หน้าแรก / เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน การบริหารความเสี่ยง
  • การบริหารความเสี่ยงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเพิ่ม ความมั่นใจให้กับไทยเบฟในการบรรลุผลตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ขณะเดียวกัน ช่วยลดความสูญเสียให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และ/หรือเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับไทยเบฟ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและการเติบโตของไทยเบฟ
  • ไทยเบฟจึงกำหนดกรอบและแนวทางของการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กรอย่างเป็นระบบ โดยสร้าง ความเข้าใจกับผู้บริหารและพนักงานทุกคนถึงโอกาสและความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังกำหนดแผนการ ลดความเสี่ยง พร้อมด้วยระบบการติดตามและประเมินผลการบริหารความเสี่ยง เพื่อค้นหาความเสี่ยงใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ในอนาคต
  • นอกเหนือจากการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินงานตามปกติ ไทยเบฟได้วิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจส่งผล ต่อความยั่งยืนของไทยเบฟ พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 4 ประการ ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม คือ
    • การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของประชากรและการเข้าสู่สังคมสูงวัย
    • การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
    • การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจ
    • ภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ
ซึ่งทั้งหมดถือเป็น “ความเสี่ยงที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risks)” ซึ่งอาจทำให้เกิดอุปสรรคและการเสียโอกาสในการ ดำเนินธุรกิจ และส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ รวมทั้งชื่อเสียง ความมั่นคง และความยั่งยืนของไทยเบฟ
โครงสร้างการกำกับดูแลและบริหารความเสี่ยง
แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับองค์กร และระดับกลุ่มธุรกิจหรือสายธุรกิจ

ระดับองค์กร
มีคณะกรรมการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยง1 (Sustainability and Risk Management Committee : SRMC) ซึ่งประกอบด้วยกรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูงของแต่ละกลุ่มธุรกิจหรือสายธุรกิจที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัท ทำหน้าที่กำหนดนโยบายด้านการบริหารความยั่งยืนและนโยบาย การบริหารความเสี่ยง กำกับดูแลด้านกลยุทธ์ของธุรกิจในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล กำหนดกรอบการดำเนินงานด้านการบริหารความเสี่ยงของบริษัท รวมทั้งติดตาม กลั่นกรองให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะในเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ระดับกลุ่มธุรกิจหรือสายธุรกิจ
มีผู้บริหารระดับสูงของแต่ละกลุ่มธุรกิจหรือสายธุรกิจ ทำหน้าที่ควบคุมและติดตามการบริหารความเสี่ยง 1 ของกลุ่มธุรกิจหรือสายธุรกิจ และรายงานผลต่อคณะกรรมการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยง นอกจากนี้ ยังมีผู้ประสานงานความเสี่ยงของแต่ละกลุ่มธุรกิจหรือสายธุรกิจ ทำหน้าที่ช่วยควบคุมดูแลและติดตามการดำเนินงานด้านการบริหารความเสี่ยงภายในกลุ่มธุรกิจหรือสายธุรกิจ ตลอดจนประสานงานกับคณะทำงานบริหารความเสี่ยงองค์กร (Corporate Risk Management Working Team)

นอกเหนือจากการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามปกติของแต่ละกลุ่มธุรกิจหรือสายธุรกิจ ไทยเบฟยังบริหารความเสี่ยงเชื่อมโยงกับกระบวนการจัดทำแผนกลยุทธ์ การลงทุน และการวางแผนธุรกิจที่ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ อาทิ คณะกรรมการจัดซื้อวัตถุดิบ คณะจัดการคณะกรรมการลงทุน และคณะกรรมการบริหาร ซึ่งประเด็นที่เป็นความเสี่ยงระดับองค์กร (Corporate Risk) จะต้องรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าทุกความเสี่ยงได้รับการจัดการตามมาตรการที่กำหนดไว้
1 หมายเหตุ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 5/2560 ได้อนุมัติการแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อ “คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง” เป็น “คณะกรรมการบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยง” และการเพิ่มขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบให้ครอบคลุมการกำกับดูแลกลยุทธ์ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
กระบวนการบริหารความเสี่ยง
กระบวนการบริหารความเสี่ยงของไทยเบฟเป็นแบบบูรณาการ (Integrated Risk Management) แบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ การบริหารความเสี่ยงแบบบนลงล่าง และ การบริหารความเสี่ยงแบบล่างขึ้นบน (Top-Down and Bottom-Up Enterprise Risk Management) เช่น ผู้บริหารระดับสูงมีส่วนในการระบุและประเมินความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ขององค์กรโดยวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกและภายในที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงไปพร้อมกับการจัดทำแผนธุรกิจ/แผนปฏิบัติการประจำปี/แผนการลงทุน ตลอดจนติดตามผลการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

ส่วนในระดับปฏิบัติการ หัวหน้าหน่วยงานและพนักงานจะต้องระบุและประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน จัดทำแผนบริหารความเสี่ยง ดำเนินการตามแผนบริหารความเสี่ยง และรายงานผลอย่างต่อเนื่องในทุกระดับตั้งแต่ระดับสายงานและบริษัทย่อย ระดับสายธุรกิจหรือกลุ่มธุรกิจและระดับองค์กร

กระบวนการบริหารความเสี่ยงแบบบูรณาการ ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้
  • 1. การกำหนดวัตถุประสงค์ (Define Objectives) ทั้งวัตถุประสงค์ขององค์กร และของกลุ่มธุรกิจหรือสายธุรกิจซึ่งต้องมีความสอดคล้องกัน
  • 2. การระบุความเสี่ยง (Identify Risks) ที่องค์กรหรือธุรกิจเผชิญอยู่ หรือแฝงอยู่ในการดำเนินงาน ซึ่งอาจเกิดขึ้นและส่งผลในทางลบต่อการบรรลุเป้าหมายขององค์กรหรือธุรกิจ
  • 3. การวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยง (Analyze and Assess Risks) เพื่อหาสาเหตุของความเสี่ยง จำแนกและจัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยงที่มีอยู่ โดยประเมินโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ความเสี่ยงและผลกระทบ หรือระดับความรุนแรงของความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
  • 4. การกำหนดแผนบริหารความเสี่ยง (Plan the Risk Management Actions)
  • 5. การปฏิบัติตามแผนบริหารความเสี่ยง (Implement the Action Plans)
  • 6. การติดตามความคืบหน้า รายงานและประเมินผลการบริหารความเสี่ยง (Follow Up, Report and Evaluate Risk Management) โดยเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดด้านการบริหารจัดการความเสี่ยง (Key Risk Indicators) ที่กำหนดเพื่อเป็นเกณฑ์ประเมินผลการปฏิบัติงานสำหรับผู้บริหารระดับกลางขึ้นไป
วัฒนธรรมการจัดการความเสี่ยง
เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและปลูกฝังการบริหารจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในจิตสำนึกของพนักงานทุกคน และพัฒนาให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรที่มีส่วนช่วยให้ไทยเบฟเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน บริษัทจึงได้ดำเนินการ
  • จัดอบรมเรื่องการบริหารความเสี่ยงเป็นการเฉพาะแก่ผู้ประสานงานความเสี่ยงของแต่ละกลุ่มธุรกิจหรือสายธุรกิจ ตลอดจนจัดกิจกรรมฝึกอบรมพนักงานและปฐมนิเทศพนักงานใหม่ให้เข้าใจถึงปัจจัยเสี่ยงขององค์กร กระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยง และเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงทั้งในเรื่องทั่วไป และเรื่องเฉพาะเจาะจงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเตรียมความพร้อมให้พนักงานสามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
  • ส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานได้พูดคุยหรือสื่อสารเรื่องความเสี่ยงหรือความปลอดภัยภายในองค์กร รวมถึงเสนอความเห็นด้านการจัดการความเสี่ยงในการประชุม/อบรม
  • จัดให้มีหน่วยงานภายใน เช่น สำนักกฎหมาย ส่วนงานกำกับดูแล สำนักเลขานุการบริษัท คณะทำงานบริหารความเสี่ยงองค์กร และสำนักตรวจสอบภายใน ทำหน้าที่ตรวจสอบ ติดตามการดำเนินงาน ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการดำเนินงานกับกลุ่มธุรกิจ สายธุรกิจ และหน่วยงานต่างๆ
  • มีโครงการ Ways of Work Awards หรือ WOW Awards เพื่อให้พนักงานสามารถนำเสนอผลงานที่อาจเป็นแนวคิดหรือวิธีการปฏิบัติงานที่สร้างสรรค์และสนับสนุนการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนเข้าประกวดชิงรางวัล ซึ่งผู้บริหารระดับสูงจะเป็นกรรมการพิจารณาคัดเลือกผลงานที่น่าสนใจและสร้างประโยชน์ให้แก่องค์กรเมื่อนำผลงานไปปฏิบัติจริง
นอกจากนี้ พนักงานยังสามารถรายงานความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแก่องค์กรเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ผู้บังคับบัญชาตามสายงาน หรือสามารถรายงานไปยังสำนักกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ด้วยอีเมลที่บริษัทได้กำหนดขึ้น จากนั้น กรรมการผู้อำนวยการใหญ่จะพิจารณาและดำเนินการตามที่เห็นสมควรต่อไป
การรับมือกับความเสี่ยงที่กำลังเกิดขึ้นใหม่
1. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของประชากรและการเข้าสู่สังคมสูงวัย ได้แก่
  • การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย เป็นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยสัดส่วนจำนวนประชากรในวัยทำงานและวัยเด็กลดลง
  • การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น
  • ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการที่หลากหลาย คาดหวังในคุณภาพหรือมาตรฐานของสินค้าสูงขึ้น
  • ภาครัฐให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างสุขภาพอนามัยของประชากรผู้สูงอายุ เพื่อลดภาระในการดูแลและให้บริการด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ ด้วยการแก้ไขและปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการที่มีผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค
ผลกระทบทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น
  • โอกาสที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมกลุ่มเครื่องดื่มและอาหารเพื่อสุขภาพ หรือธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มนี้
  • ไทยเบฟไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวตามพฤติกรรมและ/หรือความต้องการของผู้บริโภคได้ทันเวลา
  • หากบริษัทคู่แข่งสามารถคว้าโอกาสได้ก่อน ทำให้ไทยเบฟเสียโอกาส/ความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและ/หรือการเป็นผู้นำตลาด
  • หากไทยเบฟไม่สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการที่มีผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคที่บังคับใช้โดยภาครัฐ อาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของไทยเบฟ การถูกลงโทษและค่าปรับ
  • ไทยเบฟขาดแคลนแรงงาน ไม่สามารถรับพนักงานได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากประชากรในวัยทำงานมีแนวโน้มลดลง
มาตรการจัดการความเสี่ยง
  • การคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและอาหารเพื่อสุขภาพตามนโยบายด้านสุขภาพและโภชนาการของไทยเบฟ และตอบสนองพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม หรือช่วงอายุ
  • การพัฒนาและลงทุนในธุรกิจอาหารในรูปแบบร้านอาหารที่หลากหลาย สามารถเข้าถึงลูกค้าได้หลายกลุ่ม เพื่อขยายธุรกิจโดยรวม และสนับสนุนธุรกิจเครื่องดื่ม
  • การออกแบบและพัฒนาฉลากและบรรจุภัณฑ์ที่สื่อสารถึงข้อมูลและคุณค่าทางโภชนาการของเครื่องดื่มและอาหารของไทยเบฟ
  • การสื่อสารหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สอดคล้องกับพฤติกรรมและรูปแบบการดำรงชีวิตของผู้บริโภค และเข้าถึงผู้บริโภคเป้าหมาย
  • การติดตามอย่างต่อเนื่องถึงการแก้ไขและปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการ รวมถึงสิทธิของผู้บริโภคเพื่อกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการผลิตสินค้าและให้บริการของไทยเบฟ และมีการสื่อสารทำความเข้าใจแก่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • การพัฒนาระบบงานที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อลดการใช้แรงงานคน
2. ความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ได้แก่
  • การเกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้งและมีความรุนแรงมากขึ้นทั้งที่เป็นภาวะภัยแล้งและน้ำท่วม
  • การเคลื่อนไหวเพื่อรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ
  • การเพิ่มมาตรการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมหรือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติด้วยการออกกฎหมายใหม่ หรือเพิ่มความเข้มงวดของกฎหมายโดยภาครัฐ
ผลกระทบทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น
  • ปัญหาด้านคุณภาพของน้ำและความไม่เพียงพอของน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตที่ต้องใช้น้ำในปริมาณมากในกระบวนการผลิต
  • ความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงของปริมาณและราคาของสินค้าทางการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าของไทยเบฟ ซึ่งมีผลกระทบต่อเนื่องของกระบวนการจัดการห่วงโซ่อุปทานทั้งด้านการผลิต การขาย และการขนส่งสินค้า
  • ความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจหลังจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่รุนแรงและเกิดขึ้นกะทันหัน
  • กฎหมายใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของไทยเบฟในอนาคต
  • การสูญเสียชื่อเสียงขององค์กร และการสูญเสียทางการเงินในลักษณะของค่าปรับ หากมีส่วนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ
มาตรการจัดการความเสี่ยง
  • ทุกกลุ่มธุรกิจต้องปฏิบัติตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม นโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำขององค์กรอย่างเคร่งครัด เช่น การใช้ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 การใช้หลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) การสำรองน้ำให้เพียงพอเพื่อใช้ในการผลิต การบริหารจัดการและลดปริมาณการใช้น้ำในการผลิต การเข้าร่วมโครงการ Water Footprint รวมถึงโครงการ Carbon Footprint ระดับองค์กรและผลิตภัณฑ์ การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและประหยัดพลังงานในการบำบัดและกำจัดน้ำเสียของโรงงาน รวมทั้งนำพลังงานที่เกิดขึ้นในกระบวนการบำบัดน้ำเสียดังกล่าว มาใช้เป็นพลังงานทางเลือกในโรงงาน
  • การใช้เทคโนโลยีการผลิตและเครื่องจักรที่ทันสมัยและประหยัดพลังงาน เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนการผลิต รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการผลิต
  • การประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยการนำของเสียจากกระบวนการผลิตมาใช้ใหม่ในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เพื่อลดการมีส่วนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • การส่งเสริมการพัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการผลิต กระบวนการขนส่ง รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ตราสินค้า
  • การบริหารจัดการตามแนวทางการปฏิบัติของคู่ค้าในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • การวิเคราะห์และติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาและปริมาณของวัตถุดิบหลักอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นแนวทางบริหารด้านการจัดซื้อสินค้าและบริการแบบองค์รวมของไทยเบฟ (Consolidated Strategic Sourcing and Procurement) เพื่อจัดการปัญหาการขาดแคลนและความผันผวนของราคาวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานในด้านโลจิสติกส์ของซัพพลายเออร์อย่างมีประสิทธิภาพ (GHG Emission Scope 3) เป็นต้น
3. ความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจ ได้แก่
  • การพัฒนาอย่างรวดเร็วของดิจิทัลและเทคโนโลยี มีผลต่อตลาดและผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
  • บริษัทหลายแห่งโดยเฉพาะคู่แข่งทำการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ เพื่อตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยี
ผลกระทบทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น
  • ไทยเบฟไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้ทันเวลา หรือหากบริษัทคู่แข่งสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ก่อนไทยเบฟ จะมีผลกระทบต่อการเติบโตของรายได้ ส่วนแบ่งการตลาด คุณค่าและความภักดีในตราสินค้า เป็นต้น
  • โอกาสที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมหรือธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
มาตรการจัดการความเสี่ยง
  • จัดทำแผนแม่บทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Master Plan) เพื่อรองรับและบริหารจัดการด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน
  • ศึกษาและพัฒนาระบบงานที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเบฟ เช่น ระบบสารสนเทศภายใต้วงจรห่วงโซ่อุปทาน
4. ความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ ได้แก่
ภัยคุกคามด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security Attacks) ที่เกิดบ่อยครั้งกับหลายองค์กร หน่วยงาน และมีผลกระทบรุนแรง
ผลกระทบทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น
  • การรั่วไหลของข้อมูลที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ เช่น แผนธุรกิจ ข้อมูลการขาย ผลประกอบการ ข้อมูลลูกค้าและคู่ค้าทางธุรกิจ ซึ่งก่อให้เกิดการสูญเสียชื่อเสียงและภาพพจน์ขององค์กร และผลกระทบทางการเงินจากการสูญเสียลูกค้าและคู่ค้าทางธุรกิจ
  • ระบบสารสนเทศของไทยเบฟไม่พร้อมใช้ในการปฏิบัติงานหรือการดำเนินธุรกิจ ทำให้การปฏิบัติงานเกิดความล่าช้า ขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผล และไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
มาตรการจัดการความเสี่ยง
  • การกำกับดูแล การระบุ และการแก้ไขภัยคุกคามด้านไซเบอร์ และกิจกรรมภายในที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ที่น่าสงสัย
  • จัดทำแผนการสร้างความรู้ด้านดิจิทัลและการเข้าถึงระบบและข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของพนักงานทุกระดับ
  • สร้างความตระหนักด้าน Cyber Security ให้แก่พนักงาน ด้วยการจัดอบรมหรือให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการและการป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศอย่างสม่ำเสมอ
  • การทดสอบการกู้คืนภัยพิบัติ และกำหนดมาตรการตอบรับ และการฟื้นฟูในแผนการบริหารความเสี่ยงด้านไซเบอร์