SUSTAINABILITY REPORT 2020

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2563 / แบ่งปันคุณค่าให้คนทั่วโลก
การพัฒนาชุมชน
จากการเผชิญกับภาวะภัยแล้งตั้งแต่ปลายปี 2562 จนมาถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำปรับลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในภาวะเช่นนี้ ไทยเบฟได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนอย่างเต็มที่ ด้วยมีเป้าหมายหลัก คือ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนทั่วประเทศให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน ผ่านการเชื่อมโยงกับผู้นำชุมชนทุกภาคส่วนในพื้นที่ทั่วประเทศ ให้ความรู้และฝึกฝนอาชีพแก่เกษตรกร เพื่อให้สามารถต่อยอด ดำรงชีพได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเพิ่มพื้นที่ป่าและแหล่งน้ำ ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกการพึ่งพาตนเองได้หลากหลาย ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นต่อไป
โครงการไทยเบฟ...รวมใจต้านภัยหนาว

ไทยเบฟจัดทำโครงการ “ไทยเบฟ...รวมใจต้านภัยหนาว” มายาวนาน 21 ปี เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมส่งต่อความอบอุ่นกับโครงการนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกปีไทยเบฟจะนำผ้าห่มผืนเขียวจำนวน 200,000 ผืน ไปมอบให้ผู้ประสบภัยหนาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจนถึงปัจจุบันนี้ได้ส่งมอบผ้าห่มไปแล้วถึง 4,200,000 ผืน ครอบคลุมพื้นที่ 45 จังหวัดในประเทศไทย มากกว่า 80% สามารถเข้าถึงเครื่องกันหนาว รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตและสุขภาพดีขึ้น ในปีนี้ได้นำผ้าห่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Friendly Blanket) ซึ่งเป็นผ้าห่มที่ผลิตจากการรีไซเคิลขวดพลาสติกใช้แล้ว โดยผ้าห่ม 200,000 ผืน ทำให้ลดขยะขวดน้ำพลาสติก PET 7,600,000 ขวด (1 ผืน: 38 ขวด)

นอกจากส่งมอบผ้าห่มแล้ว ไทยเบฟยังให้ความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ ดังนี้
  • จัดกิจกรรม “ให้น้องจากใจไทยเบฟ” โดยมอบทุนการศึกษาให้กับทุกโรงเรียนในพื้นที่ พร้อมทั้งมอบสื่อการเรียนการสอนและอุปกรณ์กีฬาที่ทางโรงเรียนมีความต้องการ
  • ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก และโรงพยาบาลรวมแพทย์ยโสธร อาสาเข้ามาทำหน้าที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ด้วยการตรวจดูแลสุขภาพแบบครบวงจร ทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์
  • จัดโครงการ 1 ปัน 1 อุ่น โดยเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่น ๆ เช่น พนักงานจิตอาสาและพันธมิตร เข้ามามีส่วนร่วมสมทบทุนบริจาคผ้าห่ม 1 ผืน เพื่อปันไปสู่เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลน ในพื้นที่นอกเหนือจาก 15 จังหวัด พร้อมกับเลี้ยงอาหารกลางวัน และมีกิจกรรมสันทนาการ ให้กับเด็กๆ
โครงการพัฒนาน้ำ พัฒนาชีวิต พัฒนาคุณภาพชีวิต ตำบลดงเดือย จังหวัดสุโขทัย

ไทยเบฟ ร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและกระบวนการจัดการน้ำชุมชน รวมไปถึงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจชุนชนได้อย่างยั่งยืน จากจุดเริ่มต้นในการขุดลอกคลอกกล่ำระยะทาง 680 เมตร เพื่อรักษาระดับน้ำที่เหมาะสมสำหรับเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาในช่วงฤดูแล้ง ตลอดจนกักเก็บน้ำในลำคลองเพื่อประโยชน์ในการอุปโภคและการเกษตร ปัจจุบันมีการขยายกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาหมอแปลงใหญ่สายพันธุ์ปลาหมอชุมพร จำนวน 43 ราย โดยมีปริมาณการผลิต 900 กิโลกรัม / บ่อ สร้างรายได้ 63,000 บาท/บ่อ ในด้านการดำเนินงานเกษตรทฤษฎีใหม่ ได้พัฒนาระบบกระจายน้ำแบบใช้น้ำน้อย ชุมชนบ้านวังศรีไพร ตำบลดงเดือย อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ในพื้นที่ 9 ไร่ ลดรายจ่ายได้ถึง 2,000 บาท ต่อเดือน และสร้างได้เพิ่มให้เกษตรกร 10,000 บาท ต่อเดือนเช่นกัน
โครงการรวมพลังพลิกฟื้นคืนธรรมชาติสู่สิ่งแวดล้อมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ

ไทยเบฟสนับสนุนการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ในพื้นที่ จำนวน 17 ไร่ ภายใต้ "โครงการรวมพลังพลิกฟื้นคืนธรรมชาติสู่สิ่งแวดล้อมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี " เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ โดยมอบงบประมาณ 2,978,400 บาท พร้อมนำคณะผู้บริหารและพนักงานจิตอาสาในเครือไทยเบฟร่วมกันฟื้นฟูและปลูกป่า ทั้งป่าบกและป่าชายเลน ตลอดระยะเวลา 6 ปี ในปี 2562 - 2563 ดำเนินการบำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกเสริมและต้นไม้เดิมในพื้นที่ทั้งหมด โดยใช้ระบบน้ำหยดและใช้รถบรรทุกน้ำฉีดพ่นในพื้นที่ที่รถสามารถเข้าถึงได้ พร้อมทั้งใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพตามสูตรของสำนักพัฒนาที่ดิน จังหวัดเพชรบุรี ตัดแต่งกิ่งไม้เพื่อการเจริญเติบโตของต้นไม้และตัดหญ้าในแปลงปลูก
โครงการฟื้นฟูผู้ประสบอุบัติภัยดินโคลนถล่ม ชุมชนบ้านห้วยขาบ จ.น่าน

ชุมชนบ้านห้วยขาบ หมู่ที่ 7 ตำบลบ่อเกลือเหนือ ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดินโคลนถล่มทับบ้านเรือน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2561 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบจำนวน 61 หลังคาเรือน 66 ครอบครัว และมีแนวโน้มที่จะเกิดสถานการณ์ดินโคลนถล่มอีก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านจึงมีความคิดเห็นร่วมกันว่าจะดำเนินการย้ายชุมชนไปอยู่ที่ดินแห่งใหม่ โดยไทยเบฟร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) และหน่วยงานภาคีในจังหวัดน่าน ได้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างบ้านให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อน จำนวน 60 หลังคาเรือน ชาวบ้านได้รับประโยชน์ 247 คน
กิจกรรมที่ดำเนินงานและผลสำเร็จที่เกิดขึ้น
การสร้างบ้านมั่นคงชนบทเสร็จเรียบร้อยแล้วจำนวน 60 หลังคาเรือน โดยในช่วงระหว่างการก่อสร้าง ได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับเหมาต้องใช้แรงงานในชุมชน เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะองค์ความรู้ด้านงานก่อสร้าง ทำให้ชาวบ้านเกิดกระบวนการมีส่วนร่วม และนมีรายได้เพิ่มจากการรับจ้าง จำนวน 46 คน รวมรายได้ 1,949,800 บาท (ระยะเวลาก่อสร้างบ้าน 8 เดือน)
โครงการส่งเสริมคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างชุมชนดีมีรอยยิ้ม

“ชุมชนดีมีรอยยิ้ม” เป็นโครงการที่ไทยเบฟสนับสนุนให้ใช้พลังของคนรุ่นใหม่กลับคืนสู่ท้องถิ่น ซึ่งขยายผลจากโครงการสานพลังเพื่อบ้านเกิด เพื่อให้นักพัฒนาธุรกิจชุมชนรุ่นใหม่เป็นแกนนำเชื่อมโยงการทำงานกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำความสุขและรอยยิ้มกลับคืนสู่บ้านเกิดของตนเอง และสร้างประโยชน์ในพื้นที่อย่างยั่งยืนในทุกมิติ โดยเน้นการเชื่อมโยงความร่วมมือในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาพื้นที่ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างพื้นที่ต้นแบบโครงการ “ชุมชนดีมีรอยยิ้ม”
ชุมชนดีมีรอยยิ้มแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี: โครงการพัฒนาท่องเที่ยวโดยชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (บ้านปลา-ธนาคารปู)
ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม(บ้านปลา-ธนาคารปู) ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ เกิดจากกระบวนการต่อสู้กับการบุกรุกทำลายป่าไม้ชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและเป็นแหล่งอาหารท้องถิ่นชุมชน จึงรวมตัวกันขึ้นเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ และพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวโดยชุมชน ชุมชนดีมีรอยยิ้มแหลมสิงห์ ได้สนับสนุนให้ชุมชนจัดตั้งคณะทำงาน พร้อมทั้งเชื่อมประสานหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมพัฒนาศักยภาพให้ชุมชนบูรณาการการทำประมงพื้นบ้าน อาชีพทอเสื่อกก และอาหารพื้นถิ่น ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเรียนรู้วิถีชุมชน เกิดผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเสื่อกกของชุมชน ทั้งนี้ ได้มีการจัดตั้งร้านค้าชุมชน “ชุมชนดีมีรอยยิ้มแหลมสิงห์” เพื่อเป็นศูนย์รวมและจำหน่ายสินค้าแปรรูป พร้อมทั้งพัฒนาที่พักในรูปแบบฟาร์มสเตย์สำหรับให้บริการนักท่องเที่ยว เพิ่มโอกาสในสร้างรายได้อีกหนึ่งช่องทาง
โครงการความร่วมมือศูนย์ฯห้วยฮ่องไคร้-ไทยเบฟร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าพัฒนาคุณภาพชีวิตจังหวัดน่าน

เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูป่าต้นนํ้าลำธารพร้อมกับพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในชุมชนที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนและอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเกื้อกูลกันตามแนววิถีชีวิตแห่งแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไทยเบฟได้นำรูปแบบการพัฒนาตามแนวพระราชดำริที่ประสบความสำเร็จของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มาประยุกต์และปรับใช้ในการพัฒนาบนพื้นที่จังหวัดน่าน โดยคัดเลือก 2 หมู่บ้าน เข้าร่วมในโครงการ คือ หมู่บ้านศรีนาป่าน ตำบลเรือง อำเภอเมือง และหมู่บ้านน้ำปูน ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน

โดยได้นำชุมชนไปศึกษาดูงานด้านปศุสัตว์ ด้านการเกษตร และด้านประมง ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นระยะเวลา 5 ปี ( พ.ศ.2558-2562) เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ของตนเอง และยังได้มอบวัตถุดิบต่างๆ ในการเลี้ยงสัตว์และพืชเพื่อบริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น สุกรสามสายพันธุ์ ไก่ประดู่หางดำ ไก่ไข่ กบนา ปลาดุกบิ๊กอุย ปลานิล เห็ดนางฟ้า และต้นกล้าไม้ผล
โครงการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามรอยองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ไทยเบฟ มูลนิธิสิริวัฒนภักดี ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เล็งเห็นความสำคัญของการเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปีชาตกาล องค์หลวงปู่ ภูริทัตโต ซึ่งที่ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้ เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ จึงจัดให้มีโครงการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามรอยองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เพื่อเชิญชวนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เดินทางเข้าไปเรียนรู้ประวัติ วัตรปฏิบัติอันงดงาม รวมทั้งปฏิปทาคำสอนขององค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต นอกจากนี้ยังสร้างรายได้ให้ชุมชนจากโครงการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่เป็นการกระจายรายได้เข้าสู่วิสาหกิจ ผู้ประกอบการร้านค้าชุมชน ร้านอาหาร โฮมสเตย์ ผู้ผลิตสินค้าชุมชน ของที่ระลึก และพัฒนาจนมีวิสาหกิจเพื่อสังคมเกิดใหม่ขึ้นมาได้

โครงการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตามรอยองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต มีพื้นที่ดำเนินการ 12 จังหวัด 35 หมุดหมาย และสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวได้ 6 เส้นทาง ได้แก่ 1.เชียงใหม่ 2.ลพบุรี 3.นครนายก 4.อุบลราชธานี-อำนาจเจริญ 5.สกลนคร-นครพนม 6.อุดรธานี-เลย-หนองคาย-หนองบัวลำภู โดยมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 35 ชุมชน (พื้นที่ละหนึ่งชุมชน) และในช่วงเริ่มต้นสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 90,000 บาท สามารถติดตามรายละเอียด “โครงการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตามรอยองค์หลวงปู่มั่น” ได้ที่ www. luangpumun-cbt.org
ความมุ่งมั่นและความสำเร็จ

คืนรอยยิ้มสู่ชุมชน ช่วยเกษตรกรไทยฝ่าวิกฤตโควิด - 19
จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 ทำให้การค้าขายและการส่งออกชะลอตัว
ส่งผลให้ภาคเกษตรกรรมเกิดภาวะสินค้าล้นตลาด ไทยเบฟจึงประสานความร่วมมือกับบริษัท น้ำใจไทยเบฟ จำกัด และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด รับซื้อมะม่วงจำนวนหลายสิบตันจากกลุ่มเกษตรกรหลายพื้นที่ในราคาตลาด และนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้คืนสู่ชุมชน และยังได้ส่งมอบสินค้าที่ผ่านการแปรรูปให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด -19
1.ซื้อมะม่วงน้ำดอกไม้คุณภาพดีจากชาวสวนที่ประสบปัญหาการส่งออกผลผลิตราคาตกต่ำในจังหวัดอุดรธานี
2. รับซื้อมะม่วงจากเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาดที่จังหวัดน่าน แล้วนำมาแปรรูปเป็นไอศกรีมมะม่วงออกจำหน่ายในแบรนด์ สินค้า SOS
3.ช่วยรับซื้อมะม่วงมหาชนก มะม่วงน้ำดอกไม้ ลำใย และมะละกอ จากเกษตรที่ประสบปัญหาผลไม้ล้นตลาด แล้วนำส่งมอบให้ช้างที่ขาดแคลนอาหาร โดยสมาคมสหพันธ์ช้างไทยช่วยคัดสรรพื้นที่ ดังนี้
ทิศทางการดำเนินงาน
ไทยเบฟยังคงสานต่อการสนับสนุนให้ชุมชนดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคง ภายใต้กรอบงานพัฒนาชุมชน โดยมุ่งเน้นการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมภารกิจด้านต่างๆ ดังนี้
  • ด้านเศรษฐกิจฐานราก ดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนในบริเวณรอบโรงงานและพื้นที่ต้นแบบอื่นๆ ทำให้ชุมชนสามารถพัฒนาตนเองจนเกิดการรวมกลุ่มและจัดตั้งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) อย่างน้อย 2 พื้นที่
  • ด้านการบริหารจัดการน้ำโดยเพิ่มพื้นที่สีเขียว และพื้นที่บริหารจัดการน้ำเพื่อชุมชนให้มากขึ้น อย่างน้อย 1 พื้นที่
  • สำหรับโครงการ “ไทยเบฟ...รวมใจต้านภัยหนาว” จะยังคงสานต่ออย่างต่อเนื่อง โดยมอบผ้าห่มผ้าห่มฟลีซรีไซเคิลที่ผลิตจากขวดพลาสติกใช้แล้วต่อไป เพื่อให้ความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อม