รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2562

Close
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2562 / ใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม
บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก
GRI 301-2, GRI 301-3
ขยะเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก ในแต่ละปีวัสดุที่ย่อยสลายได้ยากอย่างพลาสติกจำนวนมากกว่า 12 ล้านตัน ไหลลงทะเลและก่อความเสียหายต่อระบบนิเวศ สุขภาพของมนุษย์ และสิ่งมีชีวิต เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากปริมาณขยะทั้งบนบกและในทะเลที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ไทยเบฟจึงนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์หลักที่ใช้มากที่สุดในกระบวนการผลิตของไทยเบฟ ได้แก่ แก้ว กระดาษ อะลูมิเนียม และพลาสติก

นอกจากนี้ ไทยเบฟยังให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงการนำวัสดุบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคกลับคืนสู่กระบวนการผลิต โดยมีเป้าหมายการลดปริมาณ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่
โครงการเก็บกระป๋องเครื่องดื่มอะลูมิเนียมหลังการบริโภค (Can 2 Can)
เป็นโครงการเก็บกระป๋องเครื่องดื่มอะลูมิเนียมหลังการบริโภคกลับคืนสู่กระบวนการผลิตแผ่นอะลูมิเนียมซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของการผลิตกระป๋องเครื่องดื่ม ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างไทยเบฟกับคู่ค้าทางตรงคือ ผู้ผลิตกระป๋อง และคู่ค้าทางอ้อมคือ ผู้ผลิตแผ่นอะลูมิเนียม โดยมีบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR) ทำหน้าที่เก็บกระป๋องกลับมาและรวบรวมส่งต่อให้กับบริษัทผู้ผลิตแผ่นอะลูมิเนียมเพื่อทำการรีไซเคิลกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตกระป๋องต่อไป ทั้งนี้นับตั้งแต่เริ่มโครงการในเดือนมิถุนายน 2562 สามารถเก็บกระป๋องกลับมาได้ทั้งสิ้น 703 ตัน คิดเป็นปริมาณกระป๋องทั้งหมด 52 ล้านใบ หรือร้อยละ 14 ของปริมาณทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทจำหน่ายออกไปในประเทศไทย

นอกจากจะเป็นโครงการที่สร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับผู้เก็บขยะรายย่อยแล้ว ยังช่วยลดการใช้พลังงานที่ใช้ในการผลิตได้มากถึงร้อยละ 95 เมื่อเทียบกับการใช้วัสดุอะลูมิเนียมใหม่ (Virgin Aluminium) และลดการนำวัสดุทางธรรมชาติมาใช้อีกด้วย
ห่วงโซ่การจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

โครงการคัดแยกขวดที่นำกลับมาใช้ซ้ำ โดยปัญญาประดิษฐ์


เป็นโครงการที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในการคัดแยกขวด ซึ่งเกิดจากการร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายใน ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR) สำนักสารสนเทศ และบริษัท เบฟเทค จำกัด (BevTech) กับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีและหุ่นยนต์ (Computer Science , Technology and Robotics) โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) มาพัฒนาใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรมของ TBR เป็นการต่อยอดและเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องคัดขวดเก่าอัตโนมัติ “Octopus” ให้สามารถคิดวิเคราะห์และคัดแยกคุณภาพขวดด้วยหลักปัญญาประดิษฐ์ โดยเรียนรู้และจดจำรูปแบบของข้อมูล แทนการตรวจสอบด้วยสายตาของพนักงาน ช่วยลดการเหนื่อยล้าทางกล้ามเนื้อสายตา และทำให้ TBR ส่งมอบสินค้าให้กับสายการผลิตได้ตามมาตรฐานที่กำหนดโดยไม่เกิดปัญหาจากความผิดพลาดของคน

นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งขวดไม่มีคุณภาพ ลดภาระในการล้างขวด และสามารถลดจำนวนคนคัดซ้ำที่สายบรรจุ ซึ่งพนักงานเหล่านี้จะได้รับมอบทักษะใหม่และสามารถเปลี่ยนกิจกรรมไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนอื่นที่เพิ่มมูลค่าทางธุรกิจให้กับบริษัทยิ่งขึ้น
โครงการนำขวดแก้วและเศษแก้ว จากต่างประเทศกลับเข้าสู่กระบวนการผลิต (Bring Back Home)


ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกขวดแก้วไปยังประเทศเมียนมาเป็นจำนวนมาก หนึ่งในผู้ซื้อขวดแก้วรายใหญ่คือ บริษัท แกรนด์ รอยัล กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (GRG) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสุราอันดับหนึ่งของเมียนมา ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มไทยเบฟ เมื่อขวดที่ถูกจำหน่ายหรือขนส่งไปเกิดการแตกหักเสียหายจะกลายเป็นขยะที่ไม่มีมูลค่า ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามมา เนื่องจากไม่มีผู้รับซื้อเศษแก้วในประเทศ

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไทยเบฟจึงร่วมมือกับ GRG เก็บกลับขวดแก้วที่ชำรุดและเศษแก้วจากกระบวนการผลิตส่งมายังประเทศไทยผ่านระบบขนส่งเที่ยวกลับ (Reverse Logistics) เพื่อให้บริษัทผู้ผลิตขวดแก้วสามารถนำวัสดุเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิตอีกครั้ง
ขวดปากแคบน้ำหนักเบา หรือ NNPB
ไทยเบฟร่วมมือกับคู่ค้านำนวัตกรรมเข้ามาร่วมในกระบวนการออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในปีที่ผ่านมาได้ศึกษากระบวนการผลิตขวดปากแคบน้ำหนักเบา หรือ NNPB (Narrow Neck Press and Blow) เพื่อนำมาใช้ในการผลิตขวดแก้วใสขนาดใหญ่ ทำให้สามารถผลิตขวดที่มีน้ำหนักเบากว่าเดิม ซึ่งใช้ทรัพยากรและพลังงานในการผลิตน้อยลง แต่ขวดที่ได้ยังคงไว้ซึ่งความแข็งแรง ทนทาน เทียบเท่ากับขวดชนิดเดิม
โครงการออกแบบกล่อง ชาเขียวยูเอชทีพร้อมดื่ม รูปแบบใหม่ (UHT Leaf Design)

เป็นการออกแบบกล่องชาเขียวยูเอชทีพร้อมดื่มรูปลักษณ์ใหม่ภายใต้แบรนด์โออิชิ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากโครงการอบรมภายในขององค์กร Management Development Program (MDP) หรือโครงการพัฒนาศักยภาพของระดับบังคับบัญชา และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในหลายฝ่าย เช่น ฝ่ายการตลาด ฝ่ายขาย และฝ่ายผลิต โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อออกแบบกล่องที่มีรูปลักษณ์ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
ความมุ่งมั่นและความสำเร็จ
เส้นทางสู่การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนของไทยเบฟผ่านระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

การเก็บกลับและการคัดแยก
(Collecting and Sorting)
เป็นการจำแนกประเภทของบรรจุภัณฑ์และลดปริมาณขยะที่ถูกนำไปกำจัดโดยการฝังกลบ ซึ่งบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด ทำหน้าที่เก็บกลับและคัดแยกบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค โดยรับซื้อบรรจุภัณฑ์หลักของไทยเบฟทุกประเภท เช่น ขวดแก้ว กระป๋อง ขวดพลาสติก PET กล่องกระดาษ เป็นต้น ปัจจุบันมีจุดรับซื้อกว่า 30 สาขาทั่วประเทศ

การใช้ซ้ำและการนำกลับมาใช้ใหม่
(Reuse and Recycle)
เป็นการนำวัสดุบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคมาใช้ซ้ำหรือนำกลับมาใช้ใหม่เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต โดยในปีที่ผ่านมา ไทยเบฟสามารถนำขวดแก้วกลับมาใช้ซ้ำในกระบวนการผลิตทั้งสิ้น 1,555 ล้านใบ และเก็บเศษแก้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิตขวดทั้งสิ้น 1 แสนตัน
คิดเป็นจำนวนรวมร้อยละ 75 ของปริมาณทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทจำหน่ายออกไป*

*คำนวณจากยอดขายในปีงบประมาณ 2562 โดยเทียบตามน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์

การเพิ่มมูลค่าหลังการใช้งาน
(Upcycling)
เป็นการสร้างคุณค่าให้กับบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค เช่น การเก็บกลับขวดพลาสติก PET หลังการบริโภค เพื่อส่งต่อให้กับคู่ค้านำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งในปีที่ผ่านมามีปริมาณขวดพลาสติก PET ถูกนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์คิดเป็นปริมาณทั้งสิ้น 5 ตัน
แบ่งปันคุณค่า

คุณอรทัย พูลทรัพย์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด
“ไทยเบฟให้ความสำคัญในการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการเก็บกลับคืนบรรจุภัณฑ์ หลังการบริโภค เพื่อนำมากลับมาใช้ซ้ำหรือนำกลับมาใช้ใหม่ โดยยึดหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านการร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า ได้แก่ คู่ค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้ประกอบการรายย่อย ตลอดจนถึงผู้บริโภค โดยมีโครงการต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ‘โครงการพัฒนาคู่ค้าอย่างยั่งยืน’ เป็นการจัดกิจกรรมนำกลุ่มคู่ค้าขวดเก่า เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตของโรงงาน และเข้าร่วมฝึกอบรมวิธีการคัดคุณภาพสินค้าที่รับซื้อ เพื่อให้คู่ค้าได้ผลประโยชน์เต็มที่ รวมถึงพูดคุยถึงแผนการขยายธุรกิจและโอกาสเพื่อสร้างความร่วมมือทางธุรกิจเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังมี ‘โครงการสมุยโมเดล’ ซึ่ง TBR ร่วมมือกับเทศบาลนครเกาะสมุย คัดเลือกร้านค้าของเก่าเข้าร่วมโครงการ โดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก จำกัด จะส่งรถบรรทุกไปรับบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคที่ร้านค้าบนเกาะด้วยรถขนส่งเที่ยวกลับ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้คู่ค้าและประชาชนมีส่วนร่วมในการลดปัญหาขยะบนเกาะ และกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยในปีที่ผ่านมาสามารถเก็บกลับขวดแก้วและเศษแก้วกลับมาได้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 100 ของปริมาณผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ไทยเบฟจำหน่ายบนเกาะสมุย สร้างรายได้ให้กับผู้ค้าขวดเก่าในท้องถิ่นถึง 10 ล้านบาทต่อปี”
ทิศทางการดำเนินงาน
ไทยเบฟมีเป้าหมายในการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ชัดเจนทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยจำแนกตามประเภทของวัสดุบรรจุภัณฑ์
ผลการดำเนินงานในปี 2562

วัสดุที่นำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)
แก้ว*
75%
กระป๋อง*
14%
*คำนวณจากยอดขายในปีงบประมาณ 2562 โดยเทียบตามน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์

เป้าหมาย ปี 2563
80%
ของบรรจุภัณฑ์หลัก*มาจาก การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และ/หรือการเก็บกลับคืน โดยนับสัดส่วนเทียบกับยอดขาย

เป้าหมาย ปี 2568
100%
บรรจุภัณฑ์ประเภทแก้วและกระดาษ ที่จำหน่ายในประเทศ จะถูกเก็บมาเพื่อใช้ซ้ำ หรือนำกลับมาใช้ใหม่

เป้าหมาย ปี 2573
100%
บรรจุภัณฑ์ประเภทกระป๋องอะลูมิเนียม และขวดพลาสติก PET ที่จำหน่ายในประเทศ จะถูกเก็บกลับคืน
*บรรจุภัณฑ์หลัก ได้แก่ ขวดแก้วที่ใช้ในการบรรจุผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม