หน้าแรก / ด้านบุคลากร
2562
โอกาสไร้ขีดจำกัด
ไทยเบฟสร้างโอกาสให้กับพนักงานทุกคน ภายใต้แนวคิด โอกาสไร้ขีดจำกัด ที่ประกาศใช้ในองค์กรตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานได้ก้าวสู่จุดหมายในชีวิต มีความก้าวหน้าในอาชีพ ได้รับโอกาสเรียนรู้ พัฒนาทักษะ เสริมสร้างสมรรถนะ และเติบโตไปพร้อมกับองค์กร ขณะเดียวกันยังสามารถสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์อันเข้มแข็ง เพื่อทำประโยชน์ให้ชุมชนและสังคม และร่วมกันสร้างความเป็นหนึ่งเดียวเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ ความสุขและความก้าวหน้าของพนักงาน นำองค์กรไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน
เพื่อให้พนักงานของไทยเบฟทำงานอย่างมีความสุข อยู่กับองค์กรอย่างยาวนาน ไทยเบฟสร้างรากฐานสำหรับการเติบโตและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้องค์กร พร้อมทั้งการสร้างวัฒนธรรมองค์กร โดยมียุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการบุคลากร 7 ประการ คือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1 :
โครงสร้างและบทบาทที่ชัดเจน
ปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของงานแต่ละตำแหน่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายและวิสัยทัศน์ 2020 และอนาคต

ยุทธศาสตร์ที่ 2 :
ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่แข่งขันได้กับตลาด
บริหารและวิเคราะห์ค่าจ้าง ค่าตอบแทน และสวัสดิการ เพื่อสร้างเป็นมาตรฐานที่เหมาะสมในทุกบริษัทของกลุ่มไทยเบฟ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 :
การบริหารผลการดำเนินงานที่โดดเด่น
สร้างระบบบริหารผลการปฏิบัติงานของพนักงานอย่างครอบคลุม ขยายช่องทางการเข้าใช้งาน เพื่อตอบโจทย์พนักงานในแต่ละช่วงอายุ การประเมินผลอย่างเป็นธรรม รวมถึงการวางแผนพัฒนาทักษะ เพื่อให้พนักงานมีศักยภาพ ทำงานได้ตามเป้าหมายที่ตนได้วางไว้ ส่งเสริมการมีผลงานให้เป็นเลิศ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 :
การพัฒนาพนักงานแบบองค์รวม
ส่งเสริมให้พนักงานเกิดการพัฒนาตนเอง ผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบ 70: 20:10 รวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาทักษะให้แก่บุคลากรในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การใช้แผนการพัฒนารายบุคคล (IDP) และโปรแกรมการติดตามความก้าวหน้าทางอาชีพของพนักงาน

ยุทธศาสตร์ที่ 5 :
การบริหารผู้สืบทอดตำแหน่ง และบุคลากรเชิงรุก
ยกระดับการเตรียมความพร้อมของพนักงานและผู้บริหารในการสืบทอดตำแหน่ง ให้มีความพร้อมและความสามารถ ทันกับการเติบโตของธุรกิจ และเสริมสร้างความยั่งยืนขององค์กร

ยุทธศาสตร์ที่ 6 :
การสรรหาพนักงานที่มีศักยภาพและการดูแลพนักงานใหม่
พัฒนากระบวนการรค้นหาและคัดเลือกบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่เหมาะสมเพื่อเข้ามาปฏิบัติงานในตำแหน่งงานตามที่องค์กรต้องการ รวมถึงดึงดูดพนักงานรุ่นใหม่ ที่มีความคล่องตัวและสามารถปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี

ยุทธศาสตร์ที่ 7 :
การส่งเสริมวัฒนธรรมที่สร้างความผูกพันต่อองค์กร
สร้างความรู้ ความเข้าใจ ความผูกพัน และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียว (Oneness) ผ่านค่านิยมของกลุ่มไทยเบฟ รวมถึงกระตุ้นการมีส่วนร่วมของพนักงานอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดพฤติกรรมที่เหมาะสมตามค่านิยมองค์กร


จากการขยายธุรกิจทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ เช่น เวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย และสิงคโปร์ ทำให้ไทยเบฟต้องปรับโครงสร้างองค์กร ปรับเปลี่ยนและแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาธุรกิจตามวิสัยทัศน์ 2020 เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยไทยเบฟให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยหลัก คือ (1) การเติบโตผ่านการพัฒนาความก้าวหน้าในสายอาชีพ (2) การมีส่วนร่วมของพนักงานผ่านค่านิยมกลุ่มไทยเบฟแลวัฒนธรรมองค์กรด้านการประเมินผลงาน และ (3) การเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตผ่านประสบการณ์ดิจิทัล

การเติบโตผ่าน “การพัฒนาความก้าวหน้าในสายอาชีพ”

ยุทธศาสตร์ที่
1
ยุทธศาสตร์ที่
4
ยุทธศาสตร์ที่
5

ไทยเบฟได้ออกแบบกลุ่มงานตามสายอาชีพ กำหนดเส้นทางการเติบโตในสายงาน และการกำหนดสมรรถนะที่จำเป็นของแต่ละตำแหน่ง เปิดโอกาสให้พนักงานมีความก้าวหน้า วางแผนเส้นทางในอาชีพการทำงานของตน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพสำหรับพนักงาน และการให้ความใส่ใจในการทำแผนพัฒนารายบุคคล ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
  • ออกแบบเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพของพนักงานและพัฒนารายละเอียดใน 14 สายอาชีพ ครอบคลุม ร้อยละ 85 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด แล้วเสร็จในปี 2562 โดยมีแผนจะออกแบบและพัฒนาให้เสร็จสิ้นทั้ง 22 สายอาชีพในปี 2563

    22 สายอาชีพในไทยเบฟ
  • พัฒนาศักยภาพของพนักงานตามระดับพนักงานอย่างต่อเนื่อง (Upskill) โดยแบ่งพนักงานออกเป็น 3 ระดับคือ ระดับพนักงานปฏิบัติการ (Spring & Streams) ระดับผู้บริหาร (River) และกลุ่มผู้บริหารระดับสูง (Ocean) โดยใช้หลักการพัฒนาศักยภาพของพนักงานในรูปแบบ 70: 20: 10 คือ ร้อยละ 70 ได้จากการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ ร้อยละ 20 คือการเรียนรู้จากบุคคลอื่น และ ร้อยละ 10 เกิดจากการเรียนรู้จากการเข้าอบรมอย่างเป็นทางการ โดยมีการแบ่งเป็นโปรแกรมการพัฒนา 4 ประเภท คือ
    • โปรแกรมพัฒนาสมรรถนะหลัก (Core Competency)
    • โปรแกรมพัฒนาทักษะในการปฏิบัติงาน (General Skills)
    • การอบรมหลักสูตรตามสายงาน (Functional Competency Development)
    • โปรแกรมด้านการพัฒนาภาวะผู้นำ (Leadership Competency)

    โดยประยุกต์ใช้แนวทางการวัดประสิทธิผลการเรียนรู้จากการอบรมพนักงานของเคิร์กแพทริก (Kirkpatrick Model) ผ่านโปรแกรมการเรียนรู้ตามระดับงานต่าง ๆ ตั้งแต่ผู้บริหารในระดับสูงจนถึงพนักงานระดับหัวหน้างาน ในปี 2562 รวมแล้วเป็นจำนวนพนักงานถึง 167 คน

    แนวทางการพัฒนาศักยภาพ



    4 ขั้นตอนง่าย ๆ ในการกำหนด IDP ของตนเอง

  • จัดทำแผนพัฒนาพนักงานรายบุคคล (Individual Development Plan : IDP) ร่วมกับพนักงานครอบคลุมร้อยละ 100 ของพนักงานในระดับ 4 ขึ้นไป ในกลุ่มไทยเบฟ โออิชิ และเสริมสุข เพื่อปรับปรุงจุดอ่อนและเสริมสร้างจุดแข็ง สำหรับการเตรียมความพร้อมให้พนักงานที่จะก้าวไปสู่ระดับงานที่สูงขึ้นในสายอาชีพของตน พร้อมทั้งมีโปรแกรมติดตามความก้าวหน้าของแผนพัฒนาพนักงานรายบุคคล เพื่อให้แน่ใจว่า แผนพัฒนาเหล่านั้นจะถูกดำเนินการอย่างจริงจังและบรรลุผลสำเร็จ
  • ดำเนินการพัฒนาพนักงานตามสายอาชีพ (Functional Training Program) หลังจากที่ได้ออกแบบแล้วเสร็จ โดยใช้เปิดสอนแก่พนักงานแล้ว จำนวน 3 กลุ่มงาน คือ สายงานขาย สายงานการเงินและบัญชี และสายงานทรัพยากรมนุษย์ โดยครอบคลุมถึงการสร้างโอกาสในการพัฒนาสายอาชีพทั้งหมดกว่า 5,400 คน ในปี 2562
  • ออกแบบโปรแกรมการพัฒนาพนักงานเพื่อเพิ่มทักษะใหม่ให้กับ พนักงาน (Reskill) รวมถึงการพัฒนาพนักงานให้มีทักษะข้ามสายงาน (Multi-Skill) ส่งผลทำให้พนักงานของไทยเบฟ มีการหมุนเวียนงานไปสู่ตำแหน่งงานอื่นภายในองค์กรเฉลี่ยประมาณร้อยละ 27 ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมดที่เปิดรับของไทยเบฟในปี 2562
  • สรรหาพนักงานและเตรียมความพร้อมสำหรับการสืบทอดตำแหน่งที่สำคัญของบริษัท โดยไทยเบฟสามารถจัดหาพนักงานที่จะดำรงตำแหน่งผู้สืบทอดได้คิดเป็นร้อยละ 94 ของตำแหน่งสำคัญทั้งหมด เป็นการสร้างโอกาสให้พนักงานเติบโตในระดับภายในประเทศและในระดับภูมิภาค สามารถพัฒนาตนเอง นำไปสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำขององค์กรได้ในปัจจุบันและอนาคต

การมีส่วนร่วมของพนักงานผ่านค่านิยมกลุ่มไทยเบฟ และวัฒนธรรมองค์กรด้านการประเมินผลงาน

ยุทธศาสตร์ที่
2
ยุทธศาสตร์ที่
3
ยุทธศาสตร์ที่
7


ในปี 2562 พนักงานร้อยละ 100 ได้รับการประเมินผล รวมถึงผ่านการเปรียบเทียบและจัดลำดับคะแนนการประเมินของพนักงานในกลุ่มเดียวกัน และเชื่อมโยงกลับมาสู่กรอบการให้ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่แข่งขันกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างผลการปฏิบัติงานกับแรงจูงใจหรือผลตอบแทนหลังการประเมินประจำปี รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนของค่าตอบแทนที่เกิดขึ้นกับผลการปฏิบัติงานในปีล่าสุด ทำให้อัตราเฉลี่ยของโบนัสสำหรับผู้ที่ได้รับการประเมินผลงานในระดับยอดเยี่ยมเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 เท่าของค่าเฉลี่ย ผลตอบแทนหลังการประเมินของผู้มีผลงานในระดับดี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยเดิม 1.5 เท่า เมื่อเทียบกับปีฐาน
  • ไทยเบฟปลูกฝังความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กรผ่านวิธีการดำเนินงาน Say-Stay-Strive* เพื่อพัฒนาแผนและกระบวนการสร้างความผูกพันให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะช่วยทำให้อัตราการลาออกลดลงแล้ว ยังมีส่วนทำให้พนักงานสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับไทยเบฟอย่างสม่ำเสมอ
    * จากแนวคิดของ Aon Hewitt (2558)


    อัตราความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร
    % ความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร**
    ปี 2558-2559 ปี 2560-2561
    61 69
    **การสำรวจความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรประจำปี 2562-2563 ดำเนินการในช่วงธันวาคม 2562 - กุมภาพันธ์ 2563

    อัตราการลาออกของพนักงาน
    อัตราการลาออกของพนักงานทั้งหมด
    ปี 2558 ปี 2559 ปี 2560 ปี 2561 ปี 2562
    14.8 12.86 12.87 11.48 11.52
    ไม่รวมถึงบริษัทที่มีการควบรวมกิจการในกลุ่มธุรกิจอาหาร
  • ไทยเบฟประสบความสำเร็จในการใช้ค่านิยมกลุ่มไทยเบฟ (ThaiBev Global Values) ผ่านการแสดงออกพฤติกรรม 3 ด้าน หรือ 3C เพื่อให้พนักงานในกลุ่มไทยเบฟทั่วโลกร่วมกันยึดถือและเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ ประกอบด้วยหลักสำคัญ 3 ประการ คือ ร่วมกันผสานพลัง (Collaboration) สร้างสรรค์คุณค่า (Creating Values) และเอาใจใส่ต่อผู้เกี่ยวข้อง (Caring for Stakeholders)
  • ไทยเบฟเสริมสร้างการมีส่วนร่วมผ่านการประเมินผลปฏิบัติงานให้มีสัดส่วนที่สะท้อนถึงการทำงานที่แท้จริงของพนักงาน โดยกำหนดส่วนประกอบของการประเมิน คือ ตัวชี้วัดผลงานรวม (Shared KPIs) ตัวชี้วัดผลงานส่วนบุคคล (Individual KPIs) การประเมินพฤติกรรมในการปฏิบัติงาน (Competency) โดยใช้ค่านิยมกลุ่มไทยเบฟ (ThaiBev Global Values) ซึ่งมีสัดส่วนแปรผันตามระดับพนักงาน ทั้งนี้ ไทยเบฟได้เพิ่มจำนวนพนักงานที่ได้รับการประเมินผลหลายมิติ (Multi-dimension) จากเดิมที่จัดตั้งแต่พนักงานระดับผู้จัดการที่มีระดับงานตั้งแต่ระดับ 10 ขึ้นไป เปลี่ยนแปลงเป็นพนักงานที่มีระดับงานระดับหัวหน้าส่วน ที่มีระดับงานตั้งแต่ระดับ 8 ขึ้นไป ทำให้สัดส่วนร้อยละของจำนวนผู้ได้รับการประเมินเพิ่มขึ้น 2 เท่าในปี 2562



เตรียมพร้อมสำหรับอนาคต ผ่านประสบการณ์ดิจิทัล
ยุทธศาสตร์ที่
6

ด้วยเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมีผลต่อความสำเร็จขององค์กรเป็นอย่างมาก ไทยเบฟลงทุนพัฒนาระบบ Beverest ซึ่งเป็นระบบที่ออกแบบสำหรับการเชื่อมโยงการบริหารและพัฒนาบุคลากร สามารถรองรับการเก็บข้อมูลของพนักงานทุกคนทั้งในประเทศและต่างประเทศไว้ในฐานข้อมูลเดียวกัน พร้อมทั้งการพัฒนาคุณสมบัติเพิ่มเติมในแอปพลิเคชัน Beverest Connect และ Beverest Life รองรับการใช้งานของพนักงานทั้งหมดในองค์กร โดยในปัจจุบันมีพนักงานที่ใช้งานระบบ Beverest Connect แล้วมากถึง 38,000 คน

ระบบ Beverest ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมในกระบวนการทำงานที่รวบรวมมากกว่า 4 แอปพลิเคชัน และอีกหลายกระบวนการทำงานที่เปลี่ยนแปลงการทำงานให้ดีขึ้น และยังเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถแสดงความคิดเห็นและแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ แบ่งปันความรู้ ทักษะ และข้อมูลต่าง ๆ ให้กับเพื่อนร่วมงานในองค์กร ขณะเดียวกันพนักงานสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง รับผิดชอบในความก้าวหน้าของตนเอง รับรู้โอกาสและผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่องค์กรมอบให้ บันทึกข้อมูลการอบรม และสร้างเครือข่ายของพนักงานทั่วโลก ซึ่งระบบนี้สามารถใช้งานได้ทั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์หรือผ่านโทรศัพท์มือถืออย่างไม่มีขีดจำกัด

นอกจากนี้ ไทยเบฟได้พัฒนาระบบ Thank You System ที่สร้างขึ้นเป็นแอปพลิเคชันที่สามารถใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน จัดรวมอยู่ในกลุ่มของ Beverest Life Suite ภายใต้คอนเซ็ปต์ “เติมเต็มรอยยิ้ม ด้วยคำขอบคุณ” เป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการชื่นชม ยกย่อง ชมเชย และให้กำลังใจเพื่อนพนักงานที่อุทิศตนมากกว่างานในหน้าที่ ทั้งภายในหน่วยงาน ระหว่างหน่วยงาน หรือระหว่างกลุ่มธุรกิจ เป็นกลไกสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรและความเป็นหนึ่งผ่านการใช้งานระบบ ผลักดันธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับค่านิยมกลุ่มไทยเบฟ (ThaiBev Global Values)
เป้าหมายเพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ปี 2568
  • เสริมสร้างความผูกพันกับบุคลากรในองค์กร (Employee Engagement) อย่างต่อเนื่อง เพื่อ ดึงดูดให้บุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาร่วมงานกับองค์กร พร้อมทั้งรักษาพนักงานที่ทำงานในองค์กร โดยไทยเบฟมีเป้าหมายว่าภายในปี 2565 อัตราความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กร จะมีมากกว่าร้อยละ 75 ขึ้นไป
  • จัดทำโครงการหรือแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านทักษะและความชำนาญในการทำงานทางวิชาชีพ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานของพนักงาน ผ่านการเสริมทักษะความเชี่ยวชาญในเนื้องานเดิม (Upskill) และการเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็นในเนื้องานอื่น ๆ (Reskill) รวมถึงการสนับสนุนให้มีการเคลื่อนย้ายของบุคลากร (Mobility) โดยการเพิ่มทักษะการทำงานข้ามสายงาน (Multi-Skill) รวมถึงการเพิ่มเติมทักษะพื้นฐานในการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับพนักงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่อนาคตในยุคดิจิทัล
  • ขยายขอบเขตการประเมินผลงานแบบหลายมิติ ตั้งแต่พนักงานระดับบริหารไปสู่พนักงานที่อยู่ในระดับหัวหน้าส่วน โดยมีเป้าหมายให้มีพนักงานที่ทำการประเมินผลงานแบบหลายมิตินี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของพนักงานทั้งหมดภายในปี 2563 ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาสมรรถนะด้านการเป็นผู้นำ (Leadership Competency) อย่างมีระบบ
  • ส่งเสริมและสนับสนุนวัฒนธรรมการเรียนรู้และพัฒนา ในปี 2562 โครงการศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาที่ยั่งยืน (ThaiBev Sustainability Academy หรือ TSA) ได้ริเริ่มก่อตั้งขึ้นโดยทำงานร่วมกับเครือข่ายและพันธมิตร ชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากทั่วโลก เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการและการเยี่ยมชมสถานที่ปฏิบัติการ
  • ส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ การใช้ระบบ ThaiBev Thank You System โดยการประชาสัมพันธ์ให้กับพนักงานทุกคน ทั้งบริษัทในประเทศและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2563 จะมีผู้ใช้งานระบบนี้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ทั้งนี้ไทยเบฟเชื่อมั่นว่าระบบ ThaiBev Thank You System จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์วัฒนธรรมความยั่งยืนขององค์กร
เส้นทางการเรียนรู้ในไทยเบฟ