รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2562

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2562 / ใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม
การพิทักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ
GRI 303-1, GRI 303-3, GRI 303-4, GRI 303-5
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเติบโตด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการใช้น้ำ และส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ ไทยเบฟได้ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าว จึงได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของห่วงโซ่คุณค่า พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเพื่อปรับปรุงการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการควบคุมคุณภาพน้ำที่ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด

รวมถึงทำการประเมินความยั่งยืนของการใช้น้ำ เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการใช้น้ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เป็นการเตรียมพร้อมต่อความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ไทยเบฟยังได้ประสานความร่วมมือกับชุมชนในการดูแลรักษาพื้นที่ต้นน้ำ โดยจัดกิจกรรมปลูกป่าและสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อเป็นการอนุรักษ์แหล่งน้ำในเขตชุมชน


โครงการประเมินความยั่งยืนของการใช้น้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน
ไทยเบฟได้ริเริ่มการประเมินความยั่งยืนของการใช้น้ำ (Water Sustainability Assessment : WSA) ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินโดยเริ่มต้นที่บริษัท สุราบางยี่ขัน จำกัด จังหวัดปทุมธานี ในปี 2560 และต่อมาในปี 2561 ได้ขยายผลมาที่บริษัท เบียร์ทิพย์ บริวเวอรี่ (1991) จำกัด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จุดประสงค์เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านน้ำในเชิงลึกทั้งในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ครอบคลุม 4 มิติ คือ
  • 1. ความพอเพียงของน้ำ
  • 2. คุณภาพน้ำ
  • 3. การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ
  • 4. ทัศนคติของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
โดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายทางดาวเทียมในการศึกษาภูมิประเทศ (Topography) ทิศทางการไหลของน้ำ (Flow Direction) พื้นที่รับน้ำ (Watershed) การระบายน้ำ (Drainage) ความลาดเอียงของพื้นที่ (Slope Pattern) รวมไปถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยเบฟสามารถวางกลยุทธ์การลดความเสี่ยงได้อย่างครอบคลุมและเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลการประเมินความยั่งยืนในการใช้น้ำมาดำเนินแผนการจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในแต่ละส่วนการผลิต พร้อมทั้งสามารถวางแผนการดูแลและอนุรักษ์แหล่งน้ำทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ เพื่อความเป็นผู้นำในด้านการบริหารจัดการน้ำของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม

ในปี 2562-2563 ไทยเบฟมีการดำเนินการประเมินความยั่งยืนของการใช้น้ำขยายไปในอีก 5 โรงงาน ให้มีความครอบคลุมในทุกกลุ่มธุรกิจในไทยเบฟ และในอนาคต ไทยเบฟจะขยายผลให้มีการประเมินความยั่งยืนในการใช้น้ำให้ครอบคลุมทุกโรงงาน เพื่อที่จะทำให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
วอเตอร์ฟุตพรินต์
วอเตอร์ฟุตพรินต์เป็นการเก็บข้อมูลปริมาณการใช้น้ำในการผลิตสินค้าและบริการทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยจะทำการคำนวณปริมาณน้ำจากผลรวมของทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งไทยเบฟได้นำวอเตอร์ฟุตพรินต์มาใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงปริมาณน้ำที่ใช้และปริมาณน้ำทิ้งที่ปล่อยออกมา รวมถึงสถานที่และระยะเวลาที่เกิดการใช้น้ำ ทำให้องค์กรสามารถกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และยังสามารถขยายผลให้เกิดการปรับปรุงกระบวนการใช้น้ำอย่างต่อเนื่องด้วยหลักการ 3Rs คือ การลดการใช้น้ำ การนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ และนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เป็นการสร้างจุดแข็งให้กับองค์กรที่คำนึงถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้สามารถลดความเสี่ยงของปัญหาการขาดแคลนน้ำซึ่งมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยตรง รวมทั้งได้ทำการสนับสนุนการขยายผลการบริหารจัดการน้ำไปสู่คู่ค้า เพื่อให้ตลอดห่วงโซ่อุปทานมีความเข้มแข็งมากขึ้น
การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและดูแลแหล่งน้ำร่วมกับชุมชน



ไทยเบฟได้มีการบริหารจัดการน้ำสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างต่อเนื่องทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่ออนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และร่วมดูแลแหล่งน้ำร่วมกับชุมชนผ่านโครงการต่าง ๆ ดังนี้

  • โครงการกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน
    โครงการพัฒนาชุมชนและพนักงานจิตอาสาของไทยเบฟร่วมกันจัดทำโครงการกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน ในพื้นที่ตำบลนาสวน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งใช้หลักการระบายน้ำไปเก็บไว้ในชั้นหินอุ้มน้ำ โดยขุดบ่อในบริเวณพื้นที่น้ำท่วม น้ำขัง น้ำหลาก หรือจุดรวมของน้ำ และเป็นการพักน้ำรวมไว้ เพื่อลดปัญหาน้ำไหลหลากในพื้นที่เชิงเขา รวมถึงกักเก็บความชุ่มชื้นของดินสำหรับการทำเกษตรกรรมแก่ชุมชน ซึ่งเป็นการต่อยอดโครงการส่งเสริมด้านเกษตรอินทรีย์ที่ “โครงการพัฒนาชุมชน” มีส่วนร่วมวางแผนกับชุมชน โดยมุ่งส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้สามารถนำน้ำไปใช้ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด โดยได้รับเกียรติจากคณะวิทยากรจาก องค์การบริหารส่วนตำบลหนองนกแก้ว อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี มาให้คำแนะนำตั้งแต่การวางระบบบ่อและขั้นตอนการกักเก็บน้ำ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ซึ่งเป็น การนำความรู้ทางวิชาการและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้บริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน
  • โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ
    ไทยเบฟร่วมกับชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในด้านการใช้น้ำและการอนุรักษ์แหล่งน้ำ พร้อมทั้งให้ทุกคนในชุมชนจัดหาและเข้าถึงทรัพยากรน้ำได้อย่างเป็นธรรมและเสมอภาค โดยในปี 2562 ไทยเบฟได้ดำเนินการโครงการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำใน 6 จังหวัดทั่วประเทศ คือ การปลูกหญ้าแฝกในจังหวัดเพชรบุรี การปลูกป่าโกงกางในจังหวัดสมุทรสาคร การสร้างบ่อกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรในจังหวัดกาญจนบุรี การปลูกต้นหม่อนพร้อมกับสร้างโรงเรือนเลี้ยงไหมในจังหวัดขอนแก่น การปลูกต้นโกงกางและปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นในจังหวัดจันทบุรี และการสร้างฝายชะลอน้ำจังหวัดนครศรีธรรมราช
  • โครงการน้ำดื่มสะอาดเพื่อน้อง
    ไทยเบฟร่วมกับโรงเรียนวัดพืชนิมิต โรงเรียนวัดลาดทราย และโรงเรียนวัดกุฎีประสิทธิ์ จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปรับปรุงระบบน้ำดื่มและจัดทำแผนเพื่อติดตามคุณภาพของเครื่องกรองน้ำอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการนำน้ำไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐานน้ำดื่มจากห้องปฏิบัติการของโรงงานที่ได้รับการรับรองจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมทั้งให้ความรู้ในการดูแลบำรุงรักษาเบื้องต้นและการทำความสะอาดระบบกรองน้ำที่ถูกวิธี เพื่อให้นักเรียนมีน้ำดื่มที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ และมีคุณภาพตามมาตรฐานน้ำดื่ม และนักเรียนยังสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ตรวจสอบเครื่องกรองที่บ้านได้ ไทยเบฟวางแผนจะขยายโครงการนี้ไปยังทุกโรงเรียนในบริเวณโดยรอบของโรงงาน
  • โครงการกำจัดวัชพืชในคลองสาธารณะ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม
    กลุ่มธุรกิจสุราได้ร่วมกับเทศบาลตำบลนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมและชุมชนโดยรอบ จัดกิจกรรม “โครงการกำจัดวัชพืชและผักตบชวาคลองสาธารณะ” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อม โดยการกำจัดวัชพืชและผักตบชวาบริเวณคลองสาธารณะในเขตเทศบาลตำบลนครชัยศรี เพื่อให้ชุมชนตระหนักในคุณค่าของสิ่งแวดล้อม ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นสาธารณะร่วมกัน ตลอดจนให้ความสำคัญกับความสะอาดเรียบร้อย
  • โครงการน้ำสะอาด (Clean Water) ในประเทศเมียนมา
    บริษัท แกรนด์ รอยัล กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (GRG) ได้จัดทำโครงการ “น้ำสะอาด” โดยมีจุดประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในกรุงย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และบริเวณแม่น้ำอิรวดี ประเทศเมียนมา ที่ยังขาดการเข้าถึงแหล่งน้ำที่มีคุณภาพและถูกสุขลักษณะ ซึ่งสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดในช่วงวิกฤตหรือภัยพิบัติในประเทศเมียนมาได้

    GRG ได้ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นสร้างบ่อน้ำและถังกักเก็บน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคของคนในชุมชน และได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการบำรุงรักษาโครงการในอนาคต พร้อมทั้งให้ความรู้ในหัวข้อ “วิธีการบำบัดน้ำในสถานการณ์ภัยพิบัติ” กับชาวบ้านในเมืองต่าง ๆ

    โครงการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 ถึงกันยายน 2562 ซึ่งทาง GRG ได้สร้างบ่อน้ำ 8 แห่ง แทงค์น้ำ 16 แห่ง และโรงบำบัดน้ำเสีย 5 แห่ง ทำให้ชาวบ้านในชุมชนได้รับประโยชน์มากกว่า 40,000 คน และ 6,000 ครัวเรือนทั่วประเทศเมียนมา และจากรายงานทางภูมิศาสตร์ โครงการนี้ครอบคลุมถึง 9 หมู่บ้าน และ 1 เมืองของย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ ทั้งยังสามารถช่วยลดปัญหาสุขภาพของประชาชน 840 ราย ที่เกิดจากแหล่งน้ำไม่สะอาดได้อีกด้วย
ความมุ่งมั่นและความสำเร็จ
การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพในปี 2562 ส่งผลให้เกิดอัตราส่วนการลดการใช้น้ำ การนำน้ำมาใช้ซ้ำ และการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่

การลดการใช้น้ำ / REDUCE
8.79%
  • โครงการศูนย์ระบบกรองน้ำแบบรีเวอร์สออสโมสิส
    ลดการใช้น้ำบาดาล โดยใช้น้ำผิวดินในกระบวนการผลิตน้ำประปา
  • โครงการนำน้ำทิ้งจากระบบกรองน้ำแบบรีเวอร์สออสโมสิส
    กลับมาใช้ในกระบวนการล้างถังกรองทรายแบบวิธีการล้างย้อน (Backwash) ของระบบผลิตน้ำประปา
  • โครงการนำน้ำจากเครื่องล้างขวดมาใช้งาน
    ที่ระบบดักจับเขม่าเครื่องกำเนิดไอน้ำ
การนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ / REUSE
2.94%
  • โครงการการนำน้ำคอนเดนเสทกลับมาใช้ที่เครื่องกำเนิดไอน้ำ
    เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำผิวดิน
  • โครงการนำน้ำจากกระบวนการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Scrubber)
    ไปเป็นน้ำตั้งต้นในกระบวนการผลิตน้ำประปา เป็นการลดปริมาณการใช้น้ำผิวดิน
  • โครงการนำน้ำจากกระบวนการล้างแบบวิธีการล้างย้อน (Backwash)
    ไปใช้เป็นน้ำตั้งต้นในกระบวนการผลิตน้ำประปา เป็นการลดปริมาณการใช้น้ำผิวดิน
การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ / RECYCLE
5.86%
  • โครงการนำน้ำจากกระบวนการบำบัดน้ำเสีย
    ไปใช้ในการล้างพื้นถนนและรดน้ำต้นไม้
แบ่งปันคุณค่า

คุณอุลิต จาตุรแสงไพโรจน์
ผู้จัดการแผนก GIS
บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด
เทคโนโลยีทางด้านการสำรวจจากระยะไกลกับการบริหารจัดการน้ำ
“ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางด้านการสำรวจจากระยะไกล (Remote Sensing) เพื่อการติดตามวัฏจักรน้ำ มีความก้าวหน้าและสามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายแพลตฟอร์ม เช่น ดาวเทียมสำรวจโลก อากาศยานไร้คนขับ และสถานีตรวจวัดภาคพื้นดิน ทำให้เกิดโอกาสในการบูรณาการข้อมูลที่ต่อเนื่องพร้อมกับสร้างข้อมูลใหม่จำนวนมาก ทั้งนี้ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในด้านการจัดการน้ำสามารถแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่ ความต้องการของการใช้น้ำ (Water Demand) และปริมาณน้ำที่นำมาใช้ได้ (Water Supply)

ความต้องการของการใช้น้ำ (Water Demand) โดยเทคโนโลยีทางด้านการสำรวจจากระยะไกล สามารถประยุกต์ใช้ในการติดตามชีพลักษณ์ของพืช (Phenology) จากข้อมูลจากดาวเทียมที่มีช่วงคลื่น Near-infrared เช่น Landsat, Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer (MODIS) หรือไทยโชต (THEOS) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้จากเทคโนโลยีทางด้านการสำรวจจากระยะไกล ในการคำนวณค่าการคายระเหยน้ำ (Evapotranspiration) จากดาวเทียมที่มีช่วงคลื่น Thermal Infrared เช่น Landsat, MODIS และ Suomi NPP เป็นต้น

และในส่วนของปริมาณน้ำที่นำมาใช้ได้ (Water Supply) ได้ใช้เทคโนโลยีทางด้านการสำรวจจากระยะไกล ในการประเมินขนาดและหาตำแหน่งของแหล่งน้ำ ทั้งยังช่วยประเมินปริมาณหยาดน้ำฝน (Precipitation) โดยใช้เครื่องตรวจวัดแบบแพสซีฟ หรือแบบเฉื่อย (Passive Sensor) และเครื่องตรวจวัดแบบแอ็กทีฟ (Active Sensor) หรือแบบขยัน จากโครงการ Global Precipitation Measurement (GPM) ด้วยระบบเรดาร์ Dual-frequency Precipitation Radar (DPR) ตัวแปรที่สำคัญของวัฏจักรน้ำอีกตัวแปรหนึ่งคือปริมาณความชื้นในดิน (Soil moisture) ในอดีต การตรวจวัดปริมาณความชื้นในดิน ทำได้เพียงการตรวจวัดโดยตรงในสนาม ในปัจจุบันสามารถตรวจวัดข้อมูลดังกล่าวจากห้วงอวกาศ จากดาวเทียม Soil Moisture Active Passive (SMAP) โดยอาศัยหลักการคุณสมบัติการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของน้ำและดิน

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในยุค Thailand 4.0 จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจากหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีทางด้านการสำรวจระยะไกล เครือข่ายเซนเซอร์ภาคพื้นดิน ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่อินเทอร์เน็ต (Internet of Things) ซึ่งสามารถนำข้อมูลมาช่วยวิเคราะห์ได้แบบทันที (Real Time) และการวิเคราะห์ข้อมูลมีหลายมิติมากยิ่งขึ้น”
เป้าหมายในปี 2562
5%
การลดอัตราส่วนของการใช้น้ำต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ ภายในปี 2563
เปรียบเทียบปีฐาน 2557


กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม
4.08
เฮกโตลิตรต่อเฮกโตลิตร
อัตราส่วนของการใช้น้ำต่อ หน่วยผลิตภัณฑ์ของธุรกิจเครื่องดื่ม

อัตราส่วนของการใช้น้ำต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ ของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม
ตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2562

หมายเหตุ : *แสดงอัตราการใช้น้ำต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ของธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศไทย

**อัตราการใช้น้ำต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ของไทยเบฟรวมต่างประเทศ
ปี 2562 คือ 4.08 เฮกโตลิตรต่อเฮกโตลิตรของหน่วยผลิตภัณฑ์

***เป้าหมายปี 2563 ลดอัตราส่วนการใช้นํ้าต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ 5% เมื่อเทียบกับปีฐาน 2557
ความสำเร็จ

14%
การลดอัตราส่วนของการใช้น้ำ ต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ ภายในปี 2562
เปรียบเทียบปีฐาน 2557


กลุ่มธุรกิจอาหาร
0.21
เฮกโตลิตรต่อกิโลกรัม
อัตราส่วนของการใช้น้ำต่อ หน่วยผลิตภัณฑ์ของธุรกิจอาหาร

อัตราส่วนของการใช้น้ำต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ ของกลุ่มธุรกิจอาหาร
ตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2562