รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2561
หน้าแรก / รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 2561 / ดูแลใส่ใจสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม
  • ไทยเบฟร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายพันธมิตร สนับสนุนโครงการอนุรักษ์ สืบสาน และสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมถึงกิจกรรมด้านศาสนาและประเพณีไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนในสังคมตระหนักถึงคุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรม เกิดความรักชาติ รักมรดกทางวัฒนธรรม และมีความมุ่งมั่นที่จะเผยแพร่อัตลักษณ์ความเป็นไทย ออกสู่อาเซียนและสากล
  • ในการทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม ไทยเบฟสนับสนุนการขับเคลื่อนตามปณิธานภายใต้กลยุทธ์ 3 ประการ คือ รักษา ร่วมมือ และสร้างเสริม
  • ไทยเบฟสนับสนุนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ฝึกฝนด้านศิลปวัฒนธรรมในแขนงต่างๆ นอกตำราเรียนและนอกห้องเรียนอย่างเหมาะสมและเท่าเทียมกัน

แบ่งปันคุณค่า

คุณนิติกร กรัยวิเชียร
ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม

เนื่องจากไทยเบฟ เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจรายใหญ่ของประเทศไทย ผมมองเห็นว่าเรามีพันธะที่จะต้องตอบแทนสังคมด้วย นอกเหนือจากการทำงานด้านธุรกิจเพียงอย่างเดียว เราจึงได้มีกิจกรรมพิเศษหลายด้าน เพื่อที่จะช่วยเหลือสังคมในเรื่องของศิลปวัฒนธรรม

เราเห็นว่า ศิลปวัฒนธรรมเป็นรากฐานและจิตวิญญาณที่เราจะต้องช่วยกันรักษาไว้ เราจึงเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นเก่าก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่สืบสานความเป็นไทยให้คงอยู่ และเราถือว่าเรื่องนี้เป็นภารกิจสำคัญที่จะช่วยเหลือสังคมได้ ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ไทยเบฟได้ทำงานด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางให้กับสังคมโดยรวม งานด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญ เป็นรากฐานของชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นชาตินั้นๆ ประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่เก่าแก่ ยาวนาน และมีศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามมากมาย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ในทุกๆ ประเทศมี ฉะนั้นเมื่อเรามีของดี เราก็ควรต้องอนุรักษ์และส่งเสริมเอาไว้ สิ่งนี้จึงถือเป็นพันธกิจและภารกิจสำคัญที่เราให้ความสำคัญตลอดมา

แบ่งปันคุณค่า

ครูดุษฎี พนมยงค์
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงดนตรีสากล พ.ศ. 2557 ผู้อำนวยการคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู

ไทยเบฟกับบทบาทด้านการทำงานด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของไทยเบฟ ที่เล็งเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมอย่างรอบด้าน สังคมไทยต้องการการพัฒนาทุกด้านไปพร้อมๆ กัน ขณะเดียวกันองค์กรภาครัฐยังกระจายงบประมาณไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าด้านกีฬา หรืออื่นๆ ประเทศชาติจะมั่นคงและทัดเทียมอารยประเทศได้ก็ด้วยวัฒนธรรมอันดีงามที่ควรอนุรักษ์ไว้ และสืบทอดถึงรุ่นต่อๆ ไป สิ่งนี้จึงเป็นจุดแข็งของ “ไทยเบฟ” ทั้งนี้ ในมุมมองของคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู ไทยเบฟเป็นบริษัท ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทั้งอุปโภคและบริโภค ซึ่งเป็นที่ยอมรับของประชาชนทุกเพศ ทุกวัย และทุกระดับ ในราคาสมเหตุสมผล และยังเป็นบริษัท ที่มีส่วนในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของชุมชน เพื่อต่อยอดทางธุรกิจ ให้กับชุมชน แสดงให้เห็นว่าไทยเบฟได้มีส่วนรับผิดชอบต่อ การพัฒนาประเทศด้วย

 

อาจารย์มาลินี สาคริก
มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้รับการสนับสนุนจาก ไทยเบฟ ในการจัดกิจกรรมประกวดดนตรีไทยรางวัลศรทอง ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาอย่างต่อเนื่อง และได้รับการสนับสนุนในโครงการอื่น เช่น ค่ายเยาวชนดนตรีไทย โครงการเพื่อนดนตรี รวมถึงให้โอกาสในการร่วมจัดตั้งวงดุริยางค์เยาวชนอาเซียน ไทยเบฟ ได้ให้อิสระในการจัดกิจกรรมอย่างเต็มที่ โดยมุ่งเน้นในเป้าหมายร่วมกันคือ การสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพ มีความรอบรู้ ความสามารถในศิลปวัฒนธรรม และเพื่อการสร้างเครือข่ายสนับสนุนการทำงานต่อไปในอนาคต จึงอาจกล่าวได้ว่า ตลอด 5 ปี ที่มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะฯ ได้รับการสนับสนุน ในการจัดกิจกรรมทางดนตรีศิลปวัฒนธรรม ได้ทำให้ตระหนักว่า ไทยเบฟ ได้ให้ความสนับสนุนอย่างบริสุทธิ์ใจ ทำงานด้วยหัวใจ มิได้มีเงื่อนไขทางธุรกิจ มาเกี่ยวข้อง พร้อมยังชี้แนะช่องทางต่างๆ ในการที่จะทำให้กิจกรรมได้ถูกต่อยอด เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้นไป

ไทยเบฟ เป็นองค์กรที่มีผู้บริหารที่มีหัวใจ มีบุคลิก กิริยามารยาท และวิสัยทัศน์ที่โดดเด่น ที่ส่งผลต่อภาพรวมขององค์กร การมีจิตสาธารณะ ยินดีที่จะช่วยเหลือผู้อื่นในโครงการกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ด้วยวิธีการลงแรง ชวนเพื่อนทำงาน ซึ่งเป็นการสนับสนุนที่ทำเริ่มจากรากฐาน เพื่อความยั่งยืนต่อไป

แบ่งปันคุณค่า

คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน
ประธานมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (หอศิลป์กรุงเทพฯ) เป็นหอศิลป์แห่งเมืองที่ได้ทำหน้าที่แหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะนอกห้องเรียนของเด็กและเยาวชนทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 10 ปีของหอศิลป์กรุงเทพฯ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นองค์กรภาคเอกชนที่ได้แสดงตนอย่างชัดเจนในฐานะของผู้เห็นคุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญของการธำรงไว้และเผยแพร่งานด้านศิลปวัฒนธรรม โดยเป็นผู้สนับสนุนรายแรกที่เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่หลากหลายของหอศิลป์กรุงเทพฯ และยังคงสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลาที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นจุดแข็งของ ไทยเบฟ อันได้แก่ วิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่ตระหนักถึงคุณค่าและความ สำคัญที่จะส่งต่อมรดกทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยสู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ กอปรกับความพร้อมขององค์กร ศักยภาพของเครือข่ายและทรัพยากร เอื้อให้การสนับสนุนวงการศิลปะเป็นไปได้อย่างทั่วถึง ยิ่งไปกว่านั้น ไทยเบฟยังมีความโดดเด่นในฐานะที่เป็นองค์กรที่ทันสมัย ร่วมสมัย ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งนับเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาและสร้างคุณค่าร่วมกัน ให้แก่สังคมอย่างยั่งยืน จึงถือเป็นองค์กรสำคัญผู้สร้างสรรค์ ส่งเสริม พัฒนาและต่อยอดให้แก่ความเจริญก้าวหน้าในวงการศิลปวัฒนธรรม ร่วมสมัยของไทย

 

คุณเอกชัย เจียรกุล
แชมป์กีตาร์คลาสสิก GFA Guitar Foundation of America International Concert Artist Competition 2014 และ หนึ่งในเยาวชนในโครงการ ThaiBev ThaiTalent

ไทยเบฟ มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนและผลักดันด้านศิลป-วัฒนธรรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ของดนตรี ซึ่งที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากทางไทยเบฟมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแข่งขันดนตรีในระดับสากล ที่มีส่วนช่วยให้วงการดนตรีคลาสสิกของประเทศไทยมีชื่อเสียงขึ้นมาในระดับนานาชาติ หรือด้านการทำโปรเจกต์บันทึกเสียงบทเพลงพระราชนิพนธ์ ในหลวง ร.9 รวมไปถึงการสนับสนุนการทำคอนเสิร์ตต่างๆ และไทยเบฟยังได้พยายามให้ความสำคัญและสนับสนุนศิลปะในทุกๆ แขนง ไม่ได้เจาะจงเฉพาะด้านใดด้านนึง จึงเป็นจุดเด่นทำให้คนภายนอกสามารถรับรู้และเห็นศักยภาพของศิลปวัฒนธรรมในรูปแบบต่างกันออกไป ผ่านการผลักดันจากไทยเบฟ คำจำกัดความสั้นๆ สำหรับผม ไทยเบฟคือ “ผู้มอบโอกาส” เพราะที่ผ่านมาตัวผมเองสามารถเติบโตและมีผลงานออกมา ก็เกิดจากการได้รับโอกาสจากทางไทยเบฟ

ภารกิจสำคัญ

การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมเป็นภารกิจสำคัญด้านหนึ่งของไทยเบฟ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ไทยเบฟร่วมกับองค์กรภาคีต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ศิลปวัฒนธรรมไทยและสากลได้รับการเชิดชู อนุรักษ์ พัฒนา และสนับสนุนการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมที่เป็นมาตรฐานสากล ผสานแนวการทำงานเชิงวิชาการ เพื่อสร้างคุณค่าให้สังคม ผ่านการพัฒนา เรียนรู้ และรับรู้ ซึ่งหากสังคมตระหนักถึงคุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรม ก็จะเกิดความรักชาติ รักมรดกทางวัฒนธรรม เมื่อค่านิยมนี้ได้รับการเผยแพร่ ก็จะช่วยเพิ่มคุณค่าให้แก่องค์กร ในฐานะองค์กรธรรมาภิบาลที่รณรงค์เรื่องนี้

เกียรติยศ
  • วันที่ 23 มิถุนายน 2561 รับพระราชทาน เข็มเกียรติคุณผู้ทำคุณประโยชน์ด้านวัฒนธรรม เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี 2561 จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ในฐานะไวยาวัจกร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ร่วมคณะพระธรรมทูตและคณะทำงาน เข้าเฝ้า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเพื่อถวายคัมภีร์ พระมาลัยฉบับแปลเป็น 3 ภาษา คือ ภาษาขอมสมัยใหม่ ภาษาบาลี ภาษาไทย และของที่ระลึก ณ นครรัฐวาติกัน วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
ทั้งนี้ ได้ดำเนินงานผ่านการขับเคลื่อนตามปณิธานภายใต้กลยุทธ์ 3 ประการ ได้แก่
  • การรักษา เผยแพร่ และเชิดชูศิลปวัฒนธรรม ให้อยู่คู่สังคม
  • การสนับสนุนร่วมมือกับหน่วยงาน หรือโครงการ ศิลปวัฒนธรรมให้ดำรงสืบสานได้อย่างต่อเนื่อง
  • การเสริมสร้างริเริ่มโครงการศิลปวัฒนธรรม ในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2560



สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงเปิดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “กาวยประภา” ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การรักษา เผยแพร่ และเชิดชูศิลปวัฒนธรรมให้อยู่คู่สังคม
  • สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชานุญาตให้สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จำนวน 200 ภาพ ไปจัดแสดงยังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พร้อมพระราชทานพระราชานุญาตในการจัดพิมพ์หนังสือภาพถ่าย ฝีพระหัตถ์ ซึ่งสนับสนุนการจัดนิทรรศการ และจัดพิมพ์โดย มูลนิธิสิริวัฒนภักดีและบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
  • นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจัดอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยในปี 2560 ถูกจัดขึ้นในชื่อ นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “กาวยประภา”
  • สนับสนุนการสร้างอาคาร “ญาณสังวร อนุสรณ์ไทย–ญี่ปุ่น” พร้อมอัญเชิญพระรูปเหมือนพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ไปประดิษฐาน ณ วัดป่าพุทธรังษี กรุงโตเกียว
  • งานอุ่นไอรัก คลายความหนาว ซึ่งจัดขึ้นตามที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริที่จะให้ประชาชนได้มีความสุข ความรื่นเริง และรำลึกถึงวิถีชีวิตที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ได้ออกร้านจำหน่ายสินค้าในโครงการประชารัฐรักสามัคคี และห้องภาพ “ฉายานิติกร” ให้บริการถ่ายภาพย้อนยุคแก่ผู้ที่มาเที่ยวชมงาน
  • งานเถลิงศกสุขสันต์ มหาสงกรานต์ตำนานไทย ซึ่งจัดขึ้นตามที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดงานเถลิงศกสุขสันต์ มหาสงกรานต์ ตำนานไทย เพื่อส่งเสริม สืบสานศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของชาติ โดยเปิด ห้องภาพ “ฉายานิติกร” ให้บริการถ่ายภาพบรรยากาศงานสงกรานต์ แก่ผู้ที่มาเที่ยวชมงาน

การจัดทำหนังสือเชิงประวัติศาสตร์วิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม

หนังสือ “เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก” โดยร่วมกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และมูลนิธิสิริวัฒนภักดี ในโอกาสที่ภาพถ่ายโบราณและฟิล์มกระจก ชุด “หอสมุดวชิรญาณ” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกเมื่อปี 2560 โดยองค์การสหประชาชาติ

หนังสือที่ระลึกเนื่องในงานกฐินพระราชทานวัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร

หนังสือที่ระลึกเนื่องในงานกฐินพระราชทานวัดพระธาตุเชิงชุม

 
การสนับสนุนร่วมมือกับหน่วยงาน หรือโครงการศิลปวัฒนธรรม ให้ดำรงสืบสานได้อย่างต่อเนื่อง
  • การสนับสนุนนิทรรศการ “เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก” ร่วมกับสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และมูลนิธิสิริวัฒนภักดี ในโอกาสที่ภาพถ่ายโบราณและฟิล์มกระจก ชุด “หอสมุดวชิรญาณ” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำ แห่งโลกเมื่อปี 2560 โดยองค์การสหประชาชาติ
  • การสนับสนุนนิทรรศการ “วังน่านิมิต” ในโครงการศึกษาพระราชวังบวรสถานมงคล และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยี โดยกรมศิลปากร ผสานความร่วมมือกับสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และมูลนิธิ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
  • สนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานหอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2551
  • สนับสนุนวงดนตรี Thailand Philharmonic Orchestra (TPO) อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2553
  • สนับสนุนทุนการศึกษาแก่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553
  • สนับสนุนมูลนิธิ อ.สุกรี เจริญสุข อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553
 
  • สนับสนุนทุนดำเนินกิจกรรมให้คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู เป็นประจำทุกปี ซึ่งปี 2561 นี้ ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขัน ในรายการ 2nd Corfu International Festival & Choir ณ เมืองคอร์ฟู ประเทศกรีซ ซึ่งประสบความสำเร็จสูงสุด โดยได้รับ รางวัลประกาศนียบัตรทอง (Gold Diploma) และได้รับ รางวัลชนะเลิศคะแนนสูงสุดจากทั้ง 3 สาขาที่ลงแข่งขัน
  • สนับสนุนงานวิจัยเรื่อง “พระอัจฉริยภาพทางดนตรี ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร“ กรณีศึกษา การบันทึกเสียงการขับร้องประสานเสียงบทเพลง พระราชนิพนธ์ที่มีคำร้องจำนวน 41 บทเพลง (The Musical Genius of His Majesty the King Bhumibol Adulyadej: A Case Study of the Recording of 41 Royal Compositions with Lyrics for Choir โดย ผศ.ดร.มนสิการ เหล่าวานิช เพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพทางการดนตรีให้ปรากฏอยู่ตลอดไป
  • สนับสนุนสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาด้านดนตรีคลาสสิก โดยให้โอกาสแสดงในกิจกรรมต่างๆ หรือร่วมมือกันจัดโครงการพิเศษ ในวาระต่างๆ
  • สนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานของมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และขยายผลสู่โครงการเพื่อนดนตรี เพื่อสร้างเครือข่ายบุคลากรในวงการดนตรีไทย ให้ได้ร่วมสร้างสรรค์กิจกรรม สู่ชุมชนได้ขยายวงกว้างมากขึ้น
  • สนับสนุนโครงการเพื่อนดนตรี ได้เริ่มดำเนินการกับโรงเรียน วัดทางกลาง บางปะหัน โดยได้เดินทางไปสำรวจความพร้อม ในการเรียนการสอนดนตรี ทั้งในส่วนของเครื่องดนตรี ครูผู้สอน และสื่อการสอน เช่น หนังสือ สื่อการเรียนรู้มัลติมีเดีย รวมถึง การออกแบบกิจกรรมที่ดนตรีจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรม ของโรงเรียนเอง และกิจกรรมร่วมกับชุมชน เพื่อให้การเรียนดนตรีของเด็กๆ สามารถพัฒนาได้ตามปัจจัยความพร้อมที่มีในเบื้องต้น
  • โครงการเพื่อนดนตรีจึงได้มอบอุปกรณ์เครื่องดนตรีต่างๆ เพื่อเป็นการสนับสนุน ได้แก่
    • การมอบเครื่องดนตรี ขลุ่ยเพียงออ จำนวน 100 เลา (ได้รับจากการระดมจิตอาสาช่วยสนับสนุน) และวงกลองยาว 1 วง (กลองยาว 8 ใบ พร้อมเครื่องประกอบจังหวะ ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง) ให้แก่ โรงเรียนวัดทางกลางได้นำเครื่องดนตรีเหล่านี้เพื่อการเรียนรู้ และสามารถทำกิจกรรมบรรเลงดนตรีในงานต่างๆ เช่น งานแห่เทียนพรรษา งานวันแม่
    • ดำเนินการร่วมกับโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership school) โดยไปสำรวจความพร้อมให้คำปรึกษากับโรงเรียน วัดจุฬามณี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในการจัดแผนการเรียนรู้ดนตรีไทยให้กับโรงเรียน เนื่องด้วยทางโรงเรียนยังขาดครูสอนดนตรีไทย ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการทำแผนปฏิบัติการ
    • สนับสนุนส่งวิทยากรผู้มีความรู้ความสามารถทางดนตรี จากส่วนกลางไปยังโรงเรียนอนุบาลลืออำนาจ (บ้านเฉือน) จ.อำนาจเจริญ เพื่อให้ความรู้และแนวอาชีพแก่ผู้สนใจ
    • เป็นสื่อกลางในการจัดกิจกรรมดนตรีต่างๆ โดยอำนวยความสะดวกด้านสถานที่ การประสานงาน การประชาสัมพันธ์ จัดนิทรรศการ การจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึก เพื่อเผยแพร่เป็นสาธารณะ (ไม่คิดค่าใช้จ่าย) ณ เรือนบรรเลง มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

การเสริมสร้างริเริ่มโครงการศิลปวัฒนธรรม ในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ผลงานรางวัลช้างเผือก ครั้งที่ 7 หัวข้อ “แรงบันดาลใจจากทุกคนเพื่อชุมชนที่ยั่งยืน” ชื่อภาพ “ลูกหลานชาวนา” โดย นายบุญนำ สาสุด

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงเปิดนิทรรศการศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 7 ณ หอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานคร วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2561.

โครงการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก
เพื่อส่งเสริมแนวทางศิลปะในเชิงเสมือนจริงและศิลปะรูปลักษณ์ และให้การสนับสนุนศิลปินในแนวทางดังกล่าวได้มีเวทีในการแสดงความสามารถเป็นการเฉพาะ ซึ่งเงินรางวัลชนะเลิศศิลปกรรมช้างเผือกสูงถึง 1 ล้านบาท โดยในปี 2561 ได้ดำเนินการโครงการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 8 ภายใต้แนวคิด “รื่นเริงเถลิงศก”
ห้องภาพฉายานิติกร
เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” พ.ศ. 2561 โดยทีมงานของไทยเบฟ เพื่อให้บริการถ่ายภาพย้อนยุคสำหรับผู้ที่มาเที่ยวชมงาน ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง จนเป็นที่กล่าวขานทั่วไป หลังจากงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” แล้ว ยังมีบริษัทและหน่วยงานต่างๆ ให้ความสนใจติดต่อขอให้ไปเปิดบริการถ่ายภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรายได้จากการถ่ายภาพทั้งหมดได้นำไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ในรูปแบบต่างๆ
เทศกาลวิถีน้ำ วิถีไทย (Water Festival)
เพื่อตอกย้ำแนวคิดการท่องเที่ยววิถีไทย ให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมเรียนรู้ สืบสาน และบอกเล่าประเพณีสงกรานต์ อันเป็นเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่ร่วมสมัย ไปพร้อมกับกลิ่นอายของวิถีชุมชนที่โอบล้อมด้วยมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า
เทศกาลสายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย (River Festival)
เพื่อร่วมอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่แสดงถึงวิถีชีวิตคนไทย อันช่วยผลักดัน การท่องเที่ยวไทยให้โดดเด่นในด้านศิลปวัฒนธรรมและประเพณี อันเป็นเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวทั่วโลก และช่วยกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวของประเทศได้
 
งานด้านศิลปะและวัฒนธรรม โดยวงดนตรีพื้นบ้านแห่งภูมิภาค C asean Consonant
เป็นการนำศิลปะทางดนตรีซึ่งเป็นภาษาสากล มาเชื่อมโยงความสัมพันธ์และหลอมรวมคนในภูมิภาคที่มีความ หลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา การเมือง ให้เป็นหนึ่งเดียว C asean Consonant นำเสนอเอกลักษณ์ผ่านเสียงเครื่องดนตรี พื้นบ้านประจำชาติ จากนักดนตรีเยาวชน 10 ประเทศอาเซียน สู่สายตาประชาคมโลก สะท้อนถึงศิลปะพื้นบ้านของ 10 ชาติอันงดงาม ประสานเป็นหนึ่งเดียว เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมด้านดนตรี พร้อมเผยแพร่และถ่ายทอดสู่เยาวชนคนรุ่นใหม่

ในปี 2561 “C asean Consonant” ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (BAB 2018) ซึ่งเป็นงานที่รวมผลงานศิลปะของทั้งศิลปินชาวไทยและต่างประเทศกว่า 75 ศิลปิน ทั้งนี้ C asean Consonant ได้ทำการแสดงในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ณ หอประชุมกองทัพเรือ กรุงเทพฯ เพื่อให้ผู้ชมได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอาเซียนในงานครั้งนี้อีกด้วย


เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biennale: BAB)
เทศกาลศิลปะร่วมสมัยระดับนานาชาติที่มีมาอย่างยาวนาน คำว่า เบียนนาเล่ (Biennale) หมายถึง สองปีครั้ง จัดขึ้นในหลายเมืองทั่วโลก ในปี 2561นี้ จัดขึ้นที่ กรุงเทพฯ เนื่องด้วยกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่มีความหลากหลาย ในด้านศาสนา ชาติพันธุ์ และวิถีชีวิตชุมชนที่งดงาม อีกทั้งยังเป็นเมือง แห่งศิลปะและวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทย ได้อย่างแท้จริง จนได้รับการขนานนามว่า กรุงเทพฯ คือเวนิสแห่งตะวันออก จึงเป็นอีกหนึ่งที่มาของแรงบันดาลใจในการจัดงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่มีศิลปินชั้นนำของโลกมาร่วมแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยมากมาย ภายใต้แนวความคิด “สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต” (Beyond Bliss)

ทั้งหมดนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ ด้านการ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของประเทศไทย ที่จะทำให้บรรดาศิลปินและ นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกต้องกำหนดเส้นทางให้กรุงเทพฯ เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายในการเดินทางมาเที่ยวชม และในเวลาเดียวกันถือเป็นการเปิดโอกาสให้ศิลปินไทยรุ่นใหม่ได้แสดงฝีมือ และยังเป็นการช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทางด้านความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างดีบนพื้นที่สำคัญ 20 จุด งานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งที่ 1 จะมีระยะเวลาในการจัดงานตั้งแต่ วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561-3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เอกลักษณ์ ของเทศกาลคือการนำเสนองานศิลปะร่วมสมัยหลากหลายแขนงบน พื้นที่สำคัญ อาทิ อาคารประวัติศาสตร์ พื้นที่สำคัญริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โครงการอสังหาริมทรัพย์ แห่งอนาคต วัน แบงค็อก ฯลฯ

งานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 มีศิลปินนานาชาติ เข้าร่วมทั้งสิ้น 75 ท่าน จาก 33 ประเทศ ทั้งเดี่ยว คู่ และกลุ่ม ที่ได้รับคัดเลือกจาก ทีมภัณฑารักษ์นานาชาติ ซึ่งมีชิ้นงานร่วมแสดงมากกว่า 200 ชิ้นงาน

Aurele (France) ‘Lost Dog Ma Long’ 2018 gold leaf on fiber glass height: 5.90 m. Collection of the Artist

Yayoi Kusama (Japan) ‘14 Pumpkins’ 2017 inflatable Pumpkins, fabric, 14 pieces Collection of the Artist

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานนิทรรศการศิลปะ ร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (Bangkok Art Biennale: BAB 2018) ณ หอศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (BAB BOX) วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2561

 

บทสัมภาษณ์

ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์
ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ Bangkok Art Biennale 2018

เทศกาลศิลปะร่วมสมัย Bangkok Art Biennale 2018 ถือเป็นการจัดขึ้น ครั้งแรกของกรุงเทพมหานคร ที่เกิดขึ้นจากการผสานความร่วมมือครั้งสำคัญ ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ซึ่งต้องขอขอบพระคุณกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สถานทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย เครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วนที่เข้ามาร่วมกันสนับสนุนการจัดงานเทศกาลงานศิลปะระดับโลกในครั้งนี้ ซึ่งจะมีการจัดขึ้นในทุกๆ 2 ปี

สำหรับงาน Bangkok Art Biennale 2018 พวกเรามีความมุ่งหวังเดียวกันคือ ต้องการให้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางแห่งเมืองศิลปะร่วมสมัยระดับโลก และช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้ในภาพรวมตั้งแต่ชุมชนคนรักศิลปะไปจนถึงเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนบริเวณโดยรอบของพื้นที่ จัดงานอีกด้วย โดยจากเป้าหมายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ตั้งเป้า รายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2561 ถึง 3 ล้านล้านบาทนั้น เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ตลอดระยะเวลาของการจัดงานต่อเนื่องเกือบ 4 เดือน ในครั้งนี้ เราคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว นักสะสมงานศิลปะ ภัณฑารักษ์ ศิลปิน คนในวงการทั่วโลก เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก และจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ได้อย่างมหาศาล จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนทำให้ภาคอุตสาหกรรมการ ท่องเที่ยวสามารถบรรลุเป้าหมายรายได้ด้านการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมของไทยให้ประจักษ์แก่สายตานักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติ เพื่อบอกเล่าความเป็นไทยไปทั่วโลกอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสำหรับผู้ที่สนใจในศิลปะอย่าง “DEK BAB” ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนอาสาตั้งแต่ระดับนิสิตนักศึกษาไปจนถึงบุคคลทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการจัดงาน ทำหน้าที่คล้ายกับทูตที่เชื่อมต่อระหว่างศิลปินกับผู้ชม ซึ่งมีทั้ง คนไทยและต่างประเทศ เชื่อมงานศิลปะระดับโลกกับบริบทของกรุงเทพฯ ประหนึ่งว่า DEK BAB คือองค์ประกอบที่เติมเต็มให้งานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ นี้สมบูรณ์ ซึ่งมีผู้สมัครเข้าร่วมกว่า 700 คน โดย DEK BAB จะได้รับประสบการณ์จริงที่สามารถเติมเต็มความรู้ ความเข้าใจ ความคิดทางด้านศิลปะ และสามารถถ่ายทอดสู่ผู้อื่นได้อีกด้วย

ภาพรวมผู้ได้รับผลประโยชน์จากกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม
โครงการและกิจกรรมสนับสนุนงานด้านศิลปวัฒนธรรมให้กับครูและเยาวชน

กิจกรรมการศึกษาของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เยาวชน 2,200 คน
โครงการประกวดดนตรีไทยศรทอง และค่ายเยาวชนศรทอง เยาวชน 1,600 คน
โครงการเพื่อนดนตรี
รร.วัดทางกลาง บางปะหัน มอบขลุ่ยจำนวน 100 เลาและกลองยาว 1 วง (กลองแปดใบ + ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง) ซึ่งทาง รร.วัดทางกลาง ได้นำเครื่องดนตรีเหล่านี้ออกทำกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน เยาวชน 100 คน
ครู 20 คน
รร.อนุบาลลืออำนาจ (บ้านเฉือน) จ.อำนาจเจริญ โดยนำวิทยากรทางดนตรีในโครงการเพื่อนดนตรีไปแนะแนวอาชีพในกิจกรรมแนะแนวอาชีพ เยาวชนที่เข้าร่วม 170 คน
ครู 15 คน
กิจกรรมของมูลนิธิ อ.สุกรี เจริญสุข ผ่าน 7 กิจกรรม ได้แก่
. โครงการดนตรีบำบัดในสถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็ก จังหวัดชลบุรี เยาวชนเข้าร่วม 30 คน
ผู้ได้รับประโยชน์ 500 คน
โครงการดนตรีเพื่อพัฒนาเยาวชน กรณีศูนย์ฝึกและอบรมเด็ก และเยาวชนหญิงบ้านปรานี เยาวชนเข้าร่วม 50 คน
ผู้ได้รับประโยชน์ 200 คน
โครงการพัฒนาวงดนตรีต้นแบบนำร่องเพื่อเด็กและเยาวชน กรณีวงดนตรีขลุ่ยรีคอร์เดอร์ โรงเรียนวัดสุวรรณาราม เยาวชนเข้าร่วม 80 คน
ผู้ได้รับประโยชน์ 300 คน
โครงการเด็กภูมิดีด้วยดนตรีพื้นบ้าน กรณีโรงเรียนวัดลาดทราย เยาวชนผู้เข้าร่วม 70 คน
นักเรียนโรงเรียนข้างเคียง 200 คน
ผู้ได้รับประโยชน์ 500 คน
โครงการวิจัยพรสวรรค์ศึกษา เยาวชนผู้เข้าร่วม 120 คน
ผู้ได้รับประโยชน์ 1,500 คน
โครงการชุมชนดีมีรอยยิ้ม เยาวชนผู้เข้าร่วม 500 คน
ผู้ได้รับประโยชน์ 5,000 คน
โครงการดนตรีคลาสสิกเพื่อสังคม “พลังฝัน กำลังใจ” เยาวชนผู้เข้าร่วม 250 คน
ผู้ได้รับประโยชน์ 1,500 คน

รายงาน
การพัฒนาที่ยั่งยืน 2561