รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2561
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2561 / ดูแลใส่ใจสิ่งแวดล้อม การพัฒนาชุมชนและสังคม
  • ชุมชนคือหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญต่อ ไทยเบฟ เรามุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นคงและยั่งยืน ให้ชุมชนและสังคมเติบโตควบคู่กับธุรกิจของเรา โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาชุมชนและสังคม อย่างต่อเนื่องมากว่า 15 ปี
  • ดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนในหลากหลายด้าน มีเป้าหมายสำคัญคือ ชุมชนต้องพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาให้พื้นที่อื่นต่อไป
  • สร้างกลุ่มผู้นำเยาวชนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ และยังเชื่อมโยงขยายผลจากเยาวชนไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ทั้งหมดของชุมชน
  • พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน โดยผ่านการดำเนินโครงการไทยเบฟ ร่วมสร้างต้นแบบตำบลสัมมาชีพให้กับชุมชนเพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ โดยไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม
  • บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟู เพิ่มพื้นที่ป่าและแหล่งน้ำ โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ตั้งแต่ลงพื้นที่ชวนชุมชนร่วมคิดหาแนวทาง ร่วมกันลงมือทำ พร้อมทั้งร่วมกันพัฒนาบริหารจัดการ

แบ่งปันคุณค่า

คุณธารทิพย์ ศิรินุพงศ์
ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาชุมชน

จุดเริ่มต้นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมเพื่อสังคมสู่การสร้างความยั่งยืนของชุมชน
ไทยเบฟมีแนวคิดว่า การที่เราเติบโตทางด้านธุรกิจตามลำดับขั้นนั้นยังไม่เพียงพอ แต่จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อองค์กรได้แบ่งปันคุณค่านั้นกลับคืนสู่สังคมด้วย ด้วยเหตุนี้ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ จึงดำริให้จัดตั้งหน่วยงาน โครงการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของแนวคิดการพัฒนาแบบยั่งยืนโดยสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และสร้างพื้นที่ต้นแบบที่ให้การสนับสนุนระหว่างชุมชนที่เข้มแข็ง กับภาคธุรกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ โดยไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ ไทยเบฟร่วมสร้างชุมชนดีมีรอยยิ้ม

สร้างรูปแบบการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างองค์กรกับชุมชน
ไทยเบฟมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายในชุมชนและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นในทุกด้าน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจชุมชน ควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์กรกับชุมชน โดยร่วมมือกับชุมชนในการคิดและพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ขณะเดียวกันส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการทำงานร่วมกันแบบยั่งยืน สร้างความผูกพันในพื้นที่ และสร้างความเข้าใจที่ดีต่อองค์กร ซึ่งนำไปสู่การลดหรือป้องกันความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับองค์กรได้อย่างยั่งยืน

ผลลัพธ์ที่คาดหวังจากโครงการพัฒนาชุมชน
เราเชื่อว่าการสร้างความเข้มแข็งในรูปแบบดังกล่าวจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของชุมชน ส่งผลให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดการ รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน มีระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ทำการเกษตรในชุมชน และเกิดพื้นที่สีเขียวผ่านการฟื้นฟูป่าไม้ และเมื่อเกิดความมั่นคงแล้ว ชุมชนเองก็สามารถแบ่งปันคุณค่าของการเติบโตโดยการขยายองค์ความรู้และแนวทางการทำงานของตนเองไปสู่ชุมชนใกล้เคียง ซึ่งจะสร้างความยั่งยืนให้กระจายไปในระดับท้องถิ่นและนำไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจในระดับประเทศได้อย่างแท้จริง

 
ภารกิจสำคัญ โครงการไทยเบฟ...รวมใจต้านภัยหนาว ปีที่ 19

เพื่อให้ความช่วยเหลือ แบ่งปัน และสนับสนุนการดำเนินงานด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวของรัฐบาล โครงการ ไทยเบฟ...รวมใจต้านภัยหนาว ปีที่ 19 ยังคงเดินหน้าส่งมอบผ้าห่มผืนเขียวอันเป็นสัญลักษณ์ของความอบอุ่นปีละ 200,000 ผืน ในพื้นที่ประสบภัยหนาว 15 จังหวัด ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เนื่องจาก พี่น้องที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจำนวนมากของประเทศไทย ยังคงขาดแคลน ไม่มีเสื้อผ้าหรือผ้าห่มคลายหนาวอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะพื้นที่แถบภูเขาสูงที่มีเส้นทางทุรกันดารและยาก ต่อการเข้าถึง โดยไทยเบฟร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย รวบรวมข้อมูลผู้ประสบภัยหนาวและจำนวนประชากรผู้ประสบภัยในแต่ละจังหวัด จากนั้นผ้าห่มจะถูกลำเลียงไปยังพื้นที่เพื่อส่งมอบให้พี่น้องในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ก่อนที่ภัยหนาวจะมาเยือน ซึ่งตลอด ระยะเวลา 19 ปี ผ้าห่มจำนวน 3,800,000 ผืน ได้กระจายไปสู่ผู้ประสบภัยครอบคลุม 45 จังหวัด 578 อำเภอ

นอกจากการมอบผ้าห่ม ยังมีความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ที่ไทยเบฟได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรหลายภาคส่วน เช่น การตรวจสุขภาพเบื้องต้นโดยหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ กิจกรรมส่งเสริมทักษะด้านดนตรี กีฬา ศิลปะ ให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ และการมอบอุปกรณ์การเรียนการสอนและทุนการศึกษา ให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลน

คุณธงชัย คุณาพรหม
เจ้าหน้าที่ธุรการ โรงเรียนบ้านสายโท 4 ใต้ อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์

พวกเราดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ไทยเบฟจัดโครงการมอบผ้าห่ม ให้กับชาวบ้านในชุมชนนี้ และรู้สึกประทับใจที่ไทยเบฟเห็นถึงความสำคัญของชาวบ้านในชุมชนนี้ ขอขอบคุณไทยเบฟที่มีส่วนมาเติมเต็มให้กับชุมชนของเรา และอยากให้มีโครงการดีๆ แบบนี้อีกในครั้งต่อๆ ไป และขอขอบคุณไทยเบฟที่มอบอุปกรณ์ การเรียนการสอนให้กับน้องๆ นักเรียน ขอบคุณมากๆ ครับ

โครงการชุมชนดีมีรอยยิ้ม
โครงการชุมชนดีมีรอยยิ้มเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 โดยมี จุดประสงค์เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกๆ ด้านให้กับชุมชนรอบโรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พัฒนาความรู้ความสามารถให้กับเยาวชนในชุมชน ที่ขาดโอกาส โดยจัดกิจกรรมเสริมทักษะ 3 ด้าน ให้เด็กและเยาวชน เป็นเวลา 1 วัน

ด้านกีฬา:
ร่วมกับโครงการ Chang Mobile Football Unit นำผู้ฝึกสอนด้านกีฬามาให้ความรู้และฝึกสอนทักษะพื้นฐานให้เยาวชนเหมือนกับการฝึกนักกีฬามืออาชีพ โดยมีบุคคลที่มีชื่อเสียงจาก หลายหน่วยงานหมุนเวียนมาร่วมกิจกรรม เช่น สมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย หรือสโมสรฟุตบอลชื่อดังของจังหวัด ซึ่งนอกจาก จะสอนเทคนิคพื้นฐานด้านกีฬาแล้ว ยังปลูกฝังแนวคิดเรื่องการรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย และมีน้ำใจนักกีฬา เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับการดำเนิน ชีวิตในทุกสถานการณ์

ด้านดนตรี :
ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข นำวิทยากรช่วยฝึกสอนเทคนิคพื้นฐานให้เด็กๆ ที่สนใจ สามารถ ร้องเพลงและเล่นดนตรีได้ถูกต้องตามมาตรฐานสากล รวมทั้งเสริมทักษะให้กับวงดุริยางค์และวงดนตรีสากล โดยจะเน้นเพลงที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เพลงชาติ นอกจากนี้ ยังช่วยต่อยอดให้เด็กและ เยาวชนที่มีความสามารถทางดนตรีได้เห็นแนวทางการพัฒนา ไปสู่ความเป็นเลิศในอนาคต

ด้านศิลปะ:
จัดกิจกรรมสอนการนำศิลปะมาต่อยอดเป็นชิ้นงานสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้งานได้จริง เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ และยังสร้างรายได้ให้กับนักเรียนและชุมชนจากสิ่งของเหลือใช้

ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปี โครงการชุมชนดีมีรอยยิ้มช่วยเสริมทักษะ จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจ ให้เด็กๆ ในชุมชนรอบโรงงานในเครือไทยเบฟ ครบทั้ง 21 แห่ง และขยายผลไปยัง โรงงานน้ำตาล 3 แห่ง โดยครอบคลุม 61 จังหวัดในประเทศไทย

ด.ช.ศักดิ์สิทธิ์ ศิลป์สร
ประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลหนึ่งวัดละไม

ผมชอบเรียนวิชาศิลปะอยู่แล้วครับ คุณครูเลยแนะนำให้เข้ามาทำกิจกรรมนี้ พอได้ทำแล้วก็ทำไม่ยาก ได้ความรู้ ได้เพื่อนใหม่ๆ และได้สมาธิครับ ผมชอบ รังไหมที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน เราไม่ต้องลงทุนเยอะก็สามารถมีพวงกุญแจน่ารักๆ เอาไปห้อยกระเป๋า และยังสร้างรายได้ให้ผมและเพื่อนๆ อีกด้วยครับ

โครงการไทยเบฟร่วมสร้างต้นแบบ ตำบลสัมมาชีพ ตำบลบัวใหญ่ จังหวัดน่าน
ไทยเบฟสนับสนุนชุมชนตำบลบัวใหญ่ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ที่เกิดปัญหาการบริหารจัดการน้ำเพื่อทำการเกษตรในพื้นที่สูง ซึ่งตำบลบัวใหญ่ มีแหล่งน้ำต้นทุน ลำห้วย 214 ลำห้วย แต่มีน้ำไหลตลอดปีเพียงแค่ 4 ลำห้วย ทำให้รูปแบบการเกษตรส่วนใหญ่เป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้ปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่มาเป็นเวลานาน

จากความตั้งใจของชุมชนและการสนับสนุนของภาคธุรกิจและองค์กรภาคี จึงเกิดแนวคิด การบริหารจัดการน้ำต้นทุนในพื้นที่การเกษตรผสมผสาน เพื่อต่อยอดและขยายแนวคิด 1 ไร่ เกษตรอินทรีย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อการฟื้นฟูป่าต้นน้ำน่าน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนอย่างสิ้นเชิง

แต่ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งคือ ทำอย่างไรจึงจะนำน้ำขึ้นมายังพื้นที่การเกษตรที่อยู่บนภูเขาสูงได้ ไทยเบฟจึงร่วมกับชุมชน พัฒนาระบบ “ตะบันน้ำ” ขึ้นที่สูง และสร้างฝาย 3 จุด เพื่อใช้เก็บกักน้ำเพื่อการเกษตร พร้อมกันนี้ได้ผลักดันให้ชุมชนจัดตั้งกติกาและระเบียบการใช้น้ำและกองทุนการใช้น้ำ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกัน และนำกองทุนดังกล่าวมาใช้ในการซ่อมแซมกรณีชำรุดเสียหาย เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่ต้องรอ งบประมาณจากภาครัฐ นอกจากนี้ยังร่วมกันพัฒนาระบบประปาภูเขาระยะทาง 9,622 เมตร โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 1,000 ไร่

ในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำเพื่อทำการเกษตร ในพื้นที่สูง ผลสำเร็จที่ได้คือ
  • ระบบตะบันน้ำ : 11 จุด พื้นที่รับประโยชน์ 11 ไร่
  • ระบบฝายชะลอน้ำ: 8 ฝาย พื้นที่รับประโยชน์ 24 ไร่
  • ระบบประปาภูเขา: ระยะทาง 9,622 เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 1,000 ไร่
  • สมาชิกผู้รับประโยชน์ 35 ราย ปริมาณน้ำจำนวน 15 ถัง 1,178.1 ลิตร เท่ากับ17,671.5 ลิตร (17.67150 ลูกบาศก์เมตร)
ในการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวสู่เกษตรผสมผสาน ผลสำเร็จที่ได้คือ
  • เกษตรกรในตำบลบัวใหญ่ได้ปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์แล้ว 34 ราย จำนวน 36 แปลง ในพื้นที่ 146.1 ไร่ ภายใต้ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม
  • เกิดกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่ที่มีจำนวนสมาชิก 163 ราย จำนวน 815 ไร่ โดยส่งเสริมให้ปลูกไม้สามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง เพื่อทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และสามารถปลูกพืชรายวัน รายเดือน รายปี และส่งเสริม การปลูกพืชอินทรีย์ คือ ฟักทองอินทรีย์ (ระยะปรับเปลี่ยน) สายพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ สายพันธุ์คางคก ไข่เน่า ซึ่งมีเกษตรกรปลูกจำนวน 50 ราย
  • สร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน โดยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ผ่านห้างโมเดิร์นเทรด เช่น ฟักทองอินทรีย์ (ระยะปรับเปลี่ยน) รายได้มูลค่ารวมในปี 2561 จำนวน 300,000 บาท


นายสมบุญ คำรม
เกษตรกรผู้ได้ร่วมโครงการสัมมาชีพ ต.บัวใหญ่ จ.น่าน

ก่อนหน้าที่จะทำตะบันน้ำ ลุงเคยทำกาลักน้ำมาก่อน แต่ว่า ล้มเหลว พอได้รับความรู้และการสนับสนุนจากไทยเบฟ และรู้วิธีการดึงน้ำขึ้นสู่ที่สูงจึงได้ลองทำตะบันน้ำดู ซึ่งก็ได้ผลดีมากตอนนี้สามารถปั๊มน้ำขึ้นมาเก็บไว้ในแท็งก์ด้านบน และกระจายน้ำใช้ได้ในทุกจุดแปลงเกษตรในกลุ่มต่างๆ อีก 5 ครัวเรือน ที่ต้องใช้น้ำร่วมกัน

โครงการปลูกป่าในใจคน ตามศาสตร์พระราชา
ไทยเบฟรับทราบถึงปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนความยาวกว่า 4.7 กิโลเมตร ทำให้ที่ดินเดิมของชายทะเลหายไปกว่า 3,000 ไร่ และผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ ประชาชนชาวบางขุนเทียนที่ต้องอพยพหนีน้ำเข้ามาประมาณ 1.3 กิโลเมตรจากหลักเขตเดิม เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและสร้างประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม ไทยเบฟจึงร่วมมือกับมูลนิธิปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์พระราชา สนับสนุนการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ 50 ไร่ มูลค่า 12 ล้านบาท โดยส่งเสริมให้เกิดการจ้างแรงงานจากชุมชนโดยรอบ และจัดซื้อกล้าไม้ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จำนวน 40,000 ต้น เพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ 50 ไร่ ริมชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ตลอดจน การดูแลรักษาต้นกล้าต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี

ผลลัพธ์
  • พื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นจำนวน 50 ไร่
  • จำนวนต้นไม้เพิ่มขึ้น 40,000 ต้น นำไปสู่ประโยชน์ด้านระบบนิเวศชายฝั่งและเอื้อต่อการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำกว่า 70 ชนิด
  • เพิ่มรายได้ให้ชุมชนเขตบางขุนเทียน ในการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้ในระยะเวลา 3 ปี
จากจุดเริ่มต้นเพื่อการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง นำมาซึ่งความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ และชุมชนชาวบางขุนเทียน ก่อให้เกิดประโยชน์ที่กระจายไปในพื้นที่อย่างทั่วถึง และยังสามารถนำไปสู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร นำมาซึ่งเศรษฐกิจชุมชนอย่างมั่นคงและยั่งยืน
โครงการความร่วมมือศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้ - ไทยเบฟ ร่วมฟื้นฟูป่า พัฒนาคุณภาพชีวิต บ้านน้ำปูน ตำบลน้ำพาง และบ้านศรีนาป่าน ตำบลเรือง จังหวัดน่าน
ไทยเบฟเล็งเห็นถึงความสำคัญของการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร การพัฒนาป่า และการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไทยเบฟจึงได้ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนา ห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อเป็นการสำนึก ในพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ วันที่ 2 เมษายน 2558 โดยนํา รูปแบบการพัฒนาตามแนวพระราชดําริที่ประสบความสําเร็จของศูนย์ศึกษา การพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดําริ อําเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มาประยุกต์และปรับใช้ในการพัฒนาบนพื้นที่ที่จังหวัดน่าน เพื่อฟื้นฟูป่าต้นนํ้าลําธารพร้อมกับพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยได้กําหนดพื้นที่เป้าหมายของโครงการฯ ใน 2 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านน้ำปูน และหมู่บ้านศรีนาป่าน จังหวัดน่าน และนําความรู้ต่างๆ จากศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้ ไปขยายผลในพื้นที่ 2 หมู่บ้าน และทําการบันทึกการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อศึกษาหาแนวทางการพัฒนาสู่ความเป็นต้นแบบของชุมชนอื่นๆ ต่อไป

ในปี 2560 ชุมชนเป้าหมายทั้ง 2 หมู่บ้าน จำนวน 150 คน ได้รับการอบรม เรียนรู้และรับมอบปัจจัย วัตถุดิบต่างๆ ในการเลี้ยงสัตว์และพืชเพื่อบริโภคในชีวิตประจําวันและเป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเบื้องต้น โดยมุ่งหวังว่า เมื่อเลี้ยงไปได้ระยะหนึ่งแล้ว หากมีเหลือจากการบริโภค กลุ่มเกษตรกรจะสามารถรวมกลุ่มกันเพื่อจําหน่ายสินค้าที่มีมาตรฐานต่อไป ซึ่งในปี 2561 พบว่าชุมชนในทั้ง 2 พื้นที่ สามารถมีรายได้จากการเลี้ยงปศุสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 150-220

คุณประโภชฌ์ สภาวสุ
รองผู้อำนวยการสำนักกรรมการผู้อำนวยการใหญ่

ไทยเบฟมองเห็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ป่าสงวนที่ถูกแผ้วถางป่าเป็นบริเวณกว้างมานานหลายชั่วอายุคน ในสภาพปัจจุบันพื้นที่เป็นป่าเขาหัวโล้นโดยรอบ และเมื่อรัฐบาลเข้ามาควบคุมอย่างจริงจัง ชาวบ้านจึงหมดหนทางทำมาหากิน หน้าที่สำคัญที่ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของไทยเบฟคือ จะทำอย่างไรให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีอาหาร มีโปรตีนกินและอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ผมได้พาชุมชนไปศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนศึกษาดูงานโดยรอบศูนย์ฯ และตัดสินใจที่จะหาสิ่งที่ตนสนใจและคิดว่าถนัด บางคนสนใจอยากเลี้ยงสุกร ปลาดุก กบนา ไก่ไข่ หรือเพาะเห็ดนางฟ้าภูฏาน เราก็พร้อมที่จะสนับสนุนปัจจัยต่างๆ ให้ โครงการเราทำต่อเนื่องและจริงจัง ตลอดระยะเวลา 5 ปี เราได้ให้การสนับสนุน ต่อยอด และขยายผลจนชุมชนที่ประสบความสำเร็จหลายคนได้รับการสนับสนุนในระดับของเกษตรกรตัวอย่างและคาดว่าอีกไม่นาน เราอาจจะได้ศูนย์ฯเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ก็เป็นได้ สิ่งที่น่าภูมิใจคือเราได้เป็นผู้ให้โอกาสแห่งการเรียนรู้ตามแนวทางที่ถูกต้อง เป็นแนวทางแห่งศาสตร์พระราชา และช่วยให้ชุมชนมีรายได้ สามารถลดรายจ่ายครัวเรือนได้อย่างเป็นรูปธรรม

