รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2561
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2561 / ดูแลใส่ใจสิ่งแวดล้อม โครงการ ประชารัฐรักสามัคคี
  • คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) มุ่งเน้น ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้ให้ชุมชน เพื่อประชาชนมีความสุข
  • การจัดตั้ง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม ขึ้นใน 77 จังหวัด ถือเป็นนวัตกรรมทางสังคมของประเทศไทยที่เชื่อมโยง 5 ภาคส่วนของสังคมเข้าด้วยกัน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและภาคประชาชน
  • ตั้งแต่ดำเนินงานมา 3 ปี มีผลประกอบการกว่า 830 โครงการ ก่อให้เกิด รายได้แก่ชุมชนเป้าหมายมากกว่า 329 ล้านบาท ครอบคลุมชุมชน 61,292 ครัวเรือนทั่วประเทศ

แบ่งปันคุณค่า

คุณต้องใจ ธนะชานันท์
กรรมการผู้จัดการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด

เครือข่ายประชารัฐรักสามัคคีเป็นพื้นที่ใหม่ในการสร้างความร่วมมือของสังคมไทยที่ผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนชนบท เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การจัดตั้งเครือข่ายประชารัฐรักสามัคคีในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นการ แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการสร้างความยั่งยืนให้กับพื้นที่แห่งความร่วมมือนี้ นับแต่การเริ่มโครงการในปี 2559 เราได้รับความร่วมมือจากบริษัทเอกชนรายใหญ่กว่า 15 แห่งในการเข้าร่วมลงทุนและร่วมทำงานในโครงการต่างๆ รวมถึงสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมอีกมากมาย เพื่อปลูกฝังแนวทางการทำงานรูปแบบใหม่นี้ให้กับคนรุ่นใหม่ เราได้จัดทำโครงการ “สานพลังเพื่อบ้านเกิด” เพื่อเฟ้นหาและพัฒนาผู้ที่มีความสนใจในการพัฒนาชุมชนบ้านเกิด ของตนเป็นจำนวนกว่า 150 คน ในปี 2561 เราได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ “สานพลังเพื่อบ้านเกิด” ซึ่งมีผลการทำงานดีเยี่ยมจำนวน 13 คน ให้จัดตั้งและบริหารงานวิสาหกิจเพื่อสังคมในระดับอำเภอ เพื่อให้แนวทางการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนนี้หยั่งรากลึก ลงในสังคมไทย

 
ภารกิจสำคัญ

จากนโยบาย “สานพลังประชารัฐ” ของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้เกิดการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ปัญหาและคิดหาทางสร้างอนาคตให้ประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าเป็นหัวหน้าคณะทำงานภาคเอกชนในคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ซึ่งมีเป้าหมายหลัก ในการสร้างรายได้ให้ชุมชนเพื่อประชาชนมีความสุข โดยการทำงานผ่านกลไกการสานพลังจาก 5 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนให้มีการพัฒนาไปทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยเน้นการทำงานใน 3 กลุ่มงาน คือ เกษตร แปรรูป และท่องเที่ยวโดยชุมชน พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมโยงการทำงานของเครือข่าย บริษัทประชารัฐ รักสามัคคี ทั่วประเทศ

เพื่อให้การขับเคลื่อนงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีผลเป็นรูปธรรมและมีความต่อเนื่องในระยะยาว คณะทำงานฯ ได้ผลักดันให้มีการจัดตั้ง “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ภายใต้ชื่อ “ประชารัฐรักสามัคคี” ขึ้นในทุกจังหวัด และจัดตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการประสานความเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งนี้เครือข่ายประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม ได้รับการจัดตั้งครบทั้ง 77 แห่งเป็นที่เรียบร้อยแล้วในปี 2559

ตลอดปี 2561 บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ทั้ง 76 แห่ง สามารถดำเนินการพัฒนาธุรกิจชุมชนทั่วประเทศ 428 โครงการ แบ่งเป็น 3 ประเภทกลุ่มงาน คือ เกษตร (ร้อยละ 29) แปรรูป (ร้อยละ 52) ท่องเที่ยว (ร้อยละ 19) โดยสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในเครือข่าย 35,346 ครัวเรือน เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 172 ล้านบาท

สร้างสรรค์การพัฒนาสินค้าชุมชน
ในปี 2561 บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้การสนับสนุนของไทยเบฟ ได้ดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาสินค้าชุมชน ทั้งด้านการออกแบบและคุณภาพสินค้า เพื่อยกระดับให้มีความทัดเทียมระดับนานาชาติและเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคใหม่ได้อย่างเต็มที่
ผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย
นับตั้งแต่ปี 2559 โครงการนี้ มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าขาวม้าทอมือผ่าน 4 มิติ ได้แก่ การสร้างความตระหนักรู้และความสนใจในสินค้าผ้าขาวม้าทอมือในกลุ่มผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ การสร้างนวัตกรรมการผลิตและแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มความหลากหลายในการใช้งาน การ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างชุมชนและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ รวมทั้งการผลักดันให้เกิดการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ของชุมชนทั้งในด้านลิขสิทธิ์ลายผ้า เครื่องหมายการค้า และ สิทธิบัตรต่างๆ ซึ่งในปี 2561 โครงการฯ มีการจัดกิจกรรมหลัก 3 อย่าง ซึ่งสามารถสร้างรายได้กว่า 30 ล้านบาท ให้กับชุมชน ผู้ผลิตผ้าขาวม้าทั่วประเทศ นั่นคือ
  • การต่อยอดการพัฒนาชุมชนผู้ผลิต จัดงานสัมมนา เชิงปฏิบัติการแก่ชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทอมือในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ กว่า 400 ชุมชน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในด้านการผลิตและบริหารธุรกิจ ตลอดจนเชื่อมโยงชุมชนผู้ผลิตจนเกิดเป็นเครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน
  • การรวมพลังคนรุ่นใหม่ ให้มีความสนใจในการสานต่อการผลิต ออกแบบและพัฒนาสินค้าผ้าขาวม้า ผ่าน 2 กิจกรรมหลัก คือ การเฟ้นหาทายาทผ้าขาวม้าไทย ซึ่งคัดเลือกคนรุ่นใหม่ในชุมชน ผู้ผลิตที่ได้สานต่อการผลิตสินค้าผ้าขาวม้าทอมือใน 15 ชุมชนทั่วประเทศ และการจัดการประกวดการออกแบบ นวอัตลักษณ์ ซึ่งมีผู้ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 260 ชิ้น ใน 3 สาขา การประกวด ได้แก่ สาขาแฟชั่น สาขาเคหะสิ่งทอ และสาขาลายผ้า
  • การเชื่อมโยงตลาด และการประชาสัมพันธ์สินค้าผ้าขาวม้าทอมือของชุมชน ที่มีความพร้อมให้ออกสู่ตลาดใหม่ๆ ผ่านการร่วมงานกับนักออกแบบชั้นนำ การเข้าร่วมงานออกร้าน และการทำ แคตตาล็อกแฟชั่นสินค้าผ้าขาวม้า ฯลฯ
นับแต่การเริ่มโครงการ กิจกรรมเหล่านี้สามารถสร้างรายได้กว่า 30 ล้านบาท ให้กับชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทั่วประเทศ
ผ้าพื้นถิ่นสะพาย-สายแนว งานพัฒนาและประยุกต์ผ้าพื้นถิ่น
ผ่านการทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน ลำปาง และลำพูน) ให้สืบสานอัตลักษณ์และเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าท้องถิ่นของตน โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและดีไซเนอร์ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศในการออกแบบและพัฒนาสินค้า “ย่าม” ซึ่งนำวัตถุดิบจากผ้าท้องถิ่นต่างๆ มาประกอบเพื่อสะท้อนให้เห็นเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ที่หลากหลาย นอกจากนี้ ไทยเบฟ ยังมีส่วนในการผลักดันสินค้าเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ตลอดจนสนับสนุน สื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ และการสอนขายทางออนไลน์ให้กับชุมชน โครงการนี้ช่วยสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนจำนวน 959 คน ที่เข้าร่วมงาน รวมทั้งสิ้นกว่า 2 ล้านบาท ในระยะเวลาเพียง 5 เดือน หลังจากเริ่มโครงการ
เชื่อมโยงสินค้าชุมชนสู่ตลาดใหม่

บริษัทประชารัฐรักสามัคคีสร้างช่องทางจำหน่ายใหม่ให้กับสินค้าชุมชนโดยดำเนินโครงการหลัก ดังนี้





  • โครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย บริษัทประชารัฐรักสามัคคี
    ได้ร่วมลงนามความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เพื่อผลักดันการผลิตและบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ผ่านการเชื่อมโยงตลาดให้กับผัก/ผลไม้ปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์เข้าสู่โรงพยาบาลภายใต้การควบคุมของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ โดยมีบริษัทประชารัฐรักสามัคคีในแต่ละจังหวัดทำหน้าที่ช่วยวางแผนการผลิตและพัฒนามาตรฐานชุมชนเกษตรกรรวมถึงประสานงานการขายและจัดส่งผลผลิตสู่โรงพยาบาลในจังหวัด ในปี 2561 มีชุมชนในเครือข่ายประชารัฐรักสามัคคี 20 จังหวัด เข้าร่วมโครงการ และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 15 ล้านบาท
  • การสร้างช่องทางขายผ่านสื่อออนไลน์ บริษัทประชารัฐรักสามัคคี
    ได้เชื่อมโยงกับภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้นำด้านสื่อโทรคมนาคม และตลาดออนไลน์ เพื่อสร้างช่องทางและพัฒนาทักษะการขายสินค้าในตลาดออนไลน์ให้กับชุมชนโดยผ่านแอปพลิเคชัน “ฟาร์มสุข” และตลาดออนไลน์ “ลาซาด้า” รวมถึงการสร้างแคตตาล็อกสินค้าชุมชนในช่องทางสื่อสารออนไลน์กลางของบริษัทฯ ร่วมนำสินค้าชุมชนกว่า 400 ประเภท (SKU) จาก 112 ชุมชนใน 53 จังหวัด ทั่วประเทศขึ้นสู่ระบบออนไลน์ .
  • รายการชื่นใจไทยแลนด์
    ไทยเบฟร่วมกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคี และบริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด สนับสนุนการประชาสัมพันธ์ การท่องเที่ยวโดยชุมชนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ผ่านรายการ ชื่นใจ ไทยแลนด์ เป็นสารคดีเชิงท่องเที่ยวซึ่งออกอากาศทางช่องอมรินทร์ TV HD 34 โดยเริ่มออกอากาศครั้งแรกในปี 2559 มีเนื้อหาครอบคลุม 94 ชุมชน ใน 62 จังหวัด การประชาสัมพันธ์ผ่านรายการชื่นใจไทยแลนด์และกิจกรรมเสริมที่นำชุมชนในรายการเข้าออกร้าน ในงานต่างๆ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้กว่า 30 ล้านบาท
  • การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างจังหวัด
    มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยน ระบายสินค้า และแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด โดยมีบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีในแต่ละจังหวัดเป็นตัวกลางประสานงานและ เชื่อมโยง ซึ่งในปี 2561 มีการเชื่อมโยงการรับซื้อสินค้าเกษตร อาทิ สับปะรดจากจังหวัดลำปาง เพชรบูรณ์ ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กระเทียมจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำไยจากจังหวัดน่าน พริกสด จากจังหวัดพัทลุง และลิ้นจี่จากจังหวัดสมุทรสงคราม นอกจากนี้ ยังมีการประสานงานจัดหาพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้แก่ชุมชน สู่ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ในจังหวัดต่างๆ โดยตลอดปี 2561 บริษัทประชารัฐรักสามัคคีและเครือข่ายได้จัดหาสถานที่จำหน่ายผลผลิตให้แก่ชุมชนไปแล้วกว่า 150 ชุมชน และสามารถสร้างรายได้รวมทั้งสิ้นกว่า 30 ล้านบาท
เผยแพร่องค์ความรู้
ร่วมผลักดันเทคโนโลยี วิทย์แก้จน ไทยเบฟและบริษัท ประชารัฐ รักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด
ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเผยแพร่เทคโนโลยีพร้อมใช้เข้าสู่ชุมชน ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ เช่น สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ และการร่วมฝึกอบรมชุมชนเป้าหมาย ฯลฯ โดยมุ่งเน้นการยกระดับสินค้าชุมชนและลดต้นทุนการผลิตให้กับกลุ่มผู้ผลิต OTOP เกรด C และ D ใน 10 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ น่าน นครพนม นราธิวาส ปัตตานี ชัยนาท ตาก และอำนาจเจริญ
เข้าร่วมการประชุม High – Level Political Forum on Sustainable Development in 2017 (HLPF)
ที่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมี คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ร่วมนำเสนอ Voluntary National Reviews ในการดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ สู่การบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) เพื่อให้แนวทางการทำงานที่ผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนของสังคม ในรูปแบบประชารัฐรักสามัคคีเป็นที่รับรู้ในระดับสากล
ทิศทางการดำเนินงาน
ไทยเบฟและบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด จะยังคงมุ่งมั่นดำเนินโครงการต่างๆ ที่ได้ทำมาแล้วอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย โครงการสานพลังเพื่อบ้านเกิด โครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย รวมถึงโครงการอื่นๆ เพื่อให้ความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนในชนบทจากทุกภาคส่วนของเครือข่ายประชารัฐรักสามัคคี ทั่วประเทศมีความต่อเนื่องและยั่งยืน บริษัทได้วางแผนการดำเนินงานในอนาคตดังนี้
  • ไทยเบฟและบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด มีแผนงานที่จะจัดทำการถอดบทเรียน การทำงานของโครงการต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อวิเคราะห์บริบท ผลสัมฤทธิ์ ปัจจัยความสำเร็จ ปัจจัยความเสี่ยง และนำมารวบรวมเป็นองค์ความรู้เพื่อเผยแพร่ต่อไป
  • จัดตั้ง มูลนิธิสถาบันพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย เพื่อเชื่อมโยงวิสาหกิจเพื่อสังคมต่างๆ ทั้งที่อยู่ในเครือข่ายประชารัฐรักสามัคคีและเครือข่ายอื่นๆ ให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และทำงานร่วมกัน ตลอดจนสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของวิสาหกิจเพื่อสังคมทั้งในระดับชาติ และระดับสากล
  • ร่วมจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมกับชุมชนที่มีความพร้อมและความสนใจในการพัฒนาชุมชนของตนเอง โดยขยายพื้นที่การทำงานของวิสาหกิจเพื่อสังคม ให้ครอบคลุมจำนวนชุมชนได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
ภาพรวม
จัดตั้ง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจ เพื่อสังคม จำกัด ใน
77 จังหวัด
ครอบคลุมทั่วประเทศ
โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย พัฒนาความรู้แก่ชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้า ทอมือกว่า
400 ชุมชน
รวมพลังคนรุ่นใหม่เป็นทายาท ผ้าขาวม้า
15 ชุมชน ทั่วประเทศ
สร้างรายได้
30 ล้านบาท
โครงการผ้าพื้นถิ่นสะพาย-สายแนว สร้างรายได้กว่า
2 ล้านบาท
ให้คนในชุมชน
959 คน ในเวลา
5 เดือน
รายการทีวี ชื่นใจไทยแลนด์ ประชาสัมพันธ์ แหล่งท่องเที่ยวให้กับชุมชน
94 พื้นที่
ใน 62 จังหวัด
สร้างรายได้ชุมชนกว่า 30 ล้านบาท

428 โครงการจาก 3 กลุ่มงาน คือ

29% เกษตร

52% แปรรูป

19% ท่องเที่ยว



ชุมชน จำนวน
35,346 ครัวเรือน

เป็นมูลค่ากว่า
172 ล้านบาท

โครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย สร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า
15 ล้านบาท ใน 20 จังหวัด
การเชื่อมโยงระหว่างจังหวัด สร้างรายได้กว่า
30 ล้านบาท
ให้แก่
150 ชุมชน
จำนวนคณะทำงานจาก
5 ภาคส่วน
800+ คนทั่วประเทศ


รายงาน
การพัฒนาที่ยั่งยืน 2561