รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2563

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2563 / ใส่ใจดูแลบุคลากร ลูกค้า และผู้บริโภค
GRI 103-1, GRI 103-2, GRI 103-3
การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย
ไทยเบฟให้ความสำคัญกับการปฎิบัติตามระเบียบและข้อบังคับ ซึ่งลดความเสี่ยงในการถูกปรับ การเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจ ในปี 2563 เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “โรคโควิด 19” ภาครัฐจึงได้ออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยระบาดในประเทศไทย ซึ่งมาตรการที่ภาครัฐกำหนดไว้นั้นมีบางเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัทไทยเบฟ นอกจากนี้ บริษัทยังมีสำนักกฎหมายที่คอยดูแลการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบและกฎหมายในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยไทยเบฟมีช่องทางติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายจากการเป็นสมาชิกหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งสืบค้นข้อมูลกฎหมายและข่าวสารจากเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ราชกิจจานุเบกษา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาไทยเบฟได้ปรับเปลี่ยนนโยบายในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรการทางกฎหมายของภาครัฐดังนี้
ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 รวมทั้งประกาศและคำสั่งของจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งกำหนดมาตรการควบคุมไว้ดังนี้
  • ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรคโควิด 19 ได้แก่ สถานบันเทิง สถานบริการ สถานแสดงมหรสพ สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด สถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ
  • ห้ามร้านอาหารจำหน่ายอาหารโดยวิธีการนั่งทานในร้าน
  • ปิดห้างสรรพสินค้า โดยให้จำหน่ายได้แต่เฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
  • ปิดร้านค้าหรือสถานประกอบการที่มีใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ส่งผลให้บริษัทในกลุ่มไทยเบฟซึ่งมีทั้งบริษัทที่เป็นผู้ผลิตและบริษัทที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ 1 ไม่สามารถจำหน่ายสุราได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
  • กำหนดช่วงเวลาห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานเว้นแต่กรณีจำเป็นหรือเป็นบุคคลที่ได้รับสิทธิยกเว้น
  • ห้ามเดินทางข้ามจังหวัดเว้นแต่กรณีจำเป็น
ไทยเบฟจึงต้องวางแผนการผลิต การจำหน่าย และการขนส่งสินค้าให้สอดคล้องกับอายุการบริโภคของสินค้าโดยไม่ให้กระทบกับสภาพคล่องของไทยเบฟ รวมถึงสอดคล้องกับความต้องการของคู่ค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และเพื่อให้การประกอบกิจการของไทยเบฟสามารถดำเนินต่อไปโดยไม่หยุดชะงัก อีกทั้งเพื่อดูแลสภาพแวดล้อมการทำงานให้เกิดความปลอดภัยสำหรับพนักงานในภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงมีพนักงานบางส่วนปฏิบัติงานที่สถานที่ทำงาน และพนักงานบางส่วนปฏิบัติงานที่บ้านซึ่งสอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้ประชาชนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ นอกจากนี้ ไทยเบฟยังได้ดูแลใส่ใจกับสภาพความเป็นอยู่ของพนักงานโดยการมอบแอลกอฮอล์และหน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัยให้แก่พนักงานสำหรับใช้ในการป้องกันโรคโควิด -19 รวมทั้งมอบของใช้ที่จำเป็นต่อการยังชีพให้แก่พนักงานที่ได้รับผลกระทบ
พระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563
เดิมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์จะต้องดำเนินการตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 74/2557 เรื่อง การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2557 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า หนึ่งในสามขององค์ประชุมต้องอยู่ในสถานที่เดียวกันและผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดต้องอยู่ในราชอาณาจักรในระหว่างการประชุม ซึ่งเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ กลุ่มบริษัทไทยเบฟจึงไม่สามารถจัดประชุมสำหรับการประชุมที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่ทางภาครัฐได้กำหนดไว้เพื่อควบคุมและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก จึงมีการออกพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2563 เป็นต้นไป เพื่อเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจัดประชุมที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีการประชุมสามารถประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้โดยผู้ร่วมประชุมไม่ต้องอยู่ในสถานที่เดียวกันและไม่ต้องอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น กลุ่มบริษัทไทยเบฟจึงมีการจัดประชุมคณะกรรมการบริษัทผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และกรรมการบางท่านแม้จะอยู่ในต่างประเทศก็สามารถเข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นได้ ในการจัดประชุมนี้ กลุ่มบริษัทไทยเบฟเลือกใช้ระบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีความมั่นคงปลอดภัยและปฏิบัติตามมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่กฎหมายกำหนด
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 47) พ.ศ. 2561
เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติไว้ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 113/2545 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กรณีการกำหนดราคาโอนให้เป็นไปตามราคาตลาด ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2545 ซึ่งกลุ่มบริษัทไทยเบฟได้กำหนดค่าตอบแทนระหว่างกันโดยยึดถือปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวแม้ว่าคำสั่งดังกล่าวจะไม่มีสถานะเป็นกฎหมายก็ตาม

ต่อมาได้มีการแก้ไขประมวลรัษฎากรเพื่อนำหลักการดังกล่าวมาบัญญัติเป็นกฎหมายโดยให้อำนาจกรมสรรพากรในการปรับปรุงทั้งรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันหากการกำหนดค่าตอบแทนระหว่างกันไม่เป็นไปตามหลัก Arm’s length price (ราคาของค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ย ซึ่งคู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกันพึงกำหนดโดยสุจริตในทางการค้า กรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการหรือให้กู้ยืมเงินที่มีลักษณะประเภท และชนิดเดียวกัน ณ วันที่โอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน) ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับกับกลุ่มบริษัทไทยเบฟตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชี 2563 เป็นต้นไป แต่เมื่อกฎหมายเริ่มมีผลใช้บังคับในปี พ.ศ. 2562 กลุ่มบริษัทไทยเบฟได้เริ่มดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว โดยได้จัดเตรียมเอกสารการกำหนดราคาโอนทั้งในภาพรวมของกลุ่มบริษัทและบริษัทย่อยแต่ละบริษัทสำหรับกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และในรอบปีบัญชี 2563 นี้ได้ดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนของกลุ่มธุรกิจเบียร์โดยเริ่มดำเนินการในส่วนของโรงงานเบียร์ก่อนเป็นลำดับแรก หลังจากนั้นจึงจะทยอยดำเนินการในส่วนอื่นของกลุ่มธุรกิจเบียร์และกลุ่มธุรกิจอื่นต่อไป
พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2562 แต่เริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี พ.ศ. 2563 โดยเป็นการยกเลิกการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินซึ่งจัดเก็บภาษีจากค่ารายปี (จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในแต่ละปี) ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และยกเลิกการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ซึ่งจัดเก็บจากราคาปานกลางของที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ แล้วเปลี่ยนมาจัดเก็บเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งจัดเก็บภาษีจากราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กลุ่มบริษัทไทยเบฟได้ตระหนักถึงหลักการการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมีนโยบายให้บริหารจัดการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของบริษัทให้เหมาะสมกับสภาพของที่ดินและก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจทั้งต่อบริษัท พนักงาน ชุมชนและประเทศ โดยการคัดเลือกพื้นที่ที่กลุ่มบริษัทจะนำมาใช้ประโยชน์เองเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้พนักงานหรือครอบครัวของ พนักงานเช่าพื้นที่ของบริษัททำเกษตรกรรมเพื่อสร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัวของพนักงาน ซึ่งเป็นการสร้างความผูกพันระหว่างพนักงานกับองค์กร รวมทั้งยังสนับสนุนให้ชาวบ้านในชุมชนรอบสถานประกอบการของกลุ่มบริษัทและบุคคลอื่นเช่าพื้นที่ของกลุ่มบริษัททำเกษตรกรรมเพื่อสร้างรายได้ให้กับบุคคลเหล่านั้นด้วย โดยในรอบปีบัญชีนี้กลุ่มบริษัทไทยเบฟได้ใช้ประโยชน์พื้นที่เพิ่มขึ้นจำนวน 1,657 ไร่ 17.45 ตารางวา และให้พนักงานหรือครอบครัวของพนักงานเช่า จำนวน 10 ราย ชาวบ้านรอบสถานประกอบการ จำนวน 9 ราย และบุคคลอื่นจำนวน 3 ราย รวมพื้นที่ที่มีการทำประโยชน์แล้วทั้งสิ้นจำนวน 2,612 ไร่ 3 งาน 57.25 ตารางวา
พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
แม้จะมีการยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายในส่วนของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล การร้องเรียน ความรับผิดทางแพ่ง และบทกำหนดโทษ ออกไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 แต่กลุ่มบริษัทไทยเบฟก็ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยกลุ่มบริษัทไทยเบฟจะขอความยินยอมในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากบุคคลต่าง ๆ และแจ้งวัตถุประสงค์ของการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลให้บุคคลเหล่านั้นทราบ และจะใช้ข้อมูลส่วนบุคคลตามวัตถุประสงค์ที่ขอความยินยอมไว้ เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมายยกเว้นให้สามารถทำได้โดยไม่ต้องขอความยินยอม รวมทั้งได้มีการปรับปรุงแบบฟอร์มใบสมัครงาน สัญญาจ้างงาน และเอกสารสัญญาต่าง ๆ รวมทั้งการใช้งานเว็บไซต์ต่าง ๆ ของกลุ่มบริษัทไทยเบฟให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของกฎหมายในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิของบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลนั้น
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563
กฎหมายฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งห้ามไม่ให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อผู้บริโภคโดยตรง หรือเป็นการดำเนินการใดๆ ในลักษณะการเชิญชวนให้ซื้อ หรือการเสนอขายรวมไปถึงการขายสินค้าหรือบริการต่อผู้บริโภคโดยตรงด้วยการตลาด หรือบริการการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ขายและผู้บริโภคซื้อขายได้โดยไม่ต้องพบกัน แต่ไม่ใช้บังคับกับการซื้อขายและการชำระราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดขายในร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ที่ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มบริษัทไทยเบฟโดยตรงเนื่องจากบริษัทไม่ได้เสนอขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง แต่อาจมีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบางราย ซึ่งไทยเบฟจะแนะนำให้ผู้ที่ขายทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้บริโภคโดยตรงปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย