รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2561
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2561 / แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยเบฟ แนวทางการพัฒนา อย่างยั่งยืน

ไทยเบฟน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อพัฒนาความยั่งยืน พร้อมทั้งยึดถือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ มาประกอบการกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนา เพื่อผลักดันให้องค์กรดำเนินงาน อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
การดำเนินธุรกิจควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3 ประการ

ความพอประมาณ
  • อยู่ในวิถีและศักยภาพ
  • หลีกเลี่ยงความสุดโต่ง
  • มีวินัยทางการเงิน
ความมีเหตุผล
  • ประเมินเหตุและผลของทุก การกระทำที่มีต่อผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียทุกฝ่าย
  • สร้างคุณค่าที่แท้จริง
การมีภูมิคุ้มกันที่ดี
  • การบริหารจัดการความเสี่ยง
  • เตรียมพร้อมเพื่อรับผลกระทบ หรือความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
โดยปัจจัย 3 ประการนี้จะเกิดขึ้นได้ จะต้องอาศัยความรู้และคุณธรรมเป็นเงื่อนไขพื้นฐาน
ความรู้
  • ข้อมูลเชิงลึก
  • ความเข้าใจที่ถูกต้อง
  • การให้ความสำคัญกับความรู้ และประสบการณ์
คุณธรรม
  • ความซื่อสัตย์
  • ความบริสุทธิ์ใจ
  • ความอุตสาหะ
  • ความมีสติ
  • ความอ่อนน้อมถ่อมตน
กรอบแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบไปด้วยคุณลักษณะ 3 ประการ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี หากดำเนินตามหลัก 3 ประการ ควบคู่ ไปกับการสร้างความรู้และคุณธรรม ไทยเบฟจะสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ พร้อมทั้งนำพาองค์กรไปสู่ความก้าวหน้าอย่างสมดุลใน 4 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม ขณะเดียวกันภายใต้กลยุทธ์การพัฒนาความยั่งยืนขององค์กร ไทยเบฟเชื่อมั่นว่า จะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและสร้างโอกาสที่ไร้ขีดจำกัดให้แก่ธุรกิจและสังคมโดยรวมได้ต่อไป

หลักการทั้งสองมุ่งเน้นการใช้ความรู้ ประสบการณ์ และความคิดในการสร้างความเจริญก้าวหน้าที่มั่นคง ส่งเสริมการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล นอกจากนี้ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ 2020 ของไทยเบฟ โดยมีจุดมุ่งหมายก้าวสู่การเป็น “ผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มในภูมิภาคอาเซียนอย่างมั่นคงและยั่งยืน” และมุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมและการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ยั่งยืนไปพร้อมกับ การเติบโตขององค์กร
โครงสร้างการพัฒนาความยั่งยืนของไทยเบฟ
การบริหารจัดการด้านความยั่งยืน
คณะกรรมการพัฒนาความยั่งยืนทางธุรกิจของบริษัทไทยเบฟ รับผิดชอบในการพิจารณา วางแผนกำหนดนโยบาย และดำเนินการด้านการพัฒนาความยั่งยืนให้สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานกลยุทธ์ขององค์กรที่กำหนดโดยคณะกรรมการบริษัทหรือคณะกรรมการบริหาร และมี คณะทำงานพัฒนาความยั่งยืนทางธุรกิจ (Sustainability Development Working Team) เป็นผู้ให้การสนับสนุนคณะกรรมการพัฒนาความยั่งยืนทางธุรกิจ

ซึ่งคณะทำงานพัฒนาความยั่งยืนทางธุรกิจ ประกอบด้วยตัวแทน จากสายงานต่างๆ มีหน้าที่สนับสนุนในการกำหนดดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย กำหนดแผนงานสนับสนุน ติดตามการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน สื่อสารกับคณะกรรมการพัฒนาความยั่งยืนทางธุรกิจ รวมถึงมีส่วนร่วมในขั้นตอนกระบวนการประเมินสาระสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัท โดยที่ คณะทำงานพัฒนาความอย่างยั่งยืนทางธุรกิจทำหน้าที่ดำเนินการ ทวนสอบความครบถ้วนของประเด็นสำคัญต่อความยั่งยืนขององค์กร วิเคราะห์และนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาความยั่งยืนทางธุรกิจ เพื่อพิจารณาเห็นชอบ จากนั้นนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหาร เพื่อพิจารณายืนยันและอนุมัติประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน

ไทยเบฟได้เข้าร่วมการประเมินความยั่งยืน Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) หรือดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 และได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกในกลุ่ม DJSI World ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 (2560 และ 2561) โดยในปีนี้ไทยเบฟสามารถทำคะแนนขึ้นมาเป็นที่ 1 ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มของโลก และได้รับการประเมินให้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อีกทั้งยังเป็นบริษัทแรกในเอเชียที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มในรอบ 11 ปี โดยเป็น 1 ใน 60 บริษัทจาก 24 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการจัดอันดับเป็น Industry Leader นอกจากนั้นยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกกลุ่ม DJSI Emerging Markets หรือกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ซึ่งคัดกรองผู้ที่มีผลงานด้าน ความยั่งยืนสูงที่สุดร้อยละ 10 ในแต่ละอุตสาหกรรม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 (2559-2561) ผลความสำเร็จนี้มาจากความพยายามอย่างต่อเนื่องของไทยเบฟที่จะดำเนินธุรกิจบนแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของไทยเบฟมีการพัฒนา อย่างก้าวกระโดด จนได้รับรางวัล Industry Mover 2 ปีซ้อนใน The Sustainability Yearbook ประจำปี 2560 และ 2561 ของ RobecoSAM
การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
 
ไทยเบฟได้กำหนดแนวทางการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ผ่านกิจกรรมและช่องทางการสื่อสารต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรับฟังความต้องการ ความคิดเห็น ข้อกังวล และข้อเสนอแนะต่างๆ โดยที่ความถี่ ของการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่มแตกต่างกันไปตามแผนการดำเนินงานของไทยเบฟ ข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดกลยุทธ์ ทิศทาง แผนการดำเนินงาน และแนวทางในการพัฒนาธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน รวมถึงป้องกันความเสี่ยงหรือผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ


พนักงาน
แนวทางการมีส่วนร่วม
  • ข้อความทาง SMS
  • แอปพลิเคชันไลน์ (Line Application): Line @ “We are Thaibev Group”
  • เฟซบุ๊ก แฟนเพจ (Facebook Fanpage)
  • อินทราเน็ต (Intranet)
  • การประชุมประจำปี เช่น การประชุมผู้บริหารประจำปี การประชุมคณะกรรมการลูกจ้าง
  • การประชุมคณะกรรมการสวัสดิการ การประชุมคณะกรรมการความปลอดภัย การประชุมสหภาพแรงงานและการประชุมของหน่วยงาน
  • กล่องรับความคิดเห็น
  • การเดินสายพบปะพนักงาน เช่น Core Values Roadshow และวิสัยทัศน์ 2020 Roadshow
  • การสำรวจประเด็นด้านความยั่งยืนประจำปี
  • การสำรวจความพึงพอใจและการมีส่วนร่วม ของพนักงาน
  • Beverest Connect application
  • Jam application ช่องทางการสื่อสารระหว่างพนักงานในเครือไทยเบฟโดยเฉพาะ
ตัวอย่างของประเด็น
  • ความปลอดภัยในการทำงาน
  • การอำนวยความสะดวกเรื่องสถานที่ทำงาน
  • สวัสดิการพนักงาน
  • การจัดทำโครงการที่เป็นประโยชน์ ให้แก่สังคม
  • การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ
  • การพัฒนาทักษะให้แก่พนักงาน
  • ข่าวสารเกี่ยวกับองค์กร
  • กิจกรรมที่องค์กรและผู้บริหาร ได้มีส่วนร่วม
  • ความสำเร็จ/รางวัล ที่องค์กรได้รับ
  • กิจกรรมภายในองค์กร
  • รับสมัครอาสาสมัครในงาน และโครงการต่างๆ
บทรายงาน
  • โอกาสไร้ขีดจำกัด
  • การส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค
  • ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อม ในการทำงาน
  • ความยั่งยืนด้านสังคม



คู่ค้า
แนวทางการมีส่วนร่วม
  • การจัดประชุมร่วมกับคู่ค้า
  • การสำรวจประเด็นด้านความยั่งยืนประจำปี
  • กิจกรรมพบปะคู่ค้าประจำปี (Business Partner Conference)
  • การมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณคู่ค้า (Supplier Award Program)
ตัวอย่างของประเด็น
  • วิสัยทัศน์ของผู้บริหารและแนวทาง การดำเนินธุรกิจ
  • แนวทางปฏิบัติสำหรับคู่ค้า (Supplier Code of Practice)
  • การรักษามาตรฐานด้านคุณภาพ การส่งมอบ การบริการ และความยั่งยืน ในการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า
  • การร่วมมือกันระหว่างบริษัท คู่ค้า และคู่ค้าของคู่ค้าในการบริหารจัดการความเสี่ยงตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน
  • การพัฒนาศักยภาพของคู่ค้า
  • นวัตกรรมและการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
บทรายงาน
  • การกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ
  • การจัดหาอย่างยั่งยืน
  • บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก
  • นวัตกรรม
  • พลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ



ลูกค้า
แนวทางการมีส่วนร่วม
  • งานนิทรรศการและสัมมนาประจำปี (ThaiBev EXPO 2018)
  • การประชุมลูกค้าประจำปี
  • การจัดอบรมและให้ความรู้ลูกค้า
  • กิจกรรมพัฒนาธุรกิจผ่านการแบ่งปันความรู้และความคิดเห็นระหว่างไทยเบฟและลูกค้า
  • กิจกรรม Business Review ประจำปี
  • การเยี่ยมชมโรงงานประจำปี
  • โครงการ Agent Next Gen
  • การสำรวจประเด็นด้านความยั่งยืนประจำปี
ตัวอย่างของประเด็น
  • ความปลอดภัยในการบริโภคผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค
  • ความชัดเจนของนโยบายในการดำเนินธุรกิจ
  • ความโปร่งใสในการประกอบธุรกิจ
  • การรับผิดชอบต่อการบริโภคของผู้บริโภค
  • การมีส่วนร่วมในการวางแผนการดำเนินงาน
  • การอบรมเพื่อเพิ่มความรู้และทักษะ ในการทำงานของบุคลากร
  • การสร้างความร่วมมือและเครือข่าย เพื่อสร้างคุณค่าสู่สังคม
  • การประกอบการค้าที่ยืดหยุ่นและตรงตามความต้องการของสภาวะตลาด
บทรายงาน
  • การบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า
  • การส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค
  • การกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ
  • โอกาสไร้ขีดจำกัด



ผู้บริโภค
แนวทางการมีส่วนร่วม
  • กิจกรรมนอกสถานที่และกิจกรรมส่งเสริม การตลาดในช่องทางการขาย
  • ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น facebook fanpage, website, application line
  • การสำรวจประเด็นด้านความยั่งยืนประจำปี
  • การสำรวจพฤติกรรม และความคิดเห็น ต่อผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค
ตัวอย่างของประเด็น
  • คุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า
  • ราคาสินค้าที่เป็นธรรมและเหมาะสม
  • การให้บริการและนำเสนอสินค้า อย่างมีความรับผิดชอบ
  • ความรับผิดชอบต่อการจัดการสิ่งแวดล้อม
  • ความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ
  • การจัดทำโครงการที่เป็นประโยชน์ ให้แก่สังคม
บทรายงาน
  • การส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค
  • การพิทักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ
  • การจัดการของเสีย
  • พลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • การกำกับดูแลความเสี่ยง และการปฏิบัติ ตามกฎระเบียบ



นักลงทุน
แนวทางการมีส่วนร่วม
  • การประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี
  • การประชุมประจำไตรมาส
  • การเข้าเยี่ยมชมโรงงานประจำปี
  • การเดินสายพบปะนักลงทุน (Investors Roadshow)
  • การสำรวจประเด็นด้านความยั่งยืนประจำปี
ตัวอย่างของประเด็น
  • ความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล
  • ผลประกอบการของบริษัท
  • การให้ข้อมูลด้านธุรกิจของไทยเบฟ และรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ถือหุ้น และนักลงทุน
  • การบริหารและพัฒนาตราสินค้า
บทรายงาน
  • การกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ



ชุมชน
แนวทางการมีส่วนร่วม
  • กิจกรรมร่วมกับชุมชนรอบพื้นที่ปฏิบัติงาน
  • การสัมภาษณ์ตัวแทนจากชุมชน
  • ลงพื้นที่และประชุมร่วมกับชุมชน ติดตาม ความคืบหน้าโครงการที่ร่วมมือกันดำเนินการ
  • การประชุมร่วมกับตัวแทนชุมชนรายเดือน และรายไตรมาส
  • การสำรวจความคิดเห็นโดยใช้แบบสอบถาม
  • การสำรวจประเด็นด้านความยั่งยืนประจำปี
ตัวอย่างของประเด็น
  • การสร้างงานหรือส่งเสริมอาชีพ ให้แก่ชุมชน
  • การส่งเสริมด้านสาธารณสุขและสุขภาพ ให้กับชุมชน
  • การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
  • การพัฒนาทักษะด้านกีฬา ดนตรี และศิลปะ
  • การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม การจัดการและฟื้นฟูแหล่งน้ำ
  • การประเมินผลกระทบที่มีต่อชุมชน
  • การส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม และดูแล เรื่องสภาพแวดล้อมในชุมชน
  • การส่งเสริมการศึกษาให้กับชุมชน
  • การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
  • ความปลอดภัยในวัด โรงเรียน และชุมชน
  • สิทธิมนุษยชน ครอบคลุมไปถึง สิทธิแรงงานและสิทธิผู้บริโภค
บทรายงาน
  • การพัฒนาชุมชนและสังคม
  • โครงการประชารัฐรักสามัคคี
  • การพัฒนาการศึกษา
  • การพัฒนาด้านสาธารณสุข
  • การพัฒนาด้านกีฬา
  • การส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม
  • การพิทักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ



หน่วยงาน ภาครัฐ
แนวทางการมีส่วนร่วม
  • การเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นและการนำเสนอความคิดเห็นต่อการบังคับใช้กฎหมาย ที่จัดโดยหน่วยงานภาครัฐ
  • การเข้ารับการอบรมในหลักสูตรด้านต่างๆ ที่จัดโดยหน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานอื่น ที่รัฐให้การรับรอง
  • การสำรวจประเด็นความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
ตัวอย่างของประเด็น
  • การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
  • การบริหารและจัดการด้านภาษี อย่างโปร่งใส
  • การดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยด้านแรงงาน
  • การดูแลด้านสิทธิมนุษยชนและการใช้แรงงานอย่างถูกกฎหมาย
  • การดูแลให้การโฆษณาและการขายสินค้าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
  • การบริหารจัดการด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม
บทรายงาน
  • การกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ
  • การส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค
  • ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อม ในการทำงาน
  • โอกาสไร้ขีดจำกัด
  • การบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า
  • การพิทักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ



องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO)
แนวทางการมีส่วนร่วม
  • การสำรวจประเด็นด้านความยั่งยืนประจำปี
ตัวอย่างของประเด็น
  • สุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค
  • การดำเนินธุรกิจตามกฎหมาย
  • ความรับผิดชอบต่อสังคม
บทรายงาน
  • การส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค
  • การกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ
ความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ในปี 2561 บริษัทไทยเบฟทำการสำรวจประเด็นด้านความยั่งยืนประจำปี กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 8 กลุ่ม โดยให้ผู้เชี่ยวชาญภายนอกดำเนินการสัมภาษณ์ และส่งแบบสอบถามให้กับกลุ่มตัวอย่างของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ซึ่งผลที่ได้จากการสำรวจ Stakeholder engagement survey นี้ ได้นำมาใช้ ในกระบวนการประเมินสาระสำคัญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กร
บทสัมภาษณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านความยั่งยืน

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

“การที่บริษัทจะคืนอะไรสักอย่างกลับสู่สังคม ควรจะทำในลักษณะที่สอดคล้องกับความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่บริษัทมีอยู่แล้ว เช่น หากบริษัททำกิจการด้านการเกษตร ก็ควรจะใช้บุคลากร ใช้ห้องทดลองที่จะช่วยในการพัฒนาคุณภาพผักและผลไม้ของเกษตรกร ลดสารเคมีตกค้างในดิน ให้ความรู้เรื่องการทำเกษตรผสมผสาน ให้คำแนะนำด้านเทคนิคและความรู้ใหม่ๆ ที่จะพัฒนาคุณภาพและผลผลิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นกว่าเก่า ส่งผลให้เกิดรายได้ที่มากขึ้นและทำให้ชุมชนเกิดความยั่งยืน หากธุรกิจจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องดื่มต่างๆ ก็อาจจะเอาความรู้ของตนไปช่วยในการพัฒนาแหล่งน้ำให้สะอาด ให้ดีขึ้น เพื่อจะนำต้นทุนน้ำเหล่านั้นมาผลิตเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณภาพมากกว่าเก่า และ ส่งเสริมให้ทรัพยากรธรรมชาติดีขึ้นกว่าเดิม และให้ชุมชนมีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้นด้วย

ไทยเบฟในฐานะบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ จึงมีบทบาทสำคัญมาโดยตลอด และยังเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน อันจะเห็นได้จากรางวัลอันดับ 1 ของโลกในหมวดธุรกิจประเภทเครื่องดื่มจาก Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) มายืนยันอีกด้วย แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์อันยาวไกลของผู้บริหาร และความมุ่งมั่นทุ่มเทของพนักงาน โดยผมก็หวังว่าไทยเบฟ จะสามารถช่วยขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงในสังคมและช่วยผลักดันให้บริษัทอื่นๆ มีความรับผิดชอบ และหันมาใส่ใจกับเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้นด้วย”

Brendan Edgerton
Director, Circular Economy World Business Council for Sustainable Development (WBCSD)

“สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WBCSD) เป็นศูนย์กลางในการรวมตัวขององค์กรธุรกิจชั้นนำเพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และร่วมมือกันสร้างสรรค์โลกที่ยั่งยืนให้มีทรัพยากรเพียงพอสำหรับประชากร 9 พันล้านคน ความร่วมมือที่เข้มแข็งมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไปผสมผสานในห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร ซึ่งปัจจุบันเป็นเทรนด์ระดับโลกในด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

ดังนั้น สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WBCSD) จึงสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและองค์กรระดับสากล เช่น เครือข่ายอุตสาหกรรมระดับโลก The Consumer Goods Forum (CGF) และสมาชิกของเครือข่าย ร่วมกันผลักดันให้ทั่วโลกขจัดขยะพลาสติก และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้ไทยเบฟนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่คุณค่า เราขอแนะนำให้มุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นด้านการใช้น้ำและการฟื้นฟูแหล่งน้ำ (Water Consumption and Water Regeneration) ประเด็นด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio-Economy) โดยใช้ผลิตผลจากการเกษตรและเศษที่เหลือให้เกิดประโยชน์สูงสุด และประเด็นด้านบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ตั้งแต่การออกแบบตลอดไปจนถึงการจัดการหลังการบริโภค โดยสิ่งเหล่านี้ จะเปิดโอกาสให้ไทยเบฟสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในด้าน การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

Ani Kavookjian
Sustainable Business and Finance, Bloomberg L.P.

“คณะกรรมการจัดการบริษัทจำเป็นที่จะต้องมีความเข้าใจในประเด็นด้าน สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การปรับตัวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รวมไปถึงความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ คณะกรรมการจัดการจะต้องมีการบริหารจัดการ เพื่อให้องค์กรสามารถอยู่รอดและเติบโตในสภาพภูมิอากาศ (Climate scenarios) หลายรูปแบบ นอกจากนี้ ไทยเบฟควรให้ความสำคัญกับการนำเสนอข้อมูล ของประเด็นด้านความยั่งยืนในรูปแบบ และหน่วยที่นักลงทุนสามารถเข้าใจ และนำไปเปรียบเทียบได้

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าบริษัทแสดงการสนับสนุน TCFD (Task Force on Climate-related Financial Disclosure ) ไทยเบฟจะสามารถดึงดูดนักลงทุนที่สนใจ ซึ่งให้ ความสำคัญกับเป้าหมายระยะยาวได้ ปัจจุบันนักลงทุนให้ความสนใจบริษัทใน ตลาดเกิดใหม่/ตลาดกำลังพัฒนา (Emerging Markets) มากขึ้นเรื่อยๆ”
กระบวนการประเมินสาระสำคัญด้านความยั่งยืน
ในปี 2561 ไทยเบฟได้การประเมินสาระสำคัญด้านความยั่งยืน โดยเปรียบเทียบกับ บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน และพิจารณาจากข้อมูลทิศทางการเปลี่ยนแปลง ของประเด็นด้านความยั่งยืนของโลก และผลจากการสำรวจพบว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงประเด็นสำคัญจากปี 2560
1. การกำหนดประเด็น
ไทยเบฟคัดเลือกประเด็นด้านความยั่งยืนที่มีความสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ โดยผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญจากสายงานธุรกิจทุกสายงาน ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ จากหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนจากภายนอก ในบริบทที่เกี่ยวกับความยั่งยืนของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยศึกษาแนวโน้มและทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ตลอดจนสำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มถึงประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนขององค์กรในปีนี้อีกด้วย

2.การจัดลำดับความสำคัญ
ไทยเบฟนำประเด็นที่ได้จากขั้นตอนการกำหนดประเด็นมาจัดลำดับความสำคัญ โดยพิจารณาจากผลกระทบที่มีต่อการดำเนินธุรกิจของไทยเบฟ ความคิดเห็น ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในด้านความสำคัญและความสนใจที่มีต่อผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อกลั่นกรองประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อความยั่งยืนขององค์กร โดยประเด็นที่ถูกจัดลำดับว่าสำคัญมาก โดยทั้งไทยเบฟและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะถูกกำหนดเป็นประเด็นที่มีความสำคัญสูงที่สุด

3. การทวนสอบ
คณะทำงานเพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจของบริษัทดำเนินการทวนสอบความครบถ้วน ของประเด็นสำคัญต่อความยั่งยืนขององค์กร และนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนา ความยั่งยืนทางธุรกิจเพื่อพิจารณาเห็นชอบ จากนั้นนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหาร เพื่อพิจารณายืนยันและอนุมัติประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน

4. การกำหนดขอบเขตการรายงาน
ไทยเบฟกำหนดขอบเขตการรายงานประเด็นสำคัญทั้ง 17 ประเด็น โดยรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวมากที่สุด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมและครบถ้วน แม่นยำ ตอบโจทย์ทุกประเด็น ที่เป็นความสนใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของไทยเบฟ

5. การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ไทยเบฟมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยนำมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีต่อประเด็นสำคัญ รวมถึงข้อเสนอแนะ มาใช้ในการพัฒนาแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อไป
สาระสำคัญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยเบฟ

ด้านเศรษฐกิจ
  • นวัตกรรม
  • การบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์
  • การบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ
  • การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน
  • การกำกับดูแลองค์กรและ จรรยาบรรณในการดำเนินการ
ด้านสิ่งแวดล้อม
  • การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ
  • การบริหารจัดการน้ำ และอนุรักษ์แหล่งน้ำ
  • การจัดการของเสีย
ด้านสังคม
  • การดูแลสุขภาพและความปลอดภัย ของผู้บริโภค
  • ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และความเป็นอยู่ที่ดี
  • สิทธิมนุษยชน
  • การเป็นองค์กรที่ดีของสังคม
  • ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพและมีคุณค่า ทางโภชนาการ
  • การพัฒนาบุคลากร และสร้างแรงจูงใจ และรักษาพนักงานที่มีความสามารถ
  • การสร้างความร่วมมือและเครือข่าย เพื่อสร้างคุณค่าสู่สังคม
  • การบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์
  • ฉลากผลิตภัณฑ์และการตลาด
ตารางแผนภูมิความเสี่ยงของไทยเบฟ



ทั้งนี้คณะทำงานพัฒนาความยั่งยืนทางธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการ กับผู้บริหาร เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาความยั่งยืนทางธุรกิจของไทยเบฟให้พิจารณาอนุมัติ ผลจากการดำเนินการ ทำให้ไทยเบฟได้คัดเลือก 17 ประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของไทยเบฟ

สรุปประเด็นสำคัญในการรายงาน


รายงาน
การพัฒนาที่ยั่งยืน 2561