หน้าแรก / การพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยเบฟ
การบริหารความเสี่ยง
ธุรกิจในปัจจุบันต้องเผชิญกับความท้าทายและความไม่แน่นอนมากมายหลังจากฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้กลายเป็นความท้าทายที่สำคัญ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลกเผชิญกับภาวะชะงักงันครั้งใหญ่ในระบบห่วงโซ่อุปทาน ควบคู่ไปกับการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และ กระแสการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค การก้าวสู่ระบบดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ นโยบายการเงินที่เข้มงวด และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการความเสี่ยงเมื่อต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนเหล่านี้จำเป็นต้องมีมาตรการครอบคลุมทั้งในเชิงรับและเชิงรุกเพื่อให้มั่นใจถึงความต่อเนื่องและความยืดหยุ่นทางธุรกิจ

ไทยเบฟมุ่งมั่นบริหารความเสี่ยงผ่านกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนและหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อแสวงหาโอกาสและบรรเทาผลกระทบจากความผันผวน ทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เป้าหมายสูงสุดในการบริหารความเสี่ยงของไทยเบฟคือการตอบสนอง ต่อความท้าทายอย่างมีประสิทธิภาพบนเส้นทางสู่การเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารในภูมิภาคอาเซียนอย่างมั่นคงและยั่งยืน
แนวทางการบริหารจัดการ
กรอบการบริหารความเสี่ยงของกลุ่มไทยเบฟกำหนดให้ต้องมีการระบุ ประเมิน บรรเทาผลกระทบ และรายงานความเสี่ยงที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจและองค์กร ต่อคณะกรรมการบริษัทผ่านคณะกรรมการ บริหารความยั่งยืนและความเสี่ยง โดยทันที ด้วยกรอบนโยบาย ดังกล่าวจึงมั่นใจได้ว่าความเสี่ยงที่สำคัญทั้งหมดในแต่ละกลุ่มธุรกิจ/หน่วยธุรกิจทั่วทั้งกลุ่มไทยเบฟจะได้รับการติดตามและจัดการ อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่สอดคล้องกัน โดยมีการมอบหมาย ความรับผิดชอบที่ชัดเจนให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการ ความเสี่ยงภายใต้การควบคุม และสร้างระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการบริหารจัดการตามปกติของ กลุ่มไทยเบฟ

เพื่อให้เป็นไปตามหลักบรรษัทภิบาล ไทยเบฟดำเนินธุรกิจในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และสนองตอบความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เราได้กำหนดให้การบริหารความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนธุรกิจประจำปี การตัดสินใจ การจัดการโครงการ และการดำเนินการอันเป็นกิจวัตรประจำวัน
  • ผู้บริหารและพนักงานทุกคนเป็นเจ้าของความเสี่ยง ซึ่งมีหน้าที่ รับผิดชอบในการระบุและประเมินความเสี่ยงในส่วนการดำเนินธุรกิจของตน และกำหนดมาตรการบรรเทาความเสี่ยงที่เหมาะสม
  • ความเสี่ยงทั้งหมดที่กระทบต่อวัตถุประสงค์ของบริษัท จะต้อง
    • ระบุได้อย่างทันท่วงที
    • ประเมินโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
    • บริหารจัดการให้สอดคล้องกับเกณฑ์ความเสี่ยงของบริษัททั้งเรื่องต้นทุนและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
    • ติดตามผลเพื่อให้มั่นใจว่าจัดการกับความเสี่ยงนั้นอย่าง เหมาะสม
  • ความเสี่ยงทั้งหมดต่อแผนธุรกิจและกลยุทธ์ของบริษัท ที่มีระดับความเสี่ยง “สูง” หรือ “สูงมาก” ต้องรายงานต่อคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยง คณะกรรมการ ตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัท เพื่อกำกับดูแลความเสี่ยงอย่างเหมาะสมตามโครงสร้างการกำกับดูแลของไทยเบฟ
ไทยเบฟทบทวนความเสี่ยงที่ส่งผลต่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยทั้งภายในและภายนอก แนวโน้มที่สำคัญ และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนส่วนเสียทุกฝ่าย จากผลการประเมินความเสี่ยงสามารถแบ่งความเสี่ยงหลักออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ ความเสี่ยงด้านความยั่งยืน (ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล) และความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ โดยระบุผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น การบรรเทาผลกระทบที่สำคัญ และความเชื่อมโยงกับสาระสำคัญ ด้านความยั่งยืนที่สำคัญด้วยระบบการบริหารจัดการทั่วทั้งบริษัท นอกจากนี้ ไทยเบฟยังให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นใหม่จากปัจจัยภายนอกที่คาดว่าอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ต่อธุรกิจในระยะยาว ทำให้บริษัทต้องปรับกลยุทธ์และ/หรือรูปแบบธุรกิจเพื่อรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าว

ไทยเบฟพัฒนาและดำเนินการตามกรอบการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยงที่สอดคล้องกับกรอบการบริหารความเสี่ยงองค์กรของ COSO ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 3 ประการ
กรอบการบริหารความยั่งยืน และความเสี่ยงของไทยเบฟ
โครงสร้างการกำกับดูแล
โครงสร้างการกำกับดูแลเป็นรากฐานของการพัฒนาความยั่งยืน และบริหารความเสี่ยงของไทยเบฟ คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ รับผิดชอบการกำกับดูแลความเสี่ยงเพื่อให้การดำเนินธุรกิจของ กลุ่มไทยเบฟประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน คณะกรรมการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยง ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับคณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยกรรมการอิสระ ผู้บริหารระดับสูง และที่ปรึกษา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญภายนอกที่ได้รับการยอมรับ ทำหน้าที่รับผิดชอบการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญขององค์กรและโอกาส ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน รวมถึงการทบทวนระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และการยอมรับความเสี่ยงก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยคณะกรรมการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการประเมินและการจัดการ ความเสี่ยงในสายงานหลัก กลุ่มธุรกิจ หน่วยธุรกิจ และบริษัทในเครือ เพื่อให้มั่นใจว่าครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนและ ความเสี่ยงขององค์กรทั้งหมด นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหาร ความยั่งยืนและความเสี่ยงยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบและติดตามความถูกต้องของกระบวนการรายงาน กระบวนการตรวจสอบ และระบบการควบคุมภายใน ไปพร้อม ๆ กับการดูแลให้องค์กรมีการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ในระดับองค์กรยังมี คณะกรรมการอีกหลายชุดที่รับผิดชอบการกำกับดูแลความเสี่ยง ภายใต้ขอบเขตและความรับผิดชอบเฉพาะของคณะกรรมการนั้น ๆ

ผู้บริหารระดับสูงของแต่ละกลุ่มธุรกิจมีหน้าที่ในการนำแนวทาง การจัดการความยั่งยืนและความเสี่ยงของไทยเบฟไปปฏิบัติภายใต้ขอบเขตความรับผิดชอบของตน แต่ละกลุ่มธุรกิจมีหน้าที่กำหนดแนวคิดริเริ่ม นโยบาย และเป้าหมายให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนหลักของไทยเบฟ พร้อมทั้งบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และรายงานผลด้านความยั่งยืนและการบริหาร ความเสี่ยงต่อคณะกรรมการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยง แต่ละกลุ่มธุรกิจได้จัดตั้งทีมงานด้านความยั่งยืนและความเสี่ยงของตนเอง รวมถึงผู้ประสานงานความเสี่ยงที่ช่วยควบคุมและติดตามผลการดำเนินงาน และทำงานอย่างใกล้ชิดกับคณะทำงานพัฒนาความยั่งยืนทางธุรกิจและคณะทำงานบริหารความเสี่ยงองค์กรภายใต้กลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ ที่กำกับดูแลโดยผู้บริหารสูงสุดกลุ่มงาน ความยั่งยืนและกลยุทธ์ซึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยง โดยมีหน้าที่รับผิดชอบการจัดวางกลยุทธ์และการปรับกระบวนการดำเนินงานของกลุ่มไทยเบฟ ให้สอดคล้องกับแผนความยั่งยืน
กระบวนการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยงแบบบูรณาการ
ไทยเบฟบริหารจัดการการริเริ่มด้านความยั่งยืนและความเสี่ยงเชิงรุกทั้งในด้านกลยุทธ์และด้านการปฏิบัติการ ทั่วทั้งระดับองค์กร กลุ่มธุรกิจ และหน่วยงาน กระบวนการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยงของ ไทยเบฟมีการพิจารณาถึงแนวโน้มทั่วโลก ปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล และการดำเนินการของคู่แข่งทางธุรกิจ ในกระบวนการวางแผนธุรกิจและการลงทุน ผู้บริหารระดับสูงจะต้องกำหนดกลยุทธ์เพื่อตอบสนองต่อทั้ง ความเสี่ยงและโอกาส ระบุตัวบ่งชี้ความเสี่ยงที่สำคัญ และตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานหลักเพื่อประเมินการควบคุมและติดตามสถานการณ์

กระบวนการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยงของบริษัทประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้
  • การเข้าใจบริบททางธุรกิจและกำหนดวัตถุประสงค์ของ กลุ่มไทยเบฟ กลุ่มธุรกิจ และหน่วยงานที่สอดคล้องกัน
  • การระบุความเสี่ยงหลักและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นใหม่ โอกาสในการบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด การใช้เทคนิคในการระบุและประเมินความเสี่ยง อาทิ การใช้สถานการณ์จำลองและแบบทดสอบความตึงเครียดเพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับไทยเบฟ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  • การกำหนดและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านความยั่งยืนและบริหารความเสี่ยง ควบคู่กับการควบคุมตามมาตรการที่กำหนด ในขณะเดียวกัน มีการใช้ประโยชน์จากโอกาสต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์และวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนของไทยเบฟ
  • การติดตาม รายงาน และประเมินผลการดำเนินการของการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยงอย่างน้อยทุกไตรมาส
เพื่อให้มั่นใจถึงความเพียงพอและความมีประสิทธิผลของกระบวนการบริหารความเสี่ยง สำนักตรวจสอบภายในซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่ตรวจสอบ การบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน และกระบวนการกำกับดูแล
วัฒนธรรมการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยง
วัฒนธรรมการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยงของไทยเบฟมุ่งหวังที่จะปลูกฝังให้พนักงานทุกคนมีทัศนคติ ความรู้ และพฤติกรรมที่ ถูกต้องเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยง เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและธุรกิจร่วมกัน วัฒนธรรม การบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยงที่แข็งแกร่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อประสิทธิผลของการพัฒนาความยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยงขององค์กร โดยช่วยให้สามารถตอบสนองและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็รักษาผลการดำเนินธุรกิจและสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไทยเบฟปลูกฝังการพัฒนาที่ยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยงทั้งแบบทั่วไปและแบบเฉพาะด้านให้กับพนักงานใหม่ทุกคนในการปฐมนิเทศ การฝึกอบรมประจำปี และกิจกรรมของพนักงาน นอกจากนี้ ไทยเบฟยังใช้ความยั่งยืน และการบริหารความเสี่ยงเป็นเกณฑ์ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน และจัดงาน WOW (Way of Work) Awards ประจำปีเพื่อให้พนักงานสร้างสรรค์วิธีแก้ปัญหาและแนวทางปฏิบัติใหม่ ๆ ที่ช่วยปรับปรุงการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือลดความเสี่ยงให้กับไทยเบฟ โดยผู้บริหารระดับสูงเป็นกรรมการตัดสินและคัดเลือกโครงการที่ดีที่สุดเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติในองค์กรต่อไป

สำหรับการรายงานความเสี่ยง พนักงานสามารถรายงานความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหรือข้อกังวลใด ๆ ต่อหัวหน้างานได้ในขั้นต้น หรือผ่าน ช่องทางที่แนะนำ เช่น whistleblowing@thaibev.com

นอกจากนี้ ไทยเบฟยังบูรณาการตัวชี้วัดความยั่งยืนและ/หรือการบริหารความเสี่ยงที่สอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มในการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีของผู้บริหารทุกคนในด้านต่าง ๆ เช่น
  • ด้านสิ่งแวดล้อม
    การจัดการด้านพลังงาน การลดการปล่อย
  • ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
    การพิทักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ
  • ด้านสังคม
    ความปลอดภัย สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ของพนักงาน การพัฒนาบุคลากร
ตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยงคิดเป็นร้อยละ 10-15 ของการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีของทั้งผู้บริหารและพนักงาน

เพื่อขยายขอบเขตวัฒนธรรมการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยง ให้แก่คณะกรรมการของบริษัท ระหว่างปี 2566 ไทยเบฟจัดการอบรมด้านความยั่งยืนโดยวิทยากรจากสถาบันผู้นำด้านความยั่งยืนแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และ Earth on Board การฝึกอบรมดังกล่าวเป็นการอบรมให้แก่กรรมการและผู้บริหารระดับสูงโดยเฉพาะ ซึ่งครอบคลุมหัวข้อสำคัญเกี่ยวกับความเข้าใจในบริบทความยั่งยืนระดับโลกเพื่อธุรกิจ หน้าที่ของคณะกรรมการ ความยั่งยืนที่เป็นศูนย์กลางของกลยุทธ์ การรายงานความยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อน ความก้าวหน้า ตลอดจนความเป็นผู้นำและการดำเนินการของ คณะกรรมการบริษัท
การระบุและประเมินความเสี่ยงสู่กลยุทธ์การบริหารความเสี่ยง
ไทยเบฟผนวกสาระสำคัญด้านความยั่งยืนเข้ากับกระบวนการบริหารความเสี่ยงแบบบูรณาการ โดยแบ่งความเสี่ยงเป็น 3 ประเภท คือ ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ ความเสี่ยงด้านความยั่งยืน (สิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแล) และความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ มีการระบุและจัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยงจากความเสียหายที่อาจ เกิดขึ้นและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ของบริษัท นอกจากนี้ ไทยเบฟยังให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นใหม่ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัททั้งในระยะกลางหรือระยะยาว ความเสี่ยงทั้งหมดจะได้รับการจัดการโดยเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารความเสี่ยง องค์กร โดยผลลัพธ์ของกระบวนการนี้ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่สำคัญและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งบริษัทต้องให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด และนำมาตรการบรรเทาผลกระทบที่มีประสิทธิภาพมาใช้ รวมถึง การปรับกลยุทธ์และ/หรือรูปแบบทางธุรกิจ สำหรับความเสี่ยงที่มีระดับความเสี่ยงไม่เปลี่ยนแปลงหรือมีระดับความเสี่ยงลดลง ไทยเบฟจะยังคงติดตามและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของระดับ ความเสี่ยงเป็นระยะ
เป้าหมาย
ในบริบทของแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสังคม และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงและเกิดบ่อยขึ้น ไทยเบฟตระหนักดีว่าการบริหารความเสี่ยงแบบดั้งเดิม ซึ่งเน้นการวางแผน การลดจุดอ่อนต่าง ๆ และจัดการกับความเสี่ยงที่ถูกกำหนดล่วงหน้าไว้เป็นอย่างดีแล้วนั้น ต้องมีการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมถึงการจัดการความยืดหยุ่น ด้วยการวางแผนรับมือสิ่งที่ไม่คาดคิด รวมถึงสร้างศักยภาพในการตอบสนองล่วงหน้า การเอื้อให้เกิดความสะดวกในการปรับตัว และการฟื้นตัวจากเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาหรือการหยุดชะงักที่ไม่ทันตั้งตัวได้อย่างรวดเร็ว ไทยเบฟมุ่งเน้น การเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านความยืดหยุ่นหลักต่อไปนี้ เพื่อ ขับเคลื่อนผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศของธุรกิจในช่วงการข้ามผ่านวิกฤตและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ความยืดหยุ่นด้านการเงิน
    สร้างสมดุลของการใช้จ่ายทั้งระยะสั้นและระยะยาว และจัดการแหล่งเงินทุนให้เหมาะสมกับกิจกรรมการลงทุนและกิจกรรมเชิงพาณิชย์ การมีฐานเงินทุนที่มั่นคงและมีสภาพคล่องที่เพียงพอจะช่วยให้ ไทยเบฟสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากรายได้ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และความผันผวนของตลาดการเงิน
  • ความยืดหยุ่นด้านการปฏิบัติงาน
    กำลังการผลิตที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นช่วยให้ไทยเบฟสามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่ยังคงรักษาเสถียรภาพเมื่อต้องเผชิญกับการหยุดชะงักในการดำเนินงานโดยไม่กระทบต่อคุณภาพ นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญกับห่วงโซ่อุปทานและกลไกการจัดส่ง ผ่านการมีส่วนร่วมและความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อรักษาความสามารถในการปฏิบัติงานและการกระจายผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าและผู้บริโภค แม้ในสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น การหยุดดำเนินการของคู่ค้า/ผู้จัดจำหน่ายแต่ละรายไปจนถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเหตุการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ต่าง ๆ
  • ความยืดหยุ่นด้านเทคโนโลยี
    การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง ปลอดภัย และยืดหยุ่น ช่วยให้ไทยเบฟสามารถจัดการภัยคุกคามทางไซเบอร์และหลีกเลี่ยงการหยุดชะงักของระบบเทคโนโลยีได้ มีการดำเนินการในโครงการด้านไอทีหลากหลายขนาดอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถแข่งขันในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที รวมถึงเป็นไปตามข้อกำหนดด้านกฎระเบียบ ขณะเดียวกัน ไทยเบฟได้ยกระดับทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของพนักงาน รักษาความต่อเนื่องทางธุรกิจและความสามารถในการกู้คืนระบบจากภัยพิบัติ เพื่อ หลีกเลี่ยงการหยุดชะงักในการให้บริการแก่ลูกค้าและการดำเนินงานภายในองค์กร
  • ความยืดหยุ่นด้านจัดการและชื่อเสียงขององค์กร
    ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทำให้องค์กรต้องรับผิดชอบต่อการทำตามคำมั่นสัญญาและจุดยืนขององค์กรในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแล ไทยเบฟกำหนดพันธกิจ ค่านิยม และกลยุทธ์ที่แน่วแน่มั่นคง เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจและแนวปฏิบัติด้าน สิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแล ไทยเบฟยังเปิดกว้างในการ รับฟังและสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อการคาดการณ์และบริหารจัดการความคาดหวังของสังคม
  • ความยืดหยุ่นด้านรูปแบบธุรกิจ
    ไทยเบฟพัฒนารูปแบบธุรกิจที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่ไม่หยุดนิ่งและไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญด้านความต้องการของผู้บริโภค ด้านการแข่งขันทางเทคโนโลยี รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้สอดคล้องกับโครงการ Transformation และวิสัยทัศน์ 2025 ที่ช่วยให้รูปแบบธุรกิจในอนาคตมีความยืดหยุ่น ด้วยการ
    • สร้างความสามารถใหม่ ๆ ผ่านการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อยกระดับรูปแบบธุรกิจและบริการ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ และช่องทาง การขาย ตลอดจนการร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการริเริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืน
    • สร้างความแข็งแกร่งในตำแหน่งผู้นำและความสามารถในการแข่งขันในตลาดหลัก (เช่น ประเทศไทย เวียดนาม เมียนมา สิงคโปร์ และมาเลเซีย) โดยการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน กระบวนการทางดิจิทัล และมุ่งเน้นจัดการพอร์ตโฟลิโอของตราสินค้า
    • ปลดล็อกศักยภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าของผู้ถือหุ้นด้วยการสร้างพันธมิตร สร้างมูลค่าสินทรัพย์และพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะและความสามารถสูงขึ้น
  • ความยืดหยุ่นด้านสภาพภูมิอากาศ
    ไทยเบฟได้ปรับปรุงการระบุ การประเมิน และการบริหารความเสี่ยงและโอกาสด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับองค์กรทั้งในระยะสั้น กลาง และระยะยาว อย่างต่อเนื่อง ความพยายามนี้ส่งผลให้เกิดการวิเคราะห์สถานการณ์ที่กว้างขึ้นและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ด้วยการบูรณาการประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเข้ากับการกำกับดูแลด้านสภาพภูมิอากาศและกลยุทธ์ทางธุรกิจของไทยเบฟ นอกจากนี้ ไทยเบฟยังได้จัดการประชุมเสริมสร้างขีดความสามารถเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มั่นใจว่ามีความรับผิดชอบต่อความยั่งยืนและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ

    หลังจากประเมินความเสี่ยงและโอกาสทางกายภาพและการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศแล้ว ไทยเบฟเริ่มดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศด้วยมาตรการบรรเทาผลกระทบและมาตรการปรับตัวเพื่อรับมือ ซึ่งรวมถึงการลงทุนด้านการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การหมุนเวียนวัสดุ การพัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ การมีส่วนร่วมของคู่ค้า และการปลูกป่า โดยมีเป้าหมายคือการลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการดำเนินงานและห่วงโซ่คุณค่าของเรา ขณะเดียวกันก็คว้าโอกาสที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

    ในปี 2566 เพื่อการบูรณาการประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเข้ากับการตัดสินใจในการจัดการธุรกิจ ไทยเบฟดำเนินการคำนวณมูลค่าสินทรัพย์ของทุกกลุ่มธุรกิจ เพื่อวัดผลกระทบทางการเงินโดยใช้เป็นปัจจัยขับเคลื่อนในการจัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ เราเริ่มใช้ Internal Carbon Pricing (ICP) เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระหว่างกระบวนการตัดสินใจลงทุนในเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ คณะกรรมการลงทุนใช้ ICP กำหนดราคาเงาเพื่อช่วยในการตัดสินใจลงทุนในโครงการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม และป้องกันการตัดสินใจลงทุนในโครงการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง

    ไทยเบฟตระหนักดีว่าความสามารถในการคาดการณ์เหตุการณ์ ล่วงหน้าเป็นรากฐานสำคัญ ซึ่งจะทำให้ประสบความสำเร็จในการสร้างความยืดหยุ่นที่กล่าวมา ดังนั้นจึงร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้วยการรับฟังข้อเสนอแนะ ข้อมูล และความรู้ความชำนาญ เพื่อมาใช้ ส่งเสริมความสามารถในการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลง โดยการรวบรวมและศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาสถานการณ์จำลองและดำเนินการทดสอบความสามารถรับ แรงกดดันในภาวะวิกฤต รวมถึงค้นหาช่องว่างในการสร้าง ความยืดหยุ่น โดยใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการคาดการณ์และเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดในอนาคต ไทยเบฟได้พัฒนาและฝึกฝนความสามารถในการตอบสนองต่อภาวะวิกฤตเพื่อให้แน่ใจว่าจะมี การดำเนินการอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพในกรณีที่เกิดการหยุดชะงักทางธุรกิจ