SUSTAINABILITY REPORT 2020

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2563 / ใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม
การจัดการด้านสภาพภูมิอากาศ
ไทยเบฟรับรู้และเข้าใจถึงปัญหาและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาโดยตลอด จึงกำหนดแผนการจัดการด้านสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยพัฒนาความยั่งยืนให้กับการดำเนินธุรกิจขององค์กรและความเป็นอยู่ของชุมชนรอบโรงงาน
กิจกรรมต่างๆเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • เพื่อมีส่วนร่วมในการควบคุมให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ไทยเบฟได้ตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามหลักวิทยาศาสตร์อย่างน้อย 2.5% ต่อปี เท่ากับเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส โดยไทยเบฟได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและใช้เป็นเครื่องมือเพื่อจำลองความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลง (Transition Risk)และความเสี่ยงทางกายภาพ (Physical Risk) ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ แล้วนำมาพัฒนาเป็นแผนบริหารความเสี่ยงและมาตรการลดความเสี่ยงที่เหมาะสม
  • ไทยเบฟจัดให้มีการสัมมนาโดยมีผู้บริหารจากทุกหน่วยธุรกิจเข้าร่วมการสัมมนาเพื่อระดมความคิดช่วยกันกำหนดกลยุทธ์สามเสาหลักด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยเบฟ ประกอบด้วย การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการชุมชน นอกจากนี้ไทยเบฟยังจัดให้มีการอบรมด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures - TCFD) ให้กับผู้บริหารและหน่วยปฏิบัติงานด้านความยั่งยืน เพื่อให้นำข้อมูลไปพัฒนาเป็นแผนงานสำหรับธุรกิจต่างๆ ให้ปฏิบัติตาม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทำการเปิดเผยข้อมูลต่อนักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

ในการจัดการด้านพลังงานการใช้พลังงาน ไทยเบฟได้พัฒนาโครงการทวนสอบการใช้พลังงานขององค์กร (Energy Audit) เพื่อประเมินการใช้พลังงานของแต่ละกิจกรรมที่เกิดขึ้นในองค์กรและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน นอกจากนี้ไทยเบฟยังใช้พลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่องด้วยการสนับสนุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับโรงงานในประเทศรวม 22 แห่ง และโรงงานประเทศเมียนมา 1 แห่ง โดยการติดตั้งจะแล้วเสร็จในปี 2564 รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 20 เมกะวัตต์ (MWp) ขณะเดียวกันไทยเบฟได้ลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biogas) เพื่อเป็นพลังงานทดแทนเพิ่มเติมอีก 2 แห่งที่โรงงานสุราจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดหนองคาย จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 5 แห่ง โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2564

ไทยเบฟได้จัดกิจกรรมด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงทางกายภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับโรงงานต่างๆ เช่น การประเมินความยั่งยืนของน้ำและการประเมินความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติ

เพื่อขยายขอบเขตการจัดการดูแลผลกระทบทางธุรกิจที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปสู่ภายนอกองค์กรไทยเบฟจึงได้เริ่มมีส่วนร่วมกับคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรจากสิ่งแวดล้อมและลดขอบเขตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยเบฟในประเภทที่ 3 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ)

ไทยเบฟมีมาตรการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทที่ 3 คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ ได้แก่ การเชิญคู่ค้าเข้าร่วมโครงการรางวัลความร่วมมือด้านความยั่งยืนในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทผลิตภัณฑ์หรือบริการที่องค์กรจัดหา การซื้อบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วและการนำมาใช้ใหม่ร่วมกับคู่ค้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกช่วงหลังใช้งาน
ความมุ่งมั่นและความสำเร็จ
  • ไทยเบฟร่วมมือกับคู่ค้าเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคาร์บอนต่ำด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นอกจากนี้ไทยเบฟยังได้ได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยเข้าร่วมโครงการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ (CFR) ซึ่งมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 2% เมื่อเทียบกับปีฐาน ตามที่กำหนดโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โครงการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ (CFR) ช่วยให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยซื้อผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ
  • ไทยเบฟยึดมั่นในหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นทั้งบนพื้นดินและในมหาสมุทร ทั้งนี้ ไทยเบฟมีความตั้งใจที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยลดการใช้บรรจุภัณฑ์ การใช้ขวดซ้ำ และการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค จึงได้ริเริ่มโครงการลดการใช้บรรจุภัณฑ์ โดยการนำขวดแก้วกลับมาใช้ใหม่และการซื้อกลับเศษแก้ว ขวด PET กระดาษ ลังกระดาษ และกระป๋องอะลูมิเนียมกลับคืน

ทิศทางการดำเนินงาน
  • ปัจจุบันไทยเบฟได้ตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมตามหลักวิทยาศาสตร์อย่างน้อย 2.5 % ต่อปี ซึ่งรวมถึงกลุ่มบริษัทในต่างประเทศด้วย
  • ไทยเบฟทำการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมประเภทที่ 3 ให้เป็นไปตามเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามหลักวิทยาศาสตร์ในอนาคต
  • ไทยเบฟ เริมดำเนินการโครงการก๊าซชีวภาพใหม่และโครงการหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ ระยะ 1 ถึง 4 เพื่อช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนของไทยเบฟ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

แบ่งปันคุณค่า
คุณวิเชียร รุ่งวัฒนะกิจ
ผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจสินค้าบรรจุภัณฑ์และวิศวกรรม
บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย ใช้เศษแก้วในกระบวนการผลิตตั้งแต่ปี 2494 บริษัทจับมือร่วมกับไทยเบฟเมื่อปี 2559 โดยทำงานร่วมกันในฐานะคู่ค้าและลูกค้า ด้วยธุรกิจของไทยเบฟที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย ทำให้ทั้งสองบริษัทผนึกกำลังร่วมกันในการจัดหาวัตถุดิบจากเศษแก้วซึ่งเป็นผลดีกับทั้งสององค์กร การร่วมมือกันครั้งนี้ทำให้มีเศษแก้วมากกว่า 334,000 ตัน นำกลับมาใช้ใหม่หรือเทียบเท่ากับร้อยละ 18 ของเศษแก้วที่นำกลับมาใช้ใหม่ในแต่ละปีของบริษัทอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย โดยบริษัทของเราสามารถใช้เศษแก้วถึงร้อยละ 50 ในขั้นตอนการหลอม ซึ่งเทียบกับร้อยละ 25 ของจำนวนที่ใช้ทั่วไปในโรงงานในยุโรป การใช้เศษแก้วช่วยลดการใช้พลังงานในขั้นตอนการหลอมละลายและลดปริมาณของเสียที่ต้องนำไปฝังกลบ แก้วที่ผลิตจากเศษแก้วไม่ได้ลดความแข็งแกร่งหรือคุณสมบัติอื่น ๆ นับว่าเป็นขั้นตอนการหมุนเวียนอย่างแท้จริง ในกระบวนการผลิตสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใช้ในกระบวนการผลิตได้ถึง 0.24 ตันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อขวดต่อเศษแก้วหนึ่งกิโลกรัม ในด้านความยั่งยืนบริษัทอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทยได้ตระหนักถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น ราคาของวัตถุดิบที่ลดลงและการจัดหาวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในทางสังคม เราเห็นโอกาสในการสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน โดยเก็บและขายเศษแก้วให้กับไทยเบฟหรือ บริษัทอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย เรายังจัดการรณรงค์และให้ข้อมูลความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจถึงโอกาสและประโยชน์ให้กับสังคมโดยการนำแก้วกลับมาใช้ใหม่ ในฐานะคู่ค้าของไทยเบฟ เรายังร่วมมือกันในการริเริ่มโครงการต่าง ๆ เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ขวดแก้วน้ำหนักเบา การลดน้ำหนักขวดเป็นการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ในผลิตภัณฑ์ของไทยเบฟ เนื่องจากขวดน้ำหนักเบาช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในกระบวนการผลิตและการขนส่ง