หน้าแรก / การพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยเบฟ
ศิลปวัฒนธรรม
ไทยเบฟให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามของไทย โดยมีภารกิจสำคัญในการสืบสาน รักษา เผยแพร่ เชิดชู และต่อยอดองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติอันเป็นอัตลักษณ์ของประเทศให้ดำรงอยู่คู่สังคม ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานหรือโครงการศิลปวัฒนธรรม ภายใต้แนวทาง “ศิลปะสร้างสุข วัฒนธรรมสร้างสรรค์”
แนวทางการบริหารจัดการ
ไทยเบฟดําเนินงานเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยใช้กลยุทธ์ 4 ประการ คือ สืบสาน รักษา ต่อยอด และความร่วมมือ เข้ามาผสมผสานในกลุ่มงานต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มงานทัศนศิลป์ กลุ่มงานดนตรีและวรรณศิลป์ กลุ่มงานวัฒนธรรมประเพณี และกลุ่มงานวัดและศาสนา ภายใต้การพิจารณากลั่นกรอง แนวนโยบายและขับเคลื่อนการบริหารจัดการโดยคณะกรรมการ ศิลปวัฒนธรรม เพื่อไปสู่การเข้าร่วม เข้าถึง เข้าใจร่วมกัน
โครงการเด่น
เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 (Bangkok Art Biennale 2022: BAB 2022)
ไทยเบฟเล็งเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของงานศิลปะร่วมสมัยโดยมีความมุ่งมั่นในการยกระดับวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้คุณค่า 3 ประการ คือ คุณค่าทางมรดกวัฒนธรรม คุณค่าทางศิลปะ สู่คุณค่าทางเศรษฐกิจ

เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยนำผลงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินชั้นนำ 73 ท่าน จาก 35 ประเทศ จำนวน 200 ผลงาน ภายใต้แนวคิด “CHAOS : CALM” หรือ “โกลาหล : สงบสุข” ซึ่งสื่อถึงการค้นพบ ความสงบสุขท่ามกลางความวุ่นวายที่สามารถนำไปสู่ความรู้ และโอกาสต่าง ๆ โดยถ่ายทอดผ่านการจัดแสดงผลงานศิลปะ ร่วมสมัยตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร รวม 12 แห่ง ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สามย่านมิตรทาวน์ เดอะ ปาร์ค เดอะ พรีลูด วัน แบงค็อก JWD Art Space และในพื้นที่เสมือนจริง BAB Virtual Venue ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2565 ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2566 รวมไปถึงการจัดกิจกรรมสำหรับผู้ที่สนใจ ในศิลปะอย่าง “DEK BAB” ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนอาสาตั้งแต่ ระดับนิสิต นักศึกษา ไปจนถึงบุคคลทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วม กับการจัดงาน เพื่อเชื่อมโยงระหว่างศิลปินกับผู้ชมทั้งคนไทย
ความสำเร็จของ BAB 2022
992,321
ผู้เข้าร่วมงาน BAB 2022
16.6 ล้านคน
เข้าร่วมชมออนไลน์


มูลค่าทางเศรษฐกิจ จากการจัดงาน
(ข้อมูลรายงานจาก TCEB)
6,298.5 ล้านบาท

200 ชิ้นงาน
มูลค่ารวมกว่า
350 ล้านบาท
มูลค่าสื่อทั้งหมด
121.3 ล้านบาท

มากกว่า 75 บทความ ที่ลงในสื่อต่างประเทศ มูลค่ารวม
29.2 ล้านบาท
มากกว่า 200 บทความ ที่ลงในสื่อในประเทศ มูลค่ารวม
92.1 ล้านบาท
กลุ่มงานทัศนศิลป์
นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2565 “สืบมรรคาทัศนาทั่วไทย”
จัดโดยสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และมูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ โดยได้รับการสนับสนุนจากไทยเบฟอย่างต่อเนื่องตลอด 16 ปี ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2565
โครงการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 12 “รักโลก”
จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมแนวทางศิลปะในเชิงเสมือนจริงและศิลปะรูปลักษณ์ที่เน้นการสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ได้แสดงออกถึงเอกลักษณ์ ฝีมือ และทักษะ ได้มีเวทีเฉพาะสำหรับแสดงความสามารถ ซึ่งจัดอย่างต่อเนื่องมาถึง 12 ครั้ง โดยผู้ชนะเลิศรางวัลช้างเผือกจะได้รับเงินรางวัลสูงถึง 1 ล้านบาท
โครงการประกวดภาพถ่าย “ห้วงเวลาในธรรมชาติ (A Moment in Nature)”
ไทยเบฟสนับสนุนมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในโครงการประกวดภาพถ่าย “ห้วงเวลาในธรรมชาติ” (A Moment in Nature) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยจัดประกวดภาพถ่าย 2 หัวข้อ คือ “สภาพแวดล้อมธรรมชาติและพันธุ์พืช” และ “ห้วงเวลาแห่งชีวิต” เพื่อสร้างจิตสำนึก ในความรักและหวงแหนทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้ความงดงามทางธรรมชาติของวนอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ เป็นแรงบันดาลใจให้ประชาชนทั่วไป ได้ทราบถึงความสำคัญของบุคลากรเบื้องหลังที่ปกป้องรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติของไทย
กลุ่มงานดนตรีและวรรณศิลป์
ทุนการศึกษาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ไทยเบฟสนับสนุนการให้ทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2551 ซึ่งใน ปี 2566 ได้สนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักศึกษา จำนวน 25 ทุน ประกอบไปด้วยทุนการศึกษาประเภทเรียนดี (Merit Scholarship) จำนวน 23 ทุน และทุนประเภทพรสวรรค์ มีความโดดเด่น สายอาชีพดนตรี (Talent Scholarship) จำนวน 2 ทุน
มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
ไทยเบฟให้การสนับสนุนมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2557 โดยมี 3 โครงการ ได้แก่ “โครงการประกวดบรรเลงดนตรีไทยศรทอง” ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2565 ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ในปีนี้ มีผู้ร่วมประกวด 1,383 คน ทั้งนี้ เยาวชนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาได้รับรางวัลทั้งสิ้น 139 คน จากเครื่องดนตรีซอด้วง ซออู้ จะเข้ ขลุ่ยเพียงออ ขิมสาย และระนาดเอก “โครงการค่ายเยาวชนดนตรี ไทยศรทองสัญจร” ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี ปี 2558 ส่งเสริมให้เยาวชนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจากทั่วประเทศมีโอกาส

เรียนรู้และฝึกฝนทักษะทางดนตรี และต่อยอดไปสู่ความเข้าใจในบริบทด้านต่าง ๆ ทางวัฒนธรรม อีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายนักดนตรีไทยรุ่นใหม่ เปิดพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปลูกฝังให้เยาวชนดนตรีไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ในอดีต ปัจจุบัน และสืบสานพัฒนาต่อไปในอนาคต และ “โครงการเพื่อนดนตรี” จัดกิจกรรมเผยแพร่ อนุรักษ์ ต่อยอด และแบ่งปันเครื่องดนตรีไทย ให้แก่เครือข่ายบุคลากร เยาวชน และสถาบันการศึกษาด้านดนตรีไทย เพื่อให้มีการสืบสาน รักษา และต่อยอดดนตรีไทยจากรุ่นสู่รุ่น
กลุ่มงานวัฒนธรรมประเพณี
เทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย ๒๕๖๖ ชื่นอุรา น่าสบาย (Water Festival 2023)
ไทยเบฟผสานความร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย และเครือข่ายพันธมิตรอีกหลายภาคส่วน จัดงาน “เทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย ๒๕๖๖” ครั้งที่ 8 ภายใต้แนวคิด “ชื่นอุรา น่าสบาย” ระหว่างวันที่ 13–16 เมษายน 2566 ใน 4 ภาค 6 จังหวัดทั่วประเทศไทย นำโดยกรุงเทพมหานคร เนรมิต 11 ท่าน้ำริมเจ้าพระยาเป็นจุดท่องเที่ยวแนวศิลปวัฒนธรรม ผสานความร่วมสมัยในแบบ New Normal และในส่วนภูมิภาค จัดที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน อุดรธานี ขอนแก่น และภูเก็ต

นอกจากนี้ยังมีการผสานความร่วมมือจากบ้าน วัด โรงเรียน และหน่วยงานภายนอก คือ บริษัท วิสาหกิจชุมชน และราชการ รวมเป็น “บวร ยกกำลังสอง” เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด ศิลปวัฒนธรรมไทย ผลักดันให้เทศกาลสงกรานต์ได้รับคัดเลือกเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมขององค์กร UNESCO พร้อมพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยขับเคลื่อนผ่านการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เช่น กิจกรรมเก็บกลับ-รีไซเคิล และกิจกรรมเยาวชนเจ้าบ้าน สืบสานวัฒนธรรม โดยสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนด้วยรายได้กว่า 3 ล้านบาท
เทศกาลสายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย “รักษ์ ณ สายน้ำ” ๒๕๖๕ (Bangkok River Festival 2022)
ไทยเบฟจัดงานเทศกาลสายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย “รักษ์ ณ สายน้ำ” ๒๕๖๕ ครั้งที่ 8 ภายใต้แนวคิด “รักษ์ ณ สายน้ำ” สืบสานประเพณี อันดีงามของเทศกาลลอยกระทงและรักษาสภาพแวดล้อม บนพื้นที่จัดงาน 10 ท่าน้ำสำคัญทางประวัติศาสตร์ในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ท่ามหาราช สุขสยาม ณ ไอคอนสยาม ศาลเจ้ากวนอู ล้ง 1919 และเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์

อีกทั้งยังได้จัดงานเทศกาล “สายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย จังหวัดลำพูน” ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด “ร้อยสายบุญ ตามประทีป พระธาตุ-เชื่อม-พระรอด” เพื่อต้อนรับการเปิดประเทศ กระตุ้น การท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย มีการเปิดตลาดชุมชนนำเสนอเรื่องราวเมืองเก่าผ่านความงาม คูเมือง กำแพงเมือง และสถาปัตยกรรม ที่เป็นหลักชัยของเมือง รวมถึงยังมีกิจกรรมตกแต่งโคมและประทีป โดยใช้ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของชุมชน และการแสดงพื้นบ้านดนตรี กิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย
Common Cultural Heritage
ไทยเบฟสนับสนุนศูนย์ C asean ร่วมกับ New Zealand Business Alliance, SEACAPE (Southeast Asia Center of Asia-Pacific Excellence) และรัฐบาลนิวซีแลนด์ ในการรวบรวม อัตลักษณ์ของวัฒนธรรมชาติพันธุ์ โดยเชื่อมโยงและทำหน้าที่เป็น สื่อกลางสร้างความสัมพันธ์ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ผ่านชนเผ่า “เมารีและไทยทรงดำ”
กลุ่มงานวัดและศาสนา
โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
มูลนิธิสิริวัฒนภักดี และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมสมทบทุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน
งานสมโภชพระอาราม 195 ปี วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
มูลนิธิสิริวัฒนภักดี และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมจัดงานสมโภชพระอาราม 195 ปี วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ระหว่างวันที่ 13-15 มกราคม 2566 ภายใต้แนวคิด “เสน่ห์วันวาน เทศกาลงานวัด เสน่ห์กะดีจีน-คลองสาน ชิมอาหารท้องถิ่น ชมศิลปินร่วมสมัย เที่ยวงานปลอดภัย ใส่ใจรักษ์โลก” โดยสนับสนุนการจัดงานสมโภชพระอาราม วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 9
โครงการบูรณปฏิสังขรณ์ วัด ศาสนสถาน และถาวรวัตถุ ในพระพุทธศาสนา
วัดธรรมิกราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
มูลนิธิสิริวัฒนภักดี และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้เป็นเจ้าภาพบูรณะ ซ่อมแซมองค์พระพุทธไสยาสน์ และฐานชุกชีภายในวิหารวัดธรรมิกราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่ออนุรักษ์โบราณวัตถุที่มีความสำคัญด้านโบราณคดีและสถาปัตยกรรม ให้มั่นคงถาวรสืบไป
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร
มูลนิธิสิริวัฒนภักดีและไทยเบฟได้ร่วมบูรณปฏิสังขรณ์ พระวิหารหลวง วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 และเพื่อ อนุรักษ์โบราณสถานที่มีคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรม ให้มีความมั่นคง สวยงาม รวมทั้งเป็นการทำนุบำรุงอุปถัมภ์ พระพุทธศาสนา โดยวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ได้ทำพิธีบวงสรวงการบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 และมีที่ปรึกษา ผู้บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมในพิธี
วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
มูลนิธิสิริวัฒนภักดีและไทยเบฟ ร่วมกับกรมศิลปากรเป็นเจ้าภาพ ในการบูรณปฏิสังขรณ์ พระอุโบสถ เจดีย์ และเขตพุทธาวาส วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร เพื่ออนุรักษ์รักษาโบราณสถานรูปแบบดั้งเดิมของสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมให้ดำรงไว้เป็นหลักฐาน ด้านการศึกษาแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป
วัดธรรมาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
มูลนิธิสิริวัฒนภักดีและไทยเบฟเป็นเจ้าภาพบูรณปฏิสังขรณ์ อุโบสถ วัดธรรมาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่ออนุรักษ์รักษาโบราณสถานรูปแบบดั้งเดิมของสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม ให้ดำรงไว้เป็นหลักฐานด้านการศึกษาแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารพระพุทธนาค เนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจะจารึกภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชกรณียกิจทางด้านศาสนาของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ รวมถึงประวัติความเป็นมาของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการนี้มูลนิธิสิริวัฒนภักดีและไทยเบฟได้ให้การสนับสนุน โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567