รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2562

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2562 / / แบ่งปันคุณค่าให้คนทั่วโลก
การพัฒนาด้านการศึกษา


ไทยเบฟเชื่อมั่นว่า การพัฒนาความรู้และเพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรบุคคล มีส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยไทยเบฟได้ให้การสนับสนุนด้านการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ ให้แก่เด็กและเยาวชน ผ่านโครงการหลากหลายรูปแบบ เช่น การสนับสนุนทุนการศึกษา การส่งเสริมความรู้ และทักษะอาชีพ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ด้วยมุ่งหวังให้ทุกคนก้าวไปสู่การพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติต่อไป

อีกทั้งยังให้การสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับบุคลากรขององค์กร และบุตรของพนักงาน เพื่อเสริมสร้างความสามารถ และเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงาน
โครงการทุนการศึกษาบุตรพนักงาน
เพราะลูกคือทุกสิ่งทุกอย่างของพ่อแม่ ไทยเบฟได้ดูแลใส่ใจในชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานและยังดูแลบุตรของพนักงาน ไทยเบฟให้ความสำคัญอย่างจริงจังในการสนับสนุนการศึกษา โดยมอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรของพนักงานตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา โดยมอบทุนการศึกษาให้กับบุตรของพนักงานที่มีผลการเรียนดี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายการศึกษาให้กับครอบครัวพนักงาน ซึ่งจะพิจารณาคัดเลือกผู้รับทุนจากบุตรของพนักงานที่มีเงินเดือนในอัตราระดับปฏิบัติการ มีผลการประเมินการทำงานอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นไป มีความประพฤติดี ส่วนบุตรต้องมีความประพฤติและผลการเรียนที่ดี

นอกจากนี้ ไทยเบฟยังได้มอบทุนการศึกษากรณีพิเศษ ภายใต้ชื่อโครงการช้างเผือก เพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแก่บุตรพนักงานที่มีผลการเรียนดีเป็นพิเศษ โดยไทยเบฟได้มอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรพนักงานตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ปี 2562 เป็นปีที่ 10 รวมทั้งสิ้นมากกว่า 10,300 ทุน รวมเป็นเงินมากกว่า 64 ล้านบาท และในปี 2562 บุตรพนักงานได้รับทุนจำนวน 1,112 ทุน เป็นเงินทั้งสิ้น 6,891,000 บาท

นอกจากมอบทุนการศึกษา ไทยเบฟยังพิจารณารับบุตรของพนักงานที่ได้รับทุนเข้าทำงานในไทยเบฟอีกด้วย ปัจจุบันมีบุตรของพนักงานที่เคยได้รับทุนการศึกษาและเข้าทำงานกับไทยเบฟจำนวน 40 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มบริหารช่องทางการจัดจำหน่าย 10 คน กลุ่มธุรกิจสุรา 12 คน กลุ่มธุรกิจเบียร์ 3 คน กลุ่มการเงินและบัญชี 2 คน กลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง 11 คน สำนักตรวจสอบภายใน 1 คน และบริษัทในกลุ่มไทยเบฟจำนวน 1 คน
แบ่งปันคุณค่า

คุณจิรัฏฐ์ ภักดีภิญโญ
ได้รับทุนการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาในปี 2553-2554 ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งวิศวกร บริษัท แสงโสม จำกัด
“รู้สึกดีใจมากครับที่ได้รับโอกาสทั้งทุนการศึกษาและโอกาสในการเข้าทำงานกับไทยเบฟ เนื่องจากผมรู้สึกผูกพันกับไทยเบฟมาตั้งแต่เด็ก ๆ เนื่องจากคุณแม่ทำงานที่ไทยเบฟ เมื่อเรียนในระดับอุดมศึกษาก็ได้มีโอกาสเข้ามาฝึกงาน รู้สึกเป็นกันเองกับพี่ ๆ ในบริษัทเป็นอย่างมากจนทำให้รู้สึกว่าอยากเข้ามาทำงานกับไทยเบฟ จนกระทั่งเมื่อเรียนจบ ผมจึงเข้ามาสมัครงานที่นี่เป็นที่แรกและก็ได้รับโอกาสเข้ามาทำงานเลย รู้สึกดีใจมาก ๆ เลยครับ การทำงานที่นี่มีความอบอุ่น เป็นกันเอง อยู่กับพี่ ๆ ที่ร่วมงาน ทำงานได้อย่างสบายใจและมีความสุข ทั้งนี้ ไทยเบฟยังมีทุนการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกให้กับพนักงานอีกด้วยครับ”
โครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (Connext ED)
ไทยเบฟส่งเสริมด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในโครงการคอนเน็กซ์ อีดี (Connext ED) อย่างต่อเนื่องขึ้นปีที่ 3 โดยในปี 2562 ได้ให้ทุนสนับสนุนด้านการศึกษารวมกว่า 25 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนตั้งต้นในการจัดกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นโครงการจัดตั้งธุรกิจจำลอง “ทำมาค้าขาย” ให้นักเรียนและนักศึกษาได้ฝึกฝนอาชีพเพื่อแบ่งเบาภาระให้แก่ครอบครัว และจัดกิจกรรมการประกวดโอทอป จูเนียร์ (OTOP Junior) ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน ให้กับโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศกว่า 290 แห่ง นอกจากนี้ยังขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพิ่มเป็น 27 แห่งทั่วประเทศ

เพื่อให้นักเรียนได้เสริมสร้างทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต และปลูกฝังการเป็นคนดี ผ่านการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายด้านการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย สถานศึกษาในชุมชน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และพนักงานจิตอาสาในองค์กร
โรงเรียน

จำนวนโรงเรียน ที่สนับสนุน
306 แห่ง
290 แห่ง

จำนวนเงิน สนับสนุนโรงเรียน
23,471,850 บาท
ข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561
5,973,000* บาท
ข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562

*จำนวนเงินสนับสนุนลดลงในปี 2562 เนื่องจากเป็นการมุ่งเน้นการต่อยอดจากโครงการเดิมในปี 2561
มหาวิทยาลัย

จำนวนมหาวิทยาลัย ที่สนับสนุนและ ขยายความร่วมมือ
23 แห่ง
27 แห่ง

จำนวนเงินสนับสนุน มหาวิทยาลัย
18,362,800 บาท
ข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561
19,140,000 บาท
ข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562
โครงการจัดตั้งธุรกิจจำลอง “ทำมาค้าขาย”
โครงการจัดตั้งธุรกิจจำลอง “ทำมาค้าขาย” ดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 เพื่อตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของการทำมาค้าขายอย่างแท้จริง ผ่านการพัฒนา 1 โครงการต่อ 1 โรงเรียน รวมเป็นจำนวน 290 โครงการ


โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างทักษะการประกอบธุรกิจขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ไทยเบฟให้ทุนตั้งต้นในการทดลองทำโครงการธุรกิจในโรงเรียนประชารัฐกว่า 290 แห่ง ใน 47 จังหวัด มีนักเรียนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้กว่า 1,000 คน และยังได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยพันธมิตร 27 แห่ง ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง มุ่งเน้นให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนเรื่องการบริหารการเงินและบัญชีและการต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อเตรียมความพร้อมออกสู่ตลาดจริง ภายใต้แนวคิด “พี่ช่วยน้อง” เกิดเป็นกระบวนการสร้างสรรค์และแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน สร้างรายได้รวมให้แก่เด็กนักเรียนที่ร่วมโครงการทั้งสิ้นกว่า 9 แสนบาท
จำนวนโครงการจัดตั้งธุรกิจจำลอง
“ทำมาค้าขาย”
593 โครงการ
ข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561
290 โครงการ
ข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562
แบ่งปันคุณค่า

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณรัฐวรรณ มุสิก
อาจารย์ประจำสาขาการบัญชี คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เครือข่ายมหาวิทยาลัย)
ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงดูแลโรงเรียนมหาชัยพิทยาคาร จังหวัดมหาสารคาม คิดว่านักเรียนได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการดำเนินโครงการทำมาค้าขาย การเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์
“ได้ประโยชน์หลายต่อ ต่อที่ 1 คือ เด็กมีอาหารกลางวันที่ดีขึ้นและมีรายได้ ต่อที่ 2 ถ้าเด็กนักเรียนไม่ได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา เขาจะมีอาชีพ ไม่เป็นภาระของสังคม”
กิจกรรมการประกวดโอทอป จูเนียร์ (OTOP Junior Contest)


เป็นหนึ่งในกิจกรรมเด่นภายใต้โครงการจัดตั้งธุรกิจจำลอง “ทำมาค้าขาย” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

ปัจจุบันการประกวดนี้เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ เฟสบุ๊ค และมียอดผู้เข้าชมในเพจจำนวน 2,373 คน กิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้กลุ่มนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ส่งผลิตภัณฑ์ที่แสดงอัตลักษณ์ท้องถิ่นเข้าร่วมประกวด เป็นเวทีแสดงความสามารถของนักเรียนจากโรงเรียนที่ทำโครงการธุรกิจจำลอง “ทำมาค้าขาย” และเปิดกว้างให้กับนักเรียนทั่วประเทศเข้าร่วมประกวด ถือเป็นการสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการในอนาคต ตลอด 2 ปีที่ผ่านมามีผู้สนใจเข้าร่วมประกวดมากกว่า 600 กลุ่มจากโรงเรียนทั่วประเทศไทย

โดยมี 20 กลุ่มที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัลรวมมากกว่า 500,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของแต่ละกลุ่ม นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นักเรียนได้จัดแสดงผลงานและขายสินค้าจริงในงานโอทอป ซิตี้ (OTOP City) พร้อมกับร่วมกิจกรรมเปิดมุมมองเชิงธุรกิจ กิจกรรมวอล์กแรลลีพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้ประกอบการ ยังโอทอป (Young OTOP) และเปิดโลกทัศน์ประสบการณ์นอกห้องเรียนผ่านกิจกรรมทัศนศึกษา
โอกาสสำหรับเด็กพิเศษ
โครงการธุรกิจจำลอง “ทำมาค้าขาย” ยังครอบคลุมถึง โรงเรียนเด็กพิเศษ 7 แห่ง ใน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ พิษณุโลก อุบลราชธานี และสงขลา โดยให้ความรู้และฝึกฝนเด็กพิเศษจำนวนกว่า 200 คน ให้มีสมาธิและพัฒนากล้ามเนื้อแขนผ่านการทำงานศิลปะภาพนูนต่ำและการประดิษฐ์โคมไฟกะลามะพร้าว โดยมีครูผู้เชี่ยวชาญพาเด็ก ๆ ออกไปเรียนรู้การผลิตจากเจ้าของธุรกิจที่ทำขายจริงอยู่แล้ว และช่วยกันประดิษฐ์สิ่งของ

โดยแบ่งงานกันคนละขั้นตอน แล้วนำมาประกอบเข้าด้วยกัน จนสามารถนำออกขายได้จริง ปัจจุบันมีสินค้าที่เด็กพิเศษทำขายได้จริงหลายประเภท เช่น พวงกุญแจ โคมไฟกะลามะพร้าว และยาหม่องสมุนไพร เป็นต้น ถึงแม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องของการนำเสนอ แต่เด็ก ๆ พิเศษยังได้รับโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมประกวดโอทอปจูเนียร์แข่งกับโรงเรียนอื่น ๆ และมีโอกาสได้รับ “รางวัลสร้างแรงบันดาลใจ” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเกิดความเชื่อมั่นในตนเองอีกด้วย
Insight

น.ส.สุภาพร ทากลม (ครูแต้ว)
ครูโรงเรียนกาวิละอนุกูล จังหวัดเชียงใหม่
ภายใต้โครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (Connext ED)
“กิจกรรมทัศนศึกษาที่เปิดกว้างให้กับนักเรียนที่บกพร่องทางสติปัญญาที่ส่งผลิตภัณฑ์เข้าร่วมประกวดโอทอป จูเนียร์ (OTOP Junior) เปิดโลกทัศน์น้องที่บกพร่องทางสติปัญญา แต่ไม่บกพร่องทางจินตนาการและประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ ๆ”
โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School)



ไทยเบฟร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคส่วนอื่น ๆ ในการบริหารสถานศึกษาและพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะกับความต้องการของท้องถิ่นและชุมชน รวมถึงเป็นการเสริมสร้างทักษะให้เด็กในอนาคต โดยในปีการศึกษา 2561 ไทยเบฟเป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโรงเรียน 19 แห่ง ใน 13 จังหวัด และในปีการศึกษา 2562 สนับสนุนโรงเรียนเพิ่มเติมอีก 4 แห่งในอีก 2 จังหวัด ซึ่งในปีที่ 2 นี้ ไทยเบฟได้เสริมความเข้มแข็งของโครงการโดยมีแผนที่จะดำเนินการขับเคลื่อนโครงการนี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี หรือจนถึงปี 2564
แบ่งปันคุณค่า

ดร.อมรรัตน์ โสธารัตน์
ผู้อำนวยการโรงเรียนท่าฉางวิทยาคาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ภายใต้โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา
หลังจากเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
“โรงเรียนท่าฉางวิทยาคารดำเนินโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาเข้าสู่ปีที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน เช่น นักเรียนได้รับรางวัลระดับชาติจากการแข่งขันประติมากรรม โครงการปาล์มน้ำมัน เปลี่ยนจากพื้นที่ว่างเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนและชุมชน นอกจากนี้ผู้ประสานงานไทยเบฟยังเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษา ไม่ใช่เพียงแค่ร่วมวางแผน แต่ร่วมประเมินผล และร่วมพัฒนา ขอบคุณไทยเบฟและทีมงานไทยเบฟในพื้นที่ที่ให้ความสำคัญในการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาคนคุณภาพสู่สังคมคุณภาพ”


ด.ช.พีรณัฐ โสภาพ (แจม)
โรงเรียนวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท
ภายใต้โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา
อะไรทำให้ตัดสินใจเข้าประกวดร้องเพลงครั้งนี้ และรู้สึกอย่างไรที่ได้รางวัล
“ตอนนี้ผมเรียนอยู่ ม.2 ผมอยู่กับพ่อสองคน วันเสาร์และอาทิตย์ผมจะไปรับจ้างนวดแผนไทยเพื่อหาเงินมาช่วยพ่อและเรียนหนังสือ ปกติผมไม่ค่อยมั่นใจ แต่ชอบร้องเพลง คุณครูก็เลยมาชวน หลังจากประกวดร้องเพลง Kids Day (กิจกรรมที่เชื่อมมาจากโรงเรียนร่วมพัฒนา) ชนะ ผมรู้สึกภูมิใจมากและรู้สึกว่าตัวเองกล้าแสดงออกมากขึ้น อยากขอบคุณโอกาสจากไทยเบฟ ที่ทำให้ผมเจอความฝันของตัวเองว่าอยากจะเป็นนักร้องอาชีพ ผมจะตั้งใจฝึกต่อไปและทำให้เป็นจริงให้ได้”


คุณพิเชฐ ทินอยู่
สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง
ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
“ผมรู้สึกยินดีและขอบคุณที่บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก จำกัด (TBL) เข้ามาร่วมคิด วางแผน ร่วมพัฒนากิจกรรมโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) กับโรงเรียน ทำให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสเข้าถึงสื่อการเรียนที่ทันสมัยทั้งด้านดนตรี กีฬา และวิชาการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา พัฒนาการทั้งไอคิว (IQ) และอีคิว (EQ) ของเด็ก ๆ ให้ดียิ่งขึ้น

ผมเชื่อว่าทั้งเขตพื้นที่การศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ TBL จะร่วมมือกันยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนอนุบาลเกาะคา (น้ำตาลอนุเคราะห์) ไปด้วยกันต่อไปครับ”
ตัวอย่างกิจกรรมจากโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School)
  • อบรมช่วยเหลือคนในภาวะฉุกเฉิน โรงเรียนวัดจุฬามณี (ชุณหะจันทนประชาสรรค์) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    เพิ่มทักษะชีวิต ความรู้ในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที ผ่านการทำซีพีอาร์ (CPR)
  • อบรมภาษาอังกฤษครูโรงเรียนอนุบาลเกาะคา จังหวัดลำปาง
    อบรมครูผ่านสื่อการสอนหลักสูตร มาร์แชล คาเวนดิช เอ็ดดูเคชัน (Marshall Cavendish Education)
  • กิจกรรมแนะแนวอาชีพ โรงเรียนท่าฉางวิทยาคาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
    เปิดมุมมองอาชีพต่าง ๆ จากพนักงานไทยเบฟและผู้ประกอบอาชีพจริงมากกว่า 20 อาชีพ
  • กิจกรรมลูกเสือสร้างความสามัคคี โรงเรียนอนุบาลปัตตานี จังหวัดปัตตานี
    ปลูกฝังความสามัคคี เพื่อวางรากฐานของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ไทยเบฟมุ่งหวังพัฒนาให้เด็กนักเรียนมีทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต และการเป็นคนดี เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาชีวิตต่อไปในอนาคต โดยสนับสนุนการจัดกิจกรรมภายในโรงเรียนเพื่อให้ความรู้และฝึกอบรมผ่านการวางแผนร่วมกับคณะครู ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา และชุมชน สะท้อนแนวคิด “บวร” “บ้าน-วัด-โรงเรียน” ซึ่งทั้งสามอย่างเป็นเสาหลักที่ยึดโยงค้ำจุนกันของคนในสังคมไทยอย่างสมดุล แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือจาก “บริษัท-วิสาหกิจชุมชน-ราชการ” เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ เป็นพลังขับเคลื่อนทั้งในพื้นที่และจากทุกภาคส่วนในการวางรากฐานให้สังคมไทยเข้มแข็ง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
แบ่งปันคุณค่า

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
การประชุมโครงการสรุปแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนและทักษะชีวิต ภายใต้ “โครงการทำมาค้าขาย” ของโรงเรียนโครงการสานพลังประชารัฐ และโรงเรียนร่วมพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อวันพุธที่ 13 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท จังหวัดสงขลา

“โครงการทำมาค้าขาย ด้วยการสนับสนุนของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีความสำคัญต่อการนำความรู้จากการศึกษาไปช่วยสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน เปรียบเสมือนต้นทางของการพัฒนาคนให้มีทักษะ มีความรู้ อยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า สร้างความเป็นอยู่ที่ดีและความเจริญให้กับครอบครัวและชุมชน ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการมีความตั้งมั่นในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละพื้นที่และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงศึกษาธิการได้น้อมนำยุทธศาสตร์ ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมทั้งพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) เกี่ยวกับการศึกษาที่ต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ

1. มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง ที่ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2. มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรมจริยธรรม

3. มีงานทำ มีอาชีพสุจริต

4. เป็นพลเมืองดี

นำมาเป็นหลักคิดในการสร้างโอกาสด้านการศึกษา รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว

ขอขอบคุณบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่มุ่งมั่นให้การสนับสนุนการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตลอดจนยกระดับเศรษฐกิจในระดับชุมชนอย่างดียิ่งเสมอมา”
โครงการครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ไทยเบฟให้การสนับสนุนโครงการครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ตั้งแต่รุ่นที่ 5 จนถึงรุ่นปัจจุบัน ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 70 โรงเรียน โดยแบ่งรางวัลออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รางวัลเพื่อมอบให้กับครูเจ้าฟ้าฯ รุ่นปัจจุบัน และรางวัลสำหรับครูเจ้าฟ้าฯ รุ่นเก่าเพื่อนำไปดำเนินการในโครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยในปีนี้ นายสุเทพ เท่งประกิจ ครูโรงเรียนบ้านคลองน้ำใส สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จังหวัดยะลา ครูเจ้าฟ้าฯ รุ่นที่ 5 ได้รับการคัดเลือกให้รับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง พัฒนาคุณภาพชีวิตลูกศิษย์เพื่อให้ก้าวหน้าสู่ความสำเร็จในชีวิต อีกทั้งยังมีคุณูปการต่อวงการศึกษา

นอกจากนี้โครงการครูเจ้าฟ้าฯ ยังได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพและรายได้แบบพึ่งพาตนเองได้ เช่น งานด้านปศุสัตว์ การเลี้ยงไก่ไข่ และโครงการเพาะเห็ดเพื่อเป็นอาหารกลางวันให้กับนักเรียน และอุปกรณ์ทางด้านการตัดเย็บเพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่อไป ทำให้ชุมชนเกิดแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เกิดอาชีพใหม่ในชุมชน มีกองทุนเพื่อการพึ่งพาตนเอง รวมถึงครอบครัวได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
โครงการเรียนเพิ่มเสริมอาชีพกับไทยเบฟ
ไทยเบฟสนับสนุนโครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม สำหรับชุมชนในถิ่นทุรกันดารที่มีหลากหลายชาติพันธุ์ ต่างภาษา โดยนำแนวคิดแบบพอเพียงมาปรับใช้ในครอบครัว ชุมชน และโรงเรียน เพื่อให้ชุมชนมีอาชีพ มีรายได้ เป็นการวางรากฐานความยั่งยืนที่ดีของชุมชนและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้ ซึ่งโครงการนี้ประกอบด้วยการเสริมทักษะอาชีพในด้านต่าง ๆ เช่น ทักษะการตัดเย็บ การทำขนมเบเกอรี่ และการตัดผมชายหญิง

โดยเฉพาะความรู้ด้านการตัดผมชายหญิงนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อาจด้วยการลงจากภูเขามาเรียนในตัวอำเภอน่าจะเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับเด็กชาวเขา

ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาหลักสูตรการตัดผมในโรงเรียนขึ้นและเปิดเป็นร้านตัดผมจำนวน 2 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดน่าน บริเวณหมู่บ้านน้ำปูน ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน และโรงเรียนบ้านห่างทางหลวง ตำบลบ่อเกลือ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
โครงการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อสังคม (Beta Young Entrepreneur)
โครงการเริ่มขึ้นเมื่อปี 2554 เกิดจากการประสานความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมูลนิธิสิริวัฒนภักดี ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนานักศึกษาของวิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้เติบโตเป็นผู้ประกอบการที่มีความรู้ความสามารถ มีศักยภาพ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีการจัดกิจกรรมหลากหลายเพื่อพัฒนานักศึกษาในด้านธุรกิจควบคู่ไปกับด้านคุณธรรมและจริยธรรม
การส่งเสริมทางด้านธุรกิจ
ไทยเบฟสนับสนุนการทดลองทำธุรกิจในภาคปฏิบัติ โดยนักศึกษาในโครงการจะได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนถึงชั้นปีที่ 4 ดังนี้
  • นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ฝึกงานกับไทยเบฟ เพื่อเรียนรู้กระบวนการทำงานในรูปแบบบริษัท โดยมีโอกาสสร้างประสบการณ์จากการทำงานจริงและเรียนรู้การทำงานเป็นทีม
  • นักศึกษาชั้นปีที่ 2 เรียนรู้และทดลองทำธุรกิจจริงผ่านการซื้อมาขายไป ซึ่งนักศึกษาที่ผ่านการทำธุรกิจตั้งต้นนี้ บางคนสามารถต่อยอดจนกลายเป็นธุรกิจของตนเอง และสร้างรายได้จนประสบความสำเร็จ
  • นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เรียนรู้องค์รวมในการทำธุรกิจจริงผ่านรูปแบบของบริษัทจำลอง ซึ่งนอกจากนักศึกษาจะได้เรียนรู้การทำธุรกิจในด้านต่าง ๆ แล้ว ยังได้เรียนรู้การบริหารจัดการองค์กรอีกด้วย
  • นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จะเป็นผู้ฝึกสอนและผู้ให้คำปรึกษาในการทำธุรกิจตั้งต้นและบริษัทจำลองให้กับน้อง ๆ ชั้นปีที่ 2 และปีที่ 3

นอกจากนี้นักศึกษาในโครงการทุกชั้นปียังได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของไทยเบฟ เช่น งานสายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย นักศึกษาได้รับโอกาสจากไทยเบฟ ให้ออกบูธจัดจำหน่ายกระทงภายในงาน เพื่อฝึกการวางแผน การบริหารต้นทุน และการพัฒนาทักษะการขายและการตลาด

การส่งเสริมด้านคุณธรรมและจริยธรรม
ไทยเบฟเห็นความสำคัญของการเป็นผู้ประกอบการ นอกจากจะพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการที่มีความรู้ ความสามารถ และมีศักยภาพ ยังปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อลดปัญหาการทุจริตในสังคม รวมถึงให้โอกาสได้สร้างความผูกพันกับไทยเบฟและสร้างเครือข่ายที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยให้นักศึกษาในโครงการได้เข้าร่วมทำกิจกรรมที่ทำประโยชน์คืนสู่สังคมกับทางไทยเบฟ เช่น
  • Beta Young รวมตัวร่วมใจต้านภัยหนาวกับไทยเบฟ
  • กิจกรรมจิตอาสาของงานสายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย
  • กิจกรรมที่ทำประโยชน์คืนสู่สังคม จากผลกำไรของการทำบริษัทจำลอง

ทั้งนี้ ไทยเบฟเชื่อมั่นว่า บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาสามารถมีธุรกิจเป็นของตนเองได้ โดยนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับตลอดหลักสูตรไปปรับใช้ และอาจมีโอกาสได้ทำงานในบริษัทชั้นนำ รวมถึงได้ร่วมงานกับบริษัทในกลุ่มไทยเบฟด้วย ปัจจุบันมีนักศึกษาจบจากโครงการแล้วจำนวน 150 คน

แบ่งปันคุณค่า

คุณกมลนัย ชัยเฉนียน
ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายบริหารทั่วไป
งานมอบประกาศนียบัตรธุรกิจตั้งต้นและบริษัทจำลอง โครงการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อสังคม (Beta Young Entrepreneur) วันที่ 26 เมษายน 2562

“การที่นักศึกษาได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจำลองหรือธุรกิจตั้งต้น สามารถนำมาปรับใช้และเกิดการเรียนรู้จากชีวิตจริง ประสบการณ์จริง และนำมาผสมผสานกับการเรียน เพราะวันข้างหน้าเมื่อได้ออกไปทำงานแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่ใช่แค่ความรู้ แต่เป็นเรื่องของโอกาสและทักษะที่เรามี ถ้านักศึกษาไม่มีโอกาสได้ลองทำ ก็จะไม่มีโอกาสที่จะได้พัฒนาทักษะความรู้ความสามารถ เพื่อนำไปใช้ในอนาคต”


ดร.พีรพงษ์ ฟูศิริ
รักษาการคณบดีวิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
งานมอบประกาศนียบัตรธุรกิจตั้งต้นและบริษัทจำลอง โครงการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อสังคม (Beta Young Entrepreneur) วันที่ 26 เมษายน 2562

“นักศึกษาแต่ละคนที่ได้ผ่านการทำธุรกิจตั้งต้นและบริษัทจำลองได้เรียนรู้การทำงานร่วมกันเป็นทีม การเป็นผู้นำที่ดีและเป็นผู้ตามที่ดี สิ่งที่นักศึกษาได้ทำในวันนี้ ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ จะเป็นรากฐานที่ดีช่วยสร้างผู้ประกอบการที่ดีในอนาคต”

เป้าหมายและทิศทางการทำงานโครงการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อสังคม (Beta Young Entrepreneur)
เป้าหมายปี 2563
สร้างกลุ่มของผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อสังคมทุกรุ่น เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อ แบ่งปันเรื่องราว ให้คำปรึกษาทางด้านธุรกิจ และเปิดช่องทางในการทำธุรกิจร่วมกัน
เป้าหมายปี 2568
  • รุ่นพี่ที่จบไปแล้ว กลับมามีส่วนร่วมกับโครงการ เพื่อช่วยพัฒนานักศึกษา แบ่งปันประสบการณ์ จัดบรรยายให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ รวมถึงเป็นที่ปรึกษาในการทำธุรกิจให้กับรุ่นน้องจำนวน 30 คน
  • มีนักศึกษาที่คาดว่าจะจบจากโครงการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อสังคม วิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปีละประมาณ 20 คน รวมเป็นจำนวน 260 คน
โครงการ Education Institute Support Activity (EISA)


โครงการ EISA เป็นโครงการที่มุ่งสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยไทยเบฟได้เข้าไปมีส่วนร่วมส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมมากมายในมหาวิทยาลัยกว่า 50 สถาบัน
เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ทั้งด้านกีฬาและหลักสูตรการเรียนการสอนในชั้นเรียน ช่วยให้นิสิตและนักศึกษามีประสบการณ์ในการทำงานจริงและเตรียมความพร้อมเข้าสู่การทำงานจริงหลังจากจบการศึกษาแล้ว ซึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา โครงการ EISA ได้สนับสนุนการจัดตั้งบริษัทจำลองในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยมีนักศึกษาจำนวนกว่า 450 คน จากสถาบันต่าง ๆ เข้าร่วมกิจกรรม

  2559 2560 2561 2562
ม.รังสิต 44 90 70 46
ม.ศรีนครินทรวิโรฒ 8 17 16 9
มทร.รัตนโกสินทร์ 6 14 22 8
ม.ศิลปากร 22 34 31 17
ม.ธรรมศาสตร์ - - - 6
รวม 80 155 139 86
ในรอบปีที่ผ่านมา โครงการ EISA ได้ขยายความร่วมมือไปยังเครือข่ายในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้าร่วมฝึกฝนปฏิบัติงานจริงในกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้
  • ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยนำนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ สาขาการผลิตอีเวนต์และการจัดนิทรรศการและการประชุม จำนวน 50 คน ไปฝึกงานจริงที่ “งานแข่งขันจักรยาน ฮันเดรดพลัส แกรนด์ ไครทีเรียม (100Plus Grand Criterium)” ที่จังหวัดบุรีรัมย์ และ “งานปั่นเมืองเหน่อ” จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ปฏิบัติงานโดยเป็นทีมงานในการจัดการแข่งขัน พร้อมทั้งมีหน้าที่รับผิดชอบในงานส่วนต่าง ๆ เช่น การจัดการสนาม การถ่ายทอดการแข่งขันทางโทรทัศน์ และทีมจัดนิทรรศการ ซึ่งทำให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์จากการประชุม การวางแผน การลงมือปฏิบัติการทำงานร่วมกัน รวมถึงการเรียนรู้การจัดการแข่งขันจากมืออาชีพโดยตรง ทั้งนี้ในส่วนของผลการปฏิบัติงานของนักศึกษาจะนำไปรวมกับการประเมินผลการเรียนของนักศึกษาในช่วงปลายภาคอีกด้วย
  • ร่วมมือกับโครงการหลักสูตรการจัดการออกแบบธุรกิจและเทคโนโลยี หรือ Design, Business & Technology Management: DBTM ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามารับโจทย์กรณีศึกษาจากบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) และบริษัท แกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ จำกัด โดยเริ่มจากการวิเคราะห์แผนงานและการเฝ้าสังเกตการณ์การปฏิบัติงานเพื่อหาปัญหาและความยุ่งยากในการทำงาน จนสามารถหาแนวทางปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพให้กับองค์กร โครงการนี้เป็นงานวิจัยภาคบังคับของนักศึกษาปีสุดท้ายของหลักสูตรการจัดการออกแบบธุรกิจและเทคโนโลยี หรือ DBTM ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับคือ โอกาสเข้าทำงานในองค์กรภาคเอกชนชั้นนำระดับประเทศเพื่อพัฒนาทักษะของตนเอง และยังได้แลกเปลี่ยนความรู้ที่มีประโยชน์กับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ของบริษัทด้วย
  • ร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้สนับสนุนหลักในการแข่งขันฟุตบอลอุดมศึกษา ช้าง ยู แชมเปี้ยน คัพ (Chang U Champion Cup) ที่เป็นเวทีให้นักฟุตบอลในระดับอุดมศึกษากว่า 500 คนในแต่ละปีได้แข่งขันเพื่อพัฒนาทักษะก้าวไปสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพ และมีความรู้จากการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยติดตัวไปด้วย รวมไปถึงสร้างความรับรู้และการมีส่วนร่วมของนักศึกษาแต่ละสถาบันที่เข้าแข่งขันกว่า 6 แสนคนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอีกด้วย
  • จัดทำบริษัทจำลอง (Dummy Business) ในรูปแบบของร้านสะดวกซื้อ หรือมินิมาร์ท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอนของคณะบริหารธุรกิจในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อมุ่งหวังให้เป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ และนักศึกษากว่า 600 คน ได้ลงมือปฏิบัติจริง โดยครอบคลุมสถาบันการศึกษาจำนวน 7 แห่ง
ทิศทางการดำเนินงานโครงการ EISA
เป้าหมายในปี 2568 โครงการ EISA มุ่งหวังการสร้างความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยเดิมให้มีความลึกและมีมิติของความร่วมมือมากยิ่งขึ้นกว่าการเพิ่มจำนวนของสถาบันการศึกษา และยังมีเป้าหมายในการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางการศึกษาต่าง ๆ เพื่อก่อประโยชน์ให้กับนิสิต นักศึกษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของกลุ่มไทยเบฟให้อยู่ในใจของนิสิตและนักศึกษาต่อไป
แบ่งปันคุณค่า

คุณวีรภัทร สุขรินทร์
นักศึกษา สาขาการผลิตอีเวนต์ฯ
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
“ทุกอย่างคือประสบการณ์ที่สั่งสมให้เราเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น ขอขอบคุณไทยเบฟและโครงการ EISA ที่หยิบยื่นโอกาสให้แก่เรา เป็นเหมือนห้องเรียนให้แก่เรา เป็นเหมือนครูที่สอนเราว่า การทำงานอีเวนต์ในงานงานหนึ่งนั้นเป็นประสบการณ์ที่ให้เรามากกว่าการที่ต้องนั่งเรียนอยู่แต่ในห้องเรียน ซึ่งคือการที่ได้มีโอกาสมาทำงานในกิจกรรมนี้”
ศูนย์ ซี อาเซียน (C asean)

ศูนย์ ซี อาเซียน (C asean) ภายใต้การบริหารของบริษัท ซี เอ ซี จำกัด เป็นองค์กรวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)
มุ่งเน้นการสร้างสรรค์สังคมและเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงและเสริมสร้างศักยภาพในกลุ่มประเทศอาเซียน ครอบคลุมด้านศิลปะ วัฒนธรรม และธุรกิจ โดยมีวิสัยทัศน์องค์กร คือ “Collaboration for the better of ASEAN’s connectivity” หรือ “การสร้างความร่วมมือเพื่อความเชื่อมโยงและการพัฒนาประเทศในกลุ่มอาเซียน” ปัจจุบันศูนย์ ซี อาเซียน มีจำนวนพันธมิตรในเครือข่ายกว่า 20 องค์กร ซึ่งรวมถึงองค์กรชั้นนำของประเทศไทย องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรภาคประชาสังคมระดับโลก

ทั้งนี้ ตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา ศูนย์ ซี อาเซียนได้จัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น การประชุม สัมมนา โครงการประกวด และการแข่งขันต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้เกิด
1) การพัฒนาด้านความยั่งยืน
2) การสร้างความร่วมมือในกลุ่มประเทศอาเซียน
3) การพัฒนาบุคคล
การพัฒนาอย่างยั่งยืน
จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกระดับของสังคม ไม่ว่าจะเป็นระดับองค์กร ระดับชุมชน และระดับบุคคล ในรูปแบบของการประชุมสัมมนา การรวบรวมเครือข่ายและส่งเสริมการแก้ปัญหาสังคมผ่านวิสาหกิจเพื่อสังคม
ระดับองค์กร
จัดกิจกรรมงานประชุมสัมมนาการพัฒนาอย่างยั่งยืน “Thailand Corporate Sustainability Symposium #1: Learning from the Leaders” เพื่อเป็นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนขององค์กรชั้นนำของประเทศไทย 17 บริษัท โดยมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและสร้างคุณค่าแก่สังคม รวมถึงการระดมความคิดเห็นในประเด็นปัญหาที่เร่งด่วน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งผลที่ได้จากการจัดงาน คือ การสร้างเครือข่ายและฐานองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือและการทำโครงการร่วมกันในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรเอกชนไทยและอาเซียนในอนาคต
ระดับชุมชน
ทำงานร่วมกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด โดยร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนา “วิสาหกิจเพื่อสังคม : กลไกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Thailand Sustainability Forum : Fostering Social Enterprises) เพื่อให้สาธารณชนทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติได้เข้าใจถึงการทำงาน ประสบการณ์ในการจัดตั้ง และการบริหารงานของวิสาหกิจเพื่อสังคม พร้อมทั้งเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านกฎหมายและข้อปฏิบัติต่าง ๆ นอกจากนี้ ในงานยังมีการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างผู้นำชุมชนย่านกุฎีจีนกับสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะ (ISCI) เพื่อจัดตั้ง “วิสาหกิจเพื่อสังคมร่วมใจพัฒนาชุมชนกุฎีจีน” ช่วยให้เกิดการพัฒนาย่านชุมชนกุฎีจีน การบริหารจัดการชุมชนอัจฉริยะ และนำไปสู่ชุมชนที่ยั่งยืน
ระดับบุคคล
ผลิตรายการทีวีเรียลิตี้โชว์ “Win Win WAR Thailand” ซึ่งเป็นรายการประกวดแข่งขันแผนธุรกิจเพื่อค้นหาสุดยอดนักธุรกิจเพื่อสังคม (Social Entrepreneurs) ที่ใช้กลไกทางธุรกิจช่วยแก้ไขปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อม โดยรายการจัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในคอนเซปต์ “ธุรกิจเพื่อสังคม” หรือ “ธุรกิจแบ่งปัน” ควบคู่ไปกับการสนับสนุนผู้ที่ริเริ่มธุรกิจแบ่งปันให้สามารถสร้างธุรกิจที่มีความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ในปี 2561 มีผู้สนใจเข้าร่วมการประกวดกว่า 900 ทีม ผ่านการคัดเลือกให้ออกอากาศในรายการจำนวน 100 ทีม และมีเพียง 20 ทีมที่ผ่านเข้ารอบการทดสอบตลาด พร้อมได้รับคำปรึกษาด้านธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญ

โดยผู้ชนะเลิศในรายการ Win Win WAR ทีมแรกของประเทศไทย คือ ทีม Siam Able Innovation ซึ่งเป็น “ผู้ผลิตกายอุปกรณ์สำหรับผู้พิการ เพื่อชีวิตที่ไม่พิการ” (อุปกรณ์ที่ใช้กับร่างกายเพื่อช่วยเหลือการเคลื่อนไหว) เป็นการสร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ผู้พิการที่อยู่ในเครือข่าย โดยได้รับเงินรางวัล 2 ล้านบาท พร้อมได้รับการสนับสนุนด้านอื่นในการต่อยอดทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น รวมถึงเพิ่มกำลังการผลิตและทำให้สินค้ากายอุปกรณ์ของบริษัทเป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้น ทำให้ผู้พิการไทยมีกายอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นและยุโรปในราคาย่อมเยา นอกจากนี้ Siam Able Innovation ยังเปิดเครือข่ายศูนย์เรียนรู้เรื่องการผลิตและซ่อมแซมกายอุปกรณ์ให้ผู้พิการและผู้ที่สนใจด้วย ถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและต้นแบบของการทำธุรกิจเพื่อสังคมที่ดี และในปี 2561 รายการ “Win Win WAR Thailand” ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 33 ประเภทรายการเกมโชว์ดีเด่น ดังนั้น ซี อาเซียน จึงยังคงเดินหน้าสนับสนุนการผลิตรายการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และมีแผนที่จะขยายโครงการไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนต่อไป
การสร้างความร่วมมือในกลุ่มประเทศอาเซียน

จัดงานสัมมนา Social Business Day 2019 ครั้งที่ 9
โดยเป็นเจ้าภาพร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2006 ผู้เป็นต้นแบบแนวคิดธนาคารคนจนและเป็นผู้ร่วมผลักดันวิสาหกิจเพื่อสังคมในระดับโลก พร้อมด้วยเครือข่ายยูนุสทั่วโลก เป็นงานสัมมนาระดับภูมิภาคเอเชียภายใต้แนวคิด “Making Money is Happiness, Making Other People Happy is Super Happiness” (การสร้างรายได้คือความสุข แต่การสร้างความสุขให้ผู้อื่นคือความสุขที่แท้จริง) ซึ่งมีผู้ร่วมงานกว่า 1,500 คน จาก 58 ประเทศทั่วโลก ร่วมกันสะท้อนปัญหาผ่านการอภิปรายเป็นคณะ (Panel Discussion) การประชุมเต็มคณะ (Plenary Session) และการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการศึกษา เกษตร อุตสาหกรรมอาหาร สุขภาวะ การเงิน สิ่งแวดล้อม พลังงานสีเขียว และศิลปวัฒนธรรม นับเป็นก้าวสำคัญของ ซี อาเซียนในการสร้างเครือข่ายของวิสาหกิจเพื่อสังคมระดับโลก จากการร่วมจัดงานสัมมนาครั้งนี้ ทำให้ ซี อาเซียน ได้รับเชิญให้ร่วมเป็นผู้ก่อตั้ง Thailand Corporate Action Tank ในเครือข่ายของศาสตราจารย์ ดร.มูฮัมหมัด ยูนุส
ร่วมมือกับสถานทูตสหรัฐอเมริกา จัดงานประชุม Young Southeast Asian Leaders Initiative (YSEALI) Summit
ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) โดยมีผู้นำเยาวชนในภูมิภาคอาเซียนจำนวน 150 คน ที่เคยได้เข้าร่วมโครงการ YSEALI ของรัฐบาลสหรัฐฯ เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับทักษะความเป็นผู้นำและเปิดโอกาสให้ผู้นำรุ่นเยาว์ได้เรียนรู้จากเพื่อนคนรุ่นใหม่ในภูมิภาค และวางแผนเพื่อรับมือกับความท้าทายที่ซับซ้อนด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่ประเทศอาเซียนต่างเผชิญอยู่ นอกจากนี้ยังจัดให้มีการประกวดโครงการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงในประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคอาเซียน

และโครงการที่ได้รับรางวัลจำนวน 3 โครงการ ได้แก่
  • We-Able ซึ่งเป็นโครงการฝึกทักษะและจัดหางานให้กับผู้พิการในประเทศฟิลิปปินส์
  • Sex (z) ซึ่งเป็นการจัดทำ Digital Platform ในการให้ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องเพศศึกษา
  • Identify Identity ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาทักษะและความเป็นอยู่ของผู้ไร้สัญชาติในมาเลเซีย
ซี อาเซียน คอนโซแนนท์ (C asean Consonant)
วงดนตรีวงแรกของกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีการรวมตัวกันของครูเพลงจากทั้ง 10 ประเทศ เพื่อสร้างวงดนตรีที่บรรเลงโดยเครื่องดนตรีประจำชาติของแต่ละประเทศ สามารถถ่ายทอดกลิ่นอายของดนตรีอาเซียนให้มีความสนุกสนานและสอดประสานเป็นหนึ่งเดียว อีกทั้งยังคงเอกลักษณ์ของเพลงแต่ละชาติได้เป็นอย่างดี เป็นการผสมผสานความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติผ่านศิลปะทางดนตรี จนกลายเป็นการแสดงที่มีความไพเราะและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในปี 2562 วงดนตรี “ซี อาเซียน คอนโซแนนท์” ได้รับเกียรติให้ร่วมแสดงในการเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่กรุงเทพมหานคร และงานครบรอบ 52 ปีแห่งการสถาปนาอาเซียน พร้อมพิธีเปิดอาคารสำนักเลขาธิการอาเซียนหลังใหม่ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงเอกลักษณ์แห่งภูมิภาคอาเซียนแล้ว ยังเป็นการรวมพลังทางดนตรีแสดงให้โลกรับรู้ว่า ดนตรีสามารถก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความรู้ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่นำไปสู่มิตรภาพ ความสามัคคี และความเข้าใจระหว่างชนชาติได้อย่างดียิ่ง
การพัฒนาคน
การจัดการอบรม ASEAN Management Development (AMD) 2019
เป็นหลักสูตรอบรมผู้บริหารของกลุ่มบริษัทไทยเบฟที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความพร้อมให้กับผู้บริหารในการเป็นผู้นำธุรกิจในระดับภูมิภาคอาเซียน ผ่านหลักสูตรเสริมทักษะด้านธุรกิจและด้านการบริหารทีมงานข้ามชาติ รวมถึงการเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานในยุคดิจิทัล เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุวิสัยทัศน์ 2020 โดยในหลักสูตรการอบรมดังกล่าว มีกิจกรรมการดูงานในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ในปี 2562 มีผู้บริหารเข้าร่วมอบรมในหลักสูตร AMD จำนวน 28 คน จากประเทศไทย มาเลเซีย เมียนมา และสิงคโปร์
กิจกรรม ASEAN Day Goes to School
เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ไทยเบฟ และ ซี อาเซียน เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในสาระสำคัญของกลุ่มประเทศอาเซียนให้กับเยาวชนไทย รวมถึงการพัฒนาให้นักเรียนไทยเป็นบุคคลคุณภาพของสมาคมอาเซียนในอนาคต ด้วยแนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Enforcing Partnership for Sustainability) โดยในปี 2562 โครงการ ASEAN Day Goes to School ได้คัดเลือกโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน เป็นโรงเรียนแรกของประเทศไทยในการเข้าร่วมทำกิจกรรมนี้
ภาพรวมผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาการศึกษาในปี 2562

ปี 2562 ไทยเบฟมอบทุนบุตรพนักงานจำนวน
1,112 ทุน
เป็นเงินทั้งสิ้น
6,891,000 บาท

โครงการ OTOP Junior
มีผู้สนใจเข้าร่วมประกวด
มากกว่า 300 กลุ่มทั่วประเทศ จาก 76 จังหวัด

สนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ใน 21 จังหวัด 22 โรงเรียน
ให้ความรู้ในด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอด
(โลโก้ บรรจุภัณฑ์ การตลาด จัดกิจกรรมทัศนศึกษา และสนับสนุนเงินรวมกว่า 500,000 บาท)
โครงการทำมาค้าขาย
สร้างรายได้ให้กับโรงเรียน
กว่า 9 แสนบาท ใน 283 ตำบล 137 อำเภอ
47 จังหวัด


สนับสนุนโรงเรียนเด็กพิเศษ
จำนวน 7 โรงเรียน
ใน 6 จังหวัดทั่วประเทศ

โครงการธุรกิจตั้งต้น ภายใต้โครงการ Beta Young Entrepreneur
ทำให้เกิดธุรกิจเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 30 ธุรกิจ เพื่อช่วยเสริมสร้างทักษะการเป็นผู้ประกอบการ

ช่วยส่งเสริมทักษะการทำธุรกิจในรูปแบบบริษัท เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มของไทยเบฟในกิจกรรมตลาดปล่อยของ
ปีละ 6 ครั้ง
โครงการบริษัทจำลอง (EISA)
เป็นสถานที่เรียนรู้และปฏิบัติจริงให้แก่นักศึกษา ที่สนใจในเรื่องการค้าปลีก
กว่า 3,000 คน

รวมถึงนักศึกษาสามารถเข้าถึงสินค้า ด้วยราคาถูกกว่าท้องตลาด
กว่า 2 แสนคนต่อปี
การแข่งขันฟุตบอล ช้าง ยู แชมเปี้ยน คัพ
เป็นเวทีการแข่งขันที่ให้โอกาสแก่นักฟุตบอล ในมหาวิทยาลัยได้พัฒนาทักษะ

เกือบ 600 คนต่อปี จาก 16 สถาบัน
โดยที่ไม่จำเป็นต้องลาออกจากระบบการศึกษา