รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2561
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2561 / ดูแลใส่ใจสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสีย
GRI 103-1, GRI 103-2, GRI 306-2

 
ไทยเบฟประยุกต์ใช้หลักการจัดลำดับความสำคัญของการจัดการของเสีย (Waste Hierarchy) และหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือ นำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse/Redistribution) หรือนำกลับมา ผลิตอีกครั้ง (Re-manufacturing/Recycle) เพื่อลดและป้องกันการเกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยนำมาใช้ในการดำเนินงาน ดังนี้
  • ออกแบบบรรจุภัณฑ์และบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคเพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในบรรจุภัณฑ์หลัก แต่ยังคงคุณภาพและความแข็งแรง เช่น ออกแบบขวดน้ำดื่มให้ใช้ปริมาณพลาสติกลดลง นำขวดแก้วและไส้กล่องหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ในการผลิตเครื่องดื่ม
  • ให้ความรู้และฝึกอบรมพนักงานให้มีส่วนร่วมในการลดและป้องกันการเกิดของเสียโดยใช้เครื่องมือการบริหารจัดการคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management: TQM) และเครื่องมือการบำรุงรักษาทวีผล แบบทุกคนมีส่วนร่วม (Total Productive Maintenance: TPM)
  • เพิ่มมูลค่าของเสียหรือผลผลิตพลอยได้ โดยนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมี เช่น นำกากข้าวมอลต์ กากส่าธัญพืช จากการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ หรือนำกากตะกอนส่าและน้ำกากส่าที่ผ่านการหมักจากกระบวนการผลิตสุราไปใช้เป็นสารปรับปรุงดินในการปลูกพืช เช่น อ้อย ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน
  • นำของเสียจากกระบวนการผลิตเครื่องดื่มมาผลิตพลังงานจากชีวภาพและชีวมวล เช่น นำน้ำกากส่าซึ่งเป็น ของเสียจากกระบวนการผลิตสุรา และน้ำเสียจากการผลิตเบียร์มาผลิตก๊าซชีวภาพ และนำน้ำกากส่า มาระเหยน้ำออกเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานชีวมวลในการผลิตพลังงานความร้อนและพลังงานไฟฟ้า

คุณปราโมทย์ สมชัยยานนท์
กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มไทยเบฟ มีภารกิจหลักคือนำของเหลือทิ้งจากการผลิตมาแปลงกลับมาเป็นพลังงาน (Waste to Energy) ส่งผลให้บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด สาขาจังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับรางวัล ดีเด่นด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการผลิตไฟฟ้าและ ความร้อนร่วม (Cogeneration) จากเวที Thailand Energy Awards 2018

Thailand Energy Awards คืออะไร
Thailand Energy Awards เป็นโครงการที่ชี้วัดความสำเร็จของภาครัฐและภาคเอกชนที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาพลังงานทางเลือกและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พิจารณาทั้งด้านการจัดการ สิ่งแวดล้อม ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม การขยายผล และศักยภาพในการนำไปใช้

บริษัทไทยเบฟได้ส่งโครงการใดเข้าประกวด และประสบความสำเร็จอย่างไร
โครงการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากน้ำกากส่าของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด สาขาจังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับรางวัล ดีเด่นด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการผลิตไฟฟ้าและ ความร้อนร่วม (Cogeneration) เป็นโครงการที่ผลิตก๊าซชีวภาพจากการบำบัดน้ำกากส่ามาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ ซึ่งสามารถทดแทนการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันเตาในกระบวนการผลิตสุราได้ทั้งหมดและยังเพียงพอต่อการนำไปผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อีกด้วย

ภายหลังได้รับรางวัล ทางบริษัทฯ มีแผนในการจัดการของเสีย สู่พลังงานในอนาคตอย่างไร
ในอนาคต บริษัทมีแผนจะขยายโครงการผลิตพลังงานทดแทน ไปในทุกโรงงาน เพื่อกำจัดและบำบัดของเหลือทิ้งจากภาคการผลิต รักษาสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนและมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับองค์กร เนื่องจากพลังงานเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญของอุตสาหกรรม ที่ขาดไม่ได้

    ผลประโยชน์จากโครงการ
  • เสริมสร้างความยั่งยืนและมั่นคงด้านพลังงาน
  • ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้แล้วมีวันหมดไป
  • เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของประเทศไทย
  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี*
  • แก้ไขปัญหากลิ่นรบกวนโดยปรับปรุงระบบบำบัดน้ำกากส่า เป็นระบบบ่อปิด
  • เกษตรกรสามารถนำน้ำกากส่าที่ผ่านการบำบัดแล้วไปใช้เป็นสารปรับปรุงดิน
  • เกิดการจ้างแรงงานในท้องถิ่นเพื่อเป็นบุคลากรภายในโครงการ
*หมายเหตุ อ้างอิงตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER)

ภารกิจสำคัญ โครงการลดขยะและลดการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน
บริษัทมีโครงการสนับสนุนการลดขยะและลดการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันภายในองค์กรอย่างต่อเนื่องโดยริเริ่มโครงการต่างๆ ดังนี้
  • โครงการธนาคารขยะ โครงการคัดแยกขยะ และกิจกรรมการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ
    เพื่อส่งเสริมการลดและการคัดแยกขยะตั้งแต่จุดกำเนิดเพื่อให้สามารถนำขยะไปใช้ประโยชน์หรือก่อให้เกิดมูลค่าก่อนกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป คาดว่าสามารถลดขยะได้ 600 กิโลกรัมต่อโรงงานต่อปี
  • โครงการเปลี่ยนขยะอาหาร (Food Waste) เป็นปุ๋ย
    เพื่อลดปริมาณขยะและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในการกำจัดขยะอาหาร อีกทั้งยังเป็นการนำขยะไปใช้ประโยชน์ คาดว่าสามารถลดขยะได้ 1.8 ตันต่อโรงงานต่อปี
  • โครงการลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟมบรรจุอาหาร โครงการสะสมแต้มในการใช้ถุงผ้าลดโลกร้อน และโครงการส่วนลดหากนำแก้วน้ำมาเอง
    เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic) และกระตุ้นให้ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การพัฒนาของเสียสู่พลังงาน
ไทยเบฟสามารถนำของเสียจากการผลิตฟื้นฟูกลับมาเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ได้ โดยแบ่งพลังงานออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
  • พลังงานจากก๊าซชีวภาพ :
    ได้มาจากกระบวนการผลิตเครื่องดื่ม โดยนำกลับมาใช้ทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Emission) น้อยกว่า เชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงของบริษัท โดยในปี 2561 ไทยเบฟสามารถทดแทนการใช้น้ำมันเตา ได้ถึง 19.26 ล้านลิตร หรือคิดเป็นเงิน 306.85 ล้านบาท
  • พลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวล :
    ไทยเบฟมีโรงงานผลิตพลังงานทดแทนจากน้ำกากส่าที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นระบบผลิตพลังงานร่วม (Cogeneration system) สามารถผลิตได้ทั้งพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงชีวมวลจาก น้ำกากส่าที่ถูกทำให้เข้มข้น โดยโครงการดังกล่าวได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เมื่อ 11 กันยายน พ.ศ. 2561 ซึ่งคาดว่าจะผลิตพลังงานความร้อนในรูปของไอน้ำ ใช้สำหรับการผลิตสุราของบริษัทได้ถึง 60 ตันต่อชั่วโมง และผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้สูงสุดถึง 7,500 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง.
ทิศทางการดำเนินงาน
แม้จะมีมาตรการป้องกันการเกิดของเสียเพื่อลดการนำขยะไปฝังกลบให้น้อยที่สุด แต่ไม่อาจเลี่ยงของเสียที่เกิดจากการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคได้ ดังนั้นเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ไทยเบฟจำเป็นต้องบำบัดหรือกำจัดของเสียอย่างถูกวิธีและถูกต้องตามกฎหมาย ซี่งความสำเร็จในปี 2561 มีดังนี้
  • สามารถลดการใช้ทรัพยากรในบรรจุภัณฑ์หลักได้ทั้งสิ้น 598,199 ตัน
  • ธุรกิจเครื่องดื่ม สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ (การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำไปผลิตเป็นพลังงาน) ได้ถึงร้อยละ 88.63 จากปริมาณของเสียจากกระบวนการผลิตทั้งหมด 12,677 ตัน
  • ธุรกิจอาหาร สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ (การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำไปผลิตเป็นพลังงาน) ได้ถึงร้อยละ 44.08 จากปริมาณของเสียจากกระบวนการผลิตทั้งหมด 796 ตัน

ใน พ.ศ. 2562 บริษัทมีแผนในการขยายธุรกิจด้านการจัดการของเสีย ดังนี้
ธุรกิจบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค
ไทยเบฟมีแผนการก่อสร้างโรงงานรีไซเคิลในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปี 2562 เพื่อขยายผลจากเดิมที่มีการจัดการบรรจุภัณฑ์ ขวดแก้วครบวงจรสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจขวดแก้วและรีไซเคิล กล่าวคือบริษัทจะขยายไปยังธุรกิจรีไซเคิลวัสดุของบรรจุภัณฑ์ ที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น ขวดพลาสติก กระป๋องอะลูมิเนียม กระดาษลูกฟูก
2563

ผู้นำอย่างยั่งยืน
ในธุรกิจขวดแก้วและธุรกิจรีไซเคิล


2562

เพิ่มความหลากหลายของวัสดุที่นำกลับมารีไซเคิล
ขยายธุรกิจรีไซเคิล ไปยังวัสดุบรรจุภัณฑ์ อื่นๆ ได้แก่ ขวดพลาสติก กระป๋องอะลูมิเนียม กระดาษลูกฟูก


2561

โรงงานรีไซเคิลแห่งแรก
เปิดโรงงาน รีไซเคิลแห่งแรก ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


2560

เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการ
ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักร และ กำหนดกระบวนการมาตรฐาน


2559

การขยายธุรกิจรีไซเคิล
เริ่มมีการรับซื้อ เศษแก้วเพื่อนำ กลับมาใช้ในกระบวนการผลิตขวดแก้ว


2547-2558

จุดเริ่มต้นของธุรกิจรีไซเคิล
ตั้งศูนย์รับซื้อ เพื่อเก็บขวดแก้วกลับคืนหลังการบริโภค เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)

ธุรกิจพลังงานทดแทน
ภายในปี 2562 ไทยเบฟจะมีการก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำกากส่าของโรงงานผลิตสุราเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง คือ จังหวัดหนองคายและจังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันได้จัดประชุมรับฟัง ความคิดเห็นของประชาชนและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ ความเสี่ยงที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงานของทั้ง 2 แห่ง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าทั้ง 2 แห่งจะสามารถผลิต ก๊าซชีวภาพไปใช้ทดแทนน้ำมันเตาในการผลิตของโรงงานในปี 2563 โดยสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้ ถึงแห่งละ 30,000 ตันต่อปี นอกจากนี้จะมีการริเริ่มโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงงานผลิตเบียร์ และโรงงานผลิตชาเขียวด้วย



รายงาน
การพัฒนาที่ยั่งยืน 2561