รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2562

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2562 / แนวทางการพัฒนาความยั่งยืนของไทยเบฟ
โครงสร้างการพัฒนาความยั่งยืนของไทยเบฟ


การบริหารจัดการด้านความยั่งยืน

คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลธุรกิจกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานและพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างสมดุลกัน คณะกรรมการบริษัทจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยง ทำหน้าที่สนับสนุนคณะกรรมการบริษัทในการกำหนดนโยบายความยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยง กำหนดกลยุทธ์ด้านการพัฒนาองค์กรของกลุ่มไทยเบฟอย่างยั่งยืน รวมทั้งกำกับดูแลกิจกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับนโยบายและกลยุทธ์ที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้

เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาความยั่งยืนให้เกิดเป็นรูปธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาความยั่งยืนทางธุรกิจเพื่อรับผิดชอบในการพิจารณา วางแผน และดำเนินการด้านการพัฒนาความยั่งยืนของไทยเบฟให้สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานและกลยุทธ์ขององค์กรที่กำหนดโดยคณะกรรมการบริษัทหรือคณะกรรมการบริหาร นอกจากนี้ ยังมีคณะทำงานพัฒนาความยั่งยืนทางธุรกิจ (Sustainable Development Working Team) ประกอบด้วยตัวแทนจากสายงานต่าง ๆ เป็นผู้ให้การสนับสนุนคณะกรรมการพัฒนาความยั่งยืนทางธุรกิจ โดยมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำแผนงานและโครงการ

สนับสนุนแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งมีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินสาระสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัท ด้วยการทวนสอบความครบถ้วนของประเด็นสำคัญต่อความยั่งยืนขององค์กร พร้อมทั้งติดตามการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและรายงานผลต่อคณะกรรมการพัฒนาความยั่งยืนทางธุรกิจและคณะกรรมการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยง

ไทยเบฟได้เข้าร่วมการประเมินความยั่งยืน Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) หรือดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 และในปี 2562 ไทยเบฟได้รับคัดเลือกเป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มระดับโลก ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ถือเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มของอาเซียนเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับการประเมินให้เป็นที่ 1 หรือผู้นำด้านความยั่งยืนในอันดับสูงที่สุดของโลกต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน เป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ในกลุ่มดัชนีโลก (DJSI World) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (DJSI Emerging Markets) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 นอกจากนี้ผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างก้าวกระโดดทำให้ไทยเบฟ ได้รับเลือกให้เป็นบริษัทที่มีการพัฒนาความยั่งยืนเร็วที่สุด (Industry Mover) ในปี 2560 และ 2561 ความสำเร็จนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของไทยเบฟที่จะดำเนินธุรกิจบนแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ไทยเบฟให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก เนื่องจากส่งผลกระทบมาสู่สังคม ซึ่งทั้งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมต่างส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท หากสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ชุมชนก็จะอยู่ไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อสังคมในภาพรวม ทำให้ธุรกิจไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ดังนั้น สิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีความเกื้อกูลกันและดำรงอยู่อย่างสอดคล้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน

บทสัมภาษณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านความยั่งยืน
ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล
เลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา
ทรัพยากรธรรมชาติในโลกของเรานั้นร่อยหรอลงทุกวัน เพราะบนโลกใบเดิมมีจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจนเกินจุดสมดุล มีการประมาณการกันว่าเราต้องการโลก 3 ใบ จึงจะมีทรัพยากรธรรมชาติที่เพียงพอกับความต้องการและรองรับขยะของคนทั้งโลก ดังนั้นการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบจึงเป็นหน้าที่และเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องใส่ใจก่อนที่สงครามแห่งการแย่งชิงทรัพยากรจะเกิดขึ้นทั่วโลก

ในด้านของธุรกิจนั้น ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ หรือ CSR ได้เปลี่ยนรูปแบบจากการบริจาคมาสู่การดำเนินงานที่มีความต่อเนื่องและมีการวัดผลมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนขึ้น บริษัทหลายแห่งที่เคยดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมเพียงเพื่อจะชดเชยผลกระทบด้านลบที่กิจการของตนได้สร้างขึ้นต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เริ่มหันมาให้ความสนใจกับมิติอื่น ๆ ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติด้านสังคม

อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาและพัฒนางานด้านสังคมนั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ “ภูมิสังคม” ในแต่ละพื้นที่ คำว่า “ภูมิ” หมายถึง สภาพภูมิศาสตร์หรือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ส่วนคำว่า “สังคม” รวมไปถึงความเข้าใจในความคิด ความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมของคนในพื้นที่นั้น ๆ เมื่อเข้าใจถึงภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่แล้ว การทำงานกับชุมชนยังจะต้องทำให้เกิด 3 สิ่งคือ “เข้าใจ”และ “เข้าถึง” คนในพื้นที่ ก่อนที่จะ “พัฒนา” พวกเขาเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ในระยะยาว

องค์กรชั้นนำอย่างบริษัทไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งมีเครือข่ายด้านธุรกิจมากมาย สามารถเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันแนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ไม่ว่าจะผ่านการผลักดันมาตรฐานด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน ตลอดจนการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และอีกหลาย ๆ ด้าน โดยเป้าหมายสูงสุดอาจจะเป็นการสร้าง “ประโยชน์สุข” ให้แก่องค์กร แก่เครือข่ายธุรกิจ และแก่ประเทศชาติ อันจะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจและคำยกย่องนับถือ