SUSTAINABILITY REPORT 2020

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2563 / ใส่ใจดูแลบุคลากร ลูกค้า และผู้บริโภค
GRI 103-1, GRI 103-2, GRI 103-3, GRI 201-1, GRI 205-2, GRI 205-3, GRI 415-1, GRI 419-1
การกำกับดูแลองค์กร และจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ
ไทยเบฟยึดมั่นในการปฏิบัติภายใต้กรอบจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ โดยมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมทั้งดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และเป็นธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย รวมถึงส่งเสริมให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล และมีผลประกอบการที่ดีโดยคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว ซึ่งตรงตามความมุ่งหวังของทั้งภาคธุรกิจ ผู้ลงทุน ตลอดจนตลาดทุนและสังคมโดยรวม
การกำกับดูแลกิจการที่ดีขององค์กร
ไทยเบฟมุ่งเน้นการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีซึ่งสอดคล้องกับจรรยาบรรณของบริษัท โดยมีการวางแผนจัดการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยงอย่างเหมาะสมตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสเพียงพอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้น นักลงทุน พนักงาน ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจให้แก่ลูกค้า เพื่อสร้างความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน และเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรด้วย

คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่รับผิดชอบในการเป็นผู้นำขององค์กร ดูแลความเป็นผู้นำของธุรกิจโดยรวมในการกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ วัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน และความสำเร็จในระยะยาวของบริษัทในกลุ่มไทยเบฟ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของไทยเบฟเป็นไปตามแผนธุรกิจหลักของบริษัท ตามมติของผู้ถือหุ้นโดยสุจริต ภายใต้กฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัท รวมถึงการกำกับดูแลให้บริษัทในกลุ่มไทยเบฟและบริษัทย่อยปฏิบัติตามกฎระเบียบของ ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์และตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (สามารถศึกษาโครงสร้างองค์กรและรายงานการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท ได้จากรายงานประจำปี 2563 และบนเว็บไซต์ www.thaibev.com)

อนึ่ง ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ออกมาตรการให้บริษัท จดทะเบียนสามารถจัดประชุมผู้ถือหุ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น การจำกัดจำนวนผู้เข้าประชุมและผู้จัดเตรียมการประชุมในสถานที่จัดประชุมเดียวกันไม่เกิน 6 คน การส่งคำถามล่วงหน้าของ ผู้เข้าร่วมประชุมอย่างน้อย 72 ชั่วโมงก่อนวันประชุม และการปฏิบัติตามมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นต้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมและได้รับข้อมูลเท่าเทียมกัน และเพื่อช่วยให้บริษัทจดทะเบียนสามารถจัดประชุมผู้ถือหุ้นได้ตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับไทยเบฟได้มีการจัดประชุมเพื่อสื่อสารระหว่างบริษัทและผู้ฝากหลักทรัพย์ในประเทศสิงคโปร์ (Annual Information Meeting) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยการถ่ายทอดสดผ่านช่องทาง webcast เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 เพื่อให้ผู้ฝากหลักทรัพย์ในประเทศสิงคโปร์ได้รับข้อมูลเท่าเทียมกับข้อมูลที่เปิดเผยในการประชุมผู้ถือหุ้นในประเทศไทย โดยผู้เข้าร่วมประชุมสามารถส่งคำถามเกี่ยวกับธุรกิจและการดำเนินงานของบริษัทเป็นการล่วงหน้าเพื่อให้กรรมการและผู้บริหารระดับสูงชี้แจงในการประชุม ทั้งนี้ ไทยเบฟได้เปิดเผยข้อมูลการชี้แจงดังกล่าวผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGXNET) ในวันเดียวกัน สำหรับการประชุมคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการย่อยของไทยเบฟและบริษัทย่อยในกลุ่มไทยเบฟ ได้จัดให้มีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้กรรมการและผู้บริหารระดับสูงที่อยู่ทั้งประเทศไทยและต่างประเทศมีโอกาสเข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นและให้คำแนะนำได้ โดยปฏิบัติตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ ไทยเบฟได้ประกาศใช้นโยบายการรับข้อร้องเรียน เพื่อเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการรับฟังข้อร้องเรียนจากกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของไทยเบฟ ทั้งนี้ ปี 2563 ไม่พบรายการขัดแย้งที่มีนัยสำคัญและไม่พบข้อร้องเรียนด้านจริยธรรมที่มีนัยสำคัญ
จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ
ไทยเบฟกำหนดจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจด้วยเจตนารมณ์มุ่งเน้นพฤติกรรมที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติตามกฎหมาย มีศีลธรรมและจริยธรรม ทั้งนี้คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ต้องยึดถือปฏิบัติตาม เพื่อให้บริษัทบรรลุจุดมุ่งหมายในการรักษาไว้ซึ่งจรรยาบรรณและรักษามาตรฐานทางจรรยาบรรณไว้อย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งส่งเสริมให้การดำเนินธุรกิจเจริญเติบโตก้าวหน้า มีความมั่นคงยั่งยืน เป็นที่ยอมรับของสังคม

ไทยเบฟมีหน้าที่ที่จะทำให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นโดยคำนึงถึงภาวะและปัจจัยความเสี่ยงทั้งในปัจจุบันและอนาคต และปฏิบัติต่อพนักงาน ลูกค้า และคู่ค้าทุกคนอย่างถูกต้องชอบธรรม บริษัทมุ่งเน้นให้พนักงานทุกคนเข้าใจเนื้อหาและความหมายจรรยาบรรณของบริษัทที่กำหนดไว้อย่างถ่องแท้ และประกาศให้บุคลากรทุกระดับของบริษัททราบ ประกอบกับต้องยอมรับและยึดถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด หากบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทในทุก ส่วนให้ความร่วมมือและปฏิบัติอย่างจริงจังภายใต้นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี จะส่งผลกับบริษัทดังนี้
  • ช่วยให้บริษัทรักษาความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
  • ทำให้พนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงาน
  • ทำให้เกิดความเป็นธรรมในองค์กร
  • พนักงานมีเกียรติมีศักดิ์ศรี เป็นคนดีคนเก่ง
  • องค์กรเป็นที่ยอมรับต่อสังคม
  • เพื่อความผาสุกของพนักงาน
การต่อต้านการทุจริต
การทุจริตเป็นสิ่งผิดกฎหมาย กระทบต่อการแข่งขันแบบเสรีและผิดจรรยาบรรณของบริษัท ซึ่งทำให้ชื่อเสียงองค์กรเสื่อมเสีย ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรขาดความเชื่อมั่น และกระทบต่อผลประกอบการบริษัท ไทยเบฟดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส มีคุณธรรม ยึดหลักความยุติธรรม และยึดมั่นปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางธุรกิจ พร้อมทั้งคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย จากการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไทยเบฟจึงได้กำหนดนโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชันเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดสินใจและดำเนินการเพื่อป้องกันการคอร์รัปชัน รวมถึงเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจและเสริมสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนในอนาคต

หากมีการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ กฎระเบียบ มาตรฐาน และกฎหมาย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่มีหน้าที่รับผิดชอบ ติดตามและกำหนดให้มีระบบรองรับการต่อต้านการคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพโดยรายงานต่อประธานคณะกรรมการและคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบและทบทวนนโยบายให้ทันสมัยและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ นอกจากนี้ไทยเบฟยังกำหนดขอบเขตการปฏิบัติตามนโยบายของทุกฝ่าย ดังนี้
  • ผู้บริหารระดับสูงมีหน้าที่เสริมสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติตามนโยบาย พร้อมทั้งร่วมมือกับกรรมการ ผู้บังคับบัญชา และพนักงาน ช่วยกันสอดส่องดูแล
  • กรรมการและพนักงานมีหน้าที่รักษามาตรฐานสูงสุดในการดำเนินธุรกิจ
  • พนักงานต้องไม่ทนหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริตคอร์รัปชัน
  • พนักงานต้องให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
หากไม่ปฏิบัติตามนโยบายอาจถือเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง เป็นการขัดต่อสัญญาและเป็นความผิดอาญาของบุคคลนั้น ๆ และอาจสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อชื่อเสียงและสถานะของบริษัท หากพบเห็นการคอร์รัปชันให้แจ้งการกระทำดังกล่าวแก่ผู้บังคับบัญชาหรือหากพบบุคคลที่กระทำผิดจะถูกลงโทษตามกฎระเบียบของบริษัทและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
การรับข้อร้องเรียน
ไทยเบฟมีนโยบายรับข้อร้องเรียนโดยสนับสนุนให้พนักงานแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยว่าอาจเป็นความผิด โดยไทยเบฟจะดำเนินการกับการกระทำที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยว่าอาจเป็นความผิดที่เกิดขึ้นภายในอย่างเข้มงวด และพนักงานที่แจ้งข้อเท็จจริงอันชอบธรรมจะไม่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหากเป็นการแจ้งข้อร้องเรียนโดยสุจริต ซึ่งกระบวนการแจ้งข้อร้องเรียนมีดังนี้
  • หากกรรมการมีข้อร้องเรียน ให้กรรมการแจ้งข้อร้องเรียนดังกล่าวไปยังประธานกรรมการตรวจสอบ
  • หากพนักงานมีข้อร้องเรียน ให้พนักงานแจ้งข้อร้องเรียนดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านช่องทางที่แนะนำ โดยระบุชื่อและรายละเอียดเพื่อใช้ในการติดต่อ แล้วแจ้งไปยังบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบ
  • พนักงานทุกคนสามารถแจ้งข้อมูลที่อยู่ในข่ายอันสงสัยมายังกรรมการผู้อำนวยการใหญ่โดยตรง ผ่านทางอีเมล whistleblowing@thaibev.com หรือส่งมายังผู้บริหารโดยตรง
  • ไทยเบฟพร้อมที่จะปกป้องพนักงานที่แจ้งข้อร้องเรียนที่มีมูลความจริงโดยรักษาข้อมูลไว้เป็นความลับและจะดำเนินการกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นอย่างเข้มงวด
  • พนักงานที่แจ้งข้อเท็จจริงจะไม่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายใด ๆ หากเป็นการร้องเรียนโดยสุจริต
  • ไทยเบฟจะดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อคุ้มครองกรรมการและพนักงานจากความเสียหายหรือการถูกทำร้ายอันมีสาเหตุมาจากการแจ้งข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้น
เมื่อมีพนักงานแจ้งข้อร้องเรียน ไทยเบฟมีมาตรการดำเนินการดังนี้
  • ประเมินเรื่องที่ได้รับแจ้งเพื่อตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งอาจเป็นการสืบสวนเป็นการภายในหรือส่งเรื่องต่อเพื่อดำเนินการสืบสวนโดยบุคคลภายนอก
  • หากพบว่าข้อร้องเรียนเป็นเท็จหรือโดยทุจริต หรือมีลักษณะประสงค์ร้าย หรือปราศจากความรอบคอบ หรือเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำผิดซึ่งนำไปสู่การพิจารณาความผิดทางวินัยตามที่ระบุไว้ในหัวข้อการพิจารณาความผิดทางวินัยและบทลงโทษในคู่มือพนักงานของไทยเบฟ นอกจากนี้ ยังมีการทำประชาสัมพันธ์ถึงช่องทางแจ้งข้อร้องเรียน ผ่านสื่อภายในองค์กร
การละเมิดกฎระเบียบข้อบังคับและกฎหมาย
ไทยเบฟกำหนดให้พนักงานต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับขององค์กรและข้อกฎหมายของทุกประเทศที่ไทยเบฟเข้าไปดำเนินกิจการ หากมีการละเมิดกฎระเบียบข้อบังคับใด ๆ ทั้งด้านจรรยาบรรณ ความเป็นเลิศขององค์กร และสิทธิมนุษยชนในสถานที่ประกอบการหรือสถานที่ดำเนินธุรกิจ จะต้องหยุดการละเมิดนั้นในทันทีและใช้มาตรการจัดการที่เหมาะสม ในปี 2563 ไทยเบฟและกลุ่มไทยเบฟพบว่า มีการละเมิดที่ไม่รุนแรง และกรณีรุนแรง โดยเป็นการจัดกลุ่มระดับ ของการละเมิดตามผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยกำหนดเกณฑ์ตามมูลค่าทางการเงิน กรณีรุนแรง (Major case) คือ กรณีที่มีผลกระทบทางการเงินมากกว่าหรือเท่ากับ 300, 000 บาท และกรณีไม่รุนแรง (Minor case) คือกรณีที่มีผลกระทบทางการเงินน้อยกว่า 300,000 บาท เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดกฎระเบียบข้อบังคับและการทุจริตในองค์กร ไทยเบฟมีแนวทางแก้ไขเบื้องต้นดังนี้
  • จัดให้มีการปฐมนิเทศให้กับพนักงานใหม่และผู้บริหาร
  • จัดให้มีหลักสูตรการอบรมแบบออนไลน์
  • ให้ความสำคัญในการสื่อสารและทำความเข้าใจในจริยธรรมในการปฏิบัติงานของพนักงานและผู้บริหาร(Business Ethics)
  • มุ่งมั่น สื่อสาร ทำความเข้าใจ และกำหนดให้พนักงานและผู้บริหารปฏิบัติตามจรรยาบรรณเครือไทยเบฟเวอเรจ
  • หากไทยเบฟตรวจพบการทุจริต บริษัทจะดำเนินการ ขั้นเด็ดขาดทันทีและอาจถูกดำเนินคดี
  • จัดให้มีกระบวนการตรวจสอบการทุจริตในองค์กรอย่างสม่ำเสมอ โดยสำนักตรวจสอบภายใน ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าไทยเบฟปฎิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับและกฎหมาย