รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2562

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2562 / ใส่ใจดูแลบุคลากร ลูกค้า และผู้บริโภค
การกำกับดูแล และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ
GRI 102-11, GRI 102-13, GRI 102-15, GRI 102-16, GRI 102-17, GRI 201-2, GRI 205-2, GRI 205-3, GRI 415-1, GRI 419-1
การกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นแนวทางการบริหารองค์กร ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการปรับปรุงประสิทธิภาพขององค์กร เพื่อแสดงให้เห็นถึงการมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และดำเนินธุรกิจด้วยหลักบรรษัทภิบาล สามารถสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย อีกทั้งยังส่งเสริมให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล และมีผลประกอบการที่ดีโดยคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว

รวมทั้งเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิ และมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ซึ่งตรงตามความมุ่งหวังของทั้งภาคธุรกิจ ผู้ลงทุน ตลอดจนตลาดทุนและสังคมโดยรวม
การกำกับดูแลกิจการที่ดีขององค์กร
คุณนันทิกา นิลวรสกุล
ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
ผู้บริหารสูงสุดสายสนับสนุน
เป็นตัวแทนในการรับรางวัลชนะเลิศ “Most Transparent Company Award in the Consumer Staples Category” ในงาน SIAS Investors’ Choice Award 2019 ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยรางวัลดังกล่าวนับเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทด้านความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลต่อนักลงทุน
ไทยเบฟมุ่งเน้นการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีซึ่งสอดคล้องกับจรรยาบรรณของบริษัท โดยมีการวางแผนจัดการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสมตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้น นักลงทุน พนักงาน ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจให้แก่ลูกค้า เพื่อสร้างความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน และเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรด้วย

คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่รับผิดชอบในการเป็นผู้นำขององค์กร ดูแลความเป็นผู้นำของธุรกิจโดยรวมในการกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ วัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน และความสำเร็จในระยะยาวของบริษัทในกลุ่มไทยเบฟ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของไทยเบฟเป็นไปตามแผนธุรกิจหลักของบริษัท ตามมติของผู้ถือหุ้นโดยสุจริต ภายใต้กฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัท รวมถึงการกำกับดูแลให้บริษัทในกลุ่มไทยเบฟและบริษัทย่อยปฏิบัติตามกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์และตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (สามารถศึกษาโครงสร้างองค์กรและรายงานการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท ได้จากรายงานประจำปี 2562 และบนเว็บไซต์ www.thaibev.com)

นอกจากนี้ ไทยเบฟได้ประกาศใช้นโยบายการรับข้อร้องเรียน เพื่อเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการรับฟังข้อร้องเรียนจากกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของไทยเบฟ ทั้งนี้ ปี 2562 ไม่พบรายการขัดแย้งที่มีนัยสำคัญและไม่พบข้อร้องเรียนด้านจริยธรรมที่มีนัยสำคัญ
จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ

เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเจริญเติบโตก้าวหน้า มีความมั่นคงยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับของสังคม จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจจึงเป็นส่วนสำคัญ ดังนั้นไทยเบฟจึงกำหนดจรรยาบรรณ ด้วยเจตนารมณ์มุ่งเน้นพฤติกรรมที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติตามกฎหมาย มีศีลธรรมและจริยธรรม ซึ่งกำหนดไว้ในจรรยาบรรณกลุ่มไทยเบฟ ทั้งนี้คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ต้องยึดถือปฏิบัติตาม เพื่อให้บริษัทบรรลุจุดมุ่งหมายในการรักษาไว้ซึ่งจรรยาบรรณ พร้อมทั้งส่งเสริมการรักษามาตรฐานทางจรรยาบรรณไว้อย่างสม่ำเสมอ

ไทยเบฟมีหน้าที่ที่จะทำให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานและจะปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นโดยคำนึงถึงภาวะและปัจจัยความเสี่ยงทั้งในปัจจุบันและอนาคต และจะปฏิบัติต่อพนักงาน ลูกค้า และคู่ค้าทุกคนอย่างถูกต้องชอบธรรม บริษัทมุ่งเน้นให้พนักงานทุกคนเข้าใจเนื้อหาและความหมายที่กำหนดไว้อย่างถ่องแท้ และประกาศให้บุคลากรทุกระดับของบริษัททราบ ประกอบกับต้องยอมรับและยึดถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด หากบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทในทุก ๆ ส่วนให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามจรรยาบรรณของบริษัทอย่างจริงจัง
ภายใต้นโยบายการกำกับดูแลที่ดี จะส่งผลกับบริษัทดังนี้

  • ช่วยให้บริษัทรักษาความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
  • ทำให้พนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงาน
  • ทำให้เกิดความเป็นธรรมในองค์กร
  • พนักงานมีเกียรติมีศักดิ์ศรี เป็นคนดีคนเก่ง
  • องค์กรเป็นที่ยอมรับต่อสังคม
  • เพื่อความผาสุกของพนักงาน

การต่อต้านการทุจริต
ไทยเบฟคำนึงถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส มีคุณธรรม ยึดหลักความยุติธรรมและปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางธุรกิจ พร้อมทั้งคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายจากการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นไทยเบฟจึงได้กำหนดนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชันขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการต่อต้านและป้องกันการคอร์รัปชัน รวมถึงเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจและเสริมสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนในอนาคต

หากมีการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ กฎระเบียบ มาตรฐาน และกฎหมาย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่มีหน้าที่รับผิดชอบ ติดตามและกำหนดให้มีระบบรองรับการต่อต้านการคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพโดยรายงานต่อประธานคณะกรรมการและคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบและทบทวนนโยบายให้ทันสมัยและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ นอกจากนี้ไทยเบฟยังกำหนดขอบเขตการปฏิบัติตามนโยบายของทุกฝ่าย ดังนี้
  • นโยบาย พร้อมทั้งร่วมมือกับกรรมการ ผู้บังคับบัญชา และพนักงาน ช่วยกันสอดส่องดูแล
  • กรรมการและพนักงานมีหน้าที่รักษามาตรฐานสูงสุดในการดำเนินธุรกิจ
  • พนักงานต้องไม่ทนหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริตคอร์รัปชัน
  • พนักงานต้องให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ การไม่ปฏิบัติตามนโยบายอาจถือเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง เป็นการขัดต่อสัญญาและเป็นความผิดอาญาของบุคคลนั้น ๆ และอาจสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อชื่อเสียงและสถานะของบริษัท หากพบเห็นการคอร์รัปชันให้แจ้งการกระทำดังกล่าวแก่ผู้บังคับบัญชาหรือหากพบบุคคลที่กระทำผิดจะถูกลงโทษตามกฎระเบียบของบริษัทและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
การรับข้อร้องเรียน
ไทยเบฟมีนโยบายรับข้อร้องเรียนโดยพนักงานทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแจ้งข้อร้องเรียนหากพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิด
  • หากกรรมการมีข้อร้องเรียน ให้กรรมการแจ้งข้อร้องเรียนดังกล่าวไปยังประธานกรรมการตรวจสอบ
  • หากพนักงานมีข้อร้องเรียน ให้พนักงานแจ้งข้อร้องเรียนดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านช่องทางที่แนะนำ โดยระบุชื่อและรายละเอียดเพื่อใช้ในการติดต่อ แล้วแจ้งไปยังบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบ
  • พนักงานทุกคนสามารถแจ้งข้อมูลที่อยู่ในข่ายอันสงสัยมายังกรรมการผู้อำนวยการใหญ่โดยตรง ผ่านทางอีเมล whistleblowing@thaibev.com หรือส่งมายังผู้บริหารโดยตรง
  • ไทยเบฟพร้อมที่จะปกป้องพนักงานที่แจ้งข้อร้องเรียนที่มีมูลความจริงโดยรักษาข้อมูลไว้เป็นความลับและจะดำเนินการกับการกระทำ ความผิดที่เกิดขึ้นอย่างเข้มงวด
  • พนักงานที่แจ้งข้อเท็จจริงจะไม่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายใด ๆ หากเป็นการร้องเรียนโดยสุจริต
  • ไทยเบฟจะดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อคุ้มครองกรรมการและพนักงานจากความเสียหายหรือการถูกทำร้ายอันมีสาเหตุมาจากการแจ้งข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้น
เมื่อมีพนักงานแจ้งข้อร้องเรียน บริษัทจะมีการประเมินเพื่อตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร หากภายหลังพบว่าข้อร้องเรียนเป็นเท็จหรือโดยทุจริต หรือมีลักษณะประสงค์ร้าย หรือปราศจากความรอบคอบ หรือเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำผิดซึ่งนำไปสู่การพิจารณาความผิดทางวินัยตามที่ระบุไว้ในหัวข้อการพิจารณาความผิดทางวินัยและบทลงโทษในคู่มือพนักงานของไทยเบฟ นอกจากนี้ ยังมีการทำประชาสัมพันธ์ถึงช่องทางแจ้งข้อร้องเรียน ผ่านสื่อภายในองค์กร
การละเมิดกฎระเบียบข้อบังคับและกฎหมาย
ไทยเบฟกำหนดให้พนักงานต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับขององค์กรและข้อกฎหมายของทุกประเทศที่ไทยเบฟเข้าไปดำเนินกิจการ หากมีการละเมิดกฎระเบียบข้อบังคับใด ๆ ทั้งด้านจรรยาบรรณ ความเป็นเลิศขององค์กร และสิทธิมนุษยชนในสถานที่ประกอบการหรือสถานที่ดำเนินธุรกิจ จะต้องหยุดการละเมิดนั้นในทันทีและใช้มาตรการจัดการที่เหมาะสม ในปี 2562 ไทยเบฟและกลุ่มไทยเบฟพบว่า มีการละเมิดที่ไม่รุนแรง และกรณีรุนแรง โดยเป็นการจัดกลุ่มระดับของการละเมิดตามผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยกำหนดเกณฑ์ตามมูลค่าทางการเงิน กรณีรุนแรง (Major case) คือ กรณีที่มีผลกระทบทางการเงินมากกว่าหรือเท่ากับ 300,000 บาทและกรณีไม่รุนแรง (Minor case) คือกรณีที่มีผลกระทบทางการเงินน้อยกว่า 300,000 บาท
การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย


เนื่องจากในปี 2562 ภาครัฐมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การเพิ่มความคุ้มครองลูกจ้าง เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงขององค์กรหรือการเสียโอกาสทางธุรกิจ ไทยเบฟจึงกำหนดให้มีการปรับปรุงนโยบายและปรับเปลี่ยนการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของกฎหมายดังกล่าวอย่างครบถ้วน ดังนี้
  • พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561
    เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรร การใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และสิทธิในน้ำ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 ยกเว้นในส่วนของการจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตการใช้น้ำและการจัดเก็บค่าใช้น้ำซึ่งจะมีผลใช้บังคับในอีก 2 ปีข้างหน้า (วันที่ 27 มกราคม 2564) อย่างไรก็ตาม การขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำจำเป็นจะต้องมีการจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำ ทั้งนี้กลุ่มบริษัทไทยเบฟได้จัดทำแผนภายใต้หลัก 3Rs คือ Reduce (การใช้น้ำอย่างประหยัด) Reuse (การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์) และ Recharge (การเติมน้ำกลับลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน)
  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 47) พ.ศ. 2561
    เป็นมาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งแม้กฎหมายนี้จะมีผลใช้บังคับในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 แต่กลุ่มบริษัทไทยเบฟได้เตรียมความพร้อมเพื่อความโปร่งใสโดยว่าจ้างที่ปรึกษาเข้าทำการตรวจสอบธุรกรรมที่ทำระหว่างกันว่าราคาที่ตกลงกันนั้นจะต้องเป็นราคาที่กำหนดขึ้นตามหลัก Arm’s Length Price (ราคาของค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ย ซึ่งคู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกันพึงกำหนดโดยสุจริตในทางการค้า กรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการหรือให้กู้ยืมเงินที่มีลักษณะประเภท และชนิดเดียวกัน ณ วันที่โอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน) และเริ่มจัดเตรียมเอกสารการกำหนดราคาโอนทั้งในภาพรวมของกลุ่มบริษัทและบริษัทย่อยแต่ละบริษัทแล้ว โดยเริ่มจากกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562
    มีการกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ลาเพื่อกิจธุระจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน โดยได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิ์ลาเพื่อคลอดบุตรไม่เกิน 98 วันต่อหนึ่งครรภ์ (รวมวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตร) โดยได้รับค่าจ้างไม่เกิน 45 วัน และมีการกำหนดอัตราค่าชดเชยใหม่ให้แก่ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป รวมทั้งแก้ไขหลักเกณฑ์การย้ายสถานประกอบกิจการให้ รวมทั้งการย้ายไปตั้ง ณ สถานที่ใหม่หรือสถานที่อื่นของนายจ้างด้วย ซึ่งไทยเบฟได้แก้ไขข้อบังคับ การทำงานของกลุ่มไทยเบฟให้สอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าวและเป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างยิ่งขึ้นแล้ว รวมทั้งมีการตั้งสำรองค่าชดเชยเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่แก้ไขด้วย
  • พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
    มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2562 แต่เริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี พ.ศ. 2563 กลุ่มบริษัทไทยเบฟได้ตระหนักถึงหลักการการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมีนโยบายให้บริหารจัดการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของบริษัทให้เหมาะสมกับสภาพของที่ดินและก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจทั้งต่อบริษัท พนักงาน ชุมชนและประเทศ ด้วยการเปิดโอกาสให้พนักงานหรือครอบครัวของพนักงานเช่าพื้นที่ของไทยเบฟทำเกษตรกรรมเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่พนักงานและสร้างความผูกพันกับองค์กรยิ่งขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้ชาวบ้านในชุมชนรอบสถานประกอบการของกลุ่มไทยเบฟและบุคคลอื่นเช่าพื้นที่ของกลุ่มไทยเบฟทำเกษตรกรรม เพื่อให้มีพื้นที่ทำมาหารายได้ด้วย
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
    มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ยกเว้นในส่วนของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล การร้องเรียน ความรับผิดทางแพ่ง และบทกำหนดโทษ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีการกำหนดหน้าที่หลายประการของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล เช่น การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล การให้สิทธิ์ตรวจสอบ แก้ไข และลบข้อมูลแก่เจ้าของข้อมูล การตรวจประเมินมาตรฐานการรักษาข้อมูล ไทยเบฟจึงให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยจะมีการกำหนดรูปแบบการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล กระบวนการเพื่อรองรับการใช้สิทธิ์อื่น ๆ ของเจ้าของข้อมูล และการโอนข้อมูลระหว่างหน่วยธุรกิจ จัดทำนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) รวมทั้งกำหนดมาตรการในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปตามมาตรฐานและมีความน่าเชื่อถือ
ไทยเบฟและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไทยเบฟยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักธรรมาภิบาล มุ่งเน้นการบริหารจัดการด้วยความซื่อสัตย์โปร่งใสบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อส่วนรวม โดยไทยเบฟได้เข้าไปมีส่วนร่วมและให้การสนับสนุนองค์กรภาครัฐต่าง ๆ ด้วยวัตถุประสงค์หลัก เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งขยายเครือข่ายพันธมิตรและโอกาสในการเติบโต หน่วยงานที่ไทยเบฟได้ให้การมีส่วนร่วมหลัก ๆ ในปีที่ผ่านมา อาทิ หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai-UK Business Leadership Council : TUBLC) และสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม (Thai-Vietnam Business Council)

โดยในปี 2562 ไทยเบฟได้ดำเนินงานกับภาคส่วนต่าง ๆ ดังนี้
  • เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้แข็งแกร่งมากขึ้น ไทยเบฟได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai-UK Business Leadership Council : TUBLC) ในการมีส่วนร่วมรับทราบข้อมูล ความเคลื่อนไหวทางอุตสาหกรรม และกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ รวมถึงการแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะเพื่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมในส่วนรวม
  • เเพื่อขยายเครือข่ายการเติบโตร่วมกับบริษัทต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอุตสาหกรรมอาหาร โดยให้การสนับสนุนกิจกรรมการเข้าไปมีส่วนร่วมแบ่งปันข้อมูลในด้านต่าง ๆ หรือการสนับสนุนงบประมาณ ภายใต้ความมุ่งหวังในการสานต่อนโยบายภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งนำมาสู่การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมโดยรวมให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ยั่งยืน และมั่นคง
ตัวอย่างการมีส่วนร่วมสนับสนุนองค์กรต่าง ๆ
  • หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
    สนับสนุนค่าธรรมเนียมสมาชิก เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการอำนวยความสะดวก พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือในการเชื่อมโยงการปฏิบัติตามขอบเขตและแผนงานที่ทางภาครัฐได้กำหนดไว้อย่างถูกต้องตามกระบวนการ เช่น พระราชบัญญัติ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กฎกระทรวง ระเบียบกรมสรรพสามิต ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผ่านทางตัวแทนจากไทยเบฟที่เข้าร่วมประชุมในวาระต่าง ๆ ส่งผลให้ไทยเบฟได้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับและข้อกำหนด พร้อมทบทวนร่างนโยบายข้อบังคับของรัฐบาล ทำให้ไทยเบฟสามารถปรับแผนธุรกิจในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ให้ดำเนินไปตามขอบเขตที่ทางภาครัฐกำหนด พร้อมทั้งสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้แก่บริษัทและภาคอุตสาหกรรม
  • สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย (TIPMSE) ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
    สนับสนุนการส่งเสริมหลัก 3Rs ได้แก่ การลดการใช้ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) รวมถึงแนวทางปฏิบัติด้านบรรจุภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนการสร้างความรู้ ความเข้าใจบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง การรณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างจิตสำนึกในการคัดแยกขยะให้แก่ทุกภาคส่วน ตลอดจนสร้างศูนย์เรียนรู้เพื่อเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิล สนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนและส่งเสริมการจัดการบรรจุภัณฑ์ ภายใต้แนวคิด Closed Loop Packaging หรือ CLP โดยนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับไปเป็นวัตถุดิบ มีความสอดคล้องกับ SDGs ในเป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ด้วย 3 แนวทาง คือ 1) การให้การศึกษา (Education) การสร้างองค์ความรู้เพื่อให้เกิดการจัดการที่ถูกต้องด้วยสื่อและกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ อบรม สัมมนา 2) กิจกรรมส่งเสริมการขาย (Promotion) การสร้างต้นแบบการจัดการบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางเพื่อนำบรรจุภัณฑ์กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และ 3) การเชื่อมโยงให้วงจรการจัดการบรรจุภัณฑ์เกิดการเชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์ (Connection) รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างคู่ค้าในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคเอกชนในการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการผลิตและบริโภค และสร้างความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
    สนับสนุนการจัดสร้างสำนักงานสภาอุตสาหกรรมแห่งใหม่ให้เป็นรูปแบบสำนักงานอัจฉริยะ (SMART OFFICE) เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วให้แก่สมาชิกและผู้มาขอรับบริการจากสภาอุตสาหกรรม (SMART SERVICE) สนับสนุนค่าธรรมเนียมสมาชิก การดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรมรายปี และงานกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานกาชาด มอบทุนวิจัยเพื่อสนับสนุนการจัดการบรรจุภัณฑ์ เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันคัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วออกจากขยะตั้งแต่ต้นทางและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยอย่างยั่งยืน อีกทั้งร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปอุตสาหกรรม (Industry Transformation) โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวไกลและเป็นสากล เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยร่วมแสดงความคิดเห็นและร่วมขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ เช่น พัฒนานวัตกรรม ทรัพยากรมนุษย์ เสริมสร้างประสิทธิภาพภาคอุตสาหกรรม และเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ ผ่านตัวแทนจากไทยเบฟที่เข้าร่วมประชุมในวาระต่าง ๆ
  • สภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai-UK Business Leadership Council : TUBLC)
    สนับสนุนค่าธรรมเนียมสมาชิก และการจัดกิจกรรม เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศและสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการค้า การเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai-UK Business Leadership Council : TUBLC) ส่งผลให้ไทยเบฟได้ทราบสถานการณ์ต่าง ๆ อาทิ ทิศทางเศรษฐกิจ นโยบายการค้า รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านปัญหาและอุปสรรคของการลงทุนร่วมกัน เพื่อนำมาวางแผนการดำเนินงานให้มีศักยภาพ เอื้อประโยชน์ในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น
  • สภาธุรกิจไทย-เวียดนาม (Thai-Vietnam Business Council)
    ร่วมเป็นคณะกรรมการ และการร่วมกิจกรรม เป็นกลไกในการเพิ่มพูนความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน รวมถึงส่งเสริมและได้รับการอำนวยความสะดวกในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสารระหว่างกัน รวมถึงผลักดันการแก้ปัญหาและอุปสรรคทางธุรกิจระหว่างไทยและเวียดนาม