หน้าแรก / ด้านสังคม
2562
การอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ
คุณค่าของศิลปวัฒนธรรมสามารถเปลี่ยนเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ตั้งแต่งานหัตถกรรมพื้นบ้านจนถึงชิ้นงานศิลปะชั้นสูง ตั้งแต่วิถีชีวิตในชนบทจนถึงงานเทศกาลประเพณีที่ยิ่งใหญ่ ไทยเบฟมีความมุ่งมั่นที่จะสืบสานและเผยแพร่ความเป็นไทยออกสู่สากล ภายใต้กลยุทธ์ 3 ประการ คือ ส่งเสริม “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ประสาน เสริมสร้าง “ภาพลักษณ์” ให้กับองค์กร “ความร่วมมือ” ทั้งภาครัฐและเอกชน และทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติโดยรวม
การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)
คือการสร้างสรรค์ด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้แก่ศิลปิน ชุมชน สังคม และประเทศ ผ่านกิจกรรมและโครงการ ดังนี้

เทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biennale) 2018
เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (Bangkok Art Biennale 2018 หรือ BAB 2018) เป็นปรากฏการณ์และประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของวงการศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทย ที่ศิลปินจาก 34 ประเทศได้นำผลงานศิลปะจากทั่วโลกมากกว่า 200 ชิ้น มาจัดแสดงในสถานที่สำคัญ 20 แห่งทั่วกรุงเทพฯ สร้างความสุขให้สะพรั่งทั่วกรุงเทพมหานคร โดยบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่ผ่านมา ไทยเบฟให้การสนับสนุนโครงการศิลปะระดับโลก ซึ่งมีระยะเวลาการจัดงานประมาณ 4 เดือน
ความสำเร็จของงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018


เม็ดเงินลงทุนกว่า 200 ล้านบาท

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผสานความร่วมมือครั้งสำคัญกับ ภาครัฐ เครือข่ายพันธมิตร บริษัท (มหาชน) ห้างร้าน ภาคส่วนอื่น ๆ


กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

ของประเทศไทย สร้างเงินสะพัดกว่า 4,500 ล้านบาท


นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ
เข้าชมงานกว่า 3 ล้านคน
แบ่งเป็น

  • นักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.44 ล้านคน
  • คณะเอกอัครราชทูต ทูตวัฒนธรรม และครอบครัว จากกว่า 20 ประเทศ
  • หน่วยงานศิลปะ สมาคม โรงแรม พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี ศิลปินจากทั่วโลก

ผู้เข้าชมงาน BAB 2018 มากกว่า 260,000 คน

ผู้เข้าชมเดือนตุลาคม 2561 ถึงปลายเดือนมกราคม 2562 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

มีสถาบันการศึกษา มากกว่า 80 สถาบัน ที่ขอเข้าเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ

ผู้เข้าชมงานศิลปะทั้ง 20 สถานที่ จัดแสดงผลงาน เฉลี่ยแล้วมากกว่า 45,000 คน/วัน

ผลตอบรับจากสื่อประชาสัมพันธ์ทั้งไทยและต่างประเทศที่มีต่องานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biennale) ได้การตอบรับที่ดีเป็นอย่างมาก
ผู้เข้าชมรวมทั้ง 3 วัด
เฉลี่ยมากกว่า 11,000 คน/วัน
รวมนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ
เฉพาะชาวต่างชาติเฉลี่ยมากกว่า 6,000 คน/วัน

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
มีจํานวนนักท่องเที่ยว
255,278 คน
ตลอดงาน
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
มีจํานวนนักท่องเที่ยว
364,060 คน
ตลอดงาน
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
มีจํานวนนักท่องเที่ยว
55,808 คน
ตลอดงาน

47.2 ล้านคน
ทั่วโลก พบเห็นข่าวสารทาง สื่อสังคมออนไลน์
ได้รับการพูดถึงใน สื่อสังคมออนไลน์ ถึง
16 ล้านคน*
Top 10
ของการจัดอันดับ
ART ASIA PACIFIC ALMANAC 2019

**ยังไม่นับยอดรวมของกลุ่มคนที่มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ หรือ Influencer
จัดโดย Art Asia Pacific Magazine (AAP)


RIVER FESTIVAL
ไทยเบฟริเริ่มการจัดงาน “สายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย” (River Festival) เทศกาลวัฒนธรรมร่วมสมัย และมหกรรมลอยกระทงบนโค้งน้ำที่ยาวที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 6 ปี โดยครั้งแรกเมื่อปี 2557 และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย วัดพระเชตุพน-วิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ค เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ ล้ง 1919 ไอคอนสยาม กลุ่มโรงแรมริมแม่น้ำ เรือด่วนเจ้าพระยา รวมไปถึงพันธมิตรอีกหลายภาคส่วน ร่วมกันสืบสาน เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามของไทยไปทั่วโลก ยังคงสานต่อความสำเร็จของอีกสองโครงการเพื่อความยั่งยืน โดยจัดโครงการ “คลีนคลอง” และโครงการ “เยาวชนเจ้าบ้าน สืบสานวัฒนธรรม” ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

จากผลสำรวจในแต่ละปีพบว่าความพึงพอใจของผู้ที่มาเที่ยวงานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลสำรวจเกือบร้อยละ 90 ของผู้ให้สัมภาษณ์ที่เป็นคนไทยเห็นด้วยว่า งานที่จัดขึ้นนี้เป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมแบบร่วมสมัย ถือเป็นงานที่สืบสานประเพณีลอยกระทงอันดีงาม ทำให้คนไทยรู้จักกรุงเทพฯ ในมุมใหม่ที่ไม่เคยเห็น คิดเป็นร้อยละ 98-100 พร้อมทั้งช่วยสร้างความยั่งยืนในเชิงวัฒนธรรมและก่อเกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม และก่อให้เกิดรายได้สู่ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คิดเป็นมูลค่า 2.66 ล้านบาท ความคาดหวังการจัดงานครั้งต่อไปจะเป็นการขยายผลไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยเลือกประเทศที่มีวัฒนธรรมประเพณีลอยกระทงเช่นเดียวกัน

เทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย (Water Festival 2019)
ไทยเบฟจัดงาน “เทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย” (Water Festival 2019) อย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 โดยร่วมมือกับกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน (ASEAN Chairmanship 2019) งาน “เทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย” (Water Festival 2019) ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมใหญ่ที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐ ให้ประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมเพื่อบอกเล่าความเป็นไทยไปทั่วโลก สอดคล้องกับแนวคิดของปีวัฒนธรรมแห่งอาเซียน (ASEAN Cultural Year 2019) คือ มีความหลากหลาย สร้างสรรค์ ยั่งยืน (Diversity, Creativity, Sustainability) ให้ได้รับการบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียนของประเทศไทย พ.ศ. 2562 (ASEAN Cultural Year 2019) ซึ่งถือเป็นมรดกร่วมทางวัฒนธรรมของหลายชาติอาเซียน เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอื่น ๆ ของภูมิภาคอาเซียนได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
จัดอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 13 ปี ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยในปี 2561 ถูกจัดขึ้นในชื่อ นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “สวัสดีปีจอหมา มาคอยท่าปีกุนหมู”

ภาพลักษณ์องค์กร
ไทยเบฟสนับสนุนนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี หรือการร่วมออกร้านฉายานิติกร ในงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว ประจำปี 2561 รวมถึงการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้มีพื้นที่แสดงออกถึงความสามารถบนเวทีการแสดง เช่น การประกวดบรรเลงดนตรีไทยศรทอง และการแข่งขันต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนา แลกเปลี่ยน เรียนรู้สู่ระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังได้ให้การสนับสนุนคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู เข้าร่วมการแข่งขัน Llangollen International Musical Eisteddfod 2019 ซึ่งได้รับ “รางวัลชนะเลิศอันดับ 1” ด้วยคะแนนสูงสุดของสาขา Open Category Choir เป็นต้น

โครงการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก
เพื่อส่งเสริมแนวทางศิลปะในเชิงเสมือนจริงและศิลปะรูปลักษณ์ และให้การสนับสนุนศิลปินในแนวทางดังกล่าวได้มีเวทีในการแสดงความสามารถเป็นการเฉพาะ ซึ่งรางวัลชนะเลิศของโครงการประกวดศิลปกรรมช้างเผือกสูงถึง 1 ล้านบาท โดยในปี 2562 ได้ดำเนินโครงการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 8 ภายใต้แนวคิด “รื่นเริง เถลิงศก”

งานอุ่นไอรักคลายความหนาว
จัดขึ้นตามที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริที่จะให้ประชาชนได้มีความสุข ความรื่นเริง และรำลึกถึงวิถีชีวิตที่ผ่านมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไทยเบฟได้ออกร้านจำหน่ายสินค้าในโครงการประชารัฐรักสามัคคี และห้องภาพ “ฉายานิติกร” ให้บริการถ่ายภาพย้อนยุคแก่ผู้ที่มาเที่ยวชมงาน ซึ่งได้ร่วมในกิจกรรมดังกล่าวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

สนับสนุนนิทรรศการภาพถ่ายเฉลิมพระเกียรติ โดยเครือข่ายช่างภาพเยาวชนจิตอาสา
ไทยเบฟให้การสนับสนุนการจัดนิทรรศการภาพถ่ายเฉลิมพระเกียรติ “สยามนิทรรศน์วัฒนา บรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562” โดยเป็นนิทรรศการที่จัดแสดงภาพถ่าย จำนวน 86 ภาพ จากเครือข่ายช่างภาพเยาวชนจิตอาสา ที่เข้าร่วมถ่ายภาพในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ในระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 27-28 กรกฎาคม และ 10-11 สิงหาคม 2562 ณ อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนินกลาง

สนับสนุนหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 12 ปี หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีพันธกิจหลักในการที่จะสนับสนุน เสริมสร้าง เผยแพร่ผลงานด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อสร้างองค์ความรู้อันหลากหลาย สร้างความยั่งยืนต่อสังคม และบริหารองค์กรมุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับไทยเบฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญในการใช้ศิลปวัฒนธรรม เพื่อเป็นสื่อกลางลงไปสู่กลุ่มเด็กและเยาวชน รวมไปถึงครู หรือวิทยากรผู้สอนศิลปะ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น โครงการ “พาน้องท่องหอศิลปกรุงเทพฯ” กิจกรรมทัศนศึกษาเพื่อการเรียนรู้สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย-มัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อให้เยาวชนได้ใช้พื้นที่นิทรรศการในการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่มุ่งเน้นการให้ความรู้และฝึกทักษะทางศิลปะในบรรยากาศที่เหมาะสม

สนับสนุนทุนการศึกษา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์เป็นวิทยาลัยดนตรีที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหนึ่งในกำกับของมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดสอนวิชาเกี่ยวกับดนตรีโดยเฉพาะ ตั้งแต่ระดับเตรียมอุดมดนตรี (ม. 4 - ม. 6) จนถึงระดับปริญญาเอก เป็นสถาบันเดียวในประเทศที่เปิดสอนวิชาดนตรีในระดับปริญญาเอก มีอาจารย์ที่ชำนาญในเครื่องดนตรีแต่ละชนิดโดยเฉพาะ และเปิดสอนทั้งด้านแนวเพลงไทยและแนวเพลงสากล ไทยเบฟให้การสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันโดยให้ทุนสนับสนุนปีละ 1 ล้านบาท ให้แก่เยาวชนที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาของคณะกรรมการวิทยาลัย เพื่อนำไปแข่งขันหรือฝึกอบรมในต่างประเทศ

สนับสนุนวงดนตรี Thailand Philharmonic Orchestra (TPO)
เป็นวงออร์เคสตราที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างเป็นวงซิมโฟนิคมืออาชีพในประเทศไทย ให้มีผลงานในระดับนานาชาติ สามารถเดินทางไปแสดงในนานาประเทศได้ โดยมีผู้ควบคุมวงดนตรีรับเชิญและนักดนตรีรับเชิญในระดับนานาชาติเดินทางมาร่วมแสดงเพื่อพัฒนาวงให้มีศักยภาพระดับนานาชาติ ซึ่งไทยเบฟให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 จนถึงการแสดงฤดูกาลที่ 14 ซึ่งจบลงในเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา

สนับสนุนสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ไทยเบฟได้ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 โดยร่วมกันทำกิจกรรมที่ส่งเสริมและเป็นประโยชน์ต่อวงการภาพถ่าย ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี การประกวดภาพถ่าย “ช้าง ไฟน์อาร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล โฟโต คอนเทสต์ : Chang Fine Art International Photo Contest” ซึ่งจัดอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 7 ในหัวข้อ “มายา : Illusion” โครงการ RPST YOURS Campus ซึ่งได้ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ และโครงการ EISA (Educational Institute Support Activity) ของไทยเบฟ ในการทำกิจกรรมประกวดภาพถ่าย One Shot Knock Out ซึ่งได้ริเริ่มร่วมกัน จนปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในวงการประกวดภาพถ่าย

สนับสนุนกลุ่ม Bangkok Sketcher
ในปี 2562 ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมซี อาเซียน-สเก็ตกัน 2019 เพื่อจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนให้ความรู้ด้านศิลปะกับกลุ่มศิลปะอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เนื่องมาจากปัจจุบัน ความสนใจในด้านศิลปะของบุคคลทั่วไปเพิ่มมากขึ้น ทั้งการวาดภาพบนกระดาษและวาดในระบบดิจิทัล ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการบันทึกเรื่องราว หรือเป็นกิจกรรมสันทนาการ

สนับสนุนคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู
ในปี 2562 คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู ได้เข้าร่วมการแข่งขัน Llangollen International Musical Eisteddfod 2019 ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ด้วยคะแนนสูงสุดของสาขา Open Category Choir (คะแนน 93.7) ซึ่งมีผู้เข้าแข่งขันสาขาร้องประสานเสียงถึง 9 วง และแบ่งการแข่งขันเป็น 2 รอบจากรางวัลที่ทำให้วงได้เข้ารอบสุดท้ายการแข่งขัน ไควร์ ออฟ เดอะ เวิลด์ (Choir of the World) ซึ่งผู้เข้าแข่งขันคือ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศด้วยคะแนนสูงสุดจากแต่ละสาขา (ผสม เยาวชน สตรี บุรุษ และแบบเปิด) รวมไปถึงสนับสนุนการจัดทำแผ่นซีดีเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล- อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพด้านดนตรีของพระองค์

โครงการกิจกรรมการประกวดบรรเลงดนตรีไทย มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
ไทยเบฟให้การสนับสนุนการประกวดบรรเลงดนตรีไทยศรทอง ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2561 การประกวดฯ แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา ใน 6 ประเภทเครื่องดนตรี คือ ซอด้วง ซออู้ จะเข้ ขลุ่ยเพียงออ ขิมสาย และระนาดเอก โดยในปี 2561-2562 มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวด จำนวน 1,641 คน (ระดับประถมศึกษา 589 คน ระดับมัธยมศึกษา 1,043 คน) จาก 397 สถานศึกษา 54 จังหวัด จากทั่วประเทศ

การร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ทั้งในและต่างประเทศ
ทำให้เกิดการริเริ่มโครงการใหม่ ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น โครงการด้านดนตรี หรือการใช้ศิลปะเพื่อบำบัดผู้ป่วย เป็นต้น

วงดนตรี ซี อาเซียน คอนโซแนนท์
ปี 2562 ซึ่งเป็นปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน วงดนตรี ซี อาเซียน คอนโซแนนท์ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองในรายการสำคัญ ๆ ดังนี้
  • วันที่ 23 มิถุนายน 2562 ร่วมแสดงในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 34 เพื่อสื่อสารและเผยแพร่ถึงความงดงามทางศิลปวัฒนธรรมอาเซียน ผ่านเสียงดนตรีซึ่งเป็นภาษาเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างคนในภูมิภาค
  • วันที่ 8 สิงหาคม 2562 ได้รับเชิญจากสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ในการแสดงในพิธีเปิดอาคารสำนักงานเลขาธิการอาเซียนหลังใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบโจทย์การเป็นศูนย์รวมของอาเซียนและส่งเสริมการรับรู้ร่วมกันเกี่ยวกับอาเซียนโดยรวมมากยิ่งขึ้น พร้อมกับงานเฉลิมฉลองอาเซียนครบรอบ 52 ปี ที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันในประชาคมอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

โครงการเพื่อนดนตรี
ไทยเบฟและมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้ร่วมมือกันจัดทำกิจกรรมดำเนินการโครงการในลักษณะของแนวร่วมอาสาสมัครจิตสาธารณะ จากผู้สนับสนุนหน่วยงาน องค์กร สถาบัน บ้าน วัด โรงเรียน บุคคลทั่วไป เพื่อสนับสนุนเครื่องดนตรี อุปกรณ์ดนตรี และสื่อการเรียนรู้ แก่หน่วยงาน โรงเรียน ชุมชน ชมรมที่ขาดแคลน โดยการมอบให้ ให้ยืม ซ่อมบำรุง รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ทางดนตรีไทย และการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้และสืบสานและสนับสนุนช่างภูมิปัญญาและเยาวชนรุ่นใหม่ สร้างงาน สร้างทักษะ รวมกว่า 14 กิจกรรม เช่น การซ่อมบำรุงเครื่องดนตรีเก่าหรือชำรุดให้กลับมาใช้งานได้อีก

สนับสนุนนิทรรศการมะเร็ง มาเล็ง
ไทยเบฟ ให้ความสนใจและสนับสนุนแนวคิดศิลปะบำบัด (Art Therapy) จึงได้สนับสนุนนิทรรศการ “มะเร็ง มาเล็ง : Cancer Cancel” โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร ซึ่งเป็นนิทรรศการที่เกิดจากการใช้ศิลปะบำบัดในช่วงการรักษาโรคมะเร็งตลอด 6 เดือน โดยไทยเบฟได้สนับสนุนการประชาสัมพันธ์นิทรรศการ และเน้นความสำคัญของศิลปะบำบัด ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงนิทรรศการ รวมไปถึงการนำผลงานจากนิทรรศการไปขยายผล หารายได้ผ่านกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกับกลุ่มอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ (Art for Cancer) ที่ไทยเบฟให้การสนับสนุนงบประมาณทำกิจกรรมเพื่อสังคม สำหรับประโยชน์ต่อผู้ป่วยต่อไป นอกจากนั้นยังได้ร่วมกับกลุ่มอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ จัดกิจกรรมกระดานเขียนข้อความในใจจากผู้ป่วยถึงแพทย์ และแพทย์ถึงผู้ป่วย การจำหน่ายของที่ระลึกโดยผู้ป่วยมะเร็ง

สนับสนุนมูลนิธิ อาจารย์สุกรี เจริญสุข
ไทยเบฟได้สนับสนุนมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 โดยกิจกรรมที่ได้ดำเนินการตลอดปี 2562 มีดังนี้ โครงการวิจัยพรสวรรค์ศึกษา โครงการดนตรีเพื่อการพัฒนาเยาวชน กรณีศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี โครงการเด็กภูมิดีด้วยดนตรีพื้นบ้าน กรณีวงดนตรีไทยโรงเรียนวัดลาดทราย โครงการพัฒนาวงดนตรีต้นแบบนำร่อง กรณีโรงเรียนวัดสุวรรณาราม โครงการ Suzuki Early Childhood Education มูลนิธิเด็ก โครงการชุมชนดีมีรอยยิ้ม ปีที่ 8 ร่วมกับไทยเบฟ โครงการดนตรีคลาสสิกเพื่อสังคม โครงการพาน้องชมดนตรี มอบทุนเพื่อการศึกษาดนตรี
ทิศทางการดำเนินงาน
ในการทำงานด้านศิลปะ ไทยเบฟยังคงเดินหน้าสนับสนุนการขับเคลื่อนตามปณิธานภายใต้กลยุทธ์ 3 ประการ คือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภาพลักษณ์องค์กร และความร่วมมือ
ด้าน “เศรษฐกิจสร้างสรรค์”
สามารถขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมสู่แนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อย่างต่อเนื่องและปรากฏเป็นรูปธรรมเด่นชัดขึ้น เช่น
  • บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 และก้าวไปสู่ BAB 2022 โดยมีแผนการขยายกิจกรรมออกไปนอกกรุงเทพฯ มากขึ้น หรือรับสมัครศิลปินเข้าร่วมแสดงงานแบบสาธารณะ เพื่อก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มกับวงการศิลปะของประเทศ รวมไปถึงการสนับสนุนให้คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู จัดตั้งและดำเนินงานไปในแนวทางธุรกิจเพื่อสังคม
  • การบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ (Waste Management) การนำวัสดุเหลือใช้ ฉลากผลิตภัณฑ์ มาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานศิลปะ โดยศิลปินในเครือข่าย
ด้าน “ภาพลักษณ์องค์กร”
เพื่อเป็นองค์กรภาคเอกชนที่เป็นผู้นำด้านการส่งเสริม อนุรักษ์และเผยแพร่งานด้านศิลปวัฒนธรรมไทย และขยายผลไปสู่ศิลปวัฒนธรรมในระดับภูมิภาคอาเซียน เช่น การก่อตั้งวง ซี อาเซียน คอนโซแนนท์ ซึ่งเป็นโครงการที่แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายและเจตนารมณ์ที่ต้องการขยายผลการอนุรักษ์และพัฒนางานด้านศิลปวัฒนธรรมของไทยและภูมิภาคอาเซียน ให้แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางขึ้น
ด้าน “ความร่วมมือ”
ขยายความร่วมมือด้านศิลปวัฒนธรรมกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิสาหกิจชุมชนอย่างต่อเนื่อง และมีความหลากหลายขึ้น เพื่อผลักดันให้เกิดกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประชาชาติให้มากยิ่งขึ้น เช่น โครงการ BAB ซี อาเซียน คอนโซแนนท์ รวมไปถึงงานเทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย สายน้ำแห่งวัฒนธรรม ที่มีเป้าหมายขยายพันธมิตรความร่วมมือของชุมชนโดยรอบเพื่อให้จัดกิจกรรมได้อย่างไหลลื่น และเกิดประโยชน์มากมายต่อชุมชนและตัวบุคคล