รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2562

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2562 / แบ่งปันคุณค่าให้คนทั่วโลก
โครงการประชารัฐรักสามัคคี
คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้รับภารกิจสำคัญให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานภาคเอกชน ร่วมกับพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานภาครัฐ ขับเคลื่อนงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ในโครงการ “สานพลังประชารัฐ” ซึ่งดำเนินการภายใต้นโยบายสำคัญของรัฐบาลในการนำภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคประชาชน มาร่วมกันแก้ไขปัญหาและคิดหาแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ


คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชาด้านการพัฒนา คือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เพื่อตระหนักถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ช่วยสร้างโอกาส สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

พร้อมทั้งได้น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) อันได้แก่ “เราจะสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” มาเป็นกรอบแนวคิดและหลักในการดำเนินงาน โดยเน้นการทำงานใน 3 กลุ่มงาน ได้แก่ เกษตร แปรรูป และท่องเที่ยวโดยชุมชน จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง “บริษัทในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม” ภายใต้ชื่อ “บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด” จำนวน 76 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมทั้งจัดตั้งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ผนึกกำลังร่วมกับ บริษัทเอกชน 20 บริษัท เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการประสานความเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จ นำไปสู่การผลักดันจนบรรลุผลงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนทั่วประเทศกว่า 60,000 ครัวเรือน มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึง 543 ล้านบาท เป็นผลให้การเติบโตของยอดขายสินค้าชุมชน (OTOP) เติบโตขึ้นจาก 109,000 ล้านบาท ในปี 2558 เป็น 125,208 ล้านบาท ในปี 2560 เป็น 154,000 ล้านบาท และ 190,000 ล้านบาท ในปี 2561 และ 2562 ในอัตราร้อยละ 15 , 23 และ 24 ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ซึ่งเติบโตในอัตราร้อยละ 3-4 ต่อปี เป็นพลังผลักดันให้รัฐบาลกำหนด พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ.2562

จากการที่ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานโดยผ่านรูปแบบของวิสาหกิจเพื่อสังคม ทำให้รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของวิสาหกิจเพื่อสังคมที่จะเป็นเวทีความร่วมมือ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนตามเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ จึงได้ตราพระราชบัญญัติวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 ขึ้น ซึ่งได้ประกาศราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายรับรองสถานะของนิติบุคคลให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมฉบับแรกของภูมิภาคนี้ ดังจะเห็นได้ว่า การร่วมกันดำเนินงานตามนโยบายสานพลังประชารัฐ เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่จะเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปประเทศ เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่ระดับฐานรากและช่วยส่งเสริมให้ชุมชนดำเนินธุรกิจได้บนฐานความรู้ที่ยั่งยืน
ผลการดำเนินงานของโครงการ

สร้างรายได้ให้กับ ชุมชนทั่วประเทศกว่า
60,000 ครัวเรือน

มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึง
543 ล้านบาท

เป็นผลให้ ยอดขายสินค้าชุมชน (OTOP) เติบโตขึ้น

จาก
109,000 ล้านบาท
ในปี 2558
เป็น
125,208 ล้านบาท
ในปี 2560
เป็น
154,000 ล้านบาท
ในปี 2561
เป็น
190,000 ล้านบาท
ในปี 2562
15%
23%
24%

ในอัตรา 15% 23% และ 24% ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศที่เติบโตในอัตราร้อยละ 3-4 ต่อปี เป็นพลังผลักดันให้รัฐบาลกำหนดพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562
หลักการดำเนินงานบนพื้นฐานของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง และสัมมาชีพเต็มพื้นที่ โดยกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานที่สำคัญคือ 1 เป้าหมาย 3 กลุ่มงาน 5 กระบวนการ กระจายสู่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ

องค์ความรู้
1. สร้างวิชาชีพในระดับชุมชน เช่น โครงการ OTOP
2. ให้ความรู้แก่เยาวชน
สิ่งแวดล้อม
1. อนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น ผืนป่า ผืนดิน ต้นน้ำ ท้องทะเล
2. สร้างวินัยในการจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม
3. รณรงค์การบริหารจัดการ น้ำเสีย

โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย


เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2559 เป็นต้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักถึงความหลากหลายและประโยชน์ใช้สอยของผ้าขาวม้า พร้อม ๆ ไปกับการพัฒนาคุณภาพ เทคนิคการผลิต ตลอดจนการแปรรูปสินค้าจากผ้าขาวม้าทอมือให้มีความหลากหลาย ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ซึ่งอยู่คู่กับชนบทไทยมาเป็นเวลายาวนานให้เพิ่มสูงยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืนอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการเฟ้นหาผ้าขาวม้าที่มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นจากชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงการเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้มีเวทีแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ผ่านการออกแบบผ้าขาวม้าทอมือในสาขาต่าง ๆ โดยในปี 2562 ได้ผสานความร่วมมือกับชุมชนผ้าขาวม้าเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับผ้าขาวม้าไทยด้วยการผลิตมาลัยกรผ้าขาวม้าและช่อดอกไม้บูเกต์ผ้าขาวม้า พร้อมสนับสนุนให้ผู้ชนะการประกวดออกแบบชิ้นงานผ้าขาวม้า “นวอัตลักษณ์” เดินทางไปศึกษาดูงานที่สถาบันสอนออกแบบและแฟชั่นระดับโลก Bunka Fashion College และงาน IFF Magic ณ ประเทศญี่ปุ่น

พร้อมจัดโครงการประกวดออกแบบและพัฒนาสินค้าผ้าขาวม้าเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ภายใต้แนวคิด “อัตลักษณ์แห่งคุณค่า ผ้าขาวม้าอาเซียน” (ASEAN METROPOLIS) ซึ่งมีผู้สนใจส่งเข้าประกวดจำนวน 282 ผลงาน ใน 4 สาขา ได้แก่ ออกแบบแฟชั่น ออกแบบเครื่องประดับ ออกแบบเคหะสิ่งทอ และออกแบบลายผ้า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทยสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าที่เข้าร่วมโครงการ 15 ชุมชน กว่า 3 เท่า รวมรายได้กว่า 51 ล้านบาท
แบ่งปันคุณค่า
คุณสุพัตรา แสงกองมี
ทายาทผ้าขาวม้าไทย กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ (ผ้าขาวม้าดารานาคี)
จังหวัดบึงกาฬ
“ผ้าขาวม้าอยู่ในวิถีชีวิตดิฉันมาตลอด เพราะที่บ้านคุณยายทอ คุณแม่แปรรูป จากเคยใช้สีธรรมชาติเปลี่ยนมาเป็นสีเคมี จนวันหนึ่งเกิดความคิดว่า เราต้องรื้อฟื้นความเป็นชุมชนกลับมาใหม่ นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ใช้สีน้ำตาล-ส้มจากดินในชุมชน สีเขียวจากใบไม้ และสีเทาจากการผสมสี เป็น 3 สีธรรมชาติที่สวยงาม มีคุณสมบัติติดทน และมาจากชุมชนบ้านสะง้อ ใช้การตลาดเข้ามาช่วย เป็นโจทย์ที่ยาก แต่คิดอยู่ตลอดเวลาว่าเราจะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน ให้ชุมชนมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะต้องไม่หยุดพัฒนา”
คุณกฤษณา เจริญสุข
ประธานวิสาหกิจกลุ่มผลิตและแปรรูปไหมอีรี่
จังหวัดอำนาจเจริญ
“ยินดีและดีใจที่ประชารัฐรักสามัคคีอำนาจเจริญเข้ามาช่วยพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการออกแบบลวดลายการทอให้ตรงกับความต้องการของตลาด การจัดหาวัสดุอุปกรณ์การผลิต การคำนวณต้นทุน ค่าแรงในการผลิต รวมไปถึงด้านการตลาด ทำให้ปัจจุบันสมาชิกในกลุ่มทั้ง 42 คนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง”
โครงการสะพายสายแนว


ย่ามอยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่อดีต เป็นสิ่งสะท้อนเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์และวิถีชีวิตของชุมชน ก่อนที่ย่ามไทยจะถูกลืมเลือนไปโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ไทยเบฟจึงสนับสนุนให้ริเริ่ม “โครงการสะพายสายแนว” ในเดือนเมษายน ปี 2561 เพื่อพัฒนาการออกแบบและยกระดับย่ามไทยให้ทันสมัยตรงใจผู้บริโภค และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตร เช่น สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ช่วยพัฒนาด้านเทคนิคการทอผ้า สี ลายผ้า และดีไซเนอร์จิตอาสาที่มาช่วยด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สวยน่าสนใจ ทั้งนี้ ไทยเบฟทำงานร่วมกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ช่วยส่งเสริมในด้านตลาดและสนับสนุนด้านการขายทั้งในงานอีเวนต์ต่าง ๆ รวมถึงการขายผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ค (Facebook) และอินสตาแกรม (Instagram) โดยใช้ชื่อ SapaiSainaew (สะพายสายแนว) นอกจากทีมงานจะลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึก และช่วยชุมชนพัฒนาสินค้าไปพร้อม ๆ กัน ยังได้พาชุมชนนำสินค้าที่ผลิตไปออกขายในงานอีเวนต์ต่าง ๆ เช่น งานบ้านและสวน งาน OTOP รวมไปถึงตลาดต่างประเทศ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้า ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ต่อครัวเรือนมากขึ้นหลายเท่า
ปัจจุบันโครงการสะพายสายแนวมีจำนวนสมาชิก 2,932 ราย ในกว่า 20 จังหวัด สามารถทำรายได้รวมกันสูงถึง 10 ล้านบาทใน 16 เดือนที่ผ่านมา (เมษายน 2561- กันยายน 2562) ชุมชนที่ไทยเบฟและประชารัฐรักสามัคคีให้การสนับสนุนหลายกลุ่มสามารถยืนได้ด้วยตัวเองและยังต่อยอดพัฒนาสินค้าของตัวเองได้ด้วย สามารถทำรายได้ต่อคนเพิ่มมากขึ้น เช่น บ้านสันกองและบ้านศรีดอนชัย จังหวัดเชียงราย แม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

นอกจากการสร้างอาชีพแล้ว ลูกหลานที่ออกไปหางานทำนอกภูมิลำเนายังกลับมาช่วยงานพ่อแม่เพื่อต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา

แบ่งปันคุณค่า
คุณสมศรี ปรีชาอุดมการณ์
ผู้ผลิตย่ามโบราณ บ้านแม่มิงค์ อำเภอแม่แจ่ม
จังหวัดเชียงใหม่
คุณสมศรีเป็นแม่บ้านกะเหรี่ยงปกาเกอะญอที่แม่แจ่ม ไม่ได้เรียนหนังสือ พูดไทยได้ไม่ชัด สามีป่วยและเสียชีวิต มีหนี้สินที่ต้องชำระ สมศรีจึงตัดสินใจทอย่ามเลี้ยงลูกจนได้เป็นครูช่างและรวบรวมสมาชิกที่เป็นผู้หญิงในหมู่บ้านทอย่ามด้วย

ปัจจุบันบริษัทประชารัฐรักสามัคคีช่วยจำหน่ายย่ามไปกว่าร้อยใบ และในกลุ่มมีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 20 คน “ตอนแรกทำไร่ทำนาบนดอย มีความสุขดี อยู่ดี ๆ สามีเป็นมะเร็งตาย มีลูก 2 คนที่ต้องเลี้ยง เป็นหนี้ 6 แสนบาท ท้อมาก คิดว่าไม่อยากอยู่แล้ว จนวันหนึ่งรวบรวมกำลังใจลุกขึ้นมาสู้ต่อ”
คุณไพรัตน์ สารรัตน์
ผู้ผลิตผ้าทอลาวครั่ง รุ่นที่ 6 กลุ่มทอผ้าฝ้ายลาวครั่ง บ้านนาตาโพ
อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 77 คน
“ทวดทอผ้า ทวดสอนให้ยายทอผ้า ยายสอนแม่ต่อ ผมคงต้องสืบสานผ้าทอลาวครั่งให้คงอยู่ต่อไป ทุกครั้งที่กลับไปบ้าน ชาวบ้านจะเฝ้ารอเรา เขารู้ว่าเราจะกลับไปพร้อมเงินค่าขายผ้า”

เด็กนักเรียนในโครงการชั่วโมงทำมาค้าขาย
โรงเรียนวัดเทพนิมิตร จังหวัดภูเก็ต
“เพิ่งรู้ว่าวาดรูปได้ และชอบมากด้วย แทนที่จะไปเที่ยวเล่น เราก็ใช้เวลาว่างวาดกระเป๋ากระจูด ตอนวาดมีความสุขมาก วาดเสร็จได้ค่าขนมด้วย ไม่ต้องรบกวนเงินพ่อแม่มาโรงเรียน”

คุณนครินทร์ ยาโน
เจ้าของแบรนด์ผ้าฝ้ายทอมือ ยาโน (Yano Handicraft) อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
“เราสอนให้ผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำภาคเหนือปักย่าม แค่หวังว่าเขาจะได้มีเงินและทักษะอาชีพติดตัวเพื่อเริ่มชีวิตใหม่ในวันที่ได้อิสรภาพ คนติดคุกพอออกจากคุก ไม่มีใครกล้าจ้าง กลับไปติดคุก ออกมา กลับไปติดคุก มันคงเป็นวังวนนรกที่ไม่มีใครผิดใครถูก สำหรับเราถ้าออกจากคุกแล้วพอมีฝีมือ พอมีตังค์ติดตัวออกมาบ้าง เรามั่นใจว่าหลายคนเลือกที่จะไม่กลับเข้าไปอีก สุดท้ายเราจะเหลือแค่ติดคุก ทำงาน ได้ค่าจ้าง ออกจากคุก พร้อมเริ่มชีวิตใหม่ เราหวังแค่นี้”

คุณก้ามปู
เจ้าของร้านเสื้อผ้าพื้นเมือง ฝ้ายเปลือกไม้แม่แจ่ม
อำเภอแม่แจ่ม
จังหวัดเชียงใหม่
“เห็นยายและแม่ทอผ้าตั้งแต่เล็ก ๆ หนูตั้งใจสร้างแบรนด์ต่อยอดจากผ้าผืนสวยของแม่” ในวันแรกที่ทีมงานประชารัฐรักสามัคคีเจอคุณก้ามปู เธอกำลังยืนขายสินค้าที่ทำโดยครอบครัวของเธออยู่ที่บูธ คุณก้ามปูเป็นสาวเชียงใหม่ ช่วยแม่ต่อยอดงานผ้าปักที่แม่แจ่ม จากวันแรกที่เจอ วันนี้คุณก้ามปูเดินมาไกล มาพร้อมความคิดสร้างสรรค์ ยกระดับงานเดิม จากฝ้ายเปลือกไม้แม่แจ่มของแม่กลายมาเป็นแบรนด์น้องใหม่ “Najai”

คุณสุริยา วงค์ชัย
เจ้าของพิพิธภัณฑ์ลื้อลายคา
บ้านศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ
จังหวัดเชียงราย
“ผมมีความฝันตั้งแต่เด็ก ๆ อยากเปิดพิพิธภัณฑ์ผ้าทอไตลื้อเพื่อส่งต่อรากเหง้าของเราสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน”
คุณจุมพล อภิสุข
ศิลปินจังหวัดน่าน
“การทำให้เขาภูมิใจในสิ่งของที่ทำมาด้วยความคิด เรื่องราว และสองมือของเขาเอง กับเวลาที่มีแต่ละวัน ปักรวมกันเข้า นั่นแหละครับคือกำลังใจมหาศาล ถือว่าได้เงินต่อหัวใจ”
โครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย
เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่กลางปี 2560 โดยบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ มหาวิทยาลัย โดยมีเครือข่าย “ประชารัฐรักสามัคคี” เป็นผู้ประสานงานชุมชนเพื่อหาแหล่งพื้นที่ผลิตวัตถุดิบที่ปลอดภัยทั้งภายในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง การรวมกลุ่มเกษตรกร รวบรวมวัตถุดิบ บริการจัดส่งการขนส่งไปยังโรงพยาบาลในจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ เป้าหมายสำคัญคือ การสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่มีตลาดในการส่งผักผลไม้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน ประชาชนในประเทศมีสุขภาพดี และมีความสุข

ปัจจุบันเครือข่าย “ประชารัฐรักสามัคคี” ใน 29 จังหวัด สามารถจัดส่งสินค้าเกษตรปลอดภัยเข้าสู่โรงพยาบาลได้จำนวน 41 แห่งทั่วประเทศ สร้างรายได้ให้ชุมชนไปแล้วกว่า 63 ล้านบาท
กระบวนการทำงานของโครงการ
แบ่งปันคุณค่า
คุณทิวาพร ศรีวรกุล
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีกาญจนบุรี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด

“บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีกาญจนบุรี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 โดยมีเครือข่ายเกษตรกรจาก 5 อำเภอ รวมสมาชิก 206 ราย เข้าร่วมโครงการ นอกจากส่งผักและผลไม้เข้าโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนาแล้ว ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เราสามารถสร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงผลผลิตเข้าสู่โรงพยาบาลต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 7 โรงพยาบาล ได้แก่ สถาบันบำราศนราดูร สถาบันประสาทวิทยา โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 โรงพยาบาลเด็ก โรงพยาบาลสงฆ์ โรงพยาบาล มหาวชิราลงกรณ-ธัญบุรี (ศูนย์มะเร็งคลอง 10) และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรไปแล้วกว่า 10 ล้านบาท”

