รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2562

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2562 / ใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม
การจัดหาอย่างยั่งยืน
GRI 308-1, GRI 414-1
การจัดซื้อจัดหาคือจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อุปทานของไทยเบฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดสรรวัตถุดิบและสินค้าที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิต ไทยเบฟตระหนักดีถึงความจำเป็นในการบริหารจัดการการจัดหาให้เป็นไปอย่างมีความรับผิดชอบ ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างทั่วถึง โดยจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรตามแนวทางปฏิบัติเรื่องเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน (ThaiBev Sustainable Agriculture Guideline) และเป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศและสากล

นอกจากนี้ ไทยเบฟได้กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับคู่ค้า (Supplier Code of Practice) เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการคัดกรองคู่ค้าและตรวจสอบคุณภาพอย่างเข้มงวด ซึ่งมีผลบังคับใช้กับคู่ค้าของไทยเบฟทุกราย เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ผ่านกระบวนการจัดหาที่มีมาตรฐานและแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม นอกจากนี้ ไทยเบฟยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานและการสร้างการมีส่วนร่วมของคู่ค้าให้เข้ามามีบทบาท

โดยร่วมกันหาแนวทางบรรเทาความเสี่ยงเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพสูงสุดในทุก ๆ กระบวนการในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ข้อ 12 ในประเด็นด้านการบรรลุการบริหารจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573

โครงการสนับสนุนการจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรอย่างมีความรับผิดชอบ

วัตถุดิบทางการเกษตรถือเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในกระบวนการผลิต การคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพและสรรหามาอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมถือเป็นสิ่งที่ไทยเบฟให้ความสำคัญยิ่ง วัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และธุรกิจอาหารของไทยเบฟ ได้แก่ ข้าวมอลต์ น้ำตาล น้ำมันปาล์ม ใบชา เมล็ดกาแฟ และโกโก้ ซึ่งไทยเบฟมุ่งมั่นที่จะจัดหาวัตถุดิบหลักเหล่านี้อย่างมีความรับผิดชอบและสอดคล้องกับมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับระดับท้องถิ่นและสากล ร้อยละ 100 ภายในปี 2573

  • ไทยเบฟส่งเสริมและสนับสนุนคู่ค้าผู้จัดหาข้าวมอลต์และฮอปส์ให้เป็นสมาชิกหรือปฏิบัติตามแนวทางของมาตรฐาน Sustainable Agriculture Initiative Platform (SAI) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากลสำหรับการทำเกษตรกรรม
  • ไทยเบฟสนับสนุนผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่ได้รับการรับรองด้วยมาตรฐาน Bonsucro (Better Sugar Cane Initiative) ซึ่งมีหลักการที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทานของการปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาล โดยต้องมีระบบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เน้นการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มนักวิชาการ เกษตรกรไร่อ้อย และภาคเอกชน โดยมาตรฐานนี้ครอบคลุมปฏิบัติการตั้งแต่การตรวจสอบที่ดิน ระยะก่อนปลูกอ้อย ถึงช่วงการเก็บเกี่ยว และให้ความสำคัญใน 3 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจอย่างครบถ้วน
  • ไทยเบฟสนับสนุนผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่และเกษตรกรรายย่อยในการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างมีความรับผิดชอบและมีประสิทธิภาพ ผ่านการได้รับการรับรองด้วยมาตรฐานระดับสากล Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ในปี 2562 คู่ค้าของไทยเบฟร้อยละ 100 เป็นโรงงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO
  • ร้อยละ 100 ของใบชาที่ไทยเบฟจัดหา เพื่อใช้ในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มาจากพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ประเทศไทย)
โครงการ CROSS
C
Collaborate (ร่วม)
ส่งเสริมความร่วมมือภายในองค์กรระหว่างไทยเบฟกับคู่ค้า
R
Re-engineer (ปรับ)
ปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดซื้อจัดหาอย่างมีประสิทธิภาพ
O
Online (ออนไลน์)
การทำงานผ่าน ระบบออนไลน์ เพื่อความสะดวกรวดเร็วและความโปร่งใส
S
Simplify (ใช้ง่าย)
ระบบที่ง่ายต่อการใช้งานและการทำงานที่คล่องตัว
S
Synergize (เชื่อมกัน)
ผสมผสานการทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรและเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สืบเนื่องจากการเติบโตขององค์กรจากการขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานของไทยเบฟมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับคู่ค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงเฉพาะคู่ค้าของไทยเบฟเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคู่ค้าของคู่ค้าอีกด้วย ในปี 2560 ไทยเบฟจึงได้ริเริ่มโครงการ CROSS โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลในห่วงโซ่อุปทาน (Visibility) และยกระดับมาตรฐานในการจัดหา โดยมุ่งเน้นการร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน และการเชื่อมต่อผ่านระบบออนไลน์ โดยจำแนกกิจกรรมในการดำเนินโครงการออกเป็น 3 มิติ คือ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรจัดหาให้มีความเป็นมืออาชีพและมีความชำนาญการมากขึ้น ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้ระบบอัตโนมัติและปรับเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น และการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ให้ระบบต่าง ๆ และบุคลากรทำงานโดยเชื่อมต่อกันได้ เข้าถึงข้อมูลได้อย่างโปร่งใส และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ได้

ในปี 2562 ที่ผ่านมา ไทยเบฟได้นำระบบจัดหา CROSS Procurement มาเชื่อมต่อกับระบบ Supplier Life Cycle Management (SLCM) ซึ่งปัจจุบันระบบ SLCM ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อระหว่างคู่ค้าและไทยเบฟ ตั้งแต่การลงทะเบียนเป็นคู่ค้าของไทยเบฟ การประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า การยืนยันคำสั่งซื้อ และการแลกเปลี่ยนเอกสารผ่านระบบ ทั้งนี้ ระบบ CROSS Procurement จะมีบทบาทในการเติมเต็มให้กระบวนการจัดหามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยจะทำการบันทึกข้อมูลในการซื้อขายสินค้าและบริการทุก ๆ ขั้นตอนการทำงานในทันที เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการจัดหามีความเป็นธรรม โปร่งใส และสืบค้นได้ ซึ่งแบ่งหน้าที่การทำงานหลักออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

1. CROSS Source

คัดสรรคู่ค้าที่มีศักยภาพ ซึ่งพิจารณาทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม หลักธรรมาภิบาล และศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า โดยเชื่อมต่อกับระบบ Supplier Life Cycle Management (SLCM) ครอบคลุมตั้งแต่การบังคับใช้แนวทางปฏิบัติสำหรับคู่ค้า (Supplier Code of Practice) การลงทะเบียนคู่ค้า การคัดกรองคู่ค้า การสรรหาคู่ค้า ไปจนถึงการเสนอราคา และประกวดราคาสินค้า

2. CROSS Contract

ร่างและจัดทำสัญญากับคู่ค้าผ่านระบบที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ โปร่งใส รวมถึงการบริหารการซื้อสินค้าให้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของสัญญา

3. CROSS Buy

ออกคำสั่งซื้อและยืนยันการสั่งซื้อกับคู่ค้า และการสั่งซื้อสินค้าผ่านแค็ตตาล็อกสินค้าออนไลน์ (e-catalog)

4. CROSS SRM (Supplier Risk Management)

ตรวจประเมินความเสี่ยงของคู่ค้าในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล รวมไปถึงด้านอื่น ๆ ได้แก่ ความน่าเชื่อถือองค์กร สภาพคล่อง การดำเนินธุรกิจ และข่าวสารต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร โดยใช้ฐานข้อมูลจากองค์กรอิสระที่มีความชำนาญการในการประเมินความเสี่ยง ได้แก่ World Economic Forum, Dun & Bradstreet, GDACS และ Semantic Visions เป็นต้น

CROSS PROCUREMENT


นอกจากการพัฒนาการจัดหาภายในองค์กรแล้ว ไทยเบฟยังมุ่งพัฒนาศักยภาพของคู่ค้าในด้านการใช้เทคโนโลยี (Digital Capability) ผ่านกิจกรรมเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของคู่ค้าต่าง ๆ เช่น การจัดอบรมให้แก่คู่ค้าของไทยเบฟเรื่องการใช้ระบบ CROSS Procurement การประชาสัมพันธ์การใช้งานระบบ การจัดสัมมนาประจำปีร่วมกับคู่ค้า การให้บริการตอบข้อสงสัยการใช้งานระบบผ่านศูนย์การให้บริการด้านการจัดซื้อของไทยเบฟ ทั้งนี้เพื่อให้คู่ค้าสามารถจำหน่ายสินค้าและบริการให้แก่ไทยเบฟได้สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส และพร้อมเติบโตไปร่วมกับไทยเบฟได้อย่างยั่งยืน

การพัฒนาจากโครงการ CROSS
  ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก
บุคลากร สร้างความชำนาญการ ส่งเสริมความร่วมมือ
กระบวนการ ปรับกระบวนการทำงาน ง่ายต่อการทำงานร่วมกัน
เทคโนโลยี เชื่อมต่อระบบเข้าด้วยกัน เป็นระบบศูนย์กลางสำหรับคู่ค้า

การนำระบบ CROSS Procurement มาใช้ในกระบวนการจัดหาของไทยเบฟ จะช่วยพัฒนาศักยภาพในการเข้าถึงข้อมูลที่มีความแม่นยำยิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล และช่วยในการตัดสินใจและกำหนดกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการจัดหา รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นเรื่องการประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคู่ค้าเพื่อให้การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานมีประสิทธิผลสูงสุด ในขณะเดียวกันก็เป็นการยกระดับการให้บริการด้านการจัดหาของไทยเบฟให้กับผู้ใช้บริการภายในองค์กรให้ได้รับความสะดวกสบาย ตอบสนองความต้องการได้ทันท่วงที และพร้อมรองรับการเติบโตขององค์กรในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน

แผนการดำเนินงาน
  • 2559

    เปิดใช้งานระบบ Supplier Life Cycle Management (SLCM)

  • 2560

    ริเริ่มโครงการ CROSS

  • 2561

    เปิดศูนย์ การบริการ ด้านการ จัดซื้อ

  • 2562

    ปรับปรุงระบบ SLCM เป็นเวอร์ชัน 2.0

    พัฒนาระบบการ จัดหา CROSS Procurement

  • 2563

    พัฒนาระบบ CROSS Procurement ไปยังกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม ไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารในประเทศ

  • 2564

    ขยายผลการพัฒนาระบบ CROSS Procurement ไปยังกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ

    การวางแผนการจัดหา เชิงกลยุทธ์ในระดับสากล

โครงการประกาศเกียรติคุณคู่ค้า


เป็นโครงการที่ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของคู่ค้า กระตุ้นการแข่งขันทางธุรกิจ และสรรค์สร้างนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม โดยไทยเบฟริเริ่มโครงการประกาศเกียรติคุณคู่ค้ามาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งคู่ค้าที่ได้รับรางวัลคือคู่ค้าที่มีมาตรฐานในการดำเนินงานอันเป็นเลิศ และเป็นแม่แบบในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนให้กับคู่ค้ารายอื่น ๆ โดยมีคู่ค้าเข้าร่วมโครงการมากกว่า 150 ราย ในปี 2562 มาจากผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการให้แก่ไทยเบฟหลากหลายกลุ่ม อาทิ บรรจุภัณฑ์ วัตถุดิบทางการเกษตร สินค้าส่งเสริมการขาย เป็นต้น

ในปี 2562 ที่ผ่านมานี้ ไทยเบฟได้มอบรางวัล Sustainable Collaboration Award ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษภายใต้โครงการประกาศเกียรติคุณคู่ค้าให้แก่คู่ค้าที่ให้ความร่วมมือกับไทยเบฟและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่มในการริเริ่มโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน โดยคณะกรรมการพิจารณาการมอบรางวัลจากประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่เกิดขึ้นจริงจากโครงการที่คู่ค้าดำเนินการร่วมกับไทยเบฟ และจำนวนกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับประโยชน์ดังกล่าว อันสอดคล้องกับแนวทางดำเนินธุรกิจของไทยเบฟในการ “สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”

