดิ้นรนหาเงินเพื่อใช้จ่ายในการเข้าถึงระบบชลประทาน

โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายในการจัดหาน้ำให้ได้มากถึง 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน บนพื้นที่มากกว่า 111 ไร่ (18 เฮกตาร์) สามารถผลิตข้าวได้ 4,110 ตะกร้า หรือเทียบเท่า 85,734 กิโลกรัม ส่งผลให้เจ้าของที่ดิน 10 ราย มีรายได้รวมคิดเป็น 25,430 ดอลล่าร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังช่วยให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้ถึงสามครั้งต่อปีทั้งในช่วงฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว โดยลดต้นทุนลงได้ถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับการใช้พลังงานจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล

นอกจากนั้น GRG ได้ขยายการสนับสนุนด้วยการติดตั้งระบบบำบัดน้ำด้วยระบบรีเวิร์สออสโมซิส (RO) ที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานในช่วง ฤดูฝนเมื่อไม่จำเป็นต้องใช้น้ำในการเกษตร
ความมุ่งมั่นและความสำเร็จ


โรงงานทุกแห่ง
ในประเทศไทยดำเนินการประเมินความยั่งยืนของน้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน (WSA) แล้วเสร็จ

เหตุการณ์วิกฤตที่เกี่ยวข้องกับน้ำเป็นศูนย์
ตั้งแต่ปี 2555 เนื่องจากไทยเบฟให้ความสำคัญ ในการควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและ การสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชนโดยรอบ
วอเตอร์ฟุตพรินต์
ไทยเบฟได้รับการรับรองการประเมินวอเตอร์ฟุตพรินต์ (Water Footprint) จากสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำหรับผลิตภัณฑ์น้ำดื่มคริสตัล โดยดำเนินการประเมินหน่วยของการใช้น้ำในกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่า และผ่านการประเมินและรับรองค่าวอเตอร์ฟุตพรินต์การขาดแคลนน้ำ (Water Scarcity Footprint) ได้สำเร็จ ในปี 2566 ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มไทยเบฟ 23 รายการ จาก 7 บริษัท ได้รับการรับรองการประเมินวอเตอร์ฟุตพรินต์