หน้าแรก / ด้านสังคม
2562
โครงการประชารัฐรักสามัคคี
คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้รับภารกิจสำคัญให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานภาคเอกชน ร่วมกับพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานภาครัฐ ขับเคลื่อนงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ในโครงการ “สานพลังประชารัฐ” ซึ่งดำเนินการภายใต้นโยบายสำคัญของรัฐบาลในการนำภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคประชาชน มาร่วมกันแก้ไขปัญหาและคิดหาแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ
คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชาด้านการพัฒนา คือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เพื่อช่วยสร้างโอกาส สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน พร้อมทั้งได้น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) อันได้แก่ “เราจะสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” มาเป็นกรอบแนวคิดและหลักในการดำเนินงาน เน้นการทำงานใน 3 กลุ่มงาน ได้แก่ เกษตร แปรรูป และท่องเที่ยว

จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง “บริษัทในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม” ภายใต้ชื่อ “บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด” จำนวน 76 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมทั้งจัดตั้งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ผนึกกำลังร่วมกับ บริษัทเอกชน 20 บริษัท เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการประสานความเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จ สร้างรายได้ให้กับชุมชนทั่วประเทศกว่า 60,000 ครัวเรือน มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึง 543 ล้านบาท เป็นผลให้การเติบโตของยอดขายสินค้าชุมชน (OTOP) เติบโตขึ้นจาก 109,000 ล้านบาท ในปี 2558 เป็น 125,208 ล้านบาท ในปี 2560 เป็น 154,000 ล้านบาท และ 190,000 ล้านบาท ในปี 2561 และ 2562 ในอัตราร้อยละ 15 , 23 และ 24 ตามลำดับ
  • ซึ่งเป็นอัตราที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ซึ่งเติบโตในอัตรา 3-4% ต่อปี เป็นพลังผลักดันให้รัฐบาลกำหนด พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ.2562 จากการที่ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานโดยผ่านรูปแบบของวิสาหกิจเพื่อสังคม ทำให้รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของวิสาหกิจเพื่อสังคมที่จะเป็นเวทีความร่วมมือ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนตามเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ จึงได้ตราพระราชบัญญัติวิสาหกิจ

องค์ความรู้
1. สร้างวิชาชีพในระดับชุมชน เช่น โครงการ OTOP
2. ให้ความรู้แก่เยาวชน
สิ่งแวดล้อม
1. อนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น ผืนป่า ผืนดิน ต้นน้ำ ท้องทะเล
2. สร้างวินัยในการจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม
3. รณรงค์การบริหารจัดการ น้ำเสีย

โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย
เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2559 เป็นต้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพ เทคนิคการผลิต ตลอดจนการแปรรูปสินค้าจากผ้าขาวม้าทอมือให้มีความหลากหลาย ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ซึ่งอยู่คู่กับชนบทไทยมาเป็นเวลายาวนานให้เพิ่มสูงยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืนอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการเฟ้นหาผ้าขาวม้าที่มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นจากชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงการเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้มีเวทีแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ผ่านการออกแบบผ้าขาวม้าทอมือในสาขาต่าง ๆ โดยในปี 2562 ได้ผสานความร่วมมือกับชุมชนผ้าขาวม้าเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับผ้าขาวม้าไทยด้วยการผลิตมาลัยกรผ้าขาวม้าและช่อดอกไม้บูเกต์ผ้าขาวม้า พร้อมสนับสนุนให้ผู้ชนะการประกวดออกแบบชิ้นงานผ้าขาวม้า “นวอัตลักษณ์” เดินทางไปศึกษาดูงานที่สถาบันสอนออกแบบและแฟชั่นระดับโลก Bunka Fashion College และงาน IFF Magic ณ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมจัดโครงการประกวดออกแบบและพัฒนาสินค้าผ้าขาวม้าเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ภายใต้แนวคิด “อัตลักษณ์แห่งคุณค่า ผ้าขาวม้าอาเซียน” (ASEAN METROPOLIS) ซึ่งมีผู้สนใจส่งเข้าประกวดจำนวน 282 ผลงาน ใน 4 สาขา ได้แก่ ออกแบบแฟชั่น ออกแบบเครื่องประดับ ออกแบบเคหะสิ่งทอ และออกแบบลายผ้า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทยสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าที่เข้าร่วมโครงการ 15 ชุมชน กว่า 3 เท่า รวมรายได้กว่า 51 ล้านบาท

โครงการสะพายสายแนว
ย่ามอยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่อดีต เป็นสิ่งสะท้อนเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์และวิถีชีวิตของชุมชน ก่อนที่ย่ามไทยจะถูกลืมเลือนไปโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ไทยเบฟจึงสนับสนุนให้ริเริ่ม “โครงการสะพายสายแนว” ในเดือนเมษายน ปี 2561 เพื่อพัฒนาการออกแบบและยกระดับย่ามไทยให้ทันสมัยตรงใจผู้บริโภค และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตร เช่น สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ช่วยพัฒนาด้านเทคนิคการทอผ้า สี ลายผ้า และดีไซเนอร์จิตอาสาที่มาช่วยด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สวยน่าสนใจ ทั้งนี้ ไทยเบฟทำงานร่วมกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ช่วยส่งเสริมในด้านตลาดและสนับสนุนด้านการขายทั้งในงานอีเวนต์ต่าง ๆ รวมถึงการขายผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ค (Facebook) และอินสตาแกรม (Instagram) โดยใช้ชื่อ SapaiSainaew (สะพายสายแนว) ทีมงานยังได้พาชุมชนนำสินค้าไปขายในงานอีเวนต์ต่าง ๆ เช่น งานบ้านและสวน งาน OTOP รวมไปถึงตลาดต่างประเทศ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ต่อครัวเรือนมากขึ้นหลายเท่า

ปัจจุบันโครงการสะพายสายแนวมีจำนวนสมาชิก 2,932 ราย ในกว่า 20 จังหวัด สามารถทำรายได้รวมกันสูงถึง 10 ล้านบาทใน 16 เดือนที่ผ่านมา (เมษายน 2561- กันยายน 2562) นอกจากการสร้างอาชีพแล้ว ลูกหลานที่ออกไปหางานทำนอกภูมิลำเนายังกลับมาช่วยงานพ่อแม่เพื่อต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา

โครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย
เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่กลางปี 2560 ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ มหาวิทยาลัย โดยมีเครือข่าย “ประชารัฐรักสามัคคี” เป็นผู้ประสานงานชุมชนเพื่อหาแหล่งพื้นที่ผลิตวัตถุดิบที่ปลอดภัยทั้งภายในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง การรวมกลุ่มเกษตรกร รวบรวมวัตถุดิบ บริการจัดส่งการขนส่งไปยังโรงพยาบาลในจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ เป้าหมายสำคัญคือ การสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่มีตลาดในการส่งผักผลไม้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน ประชาชนในประเทศมีสุขภาพดี และมีความสุข ปัจจุบันเครือข่าย “ประชารัฐรักสามัคคี” ใน 29 จังหวัด สามารถจัดส่งสินค้าเกษตรปลอดภัยเข้าสู่โรงพยาบาลได้จำนวน 41 แห่งทั่วประเทศ สร้างรายได้ให้ชุมชนไปแล้วกว่า 63 ล้านบาท
กระบวนการทำงานของโครงการ


 
โครงการเครื่องสีข้าวครัวเรือน“พร้อมสี”
บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมพัฒนาเครื่องสีข้าวให้มีขนาดกะทัดรัด เหมาะสำหรับการสีข้าวในครัวเรือนในปริมาณที่พอเพียงแก่ความต้องการ เพื่อให้ผู้บริโภคได้คุณประโยชน์ของข้าวสูงสุด โดยใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที หนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือ มุ่งเน้นการสร้างช่องทางการตลาดใหม่ให้แก่เกษตรกร สามารถจำหน่ายข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองโดยตรงแก่ผู้บริโภคในราคาที่สูงขึ้นกว่าการขายในรูปแบบเดิม นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรมีการพัฒนาในด้านทักษะการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการอบแห้ง คัดเลือก บรรจุ และขนส่ง ให้มีคุณภาพก่อนที่จะส่งตรงถึงมือผู้บริโภค ปัจจุบันมียอดสั่งซื้อเครื่องสีข้าวครัวเรือน “พร้อมสี” กว่า 100 เครื่องแล้ว

โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนผ่านรายการ “ชื่นใจไทยแลนด์”
สนับสนุนงบประมาณในการผลิตรายการ “ชื่นใจไทยแลนด์” ซึ่งเป็นสารคดีเชิงท่องเที่ยว เชิงความคิดสร้างสรรค์ มีเป้าหมายเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ชุมชนทั่วประเทศ ภายใต้การดำเนินงานของเครือข่าย “ประชารัฐรักสามัคคี” โดยดำเนินการออกอากาศไปแล้วจำนวน 144 ตอนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน นับจากรายการเริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2559 มีการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี ทำให้คนทั่วไปรับรู้ถึงสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่ดำเนินการโดยชุมชนอย่างแท้จริง การประชาสัมพันธ์ในรายการและนำชุมชนที่เคยออกรายการไปออกร้านในงานแฟร์ต่าง ๆ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้กว่า 30 ล้านบาท

ความมุ่งมั่นและความสำเร็จ
  • ปัจจุบันเครือข่าย “ประชารัฐรักสามัคคี” ทั้งประเทศสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานไปแล้วกว่า 930 โครงการ แบ่งตาม 3 ประเภทกลุ่มงาน คือ เกษตร แปรรูป และท่องเที่ยวโดยชุมชน ครอบคลุมกว่า 68,000 ครัวเรือน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนไปแล้วกว่า 545 ล้านบาท โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 เป็นต้นมา สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนแล้วกว่า 41 ล้านบาท
  • สนับสนุนสินค้าชุมชนเพื่อจำหน่ายให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงจำหน่ายที่ร้านประชารัฐ และผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนแล้วกว่า 9 ล้านบาท
  • เชื่อมโยงภาคีเครือข่าย เพื่อเปิดพื้นที่ให้ชุมชนภายใต้การขับเคลื่อนของเครือข่าย “ประชารัฐรักสามัคคี” นำสินค้าชุมชนมาจำหน่าย ซึ่งในปี 2562 สร้างรายได้ให้กับชุมชนไปแล้วกว่า 5 แสนบาท รวมตั้งแต่ดำเนินการมากว่า 15 ล้านบาท


ทิศทางการดำเนินงาน
เส้นทางการดำเนินงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

วางรากฐานและเครือข่าย (ปี 2559-2562)
เริ่มจากการสร้างเครือข่ายงานพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน โดยจัดตั้งเครือข่ายวิสาหกิจเพื่อสังคม ประชารัฐรักสามัคคี 76 จังหวัดทั่วประเทศ และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีวิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมสร้างความเข้าใจในกระบวนการพัฒนาแบบบูรณาการของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยแต่ละจังหวัดเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ของตนเองไปพร้อมกับโครงการระดับประเทศ เช่น โครงการเครื่องสีข้าวขนาดครัวเรือน โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย โครงการผ้าพื้นถิ่นสะพายสายแนว โครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย เป็นต้น และได้จัดตั้งมูลนิธิสถาบันพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนภาควิสาหกิจเพื่อสังคมทั่วประเทศ

สร้างความสำเร็จในทุกจังหวัด (ปี 2563-2565)
ผลักดันให้เครือข่ายประชารัฐรักสามัคคีทุกจังหวัดสร้างต้นแบบแห่งความสำเร็จของการดำเนินงานทั้ง 3 กลุ่มงาน ได้แก่ เกษตร แปรรูป และท่องเที่ยวโดยชุมชนพร้อมส่งต่อและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ให้แก่สมาชิกในเครือข่าย โดยเป้าหมายสำคัญคือ เกิดการสร้างเครือข่ายของธุรกิจจากระดับชุมชนสู่ระดับประเทศ

ต่อยอดและขยายผล (ปี 2566-2569)
สร้างโอกาส ต่อยอด และขยายผลความสำเร็จของธุรกิจชุมชนให้พัฒนาไปสู่ธุรกิจระดับประเทศและระดับโลก
ผลการดำเนินงานของโครงการ

โครงการผ้าขาวม้า ท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย
มีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ
15 ชุมชน
ทั่วประเทศ สร้างรายได้แล้วกว่า
21 ล้านบาท

โครงการสะพายสายแนว
มีจำนวนสมาชิก 2,932 คน
ในกว่า 20 จังหวัด
สร้างรายได้ให้ชุมชนประมาณ 10 ล้านบาท

โครงการโรงพยาบาล อาหารปลอดภัย
มีเครือข่าย "ประชารัฐรักสามัคคี" เข้าร่วมจำนวน
29 จังหวัด
จัดส่งสินค้าทางการเกษตรให้กับโรงพยาบาล
ทั่วประเทศ 41 แห่ง
สร้างรายได้ให้ชุมชนแล้วกว่า
63 ล้านบาท

โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ผ่านรายการ
“ชื่นใจไทยแลนด์”
ออกอากาศทางอมรินทร์ทีวี ช่อง 34
ดำเนินการแล้ว 144 ตอน
ครอบคลุม 73 จังหวัด
รวม 126 ชุมชน
สร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่มขึ้น 30-85%
และเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว 20-70%