รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2562

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2562 / ใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม
การจัดการด้านพลังงาน
GRI 302-1, GRI 302-3, GRI 302-4, GRI 302-5
ไทยเบฟส่งเสริมการดำเนินการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายที่จะลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มการใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันโลกของเรามีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากภาวะเรือนกระจกซึ่งเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้เกิดพลังงานความร้อนสะสมในบรรยากาศของโลกมากที่สุด

ไทยเบฟจึงได้พัฒนาเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตเพื่อใช้พลังงานทดแทนเป็นพลังงานหลัก ตลอดจนสร้างจิตสำนึกให้พนักงานมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสนับสนุนการดำเนินโครงการต่าง ๆ เช่น การใช้พลังงานทดแทนจากเซลล์แสงอาทิตย์ และการนำผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตมาเป็น เชื้อเพลิงสำหรับการผลิต
โครงการทวนสอบการใช้พลังงาน ขององค์กร (Energy Audit)
เป็นโครงการขององค์กรเพื่อประเมินการใช้พลังงานของแต่ละกิจกรรมที่เกิดขึ้น และหาความเป็นไปได้ที่จะลดการใช้พลังงานผ่านการใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เหมาะสมหรือใช้พลังงานทดแทนอื่น ๆ แล้วนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด จากโครงการดังกล่าวทำให้โรงงานสามารถลดการใช้พลังงานและนำนวัตกรรมมาใช้ ตัวอย่างเช่น กลุ่มธุรกิจเบียร์และสุราทำการติดตั้งหม้อไอน้ำแบบไหลทางเดียว (Once Through Boiler) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดการใช้เชื้อเพลิงที่ใช้แล้วหมดไป โดยกลุ่มธุรกิจเบียร์สามารถลดการใช้ถ่านหิน 428 ตันต่อปี ทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 702 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และกลุ่มธุรกิจสุราสามารถลดการใช้น้ำมันเตา 280,823 ลิตรต่อปี ส่งผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 836 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจเบียร์ได้จัดทำโครงการใช้มอเตอร์ประสิทธิภาพสูง จุดประสงค์เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ทำให้ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ 150,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 87.3 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
โครงการผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Rooftop)
เป็นโครงการติดตั้งแผงพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์บริเวณหลังคาอาคารเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับโรงงานในประเทศรวม 27 แห่ง และโรงงานประเทศเมียนมา 1 แห่ง โดยการติดตั้งจะแล้วเสร็จในปี 2568 รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 20 เมกะวัตต์ (MWp) สามารถลดการซื้อพลังงานไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 26,000 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ต่อปี และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 12,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ทั้งนี้คาดว่าจะลดการซื้อพลังงานไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ถึง 96,200,000 บาท
โครงการก่อตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biogas)
เป็นโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biogas) เพิ่มเติมอีก 2 แห่งที่โรงงานสุราจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดหนองคาย จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 5 แห่ง คือ โรงงานสุราจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุราษฎร์ธานี จุดประสงค์เพื่อนำผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตมาใช้เป็นพลังงานทดแทน โดยการนำน้ำกากส่าซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้จากกระบวนการกลั่นสุรามาผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาในการผลิตไอน้ำสำหรับโรงงานสุรา

ซึ่งสามารถลดการใช้น้ำมันเตาเฉลี่ย 2 ล้านลิตรต่อโรงงานต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปริมาณโรงงานละ 38,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และนำก๊าซชีวภาพส่วนที่เหลือใช้จากโรงงานมาผลิตพลังงานไฟฟ้าจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
แบ่งปันคุณค่า

คุณพิเชษ เชษฐาพงศาพันธุ์
ผู้อำนวยการฝ่ายโรงงาน
บริษัท คอสมอส บริวเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด
แผนพัฒนาการใช้พลังงานและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอย่างไร
“ปัจจุบันกลุ่มโรงงานเบียร์มีการวางแผนลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของไทยเบฟในปี 2568 โดยเฉพาะการจัดการพลังงานทดแทนที่สามารถหมุนเวียนนำกลับมาใช้ได้ใหม่มากขึ้น โดยจัดสรรงบประมาณในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทนพลังงานไฟฟ้า และใช้พลังงานชีวภาพที่ได้จากระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น การติดตั้งหม้อไอน้ำแบบไหลทางเดียว (Once Through Boiler) และวางแผนการใช้พลังงานให้สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต คือ ลดการใช้พลังงานมากเกินความจำเป็น พัฒนาเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพสูงอัตราการใช้พลังงานให้ต่ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากยิ่งขึ้น เช่น การใช้เครื่องจักรในการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการหมักนำกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิต (CO2 Recovery Plant) ที่สามารถมาช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและสามารถนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้ในกระบวนการผลิตได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และแผนงานที่สำคัญที่สุดคือ การอบรมให้ความรู้กับพนักงานมากขึ้น เพื่อมีส่วนร่วมในการใช้พลังงานอย่างประหยัดมีคุณค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด

ภายในกลุ่มโรงงานเบียร์มีการรณรงค์ลดการใช้และศึกษาโอกาสในการยกเลิกการใช้พลาสติก โดยจัดทำแผนเลิกใช้พลาสติกภายในโรงงาน เช่น ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผสมสารอ็อกโซ่ (OXO-degradable) ไมโครบีดส์ (Microbeads) หลอดพลาสติก และกล่องโฟม ซึ่งมีการเก็บข้อมูลติดตามผลอย่างต่อเนื่อง”
ความสำเร็จด้านการจัดการพลังงาน

7%
การลดอัตราส่วน ในการใช้พลังงาน ต่อหน่วยผลิตภัณฑ์
เปรียบเทียบกับปีฐาน 2557

244.89
เมกะจูลต่อเฮกโตลิตร
อัตราการใช้พลังงาน ต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ ของธุรกิจเครื่องดื่ม

6.93
เมกะจูลต่อกิโลกรัม
อัตราการใช้พลังงาน ต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ ของธุรกิจอาหาร




อัตราการใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสิ้นเปลือง และพลังงานทั้งหมด
ตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2562 (ธุรกิจเครื่องดื่ม)
การใช้พลังงานสิ้นเปลือง
การใช้พลังงานหมุนเวียน

หมายเหตุ :
  • แสดงอัตราการใช้พลังงานของธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศไทย
  • อัตราการใช้พลังงานทั้งหมดของไทยเบฟรวมต่างประเทศปี 2562 คือ 244.89 เมกะจูลต่อหน่วยผลิตภัณฑ์
  • เป้าหมายปี 2563 ลดอัตราส่วนการใช้พลังงานต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ 5% เมื่อเทียบกับปีฐาน 2557



อัตราการใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสิ้นเปลือง และพลังงานทั้งหมด
ปี 2560 ถึง 2562 (ธุรกิจอาหาร)
สัดส่วนการใช้พลังงานสิ้นเปลือง
สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน*
ทิศทางการดำเนินงาน

การใช้พลังงาน เป้าหมายปี 2563
5%
เป้าหมายการลดอัตราส่วน การใช้พลังงานต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ ลงภายในปี 2563
เปรียบเทียบกับปีฐาน 2557