คุณบุญมา หมุกแก้ว
เกษตรกรผู้เลี้ยงไข่ไก่ และผู้รวบรวมผลผลิต
โครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย จังหวัดกระบี่

“ตั้งแต่ประชารัฐรักสามัคคีกระบี่เข้ามาดำเนินการที่นี่ เกษตรกรและชาวบ้านในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีอาชีพเสริม มีรายได้เพิ่มขึ้น ในภาวะเศรษฐกิจที่ราคายางตกต่ำ เกษตรกรก็ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเดิม ๆ มาปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับผักที่มีคุณภาพจากจังหวัดกระบี่เราเอง โรคภัยไข้เจ็บของผู้บริโภคน้อยลง ทุกอย่างนี้ต้องขอขอบคุณประชารัฐกระบี่มากครับ”
โครงการเครื่องสีข้าวครัวเรือน “พร้อมสี”
บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมพัฒนาเครื่องสีข้าวให้มีขนาดกะทัดรัด เหมาะสำหรับการสีข้าวในครัวเรือนในปริมาณที่พอเพียงแก่ความต้องการ เพื่อให้ผู้บริโภคได้คุณประโยชน์ของข้าวสูงสุด โดยใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมเครื่องสีข้าวในครัวเรือนครั้งนี้คือ การผลักดันให้เกิดห่วงโซ่อุปทานใหม่ มุ่งเน้นการสร้างช่องทางการตลาดใหม่ให้แก่เกษตรกร สามารถจำหน่ายข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองโดยตรงแก่ผู้บริโภคในราคาที่สูงขึ้นกว่าการขายในรูปแบบเดิม นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรมีการพัฒนาในด้านทักษะการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการอบแห้ง คัดเลือก บรรจุ และขนส่ง ให้มีคุณภาพก่อนที่จะส่งตรงถึงมือผู้บริโภค นับเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรโดยตรงอีกด้วย

ปัจจุบันมียอดสั่งซื้อเครื่องสีข้าวครัวเรือน “พร้อมสี” กว่า 100 เครื่องแล้ว
โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนผ่านรายการ “ชื่นใจไทยแลนด์”
ไทยเบฟร่วมกับบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนงบประมาณในการผลิตรายการ “ชื่นใจไทยแลนด์” ซึ่งเป็นสารคดีเชิงท่องเที่ยว เชิงความคิดสร้างสรรค์ มีเป้าหมายเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ชุมชนทั่วประเทศ ภายใต้การดำเนินงานของเครือข่าย “ประชารัฐรักสามัคคี” โดยดำเนินการออกอากาศไปแล้วจำนวน 144 ตอนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

นับจากรายการเริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2559 มีการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี ทำให้คนทั่วไปรับรู้ถึงสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่ดำเนินการโดยชุมชนอย่างแท้จริง การประชาสัมพันธ์ในรายการและนำชุมชนที่เคยออกรายการไปออกร้านในงานแฟร์ต่าง ๆ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้กว่า 30 ล้านบาท
ความมุ่งมั่นและความสำเร็จ
  • จวบจนปัจจุบันเครือข่าย “ประชารัฐรักสามัคคี” ทั้งประเทศสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานไปแล้วกว่า 930 โครงการ แบ่งตาม 3 ประเภทกลุ่มงาน คือ เกษตร แปรรูป และท่องเที่ยวโดยชุมชน ครอบคลุมกว่า 68,000 ครัวเรือน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนไปแล้วกว่า 545 ล้านบาท โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 เป็นต้นมา สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนแล้วกว่า 41 ล้านบาท
  • สนับสนุนสินค้าชุมชนเพื่อจำหน่ายให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงจำหน่ายที่ร้านประชารัฐ และผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนแล้วกว่า 9 ล้านบาท
  • เชื่อมโยงภาคีเครือข่าย เพื่อเปิดพื้นที่ให้ชุมชนภายใต้การขับเคลื่อนของเครือข่าย “ประชารัฐรักสามัคคี” นำสินค้าชุมชนมาจำหน่าย ซึ่งในปี 2562 สร้างรายได้ให้กับชุมชนไปแล้วกว่า 5 แสนบาท รวมตั้งแต่ดำเนินการมากว่า 15 ล้านบาท
แบ่งปันคุณค่า
คุณอภิชาติ โตดิลกเวชช์
อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และอดีตเลขานุการภาครัฐ
คณะทำงานขับเคลื่อนงานพัฒนา เศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ
“กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน ร่วมกับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยนำเอากองทุนต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชนร่วมสร้างเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน 3 ระดับ คือ
1. ส่งเสริมการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจในระดับครัวเรือน
ตามแนวทางสัมมาชีพ ไม่เบียดเบียนตนเอง ลดการพึ่งพา ละความฟุ่มเฟือยและเลิกอบายมุข
2. ส่งเสริมการรวมกลุ่ม
มีการรวมกลุ่ม รวมซื้อ รวมขาย จะเป็นการสร้างผู้ประกอบการในระดับชุมชน (Community Entrepreneur) เพื่อริเริ่มการผลิต การค้า ที่มีลักษณะผลิตได้ขายเป็น
3. สร้างความร่วมมือ
สร้างเครือข่าย เป็นการขยายตัวสู่ระบบการผลิตทางเศรษฐกิจ และเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจในระดับชุมชนและท้องถิ่น ถือเป็นรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)

