เพื่อให้คณะกรรมการสรรหาของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการบริษัทได้มอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สอดคล้องกับข้อกำหนดของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือคณะกรรมการกำกับตลาดทุนและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศสิงคโปร์ที่บริษัทได้จดทะเบียนเป็นสมาชิกอยู่ (“ตลาดหลักทรัพย์”) รวมทั้งมาตรฐานสากล คณะกรรมการบริษัทจึงเห็นควรกำหนดกฎบัตรคณะกรรมการสรรหาขึ้น เพื่อกำหนดขอบเขตขององค์ประกอบคุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่ง การประชุม อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการสรรหา ดังนี้
1. องค์ประกอบและคุณสมบัติของคณะกรรมการสรรหา
ให้คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้พิจารณาและแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและประธานกรรมการสรรหา
โดยพิจารณาจากบุคคลที่คณะกรรมการบริษัทเห็นว่ามีองค์ประกอบและคุณสมบัติเหมาะสมดังนี้
1.1 คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการบริษัทจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน ซึ่งกรรมการสรรหา
เกินกว่ากึ่งหนึ่งและประธานกรรมการสรรหาควรเป็นกรรมการอิสระ และในกรณีที่มีการแต่งตั้งหัวหน้ากรรมการอิสระให้หัวหน้ากรรมการอิสระเป็นกรรมการสรรหาด้วย
1.2 กรรมการสรรหาต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์
ต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท มีความซื่อสัตย์ เข้าใจถึงหน้าที่ ความรับผิดชอบของคณะกรรมการสรรหา มีความเป็นกลางในการสรรหา และคัดเลือกบุคคลผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการบริษัทหรือผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่ระดับผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ขึ้นไป โดยกรรมการสรรหาต้องมีความเป็นอิสระตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงมีความรู้ด้านบรรษัทภิบาลและสามารถอุทิศเวลาอย่างเต็มที่ในการปฏิบัติหน้าที่
1.3 ประธานกรรมการสรรหาควรเป็นบุคคลที่มีความอาวุโส มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์สูง สามารถผลักดันให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาเป็นไปอย่างอิสระ มีความเป็นกลางและมีความซื่อสัตย์สุจริต
2. วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการสรรหา
2.1 กรรมการสรรหามีวาระการดำรงตำแหน่งตามวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการบริษัท
โดยกรรมการสรรหาที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัท
ให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งได้อีก
2.2 ให้กรรมการสรรหาที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระอยู่รักษาการในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการบริษัทที่มีคุณสมบัติครบถ้วนมาเป็นกรรมการสรรหาแทน
2.3 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว กรรมการสรรหาพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ลาออก
(2) ตาย
(3) คณะกรรมการบริษัทมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง
2.4 กรณีที่ตำแหน่งกรรมการสรรหาว่างลงให้คณะกรรมการบริษัทแต่งตั้งกรรมการบริษัทที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้าเป็นกรรมการสรรหาแทนโดยเร็ว
3. การประชุมของคณะกรรมการสรรหา
3.1 คณะกรรมการสรรหาจะต้องจัดให้มีการประชุมไม่น้อยกว่า 2 ครั้งต่อปี โดยกรรมการสรรหาต้องมาประชุมด้วยตนเอง
3.2 ในการประชุมคณะกรรมการสรรหาต้องมีกรรมการสรรหาเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
3.3 ในกรณีที่ประธานกรรมการสรรหาไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการสรรหา
ที่เข้าร่วมประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
3.4 การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาให้ถือเสียงข้างมากของกรรมการสรรหาที่เข้าร่วมประชุม โดยกรรมการสรรหาหนึ่งคนมีเสียงหนึ่งเสียงถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
3.5 กรรมการสรรหาซึ่งมีส่วนได้เสียในเรื่องใดไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น
3.6 ให้คณะกรรมการสรรหารายงานผลการประชุมในแต่ละครั้งให้คณะกรรมการบริษัททราบ
4. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา
4.1 พิจารณาโครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัททั้งในเรื่องของจำนวนกรรมการ
ที่เหมาะสมกับขนาด ประเภท และความซับซ้อนของธุรกิจ คุณสมบัติของกรรมการแต่ละคนทั้งในด้านการศึกษา ความรู้ ความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์ ความชำนาญเฉพาะด้านที่เป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมหลักของบริษัท
4.2 พิจารณาคุณสมบัติของบุคคลที่จะมาเป็นกรรมการอิสระให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจของบริษัท โดยความเป็นอิสระของกรรมการต้องเป็นไปตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลกำหนดไว้ รวมตลอดจนถึงเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของตลาดหลักทรัพย์
4.3 กำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ วิธีการและกระบวนการในการสรรหาบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นกรรมการบริษัทเพื่อเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติ โดยแนวทางการพิจารณาที่สำคัญรวมถึงประเด็นดังต่อไปนี้
4.3.1 กรรมการมีคุณสมบัติเป็นไปตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลกำหนดไว้ ตลอดจนเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของตลาดหลักทรัพย์
4.3.2 กรรมการสามารถจัดสรรเวลาให้การปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมและพอเพียง
4.3.3 กรรมการเป็นที่ยอมรับในด้านมาตรฐานจรรยาบรรณและความน่าเชื่อถือ และสามารถเป็นตัวแทนของบริษัทได้เป็นอย่างดี
4.3.4 กรรมการมีการศึกษา ความรู้ ความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์ ความชำนาญเฉพาะด้าน ที่เป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมหลักของบริษัท
4.3.5 กรรมการสามารถช่วยส่งเสริมความหลากหลายในคณะกรรมการ อันประกอบด้วย อายุ เพศ การศึกษา ทักษะ ประสบการณ์ ความชำนาญเฉพาะด้าน รวมถึง เชื้อชาติและสัญชาติ
4.4 สรรหาและคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่ระดับผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ขึ้นไป ตามกระบวนการสรรหาและหลักเกณฑ์ที่กฎหมายและข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแลกำหนดไว้ โดยให้จัดทำเป็น Board Skill Matrix เพื่อช่วยให้การสรรหากรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูงดังกล่าวมีความสอดคล้องกับทิศทาง
การดำเนินธุรกิจของบริษัท
4.5 นำเสนอรายชื่อบุคคลที่ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการบริษัท พร้อมความเห็นและเหตุผลในการคัดเลือก
ต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาแต่งตั้งหรือเสนอรายชื่อให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาแต่งตั้ง (แล้วแต่กรณี)
4.6 นำเสนอรายชื่อบุคคลที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่ระดับผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ขึ้นไป พร้อมความเห็นและเหตุผลในการคัดเลือกต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง
4.7 พิจารณาวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการอิสระและทบทวนความเป็นอิสระของกรรมการอิสระอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
4.8 จัดทำแผนพัฒนาความรู้ความสามารถของกรรมการบริษัท เพื่อพัฒนาศักยภาพของกรรมการบริษัท ทั้งกรรมการบริษัทในปัจจุบันและกรรมการบริษัทที่รับตำแหน่งใหม่เพื่อให้เข้าใจรูปแบบธุรกิจของบริษัทและบทบาทหน้าที่ของกรรมการ
4.9 จัดทำแผนการสืบทอดตำแหน่งงาน (Succession plan) ของผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่ระดับ
ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ขึ้นไป เพื่อให้การบริหารงานของบริษัทเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
โดยเตรียมความพร้อมให้กับบุคคลที่มีศักยภาพให้สามารถสืบทอดตำแหน่งงานในกรณีที่ผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่ระดับผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ขึ้นไป เกษียณอายุ ลาออก หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
4.10 ประเมินผลการปฏิบัติงานของตนเองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมทั้งประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการสรรหาเป็นรายบุคคลโดยให้รายงานผลการประเมินให้กับคณะกรรมการบริษัททราบ
พร้อมทั้งเปิดเผยหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และผลการประเมินในภาพรวมไว้ในรายงานประจำปี
5. การทบทวนและปรับปรุงกฎบัตร
ให้คณะกรรมการสรรหาทบทวนหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎบัตรฉบับนี้ทุกปี โดยหากเห็นควรให้ปรับปรุงแก้ไขกฎบัตรเพื่อให้มีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมเป็นไปตามสภาวการณ์ปัจจุบันแล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาปรับปรุงแก้ไขกฎบัตรและนำเสนอกฎบัตรฉบับปรับปรุงแก้ไขให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติ
ตามมติคณะกรรมการบริษัทในการประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 3/2560 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 ได้อนุมัติให้ใช้กฎบัตรคณะกรรมการสรรหาฉบับนี้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นไป