SUSTAINABILITY REPORT 2020

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2563 / ใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม
การพิทักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ
ไทยเบฟได้กำหนดนโยบายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยให้ความสำคัญด้วยการสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำที่ครบวงจรตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่การประเมินความยั่งยืนของการใช้น้ำในส่วนของโรงงานที่มีการผลิต เพื่อประเมินระดับความเสี่ยงของน้ำในแต่ละพื้นที่และกำหนดเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งมีการประเมินการใช้น้ำตลอดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างสูงสุด นอกจากนี้ไทยเบฟได้ร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการดูแลและอนุรักษ์แหล่งน้ำ รวมไปถึงการดูแลชุมชนให้สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดในการอุปโภคและบริโภค เพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ ผ่านโครงการต่างๆ ดังนี้
โครงการประเมินความยั่งยืนของน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน
เพื่อทำความเข้าใจและประเมินปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำในปัจจุบันและสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตหรือความเสี่ยงที่เกี่ยวโยงกับหน่วยธุรกิจ และนำเสนอกลยุทธ์การบริหารจัดการน้ำแบบต่างๆ ไทยเบฟจึงได้จัดทำโครงการประเมินความยั่งยืนของน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินอย่างต่อเนื่อง โดยทำการประเมินปัญหาและความเสี่ยงทางด้านน้ำในเชิงลึกครอบคลุมหลายมิติ ประกอบด้วยการประเมินความเสี่ยงของแหล่งน้ำอย่างละเอียด เช่น ความพร้อมของแหล่งน้ำ โครงสร้างภายในของแหล่งน้ำ ความอ่อนไหวของพื้นที่ลุ่มน้ำ ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ปรากฎการณ์ตามธรรมชาติเกี่ยวกับน้ำ (ฝน แล้ง น้ำท่วม ฯลฯ) และคุณภาพของแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นการประเมินไปถึง 5 ปีข้างหน้า เพื่อรับรองว่าจะมีปริมาณน้ำที่พอเพียงในการปฏิบัติการของโรงงานผลิต

ทั้งนี้ ไทยเบฟได้ใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายทางดาวเทียมมาเป็นเครื่องมือในการศึกษาภูมิประเทศ (Topography) ทิศทางการไหลของน้ำ (Flow Direction) พื้นที่รับน้ำ (Watershed) การระบายน้ำ (Drainage) ความลาดเอียงของ พื้นที่ (Slope Pattern) ของคลองชลประทาน แม่น้ำ ลำคลอง อ่างเก็บน้ำ เขื่อน และพื้นที่ใกล้เคียงของโรงงาน รวมไปถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ในรอบ 10 ปีย้อนหลัง ทำให้ไทยเบฟสามารถวางกลยุทธ์การลดความเสี่ยงได้อย่างครอบคลุมและเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นและความเสี่ยงที่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป

ในปีนี้ไทยเบฟได้ทำการขยายผลในการประเมินความยั่งยืนของการใช้น้ำผิวดินและใต้ดินไปในอีก 5 โรงงานให้ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ และในอนาคตไทยเบฟจะขยายผลในการประเมินให้ครอบคลุมทุกโรงงานเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
โครงการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency Program)
ไทยเบฟได้นำหลักการประเมินวอเตอร์ฟุตพรินต์มาประยุกต์ใช้ เพื่อวัดปริมาณการใช้น้ำโดยยึดหลักการตามแนวทางของมาตรฐาน ISO 14046 ซึ่งใช้หลักพื้นฐานของหลักการประเมินวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment: LCA) ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่ง การใช้งาน และการกำจัดเศษซากผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงการผลิตให้มีการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีคุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ไทยเบฟยังปรับปรุงกระบวนการใช้น้ำตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์อย่างมีคุณภาพและต่อเนื่องด้วยหลักการ 3Rs คือ การลดการใช้น้ำ การนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำขององค์กรให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
โครงการอุตสาหกรรมเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น
ไทยเบฟได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน เข้าร่วมโครงการอุตสาหกรรมเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น จำนวน 4 โรงงาน เพื่อเป็นต้นแบบของระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นที่เหมาะสมกับภาคอุตสาหกรรม และตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility, CSR) และชุมชนโดยรอบอีกด้วย โดยรูปแบบและวิธีการเติมน้ำใต้ดินคือ การเก็บเกี่ยวน้ำฝนเติมลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินระดับตื้น (ไม่เกิน 15 เมตร) เพื่อรักษาสมดุลของน้ำตามธรรมชาติ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม คาดว่าโครงการจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2564 และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ คือ
  • มีต้นแบบระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นที่เหมาะสมกับภาคอุตสาหกรรม
  • สามารถเก็บเกี่ยวน้ำฝนไว้ใช้ มีแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับในภาวะขาดแคลนน้ำ
  • เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในบริเวณโรงงาน และพื้นที่รอบข้าง
  • เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดิน ในพื้นที่สีเขียว
  • เพิ่มระดับน้ำบาดาลให้สูงขึ้นในระยะยาว
  • เพื่อเป็นการส่งเสริม CSR ภาคอุตสาหกรรม
การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และดูแลแหล่งน้ำร่วมกับชุมชน
เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและคืนน้ำสะอาดกลับสู่ธรรมชาติ รวมถึงการฟื้นฟูแหล่งน้ำและระบบนิเวศให้อุดมสมบูรณ์ไทยเบฟได้ให้การสนับสนุนจัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ ร่วมกับชุมชน มาอย่างต่อเนื่อง
  • การบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ (Constructed Wetland)
  • โครงการน้ำสะอาด (Clean Water Project) ในประเทศเมียนมา
  • โครงการน้ำดื่มสะอาด เพื่อน้อง
  • โครงการคลีนคลอง (Clean Canal)
  • โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์ระบบนิเวศ
  • โครงการฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าชายเลน
ความมุ่งมั่นและความสำเร็จ
การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพในปี 2563 ส่งผลให้เกิดอัตราส่วนการลดการใช้น้ำ การนำน้ำมาใช้ซ้ำ และการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เมื่อเทียบกับปริมาณทรัพยากรน้ำที่ดึงมาใช้ทั้งหมดของไทยเบฟ

ทิศทางการดำเนินงาน
ไทยเบฟได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความต้องการใช้น้ำที่มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการติดตามปริมาณการใช้ต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ และตั้งเป้าหมายทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ
Insight
คุณวีระชัย ไชยมงค์
ผู้อำนวยการฝ่ายผลิต
บริษัท เบียร์ไทย (1991) จำกัด (มหาชน)
การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่ความตึงเครียดด้านน้ำสูง
น้ำจัดเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญยิ่งในกระบวนการผลิต โดยความต้องการทรัพยากรน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่มีขีดจำกัดด้านปริมาณที่ลดลงเนื่องจากแหล่งน้ำทรุดโทรม มลพิษทางน้ำ รวมทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลุ่มธุรกิจเบียร์ได้ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำเพื่อให้มีคุณภาพที่ดีและปริมาณที่เพียงพอต่อการผลิต รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน จึงกำหนดให้ “การบริหารจัดการน้ำ” เป็นหนึ่งในความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจ และได้กำหนดให้มีระบบติดตามการเปลี่ยนแปลงทั้งคุณภาพและปริมาณอย่างใกล้ชิดเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว โดยเราได้มีการประเมินความเสี่ยงด้านน้ำด้วยเครื่องมือ Aqueduct Water Risk โดย World Resources Institute (WRI) พบว่ามีหลายโรงงานอยู่ในพื้นที่ที่ความตึงเครียดทางด้านน้ำสูง ทำให้เราได้เพิ่มความร่วมมือกับทางภาคเอกชน และรัฐบาล เพื่อร่วมกันดูแลและวางมาตรการที่จำเป็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำและการอนุรักษ์น้ำอย่างเหมาะสม

ในปีนี้เองทางบริษัท เบียร์ไทย (1991) จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมการประเมินความยั่งยืนของการใช้น้ำ ซึ่งเป็นการประเมินความเสี่ยงด้านน้ำเชิงลึก และมีการใช้เทคโนโลยีทางด้านดาวเทียมเข้ามาเป็นเครื่องมือในการประเมินเพื่อศึกษาสภาพภูมิศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลง ทำให้สามารถวางแผนการพัฒนาทางด้านพื้นที่ทั้งภายในและภายนอกโรงงานที่เกี่ยวข้องกับชุมชนได้ถูกต้อง และในขณะเดียวกันเรายังให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการเข้าร่วมโครงการอุตสาหกรรมเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน เพื่อกักเก็บน้ำฝนและเพิ่มน้ำใต้ดินระยะยาว รวมไปถึงเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอบด้าน

กลุ่มเบียร์ได้สร้างวัฒนธรรมด้านนวัตกรรมผ่านระบบการบำรุงรักษาทวีผลที่ทุกคนมีส่วนร่วม (Total Productive Maintenance; TPM) เพื่อส่งเสริมให้พนักงานร่วมกันนำเสนอแนวคิดการประหยัดน้ำผ่านหลัก 3Rs นั่นก็คือ การลด (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เช่น โครงการนำน้ำจากกระบวนการล้างแบบวิธีการล้างย้อน (Backwash) ไปใช้เป็นน้ำตั้งต้นในกระบวนการผลิตน้ำประปา และโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำในกระบวนการล้าง (Cleaning In Place; CIP) โดยปรับกระบวนการล้างให้สามารถใช้น้ำล้างสุดท้าย (Final Rinse) ให้สามารถนำมาใช้เป็นน้ำแรก (Pre flush) ได้ด้วย รวมไปถึงมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพิจารณาใช้ในกระบวนการเพื่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ในการพิจารณาการสร้างโรงงานผลิต ความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำทั้งด้านคุณภาพ ปริมาณ และการบริหารจัดการไม่ให้มีผลกระทบต่อชุมชนเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาการตั้งโรงงาน เช่นเดียวกับการคัดเลือกเครื่องจักร เทคโนโลยีที่คำนึงถึงประสิทธิภาพในการใช้น้ำและพลังงาน

สำหรับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเพื่อลดผลกระทบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอบโรงงาน โดยได้ร่วมพัฒนาระบบน้ำดื่มเพื่อให้เด็กนักเรียนและบุคลากรได้มีโอกาสเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดถูกหลักอนามัย มีสุขภาพที่ดี จึงได้จัดทำโครงการ “น้ำดื่มสะอาด เพื่อน้อง” และได้ติดตามคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เช่น การตรวจวัดคุณภาพน้ำทุกเดือน เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำดื่มนั้นมีคุณภาพที่ผ่านเกณฑ์ทุกค่าตามมาตรฐานน้ำดื่ม และยังมีโครงการอื่น ๆ ที่ได้ทำร่วมกับชุมชน เช่น ร่วมพัฒนาระบบทางน้ำสาธารณะ โดยการขุดลอก และขยายเส้นทางน้ำ เพื่อไม่ให้กระทบชุมชนในกรณีน้ำหลาก และป้องกันไม่ให้เกิดการกักขังของน้ำเน่าเสีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบสุขอนามัยและสุขาภิบาลของชุมชนบริเวณโดยรอบของโรงงานอีกด้วย