รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2563

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2563 / แนวทางการพัฒนาความยั่งยืนของไทยเบฟ
กระบวนการประเมินสาระสำคัญด้านความยั่งยืน
ในปี 2563 ไทยเบฟทวนสอบสาระสำคัญด้านความยั่งยืน โดยพิจารณาจากข้อมูลทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืนของโลก บริบทขององค์กร สาระสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน (อาหารและเครื่องดื่ม) สาระสำคัญตามมาตรฐานด้านความยั่งยืนระดับสากล และการวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยไทยเบฟจัดทำการประเมินสาระสำคัญด้านความยั่งยืนใหม่ทุก 3 ปี และจะมีการทบทวนสาระสำคัญทุกปี ตามกระบวนการดังนี้

1. การกำหนดประเด็น
ไทยเบฟจัดสัมนาเชิงปฏิบัติการประกอบด้วยผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญจากสายงานธุรกิจทุกสายงาน ในการคัดเลือกประเด็นด้านความยั่งยืนที่มีความสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ โดยศึกษาแนวโน้มและทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก ประเด็นด้านความยั่งยืนของบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน อีกทั้งมีการกำหนดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับองค์กรและประเด็นด้านความยั่งยืนขององค์กร
2. การจัดลำดับความสำคัญขององค์กร
ไทยเบฟนำสาระสำคัญด้านความยั่งยืนจากขั้นตอนการกำหนดประเด็นมาจัดลำดับความสำคัญผ่าน 2 กิจกรรมโดยผลลัพธ์ที่ได้จาก 2 กิจกรรมเหล่านี้ถูกนำมาใช้กลั่นกรองเป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อความยั่งยืนขององค์กร ซึ่งประเด็นที่ถูกจัดลำดับว่าสำคัญมากทั้งในมุมมองของไทยเบฟและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะถูกกำหนดให้เป็นประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุด

1) การสัมมนาเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้บริหารระดับสูงสุดของไทยเบฟเพื่อพิจารณาและประเมินผลกระทบของประเด็นความความยั่งยืนที่มีต่อองค์กร โดยคำนึงถึงผลกระทบ 3 ด้าน: ด้านการเงิน ด้านการปฏิบัติงาน และด้านชื่อเสียง

2) การสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรทั้ง 8 กลุ่ม ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อทำความเข้าใจในด้านความสำคัญและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
3. การทวนสอบ
คณะทำงานเพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจ ดำเนินการทวนสอบความครบถ้วนของสาระสำคัญด้านความยั่งยืนขององค์กร เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาความยั่งยืนทางธุรกิจเพื่อพิจาณาเห็นชอบและนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารเพื่อพิจารณายืนยันและเห็นชอบสาระสำคัญด้านความยั่งยืน
4. การกำหนดขอบเขตการรายงาน
ไทยเบฟกำหนดขอบเขตการรายงานสาระสำคัญทั้งหมด 17 ประเด็น โดยรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีความเกี่ยวข้องกับสาระสำคัญดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุม ครบถ้วนแม่นยำ ตอบโจทย์ทุกประเด็นที่เป็นความสนใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของไทยเบฟ
5. การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ไทยเบฟมุ่งเน้นที่จะดำเนินธุรกิจตามแนวทางพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ผ่านการทบทวนสาระสำคัญด้านความยั่งยืนขององค์กรทุกปี โดยนำมุมมองและข้อเสนอแนะที่มีต่อสาระสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากการสัมภาษณ์ในเชิงลึกในแต่ละปีมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับการดำเนินงานความยั่งยืนขององค์กรให้เหมาะสมกับธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อไป
สาระสำคัญองค์กรประจำปี 2563
ในปี 2563 ไทยเบฟได้ทวนสอบสาระสำคัญด้านความยั่งยืนขององค์กร โดยเพิ่มจำนวนประเด็นขึ้นจาก 16 ประเด็น ในปี 2562 เป็น 17 ประเด็น ในปี 2563

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการภาครัฐในการควบคุมการแพร่ระบาด เช่นการกักกันตัวเองอยู่บ้านและจำกัดการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น (physical distance) ทำให้การดำรงชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป เกิดฐานวิถีชีวิตใหม่ ผู้บริโภคสั่งอาหารและเครื่องดื่มผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อบริโภคที่บ้านมากขึ้น ให้ความใส่ใจกับสุขภาพและความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวมากขึ้น

การประเมินสาระสำคัญด้านความยั่งยืนพบว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ความใส่ใจกับประเด็นความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์และบริการ ตลอดจนความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน โอกาสที่จะทำให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ผลลัพธ์ของการทวนสอบสาระสำคัญด้านความยั่งยืนของไทยเบฟมีการเปลี่ยนแปลงไปจากปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ โดยประเด็นที่มีความสำคัญสูงประกอบด้วย
  • สุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค
  • การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน
  • ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพและคุณค่าทางโภชนาการ