รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2562

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2562 / ใส่ใจดูแลบุคลากร ลูกค้า และผู้บริโภค
สิทธิมนุษยชน
GRI 103-1, GRI 103-2, GRI 103-3, GRI 412-1, GRI 412-2
สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ความคิด จิตใจ และความเป็นอยู่ที่มนุษย์ทุกคนได้รับอย่างเสมอภาคกัน ไทยเบฟดำเนินธุรกิจโดยยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง และเคารพในสิทธิมนุษยชนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด อาทิ พนักงานของบริษัท บริษัทคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ นอกจากนี้ ไทยเบฟยังมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ

รวมถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิในการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานไทย พ.ศ. 2560 และเคารพต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO)
ไทยเบฟกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชนตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า ดังนี้
  • ให้ความเคารพในสิทธิมนุษยชนโดยปฏิบัติต่อทุกภาคส่วนของธุรกิจอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นพนักงาน ชุมชน บริษัทคู่ค้า รวมถึง เด็กและสตรี ผู้ทุพพลภาพและผู้ด้อยโอกาส กลุ่มชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น แรงงานต่างด้าว
  • ดำเนินการในเชิงรุกด้านสิทธิมนุษยชนผ่านกระบวนการจัดการด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Due Diligence Process) อย่างต่อเนื่อง โดยทำการตรวจสอบการละเมิดในด้านสิทธิมนุษยชนรอบด้านด้วยกลไกการส่งเสริมและคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนของไทยเบฟ รวมถึงกระบวนการตรวจสอบและติดตามผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในด้านสิทธิมนุษยชนอย่างสม่ำเสมอ
  • สื่อสารและเผยแพร่แนวทางการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงเปิดให้มีช่องทางการ ร้องทุกข์ของไทยเบฟที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมีกระบวนการปฏิบัติเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมหากเกิดการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งคณะทำงานด้านแรงงานสัมพันธ์เพื่อให้คำปรึกษาแก่พนักงานของไทยเบฟเมื่อมีการละเมิดเกิดขึ้นในบริษัท
  • ให้ความรู้ ฝึกอบรม และสนับสนุนให้พนักงาน บริษัทคู่ค้า และลูกค้า เคารพในสิทธิมนุษยชนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจของตนอย่างเข้มงวด โดยคำนึงถึงหลักปฏิบัติ นโยบายและระเบียบข้อบังคับของไทยเบฟ เช่น จรรยาบรรณกลุ่มบริษัทไทยเบฟ แนวทางการปฏิบัติสำหรับคู่ค้า และนโยบายทางด้านสิทธิมนุษยชนของไทยเบฟ ซึ่งในปี 2562 มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนโดยคัดเลือกพนักงานจากกลุ่มที่มีโอกาสก่อให้เกิดความเสี่ยงในการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น กลุ่มการผลิต กลุ่มการขนส่ง กลุ่มการจัดซื้อจัดหา กลุ่มการขายและการตลาดและกลุ่มงานบริหารบุคคล เพื่อให้ความรู้และทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงในด้านสิทธิมนุษยชน
ในปีที่ผ่านมาไม่พบรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกลุ่มไทยเบฟ อย่างไรก็ตาม ไทยเบฟตระหนักถึงประเด็นความเสี่ยงอย่างดีว่า กิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทอาจมีส่วนเชื่อมโยงกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในทางตรงและทางอ้อม ไทยเบฟจึงมีความมุ่งมั่นที่จะลดความเสี่ยงและการละเมิดที่อาจเกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยใช้กลไกประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนของไทยเบฟอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดมาตรการบรรเทาเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขและลดโอกาสที่จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากกิจกรรมทางธุรกิจของไทยเบฟ
โครงการและกิจกรรมส่งเสริมนโยบายสิทธิมนุษยชน
1. การจัดโครงการติดตามตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence Process)
กิจกรรมจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 นับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2560 โดยผลของโครงการในปี 2562 ไทยเบฟมีประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ 3 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ
  • สุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน
  • สภาพการทำงานของพนักงาน
  • สุขภาพและความปลอดภัยของชุมชน
ซึ่งกระบวนการต่อไปคือ การประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อหาข้อสรุปในการแก้ไข การวัดผลสำเร็จและแนวทางในการสื่อสารให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
กระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านของไทยเบฟ
2. การตั้งคณะทำงานบริหารความผาสุกของพนักงาน (Employee Wellness Management)
พนักงานทุกคนเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญของไทยเบฟที่ต้องดูแลเอาใจใส่ในเรื่องสิทธิมนุษยชน พนักงานทุกคนจะได้รับการดูแลจากหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ คือ คณะทำงานบริหารความผาสุกของพนักงาน รวมถึงคณะกรรมการสวัสดิการของไทยเบฟ ทำให้พนักงานแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ภายใต้บรรยากาศการทำงานที่เอื้อต่อการทำงาน รวมถึงการใส่ใจในสุขภาพของพนักงานทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ทำให้พนักงานของไทยเบฟทำงานอย่างมีความสุข นอกจากนี้ คณะทำงานบริหารความผาสุกของพนักงานยังเป็นช่องทางที่สำคัญทางหนึ่งในการรับเรื่องร้องเรียนและร้องทุกข์จากพนักงานที่ถูกละเมิดในด้านสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
3. การคัดเลือกและการตรวจสอบคู่ค้าผู้ผลิตสินค้าและบริการในเรื่องความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน
สำหรับคู่ค้าของไทยเบฟ ไทยเบฟได้กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับคู่ค้า ซึ่งครอบคลุมประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีผลบังคับใช้กับคู่ค้าของไทยเบฟทุกราย นอกจากนี้ ไทยเบฟยังมีกระบวนการตรวจสอบความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนของคู่ค้า เริ่มตั้งแต่การพิจารณาคัดเลือกคู่ค้ารายใหม่ ตลอดจนการตรวจสอบความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนประจำปีสำหรับคู่ค้ารายปัจจุบัน

สำหรับช่องทางการสื่อสารกับคู่ค้า บริษัทมีศูนย์กลางการติดต่อซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ คือ ระบบ Supplier Life Cycle Management (SLCM) system (http://www.paninter.com) โดยกำหนดให้คู่ค้ารายใหม่ทุกรายยอมรับการปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติสำหรับคู่ค้าและเข้ารับการประเมินความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ รวมถึงด้านสิทธิมนุษยชน ก่อนการลงทะเบียนเป็นคู่ค้าของไทยเบฟ นอกจากนี้ ไทยเบฟยังเปิดให้บริการศูนย์การให้บริการด้านจัดซื้อ (Procurement Service Center) สำหรับติดตาม แก้ไขปัญหา และรับข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการจัดหา ซึ่งครอบคลุมประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนด้วย กลไกต่าง ๆ เหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการตรวจสอบกระบวนการจัดหาและการทำงานของคู่ค้าอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดและนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของไทยเบฟ
แบ่งปันคุณค่า
คุณศักดิ์สยาม อรุณแสง
ผู้จัดการงานจัดซื้อ งานก่อสร้างและการขนถ่ายวัสดุ บริษัท แพนอินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด
“การฝึกอบรมด้านสิทธิมนุษยชนทำให้เข้าใจว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งกับบริบทการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะงานว่าจ้างผู้รับเหมาที่ผมรับผิดชอบ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเรื่องสิทธิมนุษยชน ด้านค่าตอบแทน อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ในการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว ไทยเบฟได้พิจารณาความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนตั้งแต่การคัดเลือกผู้รับเหมา ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขในการทำสัญญาว่าจ้าง รวมถึงกระบวนการตรวจสอบบริษัทคู่ค้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทคู่ค้ามีความตระหนัก ปฏิบัติตามข้อกำหนดในด้านสิทธิมนุษยชนของไทยเบฟ และปฏิบัติต่อพนักงานของตนอย่างเป็นธรรม”
ทิศทางการดำเนินงาน
  • ไทยเบฟมีแผนในการสร้างความรู้และความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยสื่อสารและจัดฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องให้กับพนักงานในกลุ่มไทยเบฟทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงผู้รับเหมา และบริษัทคู่ค้าของไทยเบฟ โดยจัดให้มีการฝึกอบรมประจำปี รวมทั้งบรรจุไว้ในหลักสูตรปฐมนิเทศพนักงานใหม่ของไทยเบฟ
  • ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่เป็นประเด็นความเสี่ยง 3 ด้านที่ได้จากกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนของไทยเบฟ ปี 2562 คือ ด้านสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน ด้านสภาพการทำงานของพนักงาน และด้านสุขภาพและความปลอดภัยของชุมชน พร้อมทั้งหาวิธีป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ ดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สภาพแวดล้อมในการทำงานและความสุขของพนักงานทั้งหมดอย่างต่อเนื่องและครอบคลุม การจัดกิจกรรมด้านความปลอดภัยแก่พนักงานในกลุ่มไทยเบฟ รวมถึงการจัดโครงการสร้างวิทยากรกู้ชีพและกู้ภัยประจำสถานประกอบการและชุมชนรอบโรงงาน
  • ตรวจประเมินความเสี่ยงของคู่ค้ารายสำคัญที่จำหน่ายสินค้าและบริการให้กับไทยเบฟโดยตรง (Critical Tier 1 Supplier) ณ สถานประกอบการทุกราย โดยครอบคลุมประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน และร่วมมือกับคู่ค้ารายสำคัญเหล่านี้ในการบรรเทาความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นจากคู่ค้าของคู่ค้า (Non-tier 1 Supplier)