รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2562

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2562 / ใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม
การจัดการของเสีย
GRI 306-2
ไทยเบฟมุ่งมั่นดำเนินงานการบริหารจัดการของเสีย โดยใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตลอดห่วงโซ่คุณค่า ด้วยการใช้หลัก 3Rs และรณรงค์ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทำการหมุนเวียนใช้ประโยชน์จากของเสีย ลดปริมาณของเสียที่ต้องกำจัด และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค การนำของเสียมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน การบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ เป็นต้น

ทั้งได้ดำเนินโครงการการวิจัยและพัฒนาร่วมกับองค์กรภายนอกตามโครงการเพิ่มมูลค่าของเสีย เพื่อพัฒนาศักยภาพการใช้ประโยชน์ของเสีย ซึ่งสอดคล้องตามหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ไทยเบฟใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
3Rs

การลดการใช้
Reduce



การนำกลับมาใช้ซ้ำ
Reuse



การนำกลับมาใช้ใหม่
Recycle


การพัฒนาศักยภาพการใช้ประโยชน์กากข้าวมอลต์จากกระบวนการผลิตเบียร์และวิสกี้เพื่อการเกษตร


ข้าวมอลต์เป็นวัตถุดิบหลักตั้งต้นที่ใช้ในกระบวนการผลิตเบียร์และสุราของไทยเบฟ โดยหลังจากผ่านกระบวนการผลิตจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ เรียกว่า “กากข้าวมอลต์” ซึ่งยังคงมีคุณประโยชน์ทางโภชนาการอยู่มากและเหมาะที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรม ไทยเบฟจึงได้นำกากข้าวมอลต์ไปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ และด้วยการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง ไทยเบฟได้ร่วมมือกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอาหารโค การเลี้ยงโคพันธุ์โคราชวากิว และเทคโนโลยีอาหารสัตว์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาต่อยอดในการเสริมคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ โดยศึกษาการนำกากข้าวมอลต์ไปพัฒนาร่วมกับยีสต์อบแห้ง เกิดเป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์สูตรใหม่ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับสัตว์กลุ่มโคเนื้อ ทำให้เนื้อโคมีคุณภาพดี เกิดปริมาณไขมันแทรกมากขึ้น มีราคาดีขึ้น เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นมีความปลอดภัยต่อการบริโภค และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนำกากข้าวมอลต์ไปผลิตเป็นอาหารสัตว์แล้ว ยังมีฝุ่นข้าวมอลต์ตกค้างอยู่ในโรงงาน ซึ่งยังสามารถสร้างคุณประโยชน์ทางโภชนาการของอาหารสัตว์ได้อีก นับว่าเป็นการใช้วัตถุดิบจากกระบวนการผลิตเบียร์และสุราของไทยเบฟ ให้เกิดการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนในวงจรเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดตลอดห่วงโซ่คุณค่า

นอกจากนี้ ไทยเบฟยังทำโครงการร่วมกับเกษตรกรบริเวณรอบโรงงาน โดยใช้ฝุ่นข้าวมอลต์ที่หลงเหลืออยู่ซึ่งยังมีประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการสูง นำไปเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น ปลาดุก ปลานิล เป็นต้น พบว่าสามารถนำไปใช้เลี้ยงสัตว์น้ำได้ดี ทดแทนอาหารสัตว์เดิมที่มีต้นทุนสูงได้ร้อยละ 100 โดยโครงการนี้มีนักวิชาการเกษตรของไทยเบฟเป็นผู้ดูแลและให้คำปรึกษากับเกษตรกร เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในเชิงวิชาการ อีกทั้งช่วยส่งเสริมให้ชุมชนมีอาชีพเสริม เป็นการลดต้นทุนในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ช่วยเพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
การผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) จากน้ำกากส่าเพื่อเป็นพลังงานทดแทน


การเปลี่ยนของเสียเป็นพลังงานเป็นการบริหารจัดการของเสียที่ไทยเบฟได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด ด้วยเล็งเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป จึงได้จัดทำโครงการบริหารจัดการน้ำกากส่าจากกระบวนการผลิตสุรา ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มไทยเบฟ โดยนำน้ำกากส่าซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตสุรามาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ (Biogas) แล้วส่งกลับไปยังโรงงานสุราจำนวน 5 สาขา ในจังหวัดต่าง ๆ คือ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ขอนแก่น ปราจีนบุรี และสุราษฎร์ธานี เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาให้กับเครื่องกำเนิดไอน้ำ โครงการนี้จึงมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่เป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันเตาที่เป็นพลังงานฟอสซิล นอกจากนี้ ก๊าซชีวภาพส่วนเกินยังนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับการผลิตของโรงงาน และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าส่วนเกินให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดอุบลราชธานี

น้ำกากส่าที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตสุรา นอกจากจะนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนที่สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับกลุ่มบริษัทไทยเบฟแล้ว ยังสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ และเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญให้กับชุมชนในท้องถิ่น ดังนั้น จากประโยชน์และความสำเร็จที่เกิดขึ้น ไทยเบฟจึงได้ขยายโครงการไปยังโรงงานสุราอีก 2 แห่งที่จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดหนองคาย ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2564 และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปริมาณรวม 76,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
การส่งเสริมและพัฒนาให้พนักงานมีส่วนร่วมในการลดของเสียด้วยการคัดแยกขยะในอาคารสำนักงาน


เพื่อมุ่งสู่การลดปริมาณการฝังกลบของเสียและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยวิธีการ 3Rs ไทยเบฟได้รณรงค์ให้พนักงานในองค์กรตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ โดยเริ่มต้นแนวคิดการบริหารจัดการของเสียจากตัวเองก่อนเป็นลำดับแรก ด้วยการคัดแยกขยะภายในสำนักงานภายใต้โครงการ “เก็บ-กลับ-รีไซเคิล” เพื่อให้พนักงานได้เห็นคุณค่าของการคัดแยกขยะ เกิดความรู้ความเข้าใจผลของการคัดแยกขยะ รวมถึงการสร้างมูลค่าจากขยะประเภทรีไซเคิล เช่น ขวดแก้ว ขวดพลาสติก PET กระป๋องอะลูมิเนียม เป็นต้น ซึ่งหากมีวิธีการบริหารจัดการที่ถูกต้องเหมาะสมและมีเส้นทางของการ นำไปใช้ประโยชน์ต่อ จะสามารถสร้างมูลค่าและเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบที่มีประโยชน์เพื่อนำกลับมาใช้หมุนเวียนใหม่ได้อีก นอกจากนี้ไทยเบฟยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการจัดหลักสูตรอบรมความรู้ เพิ่มพูนความรู้ด้านการคัดแยกขยะในอาคารสำนักงานให้กับพนักงาน ซึ่งสามารถเป็นองค์ความรู้พื้นฐานที่เป็นประโยชน์ให้กับพนักงานในการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและใช้ในการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์หลังการบริโภคต่อไปได้

จากการส่งเสริมและพัฒนาให้พนักงานมีส่วนร่วมในการลดของเสียด้วยการคัดแยกขยะในอาคารสำนักงาน ได้นำไปสู่การรณรงค์และเกิดเป็นโครงการต่าง ๆ เช่น การลดการใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม การรณรงค์ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก การจัดวางภาชนะรองรับขยะด้วยการแบ่งประเภทขยะที่ชัดเจนในพื้นที่ทำงาน เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้พนักงานของไทยเบฟทุกคนมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ความมุ่งมั่นและความสำเร็จ


ในปี 2562 ไทยเบฟประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการของเสียด้วยการเปลี่ยนของเสียเป็นพลังงาน (Waste to Energy) ภายใต้การดำเนินโครงการของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มไทยเบฟที่มีภารกิจหลักคือ การนำของเสียหรือของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตสุรามาเปลี่ยนเป็นพลังงาน โดยได้รับรางวัลจากโครงการ Thailand Energy Awards 2019 สุดยอดรางวัลด้านพลังงานของประเทศไทย รางวัลดีเด่นการลดใช้พลังงานและลดโลกร้อน ด้านพลังงานทดแทน จำนวน 2 สาขา ได้แก่
  • 1. ประเภทโครงการที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (Off-Grid)
    ประเภทดีเด่น คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด สาขาจังหวัดขอนแก่น ผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำกากส่า
  • 2. ประเภทโครงการผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม (Cogeneration)
    ประเภทดีเด่น คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด สาขาจังหวัดอุบลราชธานี ผลิตพลังงานหมุนเวียนจากน้ำกากส่า
แบ่งปันคุณค่า

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล
ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
“การบริหารจัดการของเสียสู่ความยั่งยืน”
“การบริหารจัดการของเสียสำหรับองค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องมีการกำหนดเป็นนโยบายและวางแผนให้เหมาะสม ซึ่งการนำแนวคิด Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้ มาประยุกต์ใช้ร่วมกับงานวิจัยหรือนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของเสีย ทำให้องค์กรเกิดการลงทุนในการบริหารจัดการของเสียได้อย่างมีประสิทธิผลและเป็นรูปธรรม และสามารถทดแทนธุรกิจเดิมได้ อีกทั้งยังเกิดการขยายธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป”


ทิศทางการดำเนินงาน

ปริมาณของเสีย และวิธีการกำจัดของ กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม
ในกระบวนการผลิตเครื่องดื่มและอาหารที่มีคุณภาพ ไทยเบฟคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ จึงคัดสรรวัตถุดิบจากธรรมชาติโดยผ่านกระบวนการต่าง ๆ อย่างประณีตและพิถีพิถัน เพื่อไม่ให้ของเสียที่เกิดจากกระบวนการแปรรูปต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้

ไทยเบฟจึงปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมายในการบำบัดและกำจัดของเสียตามมาตรฐานสากลเพื่อดำเนินการบริหารจัดการของเสียให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวในปี 2562 มีดังนี้
การใช้ซ้ำ
การนำกลับมาใช้ใหม่
การหมักทำปุ๋ย
การนำไปผลิตเป็นพลังงาน
การเผาทิ้ง
การฝังกลบ