การดำเนินงานโครงการประชารัฐรักสามัคคี แม้จะเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่จากการทำงานหนักตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เราสามารถสร้างเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐให้บรรลุเป้าหมายการสร้างเศรษฐกิจขึ้นใหม่ในระดับชุมชนและท้องถิ่น”
ทิศทางการดำเนินงาน
สำหรับเส้นทางการดำเนินงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้
  • วางรากฐานและเครือข่าย (ปี 2559-2562)
    โดยเริ่มจากการวางรูปแบบสร้างกลไกเครือข่าย การดำเนินงานพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน โดยจัดตั้งเครือข่ายวิสาหกิจเพื่อสังคม ประชารัฐรักสามัคคี 76 จังหวัดทั่วประเทศ และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีวิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมสร้างความเข้าใจในกระบวนการพัฒนาแบบบูรณาการของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยแต่ละจังหวัดเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่จังหวัดของตนเอง ไปพร้อมกับโครงการระดับประเทศ เช่น โครงการเครื่องสีข้าวขนาดครัวเรือน โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย โครงการผ้าพื้นถิ่นสะพายสายแนว โครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย เป็นต้น และได้จัดตั้งมูลนิธิสถาบันพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนภาควิสาหกิจเพื่อสังคมทั่วประเทศ
  • สร้างความสำเร็จในทุกจังหวัด (ปี 2563-2565)
    ผลักดันให้เครือข่ายประชารัฐรักสามัคคีทุกจังหวัด สร้างต้นแบบแห่งความสำเร็จของการดำเนินงานทั้ง 3 กลุ่มงาน ได้แก่ เกษตร แปรรูป และท่องเที่ยวโดยชุมชน พร้อมส่งต่อและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ให้แก่สมาชิกในเครือข่าย โดยเป้าหมายสำคัญคือ เกิดการสร้างเครือข่ายของธุรกิจจากระดับชุมชนสู่ระดับประเทศ
  • ต่อยอดและขยายผล (ปี 2566-2569)
    สร้างโอกาส ต่อยอด และขยายผลความสำเร็จของธุรกิจชุมชนให้พัฒนาไปสู่ธุรกิจระดับประเทศและระดับโลก
ผลการดำเนินงานของโครงการ

โครงการผ้าขาวม้า ท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย
มีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ
15 ชุมชน
ทั่วประเทศ สร้างรายได้แล้วกว่า
21 ล้านบาท

โครงการสะพายสายแนว
มีจำนวนสมาชิก 2,932 คน
ในกว่า 20 จังหวัด
สร้างรายได้ให้ชุมชนประมาณ 10 ล้านบาท

โครงการโรงพยาบาล อาหารปลอดภัย
มีเครือข่าย "ประชารัฐรักสามัคคี" เข้าร่วมจำนวน
29 จังหวัด
จัดส่งสินค้าทางการเกษตรให้กับโรงพยาบาล
ทั่วประเทศ 41 แห่ง
สร้างรายได้ให้ชุมชนแล้วกว่า
63 ล้านบาท

โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ผ่านรายการ
“ชื่นใจไทยแลนด์”
ออกอากาศทางอมรินทร์ทีวี ช่อง 34
ดำเนินการแล้ว 144 ตอน
ครอบคลุม 73 จังหวัด
รวม 126 ชุมชน
สร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่มขึ้น 30-85%
และเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว 20-70%