คุณเครือวัลย์ ไชยเรียน (คนซ้าย)
อาชีพเกษตรกรปลูกชาเมี่ยง การศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (กศน.) หมู่บ้านศรีนาป่าน ตำบลเรือง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เกษตรกรตัวอย่าง ในโครงการฯ

ได้รู้จักโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2558 สบายใจดี อยากกินอะไรก็ได้กิน อยากเลี้ยงอะไรเขาก็มีมาให้ ตั้งแต่แรกทีมงานพาพวกเราไปที่ศูนย์ฯห้วยฮ่องไคร้ ดอยสะเก็ด เชียงใหม่ ได้เรียนรู้ว่ามีการเลี้ยงสุกร ปลา ไก่ไข่แบบที่ถูกต้องเขาทำกันอย่างไร แล้วเราก็เริ่มเลี้ยงหมูเรื่อยมาแบบที่เขาสอน ปัจจุบันเราเลี้ยงหมู ผสมพันธุ์หมูได้เอง และสามารถออกลูกได้คราวละไม่ต่ำกว่า 10 ตัว ขายได้ราคาดี และไม่ต้องใช้ชีวิตเกี่ยวข้องกับการปลูกข้าวโพด ใช้สารเคมีอีกต่อไป

โครงการส่งเสริมฝึกอบรมอาชีพการเลี้ยงไก่ไข่ การปลูกพืชด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ และเพาะเห็ดเศรษฐกิจ สำหรับผู้พิการและผู้ดูแล ผู้พิการ ของบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน)
 
ตั้งแต่ปี 2559-2561 บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ได้จัด โครงการส่งเสริมฝึกอบรมอาชีพการเลี้ยงไก่ไข่ การปลูกพืชด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ และเพาะเห็ดเศรษฐกิจ สำหรับผู้พิการและ ผู้ดูแลผู้พิการ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ด้านการเกษตรและการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้ผู้พิการและผู้ดูแลผู้พิการสามารถนำไปประกอบอาชีพ เช่น การเลี้ยงไก่ไข่ พร้อมทั้งการก่อสร้างโรงเรือนและติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการเลี้ยงไก่ไข่ การปลูกพืชด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ และการเพาะเห็ดเศรษฐกิจ เพื่อเป้าหมายให้ ผู้พิการสามารถประกอบอาชีพ มีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคม ได้อย่างมีคุณค่า

ปัจจุบันมีผู้พิการและผู้ดูแลผู้พิการเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 111 ราย ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพและปลอดภัย มีปริมาณเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในครัวเรือน และแบ่งสรรสำหรับจำหน่ายในพื้นที่ เช่น การเลี้ยงไก่ไข่สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยเดือนละ 2,178 บาท การปลูกพืชด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ และการเพาะเห็ดเศรษฐกิจสร้างรายได้เฉลี่ยเดือนละ 1,830 บาท อีกทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อนำไปเป็นแบบอย่างให้เกิดการ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ทิศทางการดำเนินงาน
เพื่อนำองค์กรไปสู่การพัฒนาสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและยั่งยืน ไทยเบฟยังคงเดินหน้าสนับสนุนให้ชุมชนดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคง โดยมุ่งเน้นดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องและ ขยายผลมากขึ้น ด้วยโครงการต่างๆ ดังนี้
  • โครงการ 1 ตำบล 1 สัมมาชีพ มุ่งเน้นการขยายพื้นที่ สร้างพื้นที่ต้นแบบสัมมาชีพในบริเวณรอบโรงงานและพื้นที่อื่นๆ อย่างน้อย 2 พื้นที่ พร้อมเพิ่มรายได้ให้ชุมชนอย่างน้อยร้อยละ 10 ภายใน ปี 2562
  • โครงการชุมชนดีมีรอยยิ้ม
    • ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม : ขยายพื้นที่ใหม่และต่อยอดพื้นที่การทำงานด้านการบริหารจัดการน้ำ และพื้นที่สีเขียว เพื่อชุมชนให้มากขึ้น อย่างน้อย 2 พื้นที่
    • ด้านเด็กและเยาวชน : เพิ่มจำนวนเด็กและเยาวชนให้เข้าถึงโอกาสผ่านการพัฒนาด้านทักษะอาชีพและทักษะชีวิต มากขึ้นร้อยละ 10 ภายในปี 2562
  • โครงการความร่วมมือศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้ มุ่งขยายแนวทางศาสตร์พระราชาที่กระจายอยู่ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ ในภาคต่างๆ ทั้ง 6 แห่ง ซึ่งตั้งในจังหวัดเพชรบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี สกลนคร เชียงใหม่ และนราธิวาส กระจายสู่ชุมชนผ่านแนวทางของศูนย์ โดยจะเลือกหมู่บ้านที่เหมาะสม เพื่อขยายผลต่อไป
ภาพรวม
ผลลัพธ์ของโครงการที่เชื่อมโยงเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

15 โครงการ
พัฒนาชุมชน
ด้านเศรษฐกิจฐานราก
สร้างรายได้เฉลี่ย
11,356 บาท
ครัวเรือน/ปี
ได้รับการแปรรูป และการเพิ่มมูลค่า
14 รายการ
พื้นที่เกษตรอินทรีย์ รวม
1,447 ไร่

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

เพิ่มพื้นที่สีเขียว
613 ไร่

จำนวนต้นไม้บนบก
27,133 ต้น

จำนวนต้นไม้ป่าชายเลน
40,000 ต้น
 

แปลงหญ้า
250 rai

โป่งเทียม
50 แห่ง
การบริหารจัดการน้ำ
35 ครัวเรือน
ได้รับประโยชน์จากน้ำ ในการทำการเกษตร
ระบบฝายชะลอน้ำ
58 ฝาย
ระบบตะบันน้ำ
11 จุด

พื้นที่รับประโยชน์
ระบบประปาภูเขา ระยะทาง
9,622 เมตร

ปริมาณน้ำ
10,800 ลิตร/วัน


เด็กและเยาวชนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม

6,314 คน
ได้รับการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ

โรงเรียนที่ได้ร่วมโครงการ
66
แห่ง

การบรรเทาภัยหนาวและความช่วยเหลืออื่นๆ


มอบผ้าห่ม จำนวน
200,000
ผืน/ปี

ชาวบ้านกว่า
3,000 คน
ใน 11 จังหวัดภาคเหนือ/อีสาน ที่มารับมอบผ้าห่ม ได้รับโอกาส เข้าถึงการตรวจสุขภาพจาก หน่วยแพทย์เคลื่อนที่

แจกจ่ายผ้าห่มสู่พี่น้องผู้ประสบภัยหนาว
15
จังหวัด

มอบอุปกรณ์การเรียนและ คอมพิวเตอร์ให้โรงเรียนที่ส่งมอบ ผ้าห่มกว่า
15
แห่ง

กว่า
20
พันธมิตร จากหลากหลายภาคส่วนร่วมแบ่งปัน ความสุขและรอยยิ้มให้แก่ชาวบ้าน ในคาราวานผ้าห่ม

รายงาน
การพัฒนาที่ยั่งยืน 2561