รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2561
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2561 / สร้างสรรค์และแบ่งปัน โอกาสไร้ขีดจำกัด
GRI 103-2, GRI 401-1, GRI 403-2, GRI 404-1, GRI 404-2, GRI 404-3

 
  • แนวคิดโอกาสไร้ขีดจำกัด (Limitless Opportunities) ของไทยเบฟเกิดขึ้นเพื่อมอบโอกาส ให้พนักงานได้ก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Opportunities) พร้อมสร้างเครือข่ายและ ความสัมพันธ์อันเข้มแข็ง (Connectivity Opportunities) และทำประโยชน์ให้ชุมชนและสังคม (Contribution Opportunities) โดยพนักงานจะเติบโตไปพร้อมกับองค์กร พร้อมทั้งได้รับโอกาสเรียนรู้ พัฒนาทักษะ เสริมสร้างสมรรถนะเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน
  • ไทยเบฟกำหนด 7 ยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการบุคลากร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้าง ความแข็งแกร่งของบุคลากรและรองรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจ ควบคู่ไปกับการ สร้างความเป็นหนึ่งเดียวภายในองค์กร และเตรียมความพร้อมให้พนักงานก้าวหน้าไปพร้อม การเปลี่ยนแปลง
ThaiBev Global Values คือ ค่านิยมกลุ่มไทยเบฟที่ยึดถือร่วมกันเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวและนำไทยเบฟไปสู่การเป็นบริษัทเครื่องดื่มและอาหารชั้นนำของเอเชีย

ค่านิยมกลุ่มไทยเบฟ หรือ Global Values ประกอบด้วยหลักสำคัญ 3 ประการที่ไทยเบฟคาดหวังให้พนักงานทุกระดับยึดถือและลงมือปฏิบัติด้วยความสม่ำเสมอ นั่นคือ
ร่วมกันผสานพลัง (Collaboration)
ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและความหลากหลายของแต่ละบุคคล เพื่อผสานความแข็งแกร่งและมุ่งสู่เป้าหมายร่วมกัน
สร้างสรรค์คุณค่า (Creating Values)
มุ่งมั่นที่จะริเริ่มสิ่งใหม่และพร้อมที่จะคว้าโอกาสในการสร้างสรรค์คุณค่าให้เกิดขึ้นแก่ไทยเบฟและสังคม
เอาใจใส่ต่อผู้เกี่ยวข้อง (Caring for Stakeholders)
เอาใจใส่และทำความเข้าใจทุกมุมมองของทุกฝ่ายด้วยความตั้งใจดี เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนเติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืนไปพร้อมกัน

ยุทธศาสตร์ที่ 1: โครงสร้างและบทบาทที่ชัดเจน (Clear Structure and Roles)
  • การจัดโครงสร้างองค์กรเป็นการกำหนดหน้าที่การทำงานของพนักงานแต่ละคนให้ชัดเจน รวมไปถึงเชื่อมโยงการประสานงาน ทั้งในระดับบุคคล ระหว่างทีมงาน แผนก และฝ่ายงานต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังเป็นกลไกรองรับ การปฏิบัติงานตามแผนกลยุทธ์ของแต่ละสายงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ
  • การจัดโครงสร้างองค์กรเปรียบเสมือนการจัดทัพให้มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยเสริมสร้างจุดแข็งและตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจ อีกทั้งนำองค์กรไปสู่ชัยชนะในการแข่งขัน โดยไทยเบฟยึดโครงสร้างองค์กรในรูปแบบกลุ่มธุรกิจ (Product Group) กลุ่มงานสนับสนุนเชิงกลยุทธ์ (Strategic Support Group) และกลุ่มงานสนับสนุนการบริหารองค์กร (Corporate Functions Group) ซึ่งครอบคลุมบริษัทในกลุ่มทั้งภายในและต่างประเทศ เมื่อผสานพลังทั้งหมดจึงเกิด ความเชี่ยวชาญในการสร้างความหลากหลายทางธุรกิจ ตราสินค้า และการตลาด การกระจายสินค้า และความเป็น มืออาชีพ เพื่อยกระดับความสามารถของไทยเบฟ
  • โครงสร้างองค์กรเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการทางธุรกิจ มีการเพิ่มจำนวนพนักงาน และหน้าที่การทำงาน ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วส่วนหนึ่งเกิดจากการควบรวมกิจการและการร่วมทุน ส่งผลให้เกิดความซ้ำซ้อนและต้นทุนการบริหารเพิ่มขึ้น ดังนั้นการทบทวนการออกแบบโครงสร้างองค์กรและบทบาทการบริหารจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้ไทยเบฟบรรลุเป้าหมายวิสัยทัศน์ปี 2020
 

แบ่งปันคุณค่า

คุณภาณุพงศ์ เพชรบูรณ์
นิติกร สำนักกฎหมาย

เดิมผมเคยเห็นเพียงโอกาสการเติบโตในหน่วยงานตัวเองเท่านั้น แต่เมื่อผมได้เข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาของไทยเบฟ ผมได้เห็นโครงสร้างองค์กรและโอกาสที่เปิดกว้างมากขึ้น ที่สำคัญผมได้พบว่าผู้บริหารระดับสูง โดยเฉพาะคุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ให้ความสำคัญจริงๆ ในการส่งเสริมให้พวกเราเห็นเป้าหมายในอนาคตและใช้ชีวิตให้คุ้มค่าแบบท้าทาย ถึงแม้ผมเป็นสมาชิกใหม่ของไทยเบฟ ผมรู้สึกมีแรงบันดาลใจที่จะศึกษาโอกาสต่างๆ ในไทยเบฟและมุ่งมั่น ที่จะลงมือทำอย่างเต็มที่

 
ภารกิจสำคัญ
นอกจากจะมีการจัดทัพเพื่อให้ตอบโจทย์ธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแล้ว ไทยเบฟยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างองค์กรและบทบาทการบริหาร โดยนำหลักวิธีการตีค่างานโดยประเมินคุณภาพงานของแต่ละตำแหน่งตามมาตรฐานสากลมาประยุกต์ใช้ในการตีค่างานทุกตำแหน่งงานในไทยเบฟ ทำให้ทุกบริษัทในกลุ่มทั่วโลกมีระดับตำแหน่งงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่งผลให้เกิดการโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่งระหว่างกันได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าทางสายอาชีพให้กับพนักงาน นอกจากนี้ การตีค่างานและการกำหนดชื่อตำแหน่งงานตามมาตรฐานสากล ยังเป็นพื้นฐานสำคัญทำให้การขยายธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการและซื้อกิจการมีความรวดเร็วและราบรื่นยิ่งขึ้นอีกด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 2: ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่แข่งขันได้กับตลาด (Market-oriented Compensation and Benefits)
 
เพื่อเป้าหมายในการก้าวเป็นสุดยอดนายจ้าง (Best Employer) และผู้นำที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคอาเซียน ไทยเบฟจึงได้มีการวางระบบบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ชัดเจนและสามารถปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ไทยเบฟบริหารค่าตอบแทนให้เป็นไปอย่างยุติธรรม สามารถ เทียบเคียงได้กับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยร่วมงาน กับบริษัทชั้นนำระดับโลกในการวางระบบบริหารค่าตอบแทน และสวัสดิการให้เทียบเคียงได้กับจุดอ้างอิงที่เหมาะสมกับตลาดและสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของไทยเบฟ
  • ไทยเบฟมีการจัดสรรสวัสดิการให้กับพนักงานเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและคุ้มครองสวัสดิภาพของพนักงาน เช่น ค่ารักษาพยาบาล การตรวจสุขภาพประจำปี การประกันอุบัติเหตุ และการประกันชีวิตให้กับพนักงาน
  • ไทยเบฟยังได้วางระบบประเมินค่างาน (Job Evaluation) ภายใต้โครงสร้างองค์กรตามหลักการวัดค่างานสากล ซึ่งสามารถนำไปอ้างอิงกับข้อมูลค่าตอบแทนในตลาดได้อย่างเป็นระบบ
  • มีการสร้างแรงจูงใจสำหรับบุคลากรที่มีความตั้งใจ มุ่งมั่น และทุ่มเทในการทำงาน โดยการให้รางวัลตอบแทนอย่างเหมาะสม ตามความสามารถและผลการปฏิบัติงานรายบุคคล รวมถึง โครงการค่าตอบแทนจูงใจระยะยาว หรือ Long Term Incentive Plan (LTIP) ที่ให้ผู้บริหารมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการในรูปแบบหุ้นบริษัทเพื่อส่งเสริมการทุ่มเทในการทำงานอย่างต่อเนื่องและรักษาบุคลากรที่มีคุณค่าให้ปฏิบัติงานกับไทยเบฟต่อไปในระยะยาว ซึ่งเป็นผลดีในการดำเนินธุรกิจ
  • มีสิทธิพิเศษอื่นๆ สำหรับพนักงานเพื่อเสริมสร้างความภาคภูมิใจในไทยเบฟ เช่น ส่วนลดร้านอาหารในเครือ ส่วนลดค่าพักโรงแรม ส่วนลดค่ารักษาพยาบาล และส่วนลดผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายใน ไทยเบฟ
 

แบ่งปันคุณค่า

ดร.เอกพล ณ สงขลา
รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มทรัพยากรบุคคล

ไทยเบฟมุ่งหวังที่จะเป็นองค์กรซึ่งเป็นที่ชื่นชมและมีความมั่นคงยั่งยืน ดังนั้นปรัชญาด้านระบบบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการจึงสะท้อนถึงคุณค่าของงานในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งมีอยู่หลากหลาย ตั้งแต่พนักงานระดับปฏิบัติการซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ไปจนถึงพนักงานรุ่นใหม่ซึ่งมีค่านิยมและการใช้ชีวิตสะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสังคม รวมทั้งกลุ่มพนักงานระดับผู้จัดการและผู้บริหารซึ่งมีความท้าทายในการบริหารธุรกิจข้ามชาติ โดยระบบบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการของกลุ่มไทยเบฟได้ออกแบบและปรับให้มีความสอดคล้องกับแต่ละระดับงานในแต่ละบริษัทซึ่งอาจทำธุรกิจแตกต่างกันไป และสะท้อนถึงสภาวะการจ้างงานในแต่ละประเทศที่ไทยเบฟ ดำเนินธุรกิจอยู่

ขณะเดียวกัน ไทยเบฟให้ความสำคัญในการส่งเสริมการเติบโต ของพนักงานและความผูกพันกับองค์กรในระยะยาว ควบคู่ไปกับความสามารถในการแข่งขัน ไทยเบฟใส่ใจในการเติบโตของพนักงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งเสริมการเติบโตในสายอาชีพ ช่วยทำให้เราสามารถขยายธุรกิจโดยมีความมั่นคงในด้านบุคลากร และเพิ่มพูนความสามารถในการแข่งขันระดับภูมิภาคอาเซียน

ยุทธศาสตร์ที่ 3: การบริหารผลการดำเนินงานที่โดดเด่น (Recognition-based Performance Management)
 
  • ในการบริหารผลการปฏิบัติงาน ไทยเบฟได้พัฒนาแนวทางในการตั้งเป้าหมายและการประเมินผลการปฏิบัติงานไว้อย่างเป็นระบบและดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการตั้งเป้าหมายทั้งด้านตัวเลขทางการเงินและผลลัพธ์ทางธุรกิจซึ่งสอดคล้องกับ เป้าหมายของไทยเบฟ อีกทั้งยังมีการประเมินในด้านอื่นๆ ได้แก่
    • ด้านการปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่อให้พนักงานและไทยเบฟสามารถเดินหน้าพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
    • ด้านความยั่งยืน เพื่อให้การทำงานและผลลัพธ์ทางธุรกิจสอดคล้องกัน และด้านการพัฒนาบุคลากร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพนักงานมีความสามารถที่จะถ่ายทอดความรู้ความสามารถให้ ผู้อื่น และก่อให้เกิดการแบ่งปันความรู้ (Knowledge Sharing) ภายในไทยเบฟ ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่มีผลลัพธ์สูง (High Performance Culture)
  • นอกจากสนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมาย ไทยเบฟยังให้ความสำคัญกับคุณค่าองค์กรหรือพฤติกรรมที่ต้องการสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันเพื่อทำให้เป้าหมายสำเร็จ ดังนั้น ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน ไทยเบฟจึงนำค่านิยมกลุ่มไทยเบฟ หรือ ThaiBev Global Values มาใช้ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้พนักงานเกิดความเป็นหนึ่งเดียว ส่งเสริมและสนับสนุนช่วยกันสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง ทำให้ไทยเบฟมั่นคงและยั่งยืน
  • ไทยเบฟได้พัฒนาระบบ Beverest ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการ ด้านทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจร เพื่อใช้บันทึกและบริหารข้อมูลพนักงาน ดำเนินการขั้นตอนด้านบุคคล และวิเคราะห์ข้อมูลพนักงานสำหรับการวางแผนกลยุทธ์ทรัพยากรบุคคลในอนาคต และยังสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยผ่านอุปกรณ์สื่อสาร เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบและติดตามผลระหว่างหัวหน้าและพนักงาน
  • ไทยเบฟได้กำหนด Balanced Scorecard เป็นเครื่องมือในการบริหารผลการปฏิบัติงานเพื่อวัดประสิทธิภาพและศักยภาพของไทยเบฟ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการเงิน (Financial Perspective) ด้านลูกค้า (Customer Perspective) ด้านกระบวนการทางธุรกิจ/ระบบปฏิบัติการภายในองค์กร (Business Process/Internal Operations Perspective) และด้านการเรียนรู้และเติบโต (Learning and Growth Perspective) นอกจากนี้ ยังใช้ในการกำหนดน้ำหนักของเป้าหมายในแต่ละด้าน ให้ครอบคลุมเป้าหมายที่สำคัญของไทยเบฟ

แบ่งปันคุณค่า

คุณนพดล เลิศมงคลธรรม
เจ้าหน้าที่ขาย บริษัท ไทยดริ้งค์ จำกัด

หลังจากไทยเบฟได้ขยายการใช้งานระบบบริหารผลการปฏิบัติงาน ทำให้ผมได้ใช้งานฟังก์ชันเป้าหมายการปฏิบัติงาน และผลการปฏิบัติงานบนระบบ Beverest ความรู้สึกที่ได้ใช้ต้องยอมรับว่ารู้สึกไม่ชินในตอนแรก และการแสดงผลต่างๆ ผมไม่คุ้นเคย แต่ไทยเบฟมีการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ ในระบบมีการเพิ่มวิดีโอการใช้งานในแต่ละ ฟังก์ชัน มีการจัดอบรมการใช้งานโดยทีมกลุ่มทรัพยากรบุคคล ทำให้ผมเข้าใจมากขึ้น ประกอบกับการต้องเข้าไปใช้งานค่อนข้างบ่อยในช่วงการตั้งเป้าหมาย ทำให้ผม เริ่มคุ้นเคยกับการใช้งานระบบ หากติดขัดตรงไหน ผมสามารถถามหัวหน้างานหรือโทรศัพท์หา HC Helpdesk ซึ่งเปรียบเสมือนคอลเซ็นเตอร์ของกลุ่มทรัพยากรบุคคล เพื่อช่วยผมให้ทำงานบนระบบต่อไปได้ครับ ปัจจุบัน สามารถใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน บนสมาร์ตโฟน ทำให้ผมได้รับความสะดวก สามารถใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลาตามที่ผมต้องการ

คุณกัญชลิกา อาจวิชัย
ผู้จัดการงานทรัพยากรบุคคล กลุ่มธุรกิจเบียร์

ระบบ Beverest เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ทำให้สามารถเข้าไปถึงโครงสร้างของไทยเบฟได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ทำให้รู้ว่าเราอยู่จุดไหนของไทยเบฟ สิ่งที่ประทับใจคือ พนักงานใหม่ที่เข้ามาใช้จะได้รู้ว่าตนเองอยู่ภายใต้กลุ่มไหน ทีมงานไหนที่จะต้องทำงานด้วย รู้สึกว่าเรื่องของโครงสร้างองค์กร มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถ้า KPI ข้อไหนที่ตั้งไว้ใกล้ที่จะบรรลุเป้าหมายแล้ว จะได้รู้ตัวว่าใกล้ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าประเมินผลงานแล้วพบว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ เราต้องกระตุ้นตัวเอง เพื่อไปให้ถึงจุดนั้น

 
ภารกิจสำคัญ หลักการ WOW (Way of Work)
ไทยเบฟนำแนวคิดเรื่อง WOW (Way of Work) มากำหนดให้อยู่ในดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน (Individual KPI) ของพนักงานทุกระดับ โดยมีการประเมินผลงานอย่างเป็นทางการปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้พนักงานได้มีโอกาสคิดและนำเสนอแลกเปลี่ยนกับ เพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับการพัฒนาปรับปรุงงานให้ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นและสร้างโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจได้มากขึ้น ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจนทำให้เกิดโครงการ WOW Awards 2018 ขึ้น โดยมีพนักงานสนใจเข้าร่วมงานจากหลากหลายประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 4: การพัฒนาพนักงานที่มีศักยภาพสูงแบบองค์รวม (Holistic High Performer Retention and Development)
 
เพื่อให้พนักงานเชื่อมั่นในโอกาสการเติบโตในไทยเบฟอย่างไร้ขีดจำกัด ไทยเบฟจึงส่งเสริมให้พนักงาน ได้พัฒนาศักยภาพของตนเองโดยใช้หลักการพัฒนา 2 รูปแบบ คือ
  • ระบบการพัฒนาความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Development System)
  • โครงการพัฒนาบุคลากรศักยภาพสูง (Talent Development Program)

ในปี 2561
จำนวนชั่วโมงอบรมเฉลี่ย ของพนักงานเท่ากับ

ชั่วโมงต่อคนต่อปี


ในปี 2561 ไทยเบฟใช้งบประมาณกว่า
155
ล้านบาท
ในการพัฒนาศักยภาพ ของพนักงาน
1. ระบบการพัฒนาความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Development System)
  • ไทยเบฟได้ออกแบบเส้นทางอาชีพ (Career Path) และสมรรถนะตามสายงาน (Functional Competency) เพื่อให้พนักงานวางแผนเส้นทางอาชีพของตนเองในไทยเบฟ รวมถึงพัฒนาศักยภาพและความก้าวหน้าในสายงาน โดยใช้แผนการพัฒนารายบุคคล (Individual Development Plan: IDP) เพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตในไทยเบฟอย่างไร้ขีดจำกัด
  • ในแผนการพัฒนารายบุคคล (Individual Development Plan: IDP) ไทยเบฟใช้หลักการพัฒนาศักยภาพของพนักงานในรูปแบบ 70:20:10 คือ
    • 70% คือการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ เช่น การรับผิดชอบงานใหม่ๆ การทำงานโครงการพิเศษ การเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง
    • 20% คือการเรียนรู้จากบุคคลอื่น เช่น การโค้ช การสอนงานโดยผู้เชี่ยวชาญ การเข้าร่วมสมาชิกชมรม การรับฟังข้อคิดเห็นและคำแนะนำจากผู้อื่น การเรียนรู้จากการทำงานของผู้บริหาร
    • 10% คือการเรียนรู้จากการเข้าอบรมอย่างเป็นทางการ เช่น เข้าเรียนตามโปรแกรมฝึกอบรม การเรียนผ่านบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (E-learning) หรือเข้าเรียนในโปรแกรมพัฒนาบุคลากรระยะสั้น
  • ในการจัดทำแผนพัฒนารายบุคคลของพนักงานในกลุ่มสายงานดังกล่าวข้างต้น มีขั้นตอนดังนี้
    • 1. เริ่มจากการศึกษาเส้นทางสายอาชีพและสมรรถนะตามสายงานที่ได้กำหนดไว้
    • 2. จากนั้นทำการประเมินสมรรถนะตามสายอาชีพ เพื่อระบุช่องว่างการพัฒนา (Competency Gap)
    • 3. จัดทำแผนการพัฒนารายบุคคลตามผลการประเมินรวมถึงเป้าหมายในสายอาชีพที่พนักงานวางไว้ผ่านระบบ Beverest ซึ่งเป็นระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรบุคคลของไทยเบฟ
  • สำหรับพนักงานทุกระดับในกลุ่มงานอื่นๆ ได้มีการจัดทำแผนพัฒนารายบุคคลเช่นกัน โดยให้ระดับหัวหน้าได้จัดทำแผนพัฒนารายบุคคลในระบบ Beverest ทำให้สามารถติดตามและตรวจสอบ ความก้าวหน้าของแผนพัฒนาได้

เส้นทางอาชีพที่คุณออกแบบได้ Craft Your Career Journey

1.สำรวจเส้นทางสายอาชีพในกลุ่มไทยเบฟ
  • กลุ่มงานไทยเบฟ
  • สมรรถนะในการทำงาน
  • ลักษณะเส้นทางการเติบโต ในสายอาชีพ

2.สมรรถนะในการทำงาน
  • ค่านิยมกลุ่มไทยเบฟ
  • สมรรถนะความเป็นผู้นำ
  • สมรรถนะในการทำงาน

3.โอกาสการเรียนรู้และพัฒนา
  • รูปแบบการเรียนรู้ 70:20:10
  • โปรแกรมการเรียนรู้ และพัฒนาต่างๆ
  • ทุนการศึกษา

แบ่งปันคุณค่า

คุณสมชัย สมทอง
รักษาการผู้จัดการ Customer Management, Cash Van Management พนักงานที่ได้รับการพัฒนาและเติบโตในสายอาชีพกลุ่มงานขาย

ผมเริ่มต้นอาชีพการขายกับไทยเบฟครั้งแรกใน พ.ศ. 2554 โดยเริ่มจากการเป็นพนักงานขายรถเร่ (Cash Van) ตั้งแต่ยังไม่มีอุปกรณ์แท็บเล็ตเข้ามาช่วยในการขาย จนถึงปัจจุบันผมได้เป็นผู้จัดการ Customer Management ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งกับไทยเบฟ คู่แข่ง และตัวเอง ซึ่งผมได้ตั้งเป้าหมายในการทำงานตั้งแต่ วันแรกว่า เราทุกคนทำเพื่อไทยเบฟ ทุกอย่างต้องทำได้ และจะทำงานมากกว่าตำแหน่งที่ได้รับเสมอ เพื่อที่จะมีโอกาสเติบโตควบคู่ไปกับการพัฒนาความรู้และทักษะในการขาย โดยปรึกษาหารือกับหัวหน้างานอย่างสม่ำเสมอในเป้าหมายที่คาดหวังไว้ โดยมีแผนพัฒนารายบุคคล หรือ IDP เป็นเครื่องมือและแนวทางที่ใช้จัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำและสิ่งที่ผมต้องพัฒนาเพื่อให้เติบโตตามที่ตั้งใจไว้ นอกจากนั้นผมมุ่งมั่น ที่จะสร้างทีมงานขายที่แข็งแกร่งและส่งต่อความสำเร็จให้กับทีมขายไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม อันจะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ยอดขายเป็นไปตามที่ไทยเบฟตั้งเป้าไว้

คุณรัชนันท์ ดีแสน
ผู้จัดการงานทรัพยากรบุคคล กลุ่มธุรกิจเบียร์ พนักงานที่ได้รับการพัฒนาและเติบโตในกลุ่มงานทรัพยากรบุคคล และทำงานในต่างประเทศ

จากจุดเริ่มต้นในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทรัพยากรบุคคลที่ดูแลด้านการพัฒนาบุคลากร ที่บริษัท โมเดิร์นเทรดแมเนจเม้นท์ จำกัด จนถึงวันนี้ที่บริษัทได้มอบโอกาสให้ดูแลงานด้านทรัพยากรบุคคลให้กับบริษัท SABECO ที่เวียดนาม ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ต้องทำงานในสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม และเชื้อชาติที่แตกต่าง โดยส่วนตัวมีความเชื่อเสมอว่า การเรียนรู้ที่จะทำให้เราเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุดคือการลงมือทำ ซึ่งจากประสบการณ์ ถือเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญที่ทำให้เข้าใจกิจกรรมการเรียนรู้ 70:20:10 ที่ได้ผ่านการปรึกษากับผู้บังคับบัญชาในการจัดทำ IDP เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง ให้พร้อมเติบโตในสายงานและคว้าโอกาส ที่ไทยเบฟมอบให้ตามศักยภาพและความเหมาะสม ดังนั้นการทำงานที่เวียดนาม จึงถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (70) และการปรึกษาหารือ กับผู้ใหญ่ที่มากประสบการณ์ (20) ที่จะทำให้สามารถพัฒนาตนเองไปอีกขั้น ที่พร้อมจะเติบโตในสายงานตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้

 
2. โครงการพัฒนาบุคลากรศักยภาพสูง (Talent Development Program)
  • โปรแกรมการพัฒนาศักยภาพรูปแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มเติมความรู้ ทางธุรกิจและส่งเสริมภาวะความเป็นผู้นำให้พนักงานมีทักษะในการทำงานเพิ่มมากขึ้น โดยใช้หลักการพัฒนาศักยภาพในรูปแบบ 70:20:10 และการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำด้วยการนำเสนอโปรเจกต์ที่ตอบโจทย์ทางธุรกิจ (Action-Learning Project) ซึ่งเป็นเวทีให้พนักงานได้นำเสนอไอเดียที่จะส่งเสริมธุรกิจให้บรรลุวิสัยทัศน์ของไทยเบฟ ตลอดจนทำให้ผู้บริหารระดับสูงเห็นศักยภาพของพนักงาน ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการเรียนรู้ในห้องเรียนแต่เพียงอย่างเดียว
  • โปรแกรมการพัฒนาได้รับการออกแบบโดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและต่อยอดให้บุคลากรในแต่ละระดับได้เติบโตในไทยเบฟ โดยการ ยึดหลักพนักงานหรือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner Centric)
  • ไทยเบฟได้พัฒนาคู่มือการพัฒนาสมรรถนะความเป็นผู้นำ (Leadership Competency Development Guidebook) ให้กับพนักงานเพื่อช่วยในการคัดเลือกกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาศักยภาพแบบ 70:20:10 ขณะเดียวกันช่วยสนับสนุน การจัดทำแผนการพัฒนารายบุคคล (IDP)
ตัวอย่าง เป้าหมายหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพของโครงการ Supervisory Development Program (SDP), Management Development Program (MDP), ASEAN Management Development (AMD), Senior Executive Development Program (SEDP) ที่ผู้บริหารระดับสูงจะเข้าร่วมในการนำเสนอและ ให้ข้อเสนอแนะ เพื่อต่อยอดในการนำกรณีศึกษามาประยุกต์ให้สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง
โปรแกรมการพัฒนาบุคลากรศักยภาพสูง Talent Development Program Framework


แบ่งปันคุณค่า

คุณสุภรณ์ เด่นไพศาล
รองผู้อำนวยการสายงานการตลาด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

จากประสบการณ์ทำงานกับไทยเบฟในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา นับว่าดิฉันโชคดีมากเพราะได้รับโอกาสในการพัฒนาและเติบโตจากทั้งหัวหน้างานและผู้บริหาร ผ่านการเรียนรู้จากการทำงาน (On the Job Training) การเข้าอบรมหลักสูตรต่างๆ และการวางแผนเป้าหมายและการพัฒนาตนเอง (IDP) ดิฉันได้รับ มอบหมายให้หมุนเวียนทำงานดูแลแบรนด์ต่างๆ เช่น โออิชิ เอส 100 พลัส และล่าสุดได้รับมอบหมายให้ดูแลตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสได้เรียนรู้การทำ การตลาดหลากหลายแบรนด์ ได้พัฒนาทักษะการวางแผน การต่อรอง และ การเป็นผู้นำ นอกจากนี้ยังได้เข้าอบรมหลักสูตรต่างๆ เช่น SEDP ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับไทยเบฟ การบริหาร และได้โอกาสในการทำงานร่วมกับผู้บริหาร ในหน่วยงานต่างๆ ความประทับใจล่าสุดคือการที่คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี CEO ของบริษัท สละเวลามาฟังแผนและเป้าหมายการพัฒนาตนเองของพนักงาน ด้วยตัวเอง แสดงให้เห็นว่าท่านให้ความสำคัญกับการพัฒนาของเราในองค์กร อย่างมาก

คุณกฤษณ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา
Assistant Export Sales Manager กลุ่มธุรกิจสุรา International Spirit Sales ผู้เข้าร่วมโครงการผู้นำรุ่นใหม่ ปัจจุบันได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ The University of Edinburgh ประเทศสกอตแลนด์ ตามการวางแผนอาชีพ

ผมรู้สึกดีใจมากที่ไทยเบฟและผู้บริหารระดับสูงมองเห็นศักยภาพและพร้อมที่จะให้โอกาสสนับสนุนพนักงานรุ่นใหม่อย่างตัวผมที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเติบโตในไทยเบฟ โดยใช้ความสามารถและพลังที่มีเพื่อจะผลักดันไทยเบฟ ให้ประสบความสำเร็จตามความคาดหมาย การไปเรียนครั้งนี้ ผมคาดหวังว่า จะนำสิ่งที่เรียนมาเพิ่มความมั่นใจให้กับไทยเบฟ และจะนำประสบการณ์จากการทำงานที่ผ่านมาทั้งหมดบวกกับด้านวิชาการ ไปวางแผนและต่อยอดในการบริหารและดำเนินธุรกิจของไทยเบฟต่อไป

 
ผลงานต่อยอดจากโครงการพัฒนาศักยภาพพนักงาน
โครงการ ThaiBev Catering เกิดจากการนำเสนอของ ผู้เข้ารับการเรียนรู้ในโครงการพัฒนาศักยภาพพนักงานระดับบังคับบัญชา (Management Development Program: MDP) ในปี 2017 และได้ทำต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เป็นการเสนอแนวคิดต่อยอดธุรกิจของไทยเบฟให้ครอบคลุมบริการทางด้านเครื่องดื่ม อาหาร และการ จัดอีเวนต์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างครบวงจร ซึ่งไทยเบฟได้เปิดตัว Horeca ธุรกิจบริการ ทางด้านเครื่องดื่มและอาหาร (Catering) ในงาน HoReCa Asia 2017 และดำเนินการต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ซึ่งธุรกิจบริการทางด้านเครื่องดื่มและอาหาร (Catering) นี้ มียอดขายบรรลุเป้า และมีกำไรตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มธุรกิจ โดยใช้ หลักการ “Customization, budget control and convenience” คือตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ภายใต้งบประมาณที่มี และให้เกิดความสะดวกสบายสูงสุด อีกทั้งยังส่งเสริมนโยบายเมาไม่ขับ เพราะเป็นการบริการถึงบ้านให้แก่ลูกค้า ตลอดจนยกระดับการให้บริการแก่คู่ค้าด้วยการให้บริการแบบบาร์เต็มรูปแบบ (full bar service) ในงานอีเวนต์ต่างๆ
โครงการพัฒนาศักยภาพผู้บริหาร ThaiBev - NUS Global Executive Leaders Program “Realizing Vision 2020: Strategies for Sustainable ASEAN Leadership”
ไทยเบฟร่วมกับ National University of Singapore ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาอันดับหนึ่งของเอเชีย และอันดับ12 ของโลก โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาศักยภาพผู้บริหารของไทยเบฟให้มีความพร้อมที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคและระดับสากล ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายและวิสัยทัศน์ 2020 ของไทยเบฟที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่ม ในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยมีผู้บริหารเข้าร่วมทั้งสิ้น 25 คน หนึ่งในโครงการที่ได้นำมาประยุกต์ใช้จริง คือ โครงการ Synergy Project เกิดจากแนวคิดในการใช้ประโยชน์คลังสินค้าร่วมกันระหว่างบริษัทภายในกลุ่ม โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้พนักงานขาย อยู่ใกล้ชิดร้านค้ามากขึ้น เน้นการเพิ่มยอดขายและเพิ่มการบริการให้แก่ร้านค้า รวมทั้งลดค่าขนส่งสินค้าให้กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ คณะทำงานทีม Synergy จึงได้ริเริ่มโครงการโดยคัดเลือกคลังจังหวัดมหาสารคาม มาทำการทดลองใช้พื้นที่คลังสินค้าร่วมกัน ซึ่งได้วาง เป้าหมายการเพิ่มยอดขาย และการกระจายสินค้าในพื้นที่จังหวัดไว้ที่ กว่า 1,000 ร้านค้า ซึ่งยังต้องเปิดร้านค้าเพิ่มอีกจำนวนมาก คณะทำงานได้เริ่มโครงการทดสอบในเดือนสิงหาคม 2561 และผลจากการทดสอบดังกล่าวตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ยอดการ กระจายสินค้าเติบโตร้อยละ 23 ขยายร้านค้าได้เพิ่มกว่าหนึ่งเท่าตัวจากที่มีอยู่เดิม และมีร้านค้าที่ซื้อเติบโตขึ้นร้อยละ 16.5 และยอดขาย ของบริษัทเสริมสุขเติบโตขึ้นร้อยละ 44.5
ยุทธศาสตร์ที่ 5: การบริหารผู้สืบทอดตำแหน่งและบุคลากรเชิงรุก (Proactive Succession and Workforce Planning)
ไทยเบฟสามารถจัดหาพนักงาน ที่จะดำรงตำแหน่งผู้สืบทอดได้คิดเป็น
93%
ของตำแหน่งทั้งหมด ที่กำหนดในแผนการสืบทอด
  • เพื่อความต่อเนื่องทางธุรกิจในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งแทนพนักงานระดับผู้บริหารระดับสูง ที่ใกล้เกษียณ ไทยเบฟวางแผนการสรรหาผู้สืบทอดตำแหน่ง (Succession Plan) เพื่อให้ธุรกิจ เดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ตามพันธกิจและคำมั่นสัญญาของไทยเบฟที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลูกค้า และสังคม รวมถึงรักษาวัฒนธรรมการบริหารจัดการที่ดี โดยจัดทำแผนทดแทนตำแหน่งงาน ดังนี้
    • (1) กำหนดตำแหน่งงานหลัก (Critical Position) เพื่อจัดทำแผนทดแทนตำแหน่งงาน
    • (2) กำหนดคุณลักษณะของผู้นำที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานหลัก เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือก
    • (3) ประเมินความพร้อมของผู้บริหารที่ได้รับการพิจารณาเพื่อทดแทนตำแหน่งงาน โดยใช้กรอบ WAR ในการประเมิน คือ ความมุ่งมั่น (Willing) มีความสามารถ (Able) และมีความพร้อม (Ready)
    • (4) จัดทำแผนพัฒนารายบุคคล (IDP) และมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง
  • ไทยเบฟสามารถจัดหาพนักงานที่จะดำรงตำแหน่งผู้สืบทอดได้คิดเป็นร้อยละ 93 จากทั้งหมด 121 ตำแหน่งที่กำหนดในแผนการสืบทอดของตำแหน่งหลัก (Critical Position)
ภารกิจสำคัญ
การสร้างบุคลากรที่มีความมุ่งมั่น (Willing) มีความสามารถ (Able) และมีความพร้อม (Ready) เพื่อก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งงานสำคัญๆ ของไทยเบฟ ประกอบไปด้วย
  • ระบบและกระบวนการในการประเมินพนักงานที่มีศักยภาพสูง (Talent Assessment) จากทุกสายงาน เพื่อค้นหา Global Talent Pool หรือพนักงานที่มีศักยภาพในการเติบโตเป็นผู้นำ ไทยเบฟในอนาคต ซึ่งจะเชื่อมต่อกับการจัดทำแผนทดแทนตำแหน่งงานได้อย่างต่อเนื่อง
  • การกำหนดตำแหน่งงานหลัก (Critical Position) เพื่อจัดทำแผนทดแทนตำแหน่งงาน รวมถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกเพื่อใช้ในการคัดเลือกและประเมินความพร้อมของผู้บริหารที่ได้รับการพิจารณาเพื่อทดแทนตำแหน่งงาน
  • การจัดทำแผนพัฒนารายบุคคล (Individual Development Plan) และมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ตำแหน่งงานหลัก (Critical Position) ผ่านรูปแบบการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning) รวมถึง ระบบสนับสนุนโอกาสการทำงานต่างประเทศ (Global Mobility Platform) เพื่อพัฒนาความพร้อมในระยะเวลาอันรวดเร็วและรองรับแผนการขยายธุรกิจในต่างประเทศของไทยเบฟอีกด้วย
WAR Model: Willing, Able & Ready

Applying WAR Model to assess readiness of the candidates.

ยุทธศาสตร์ที่ 6: การสรรหาพนักงานที่มีศักยภาพและดูแลพนักงานใหม่ (Strategic Talent Acquisition and Onboarding)
 
การสรรหาพนักงานที่มีศักยภาพและมีประสบการณ์ในการทำงาน เป็นสิ่งสำคัญสำหรับไทยเบฟ โดยบริษัทมีกระบวนการสรรหาและ คัดเลือกอย่างเป็นระบบและหลากหลายช่องทางดังนี้
  • การรับสมัครงานผ่านเว็บไซต์สมัครงานของไทยเบฟ ซึ่งมีตำแหน่งงานว่างครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเว็บไซต์หางานภายนอก หรือช่องทางอื่นๆ เช่น Job Fair, Campus Recruitment และ Recruitment Road Show ซึ่งจัดขึ้นตามมหาวิทยาลัยของรัฐบาลและเอกชนเพื่อให้ครอบคลุมเข้าถึงผู้มีศักยภาพในทุกๆ กลุ่ม
  • ใช้ระบบ Beverest โดยบุคคลภายนอกทั่วไปที่สนใจ สามารถสมัครงานกับทางไทยเบฟได้อย่างง่ายดาย เช่น สามารถตรวจสอบตำแหน่ง ว่างงานทั้งหมดในระบบ และสามารถฝากประวัติการสมัครผ่านระบบได้โดยกรอกข้อมูลส่วนตัวในระบบและแนบประวัติการทำงาน นอกจากนี้ยังมีกระบวนการเตรียมความพร้อมสำหรับพนักงานใหม่ โดยต้นสังกัดสามารถเข้าไปดูแลผู้สมัครผ่านระบบนี้ เช่น การเขียนข้อความต้อนรับ การแนะนำข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ การแนะนำเจ้าหน้าที่ ที่พนักงานใหม่จะต้องติดต่อเกี่ยวข้อง และการเตรียมอุปกรณ์ เบื้องต้นสำหรับพนักงานใหม่
  • ไทยเบฟยังเปิดโอกาสให้พนักงานสมัครงานภายใน (Internal Recruitment Program) ผ่านระบบ Beverest และยังมีทีม Talent Acquisition ช่วยให้คำแนะนำพนักงานเกี่ยวกับตำแหน่งงานต่างๆ ที่กำลังเปิดรับอีกด้วย
 

แบ่งปันคุณค่า

คุณสุชลทิพย์ ตรีสุชน
รักษาการผู้บริหารฝ่ายสรรหาและดูแลพนักงานใหม่

เพื่อสรรหาบุคลากรที่เป็น “คนดีและคนเก่ง” ไทยเบฟจึงช่วยพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศให้มีองค์ความรู้ ทักษะ ความชำนาญและความเข้าใจในสายวิชาชีพของตนเองอย่างแท้จริง ดังนั้นไทยเบฟจึงจัดโครงการฝึกงานภาคฤดูร้อน “ช้างจูเนียร์” ขึ้นเพื่อรับนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ เข้าฝึกงานกับไทยเบฟ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมโดยเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการทำงาน รวมถึงวัฒนธรรมในการทำงานเพื่อสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมการทำงานจริงได้ นอกจากนี้ โครงการนี้ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการศึกษา ซึ่งส่งผลต่อการสรรหาบุคลากรที่ดี มีศักยภาพและเหมาะสม กับไทยเบฟในอนาคต

ภารกิจสำคัญ CAREER DAY
ไทยเบฟต้องการสนับสนุนให้พนักงานมีโอกาสเติบโต ในองค์กร ไม่ว่าจะเติบโตภายในสายงานหรือข้ามสายงาน และยังสนับสนุนให้หัวหน้างานเปิดโอกาสให้พนักงานสมัครงานภายในไทยเบฟอีกด้วย ซึ่งทางกลุ่มทรัพยากรบุคคลได้จัดงาน Career Day ขึ้นเพื่อเป็นการเปิดโอกาส ไร้ขีดจำกัดอย่างแท้จริง โดยพนักงานทุกคนสามารถ มาร่วมงานได้ ภายในงานจะมีการเปิดบูทรับสมัครงานจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้พนักงานทราบถึงตำแหน่งงานที่ว่างทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการแนะนำพนักงานถึงคุณสมบัติของตำแหน่งงาน ที่เหมาะสม รวมถึงมีแบบทดสอบบุคลิกภาพให้พนักงานทำ เพื่อเข้าใจถึงสายอาชีพที่เหมาะกับตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมา มีพนักงานให้ความสนใจในการโอนย้ายและมาลงทะเบียนและเห็นโอกาสเติบโตในสายอาชีพอย่างต่อเนื่อง
โครงการช้างจูเนียร์
โครงการฝึกงานภาคฤดูร้อน “ช้างจูเนียร์” จัดขึ้นเพื่อรับนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ เข้าฝึกงานกับไทยเบฟโดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการทำงาน การทำโปรเจกต์และนำเสนอ รวมถึงรู้จักวัฒนธรรมในการทำงานเพื่อประโยชน์ในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมการทำงานต่อไป โดยโครงการเริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2555 และจัดขึ้นอย่าง ต่อเนื่องทุกปี มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำให้ความสนใจอย่างมาก ซึ่งใน พ.ศ. 2561 เป็นปีที่ 7 มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการถึง 523 คนและผ่านการคัดเลือกเข้าฝึกงานกับทางไทยเบฟ 74 คน

ประโยชน์กับไทยเบฟ : พนักงานที่รับหน้าที่พี่เลี้ยงให้แก่นักศึกษาได้ฝึกทักษะในการเป็นผู้นำและการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร และยังถือเป็นการสร้างเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของไทยเบฟ ต่อสังคมภายนอก

ประโยชน์กับนิสิตนักศึกษา : นักศึกษาจะได้รับประสบการณ์วิชาชีพตามสาขาวิชาที่เรียน ได้พัฒนาความรู้ มีความมั่นใจ ในตัวเองมากขึ้น รวมถึงได้ทักษะการสื่อสารและการทำงาน ในองค์กร เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานจริง นอกจากนี้ นักศึกษายังมีข้อมูลในการเลือกสายงานอาชีพได้ถูกต้อง โดยค้นพบตนเองก่อนเรียนจบ และบางคนอาจได้รับการเสนองานก่อนสำเร็จการศึกษาอีกด้วย จากผลการสำรวจนักศึกษามหาวิทยาลัยในประเทศไทยประจำปี 2018 โดย Universum ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยที่จะเป็นแรงจูงใจให้สมัครงานกับบริษัทต่างๆ นั้นมีหลายประการ เช่น เส้นทางอาชีพเพื่อความก้าวหน้า ผู้บริหารที่สนับสนุนการพัฒนาของพนักงาน ความสำเร็จขององค์กร ความรับผิดชอบต่อสังคม หรือโอกาส ในการทำงานในต่างประเทศ ซึ่งไทยเบฟมีปัจจัยดังกล่าวครบถ้วน
โครงการนักศึกษาฝึกงาน MySEAN Internship
ไทยเบฟได้เข้าร่วมโครงการนักศึกษา MySEAN Internship เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับรัฐบาลมาเลเซีย และเป็นการ แลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรม อีกทั้งยังส่งเสริมให้ไทยเบฟเป็นที่รู้จักมากขึ้นในภูมิภาคอาเซียน โดยโครงการนี้จัดขึ้น เพื่อรับนักศึกษาฝึกงานต่างชาติซึ่งจะส่งตัวมาจากบริษัท Talent Corporation Malaysia Berhad (TalentCorp) ทั้งนี้ ใน พ.ศ. 2560 มีนักศึกษาจากประเทศมาเลเซียเข้าร่วมโครงการ 2 คน ได้มาเรียนรู้และฝึกปฏิบัติงานจริงในสำนักสารสนเทศและกลุ่มทรัพยากรบุคคลของไทยเบฟ
ยุทธศาสตร์ที่ 7: การส่งเสริมวัฒนธรรมที่สร้างความผูกพันต่อองค์กร (Engaging Corporate Culture)
  • เพื่อเสริมสร้างให้พนักงานมีความรู้สึกเป็นเจ้าของหรือมี ส่วนร่วมในไทยเบฟสูงขึ้น ไทยเบฟจึงทำการสำรวจความผูกพันของพนักงาน เพื่อวัดปัจจัยที่มีผลต่อความผูกพัน ของพนักงานต่อองค์กร
  • ไทยเบฟได้นำผลสำรวจไปวิเคราะห์เชิงลึก โดยผู้บริหารของไทยเบฟได้มีส่วนร่วมวิเคราะห์ เพื่อจัดทำแผนการปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อเพิ่มระดับความผูกพันของพนักงานต่อไทยเบฟ โดยเน้นปัจจัยหลักๆ ได้แก่ สวัสดิการของพนักงาน สภาพความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานในสถานที่ทำงาน ค่าตอบแทนของพนักงาน บทบาทหน้าที่ในองค์กร และการชื่นชมผลการดำเนินงานของพนักงาน
  • เพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมในการทำงาน ไทยเบฟได้นำ ค่านิยมกลุ่มไทยเบฟ หรือ ThaiBev Global Values มาเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลการดำเนินการของพนักงาน
  • ไทยเบฟได้จัดกิจกรรมส่งเสริมความผูกพันต่อองค์กร โดยปรับรูปแบบและเพิ่มความหลากหลายของกิจกรรม พื้นที่การจัดกิจกรรม เพื่อเพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วมของพนักงานให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เช่น ริเริ่มโครงการ WOW Awards ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้พนักงานนำหลักการ WOW (Way of Work) มาใช้ในการทำงาน โดยมีการตัดสินและมอบรางวัลสำหรับโครงการที่มีผลสำเร็จและนำไปต่อยอดได้
 

แบ่งปันคุณค่า

คุณนงนุช บูรณะเศรษฐกุล
ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มธุรกิจอาหาร (ประเทศไทย) กับมุมมองเกี่ยวกับ ThaiBev Global Values หรือค่านิยมกลุ่มไทยเบฟ

คนทุกคนย่อมมีคุณค่าที่ตัวเองยึดถือและปฏิบัติ ดิฉันมองว่าทุกคนเกิดมาจากต่างครอบครัว เพราะฉะนั้นการมาอยู่รวมกันจำเป็นต้องมีพื้นฐานในการอยู่ร่วมกัน เพื่อให้เรามองไปในเป้าหมายเดียวกัน และเนื่องจากไทยเบฟเป็นบริษัทสัญชาติไทย ดังนั้นคุณค่าพื้นฐานของคนไทยจะเป็นรูปแบบหนึ่ง แต่ปัจจุบันไทยเบฟเติบโตจากเดิมเยอะมาก มีการควบรวมธุรกิจต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศมากมาย เพราะฉะนั้นการมีค่านิยมกลุ่มไทยเบฟ หรือ ThaiBev Global Values จะทำให้ ทุกคนให้ความสำคัญและยึดถือปฏิบัติในคุณค่าแบบเดียวกัน ถ้าทุกคนมองและเดินไปในทิศทางเดียวกัน ไทยเบฟจะเคลื่อนที่ไปได้เร็ว ไม่ใช่ต่างคนต่างไป ช่วยให้ทุกธุรกิจเดินไปด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 
ภารกิจสำคัญ โครงการ WOW Awards 2018
เพื่อส่งเสริมพนักงานให้มีส่วนร่วมในการนำเสนอแนวคิดหรือผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินโครงการตามค่านิยมกลุ่มไทยเบฟ (ThaiBev Global Values) โดยสนับสนุนให้พนักงานร่วมกันผสานพลัง (Collaboration) สร้างสรรค์คุณค่า (Creating Values) เอาใจใส่ ต่อผู้เกี่ยวข้อง (Caring for Stakeholders) ผนวกกับแนวคิดเรื่อง WOW (Way of Work) ก่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรทั้งด้านการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการทำงาน (Simplicity) การเพิ่มขีดความสามารถ (Efficiency) และการได้เปรียบเชิงการแข่งขันทางธุรกิจ (Competitiveness) ไทยเบฟจึงริเริ่มโครงการ WOW Awards 2018 เพื่อกระตุ้นให้พนักงานได้แสดงพฤติกรรมที่ไทยเบฟคาดหวังและเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มธุรกิจต่อไป โดยแบ่งการให้รางวัลเป็น 2 ประเภท ได้แก่
  • 1) WOW Project คือ โครงการที่พนักงานได้คิดและลงมือปฏิบัติจนเกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมแล้ว
  • 2) WOW Idea คือ การคิดและนำเสนอหลักการหรือแนวความคิดเพื่อให้เกิดผลลัพธ์หรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ธุรกิจมากขึ้น
สิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน
ในปี 2561 ไทยเบฟได้จัดตั้งทีมบริหารด้านแรงงานสัมพันธ์ เพื่อควบคุมดูแลและบริหาร ความเสี่ยงไม่ให้มีผลกระทบหรือการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับข้อกฎหมาย เช่น การจ้างงานลูกจ้างรับเหมาค่าแรง  การจ้างงานผู้พิการ การจ้างแรงงานต่างด้าวตามข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU นอกจากนี้ไทยเบฟยังได้ดำเนินการด้านเกษียณอายุพนักงานเมื่อพนักงานมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ให้ได้รับเงินตามกฎหมาย โดยไทยเบฟได้พิจารณาทำสัญญาจ้างพนักงานที่เกษียณอายุงานใหม่เป็นรายบุคคล เป็นการตอบรับนโยบายของรัฐในการจ้างงานผู้สูงอายุให้ใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพและมีรายได้
ทิศทางการดำเนินงาน
ยุทธศาสตร์ที่ 1 :
โครงสร้างและบทบาทที่ชัดเจน
  • ทบทวนโครงสร้างองค์กรเพื่อหาโอกาสปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มความสามารถของไทยเบฟ อย่างต่อเนื่อง
  • ขยายการพัฒนาสมรรถนะ (Competency) และเส้นทางอาชีพ (Career Path) ในกลุ่มงาน (Job Family) ให้สอดคล้องกับการออกแบบโครงสร้างและบทบาทการบริหารของไทยเบฟ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 :
ค่าตอบแทนและ สวัสดิการที่แข่งขันได้กับตลา
  • บริหารและวิเคราะห์ค่าจ้าง ค่าตอบแทน และสวัสดิการ ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน และความต้องการของบุคลากรในแต่ละรุ่นอย่างต่อเนื่อง
  • ให้สิทธิพิเศษกับพนักงานไทยเบฟเพื่อให้พนักงานรู้จักและ มีความผูกพันกับสินค้าของไทยเบฟมากขึ้น และเป็นตัวแทน ในการสร้างแบรนด์ของสินค้านั้นๆ ต่อไป

ยุทธศาสตร์ที่ 3 :
การบริหาร ผลการดำเนินงานที่โดดเด่น
  • ขยายช่องทางการเข้าใช้งานผ่านอุปกรณ์สื่อสาร เพื่อตอบโจทย์พนักงานรุ่นใหม่และสามารถเข้าใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา
  • วางแผนพัฒนาศักยภาพพนักงานที่เป็นระดับผู้จัดการ ให้มีความรู้และทักษะด้านการเป็นโค้ช เพื่อส่งต่อความรู้ ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างมีประสิทธิภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 :
การพัฒนาพนักงาน ที่มีศักยภาพสูงแบบองค์รว
  • ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ตลอดชีวิต (Lifelong Development) โดยจะเพิ่มเติมการเรียนรู้ รูปแบบ 70:20:10 ที่สนับสนุนพนักงานในการเรียนรู้ด้วยตนเองจากสื่อต่างๆ เช่น Digital Learning, Digital Library
  • ต่อยอดการพัฒนาพนักงานที่มีศักยภาพสูงโดยใช้แผนการพัฒนารายบุคคล (IDP) และ Mentoring Program เพื่อติดตามความก้าวหน้าทางอาชีพของพนักงาน

ยุทธศาสตร์ที่ 5 :
การบริหารผู้สืบทอด ตำแหน่งและบุคลากรเชิงรุ
  • ยกระดับการเตรียมความพร้อมเพื่อให้พนักงานและผู้บริหาร ในการสืบทอดตำแหน่งมีความพร้อม (Ready) ซึ่งเป็น องค์ประกอบสำคัญในการเป็น WAR Team (Willing ความมุ่งมั่น -Able ความสามารถ -Ready ความพร้อม)
  • ขยายการจัดทำแผนการสืบทอดตำแหน่งไปยังตำแหน่งพนักงานในระดับอื่นๆ ต่อไป

ยุทธศาสตร์ที่ 6 :
การสรรหาพนักงาน ที่มีศักยภาพและดูแลพนักงานใหม่
  • เพิ่มโครงการใหม่ๆ เพื่อดึงดูดผู้ร่วมงานที่มีศักยภาพสูงและ ยกระดับโครงการช้างจูเนียร์โดยคัดเลือกนักศึกษาที่มีศักยภาพสูงขึ้นจากเดิมรับนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย 2.75 ขึ้นไป เป็นเกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป
  • ปรับเพิ่มการสื่อสารผ่านช่องทาง social media เพื่อให้บุคคลทั่วไปและผู้สนใจบริษัทรู้จักบริษัทไทยเบฟในฐานะนายจ้างดีเด่นมากยิ่งขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ 7 :
การส่งเสริมวัฒนธรรม ที่สร้างความผูกพันต่อองค์กร
  • เสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียว (Oneness) ผ่านค่านิยมกลุ่ม ไทยเบฟ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในไทยเบฟ
  • ปลูกฝังกระบวนการทางความคิดที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง (Transformation Mindset) เพื่อให้ทุกคนพร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างขีดความสามารถในระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนพร้อมกัน


รายงาน
การพัฒนาที่ยั่งยืน 2561