โครงการหนึ่งที่ได้รับรางวัลในปีนี้ได้แก่ “โครงการเก็บกระป๋องเครื่องดื่มอะลูมิเนียมหลังการบริโภค” หรือ “Can 2 Can” ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างไทยเบฟกับคู่ค้าทางตรง (Tier1 Supplier) คือ ผู้ผลิตกระป๋อง และคู่ค้าทางอ้อม (Non-tier 1 Supplier) คือ ผู้ผลิตแผ่นอะลูมิเนียม โดยมีบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด ทำหน้าที่เก็บกระป๋องกลับมาและรวบรวมส่งต่อให้กับบริษัทผู้ผลิตแผ่นอะลูมิเนียมเพื่อนำกระป๋องกลับมาใช้ใหม่ (recycle)

กิจกรรมสัมมนาพันธมิตรทางธุรกิจของไทยเบฟประจำปี 2562 และเครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย


ไทยเบฟเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของคู่ค้า ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจรายสำคัญของบริษัทในการที่จะช่วยสนับสนุนบริษัทให้ก้าวไปสู่วิสัยทัศน์ 2020 บริษัทได้จัดกิจกรรมสัมมนาพันธมิตรทางธุรกิจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม ThaiBev Sustainability Day 2019 เพื่อชี้แจงกลยุทธ์และแนวทางในการดำเนินธุรกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้คู่ค้ารับทราบและช่วยให้คู่ค้าเข้าใจถึงโอกาสในการเติบโตไปพร้อมกับไทยเบฟได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังเป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนมุมมองทางธุรกิจระหว่างคู่ค้ากับไทยเบฟ รวมถึงเป้าหมายและความท้าทายในการดำเนินธุรกิจในยุคที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และการพัฒนาองค์กรของคู่ค้าให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในกิจกรรมนี้ ไทยเบฟยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรรายสำคัญในการจัดตั้งเครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย (Thailand Supply Chain Network) โดยมีจุดประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรผู้ประกอบการภาคธุรกิจของไทยในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์จากการลงทุนและการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมถึงผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยขยายกิจการออกสู่ต่างประเทศอย่างครบห่วงโซ่อุปทาน

ความมุ่งมั่นและความสำเร็จ
  • นโยบายและมาตรฐานในการจัดหาวัตถุดิบ

    กำหนดมาตรฐานในการจัดหาผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบหลักในกระบวนการผลิต ได้แก่ ข้าวมอลต์ น้ำตาล และน้ำมันปาล์ม เป็นต้น ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล อาทิ Bonsucro, RSPO, SEDEX เพื่อให้มั่นใจว่าวัตถุดิบผ่านการคัดสรรอย่างดีและผ่านกระบวนการจัดหาที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

  • กระบวนการตรวจประเมินคู่ค้า

    ตรวจสอบคู่ค้า ณ สถานประกอบการอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ คู่ค้ารายสำคัญ (Critical Supplier) เช่น คู่ค้าที่ไม่สามารถทดแทนได้ คู่ค้าที่มีมูลค่าซื้อขายต่อกันสูง เป็นต้น และคู่ค้าที่มีความเสี่ยงสูง เช่น คู่ค้าที่ขาดการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือไม่มีมาตรการว่าจ้างที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยมีทั้งผู้ทวนสอบภายในและผู้ทวนสอบอิสระในการตรวจสอบ ทั้งการตรวจสอบกระบวนการผลิตสินค้า ความปลอดภัยและสุขอนามัยในการจัดเก็บสินค้า การขนส่งสินค้า นอกจากนี้ยังตรวจสอบด้านความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ เช่น การปล่อยและจัดการของเสีย การใช้แรงงาน อาชีวอนามัยและความปลอดภัยของลูกจ้างของคู่ค้า เป็นต้น รวมถึงการใช้ฐานข้อมูลความเสี่ยงขององค์กรอิสระที่ได้รับการยอมรับระดับสากลในการประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ World Economic Forum, CSR Risk Check เป็นต้น ปัจจุบัน ไทยเบฟมีการตรวจประเมินคู่ค้าทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่ค้ารายสำคัญและคู่ค้าที่มีความเสี่ยงสูง

  • การมีส่วนร่วมของคู่ค้า

    ร่วมมือกับคู่ค้ารายสำคัญในการประเมินความเสี่ยงและตรวจสอบกระบวนการทำงานของกลุ่มคู่ค้าทางอ้อม (Non-tier 1 Supplier) โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานอย่างครบวงจร ไทยเบฟประสานงานกับคู่ค้ารายสำคัญอย่างสม่ำเสมอเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความเสี่ยงต่าง ๆ ของคู่ค้าทางอ้อม รวมถึงมอบหมายให้บุคลากรของไทยเบฟร่วมตรวจประเมินคู่ค้าทางอ้อม ณ สถานประกอบการร่วมกับผู้ทวนสอบของคู่ค้ารายสำคัญ เพื่อระบุและบรรเทาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานได้ทันท่วงที

แบ่งปันคุณค่า
คุณโฆษิต สุขสิงห์
รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง
เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนได้อย่างไร
“ในยุคปัจจุบันถือเป็นยุคที่วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หรือที่เรามักเรียกว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัล (Digital Transformation) นับว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจของไทยเบฟในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน พัฒนาบุคลากร รวมไปถึงคู่ค้าและพันธมิตรของเรา ให้พร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรของเราจะเติบโตได้ทันยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง

ในปีที่ผ่านมา ในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของไทยเบฟ เราได้นำระบบ CROSS Procurement เข้ามาใช้พัฒนาการจัดหาของเรา ช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งข้อมูลจากแต่ละส่วนงานและกระบวนการมีการเชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ตีความ และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ บุคลากรของเราเองสามารถตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้นจากข้อมูลที่มีคุณภาพ และสามารถสร้างสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์กับคู่ค้าได้จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแบ่งรับความเสี่ยงซึ่งกันและกันได้ อันสอดคล้องกับกลยุทธ์การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานทั้ง 5 มิติ ประกอบด้วย ศักยภาพในการเข้าถึงข้อมูล (Visibility) การผสานความร่วมมือ (Synergy) การบริหารจัดการความเสี่ยงแบบบูรณาการ (Integrated Risk Management) การบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ (Centralized Management) และการสร้างมาตรฐาน (Standardization)

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้การจัดหาของไทยเบฟมีความโปร่งใส ยุติธรรม และอยู่บนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล อันเป็นรากฐานและหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน”
ทิศทางการดำเนินงาน
2563
100%
ของคู่ค้าที่จำหน่ายสินค้าและบริการให้กับ ไทยเบฟอย่างสม่ำเสมอ (Active Supplier) จะต้องยอมรับและปฏิบัติตาม แนวทางปฏิบัติสำหรับคู่ค้าของบริษัท
เพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศ และการกระจายรายได้ในท้องถิ่น
ไทยเบฟมุ่งมั่นที่จะรักษาอัตราส่วนคู่ค้า ในประเทศที่บริษัทจัดหาสินค้าและบริการอยู่ที่
95%

100%
ของคู่ค้ารายใหม่ที่จะดำเนินธุรกิจ กับไทยเบฟทุกราย จะต้องยอมรับ และปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติสำหรับคู่ค้า และผ่านการประเมินความเสี่ยง ด้านความยั่งยืน
2568
ไทยเบฟกำหนดเป้าหมายให้คู่ค้า
100%
ที่จำหน่ายสินค้าและบริการให้กับ บริษัทอย่างสม่ำเสมอ (Active Supplier) เข้ารับการประเมิน และตรวจสอบความเสี่ยงด้านความยั่งยืน
ไทยเบฟจะจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตร ที่เป็นวัตถุดิบหลักในกระบวนการผลิต
จากแหล่งที่มาที่มีมาตรฐาน และมีความรับผิดชอบ ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม